ชวนอ่านบทสรุปเวทีเสวนา หัวข้อ “ปัจจัยการสนับสนุนการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายหมาย SDGs: การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” (โครงการย่อยที่ 5) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting ภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา
วิทยากรร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน 6 ท่าน ประกอบด้วย
1) ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรผล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) คุณนพพรรณ พรหมศรี มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
3) คุณสมบูรณ์ คำแหง คณะกรรมการประสานงานองค์พัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.)
4) คุณกฤษดา บุญชัย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
5) ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
6) คุณเดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)
SDG Updates ฉบับนี้ พาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาข้างต้น เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในการขยับขับเคลื่อนการบรรลุ SDGs ของไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับ SDG17 เป็นหลัก โดยได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก การนำเสนอผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนการเป็นหุ้นส่วน และ ช่วงที่สอง การเสวนาข้ามภาคส่วน หัวข้อ “การสร้าง Platform อย่างไร เพื่อเสริมพลังจากข้างล่างและสนับสนุนการทำงานข้ามภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและอนาคต”
Section 1: การนําเสนอผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย
01 – สำรวจและศึกษาการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศ Top 5 จาก SDG Index
ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรผล นำเสนอการศึกษาโครงการ “ปัจจัยการสนับสนุนการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายหมาย SDGs: การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” โดยระบุว่าโจทย์หลักของโครงการนี้คือการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนนอกภาครัฐ ในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs โดยเน้นไปที่พื้นที่ทางนโยบาย (policy space) และกลไกการเงิน มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ข้อ ได้แก่ 1) เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกลไกและระบบอภิบาลที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมขององค์กรนอกภาครัฐในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ระดับมหาภาค โดยศึกษาและเปรียบเทียบกับกรณีของต่างประเทศ และ 2) เพื่อถอดบทเรียนและวิเคราะห์กรณีศึกษาการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายขององค์กรภาคนอกภาครัฐในการขับเคลื่อน SDGs และวิเคราะห์เห็นช่องว่างเชิงนโยบายปัจจัยสนับสนุนและเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการเป็นหุ้นส่วน ซึ่งเลือก 5 กรณีศึกษา โดยจำแนกตามกลุ่ม SDGs
การศึกษาโครงการนี้ใช้แนวคิดเรื่องการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ระบบอภิบาล กระบวนการนโยบายและพื้นที่นโยบาย และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบวิจัยสองส่วน ได้แก่ ส่วนแรก การวิเคราะห์เปรียบเทียบกลไกอภิบาลระดับชาติเพื่อ SDGs โดยไปเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ เป็นการไปทบทวนเอกสาร เพื่อดูว่ามีแนวปฏิบัติที่ดีและช่องว่างของระบบ SDGs ที่มีอยู่คืออะไร ในปัจจุบันอาจจะใช้ไม่ได้ทั้งหมด แต่บางเรื่องก็อาจจะปรับใช้ได้ในประเทศไทย เนื่องจากบริบทนั้นมีความแตกต่างกัน และส่วนที่สอง การถอดบทเรียนและวิเคราะห์ 5 องค์กร มีทั้งศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่ม เพื่อสังเคราะห์ปัจจัยสนับสนุน และปัจจัยอุปสรรค เมื่อสองส่วนมาบวกกัน ก็จะนำมาสู่การยกร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดอุปสรรคการมีส่วนร่วม และเพิ่มกลไกสนับสนุนภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อน SDGs
ดร.สุรางค์รัตน์ กล่าวว่าการวิเคราะห์เปรียบเทียบระบบอภิบาล SDGs ใช้วิธีพิจารณาข้อมูลรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2565 แล้วสำรวจว่าประเทศใดบ้างที่ติดอันดับต้น ๆ ซึ่งผลพบว่า Top 5 ได้แก่ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ และออสเตรีย จากนั้นศึกษาว่าประเทศเหล่านี้มีการดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ยังมีการศึกษาปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งพบสมมติฐานที่น่าสนใจว่าระดับความผูกพัน (commitment) ของรัฐบาลเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับคะแนนของ SDG Index โดยหากสังเกตอันดับที่ 1 2 3 4 5 และอันดับที่ 19 (ญี่ปุ่น) พบว่ารัฐบาลผูกพันในการขับเคลื่อน SDGs ไว้ในระดับที่สูง ต่างจากประเทศไทยที่ระดับความผูกพันอยู่ในระดับปานกลาง
ขณะที่การเปรียบเทียบ SDGs ผ่านแว่นเรื่อง SDGs Building Blog หากพิจารณาโครงสร้างเชิงสถาบันและความสอดคล้องเชิงนโยบาย ความน่าสนใจ คือประเทศที่ทำเรื่องนี้ในอันดับ Top5 ของ SDG Index มีการกำหนดแผนการที่ชัดเจนในเรื่อง SDGs ไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และญี่ปุ่น อาจจะยกเว้น นอร์เวย์ และออสเตรีย เนื่องจากฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ประกาศข้อกำหนดชัดเจนว่าจะดำเนินการเรื่อง SDGs ส่วนนอร์เวย์เพิ่งเสนอแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เมื่อตอนปลายปีที่แล้ว และออสเตรีย มีกฎหมายที่ชัดเจนเรื่อง SDGs เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนในกรอบของรัฐธรรมนูญ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความผูกพันที่ชัดเจนในการทำเรื่องเหล่านี้ ซึ่งการออกแบบโครงสร้างเชิงสถาบันก็ส่งผลไปสู่เรื่องการออกแบบกลไกด้วย
ด้านการสร้างเครือข่ายและการทำงานกับภาคี พบว่าประเทศข้างต้นมีแพลตฟอร์มที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคี ประเทศฟินแลนด์มีทั้งกลไกเยาวชน เวทีพลเมือง ประเทศเดนมาร์กมีเรื่องของกลุ่มธุรกิจ กลุ่มเยาวชน กลุ่มนักธุรกิจ ‘Global Compact’ ซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘The Council’ ประเทศสวีเดนก็มีการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘National Body for Dialogue and Consultation (NOD)’ เป็นการสร้างตัวแทนเพื่อการขับเคลื่อน SDGs ร่วมกัน ประเทศนอร์เวย์ กำลังจัดตั้งหน่วยงานที่จะดำเนินการเรื่อง SDGs ส่วนประเทศออสเตรียในเชิงรัฐบาลไม่ชัด แต่มีกลไก ‘SDGs Watch Austria’ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคม ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น มีกลไกที่เรียกว่า ‘Roundtable Meeting’ ประจำปี เป็น SDGs Japan หรือกลุ่ม Our SDGs เป็นกลไกที่มีการขับเคลื่อน SDGs ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
ด้านการสนับสนุนความรู้เกี่ยวกับ SDGs ประเทศฟินแลนด์มี Expert Panel เป็นเวทีผู้เชี่ยวชาญเรื่อง SDGs ส่วนประเทศเดนมาร์ก ไม่ชัดเจน สวีเดนยังไม่ค่อยชัดเจนเช่นเดียวกัน ส่วนนอร์เวย์มียุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อนวัตกรรมและความยั่งยืน อันนี้จะคล้ายของประเทศไทยที่มีการจัดยุทธศาสตร์การวิจัยในกลุ่ม องค์กรที่ให้ทุนเรื่องวิจัย ส่วนประเทศออสเตรีย ยังไม่ชัดเจน แต่มีการพูดถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัย ประเทศญี่ปุ่นไม่ชัดเจน
ด้านการใช้ข้อมูล ประเทศเหล่านี้มักใช้สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นองค์กรในการกำหนดข้อมูลทั้งหมด โดยเดนมาร์กมีแพลตฟอร์มเฉพาะในการรายงานผลที่เกี่ยวกับ SDGs ผ่านสำนักงานสถิติแห่งชาติทำเหมือนกัน ขณะที่สวีเดนและนอร์เวย์เพิ่งเริ่มทำ ส่วนออสเตรียทำไปแล้ว และมีการพัฒนาตัวชี้วัดมาต่างหากอีก ส่วนญี่ปุ่นจะชัดเรื่องของการเวทีมากกว่า ในเชิง Governance การบริหารจัดการและภาวะผู้นำเป็นอย่างไร ด้านฟินแลนด์มีกรรมาธิการว่าด้วยเรื่อง SDGs มีวาระ 4 ปี นายกเป็นประธาน ส่วนเดนมาร์กให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ประสานงานหลัก และในรัฐสภามีสิ่งที่เรียกว่าสำคัญ 2030 Network เป็น Panel ของรัฐบาลที่คุยเรื่อง SDGs ส่วนสวีเดนได้ให้รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมดูแล และมีรองนายกฯ เป็นผู้ประสานงาน นอร์เวย์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคล้ายมหาดไทย แต่ให้ท้องถิ่นและการพัฒนาเป็น ผู้ประสานงานหลัก ออสเตรเลียมีเวที Inter-ministerial taskforce มีประธานร่วมเป็นหัวหน้ารัฐบาล ส่วนญี่ปุ่นชัดเจนมากมี SDGs Promotion Headquarter อยู่ในคณะรัฐมนตรี และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ด้านการพัฒนาศักยภาพคน (HR and capacity building) พบว่าฟินแลนด์ ใช้รัฐสภาเป็นพื้นที่สำหรับขยับขับเคลื่อน โดยมีการจัดเวทีเพื่อทบทวนความรู้ให้สมาชิกรัฐบาลทุก 4 ปี ส่วนเดนมาร์ก มีสิ่งที่เรียกว่า ‘SDGs Academy’ โดยพยายามเผยแพร่ความรู้ผ่าน SDGs Ambassadors นอร์เวย์มีธนาคารความรู้ (Knowledge Bank) ส่วนสวีเดน ญี่ปุ่น และออสเตรีย ยังไม่มีความชัดเจนในการขับเคลื่อนด้านนี้มากนัก
ด้านสุดท้ายด้านการเงิน พบว่าฟินแลนด์มีการบูรณาการ SDGs เข้าไปในระบบงบประมาณ ส่วนเดนมาร์ก มีสภาของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่ทำสิ่งที่เรียกว่า ‘Responsible Purchaser’ คือ ให้ทุนแก่ SME ในการขับเคลื่อน SDGs โดยเน้นในส่วนของ SME แต่ยังไม่เน้นเรื่องประชาสังคม) ส่วนนอร์เวย์มีจากการจัดงบประมาณเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon-neutral society) ออสเตรียพยายามจะทำ ‘Impact-oriented management of public administration/Impact assessment for SDGs’ แต่ไม่มีการจัดสรรงบประมาณ ส่วนญี่ปุ่น มีกฎหมายว่าด้วยองค์กรไม่แสวงกำไร และมีการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร
02 – ส่องตัวอย่าง 5 กรณี กับการสร้างหุ่นส่วนขับเคลื่อนบรรลุ SDGs ในไทย
นอกจากการศึกษา สำรวจ และเปรียบเทียบการดำเนินการของต่างประเทศแล้ว โครงการศึกษานี้ยังสำรวจศึกษากรณีศึกษาในไทยจำนวน 5 แห่ง ตาม 5 P ของ SDGs ได้แก่ คือ People (สังคม) ศึกษากลุ่มคอมโควิด-19 (Community-led COVID-19 Support Workforce) กับบทบาทขับเคลื่อนการจัดทำ ‘Home Isolation’ และ ‘Community Isolation’ ในช่วงโควิด 19 / Planet (สิ่งแวดล้อม) ศึกษามูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนกับการขับเคลื่อนประเด็นเกษตรยั่งยืน ระบบอาหารที่ยั่งยืน/ Prosperity (เศรษฐกิจ) ศึกษามูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยกับขบวนการที่อยู่อาศัยคนจน/ Peace (สันติภาพ) ศึกษากลุ่มลูกเหรียง ในเรื่องของการสร้างสะพานเชื่อมรัฐ-ประชาคมเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนสตรีในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง และ Partnership (ความเป็นหุ้นส่วน) ศึกษาสภาลมหายใจเชียงใหม่ในเรื่องการสร้างภาคีเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาวิกฤติ PM2.5 ที่เชียงใหม่
กรณีศึกษาแรก กรณีกลุ่มคอมโควิด-19 พบว่าที่มาของกลุ่มนี้เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2564 ซึ่งช่วงหนึ่งโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหว ทำให้เกิดกลุ่มนี้ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งประกอบด้วยการรวมตัวกันระหว่างชุมชนและภาคประชาสังคม 8 กลุ่มได้แก่ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิสถาบันเพื่อวิจัยนวัตกรรมด้านเอชไอวี เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มูลนิธิคุ้มครองด้านเอดส์ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ เครือข่ายโควิด-19 (ทีมภาคเหนือ) โดยสร้างโมเดลของกลุ่มที่เป็น ‘Community Isolation’ และ ‘Home Isolation’ ซึ่งไม่ได้แค่จัดตั้งชุมชน แต่เชื่อมต่อให้เห็นถึงระบบบริการสาธารณสุขที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับผิดชอบ
ข้อค้นพบที่น่าสนใจจากกรณีนี้คือปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งคือนโยบายของภาครัฐที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากตอนนั้นนโยบายสาธารณสุขเน้นการยับยั้งยอดผู้ป่วยติดเชื้อ หรือเรื่องการล็อกดาวน์ที่ไม่มีมาตรการการจัดการที่รอบด้านทำให้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนเปราะบาง ส่วนปัจจัยที่หนุนเสริมการดำเนินงานคือบริบทที่สุกงอม โดยภาคประชาสังคมที่เห็นถึงปัญหาระดมความคิดกันว่าทำอย่างไรให้คนติดเชื้อและไม่ติดเชื้ออยู่ด้วยกันได้ แล้วให้ภาครัฐและสาธารณสุขต้องมารับฟัง จนนำมาสู่นโยบายที่นำบทเรียนจากการทำงานมาปรับใช้ มีการดึงคลินิกอบอุ่นในพื้นที่ไปทำงาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาค มีการปรับตัวของพนักงานในลักษณะที่ยืดหยุ่นและมีการศึกษาข้อมูล ส่วนเงื่อนไขเชิงปฏิบัติการที่เป็นข้อจำกัด คือ การมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลในระยะแรก ๆ เนื่องจากความไม่ชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร และมีความยากในการประสานข้อมูล
กรณีศึกษาที่สอง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ประเทศไทย นับว่าเป็นองค์กรที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนานตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงปัจจุบันยังมีการขับเคลื่อนการทำงานอยู่ โดยมีความคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกับประเด็นที่หลากหลาย เช่น การผลักดันโครงการนำร่องเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย การผลักดันสวนผักคนเมือง รวมถึงการขยายตลาดสินค้าให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างคนเมือง ผู้บริโภค และผู้ผลิตในลักษณะที่เข้าหากัน เหล่านี้เป็นความสำเร็จแต่ระหว่างทางของการดำเนินการพบปัจจัยปัญหาที่เป็นอุปสรรคขวางกั้น โดยเฉพาะการไม่มีนโยบายที่จะมาสนับสนุนประเด็นสำคัญและไม่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ เช่น นโยบายเกษตรก็ว่าด้วยเกษตรเท่านั้นไม่มีการเชื่อมโยงกับประเด็นทางอาหาร หรือมองเกษตรกรในเชิงระบบ ทำให้ไม่เห็น ‘คน’ อยู่ในแผนและนโยบายต่าง ๆ ที่มี และยังขาดนโยบายที่เน้นการสร้างสมรรถนะของคน
ส่วนปัจจัยหนุนเสริม คือการนำนโยบายจากต่างประเทศมาปรับใช้ โดยเฉพาะการสนับสนุนสวัสดิการด้านการเกษตร นอกจากนี้ยังมีความพยายามของเจ้าของเรื่องและภาคประชาชนที่พยายามแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อเกษตรกรกับผู้บริโภค คือการโฟกัสที่คน โดยทำให้ให้คนมาเจอกัน เช่น ตลาดเขียว สวนผักคนเมือง เป็นการเน้นการเชื่อมต่อคนกับคนและเชื่อมต่อความเข้าใจ มีภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ในเครือข่าย ที่สร้างและเติบโตไปด้วยกัน และมีการเสนอระบบเกษตรที่หลากหลาย การทำงานที่ขับเคลื่อนที่หลากหลายเป็นระบบและมีการบูรณาการ
ขณะที่เงื่อนไขเชิงปฏิบัติการซึ่งยังเป็นข้อจำกัด เน้นภารกิจประจำ เน้นงานฟังก์ชัน แต่ละหน่วยงานก็จะมีกรอบการทำงานเฉพาะของตัวเอง เมื่อแตกต่างกันก็ซับซ้อนล่าช้าไปหมด ทำให้การเชื่อมโยงของภาคประชาสังคมยากขึ้นไปอีก บางเรื่องมีความไม่ต่อเนื่องของการขับเคลื่อนการทำงาน เช่น โครงการนำร่องเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน เมื่อหมดเวลารัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้สานต่อ ไม่รู้จะขยับยังไง ภาคประชาสังคมก็ไม่ได้รับสนับสนุนงบประมาณในการทำงานมากนัก ด้านเงื่อนไขเชิงความรู้ พบว่า ข้อจำกัดของการบูรณาการความรู้ เป็นข้อท้าทายมาจากผลสืบเนื่องการทำงานที่มีจุดเน้นความรู้กระแสหลัก ในขณะที่ฝั่งภาคเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนพยายามดึงเอาประสบการณ์และความรู้ของเกษตรจากระดับล่าง และนำบทเรียนมาใช้ แล้วก็ขับเคลื่อนความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและเสริมพลังจากล่างขึ้นบน ซึ่งขัดแย้งกับลักษณะการดำเนินที่เกิดจากบนลงล่าง (Top – Down)
กรณีที่ศึกษาที่สาม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เน้นการทำงานสร้างความมั่นคงที่อยู่อาศัยของคนเมือง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2525 ปัจจุบันมีส่วนร่วมในการขยับเรื่องโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของไร้บ้าน ก่อให้เกิดศูนย์คนไร้บ้าน 3 แห่ง ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น โดยเน้นการช่วยเหลือเรื่องการจัดตั้งบ้านมั่นคงหลายแห่ง และช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ความสำเร็จที่เห็นเป็นความสำเร็จแบบค่อยเป็นค่อยไป เห็นความสำเร็จเรื่องการทำงานกับคนไร้บ้าน การผลักดันเรื่องบ้านมั่นคง ทำให้คนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงมากขึ้น ซึ่งปัจจัยหนุนเสริม ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งให้ชาวบ้าน การเป็นพื้นที่กลางของมูลนิธิ การทำงานสนับสนุนบนฐานความคิดที่ทำให้ระบบเอื้อต่อการทำงานของชาวบ้าน มีการเรียนรู้ข้ามภาคส่วน ผู้คนสามารถพัฒนาให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ลุกขึ้นมาทำด้วยตัวเองได้
ส่วนเงื่อนไขในเชิงของความรู้ ได้แก่ ความรู้ของภาควิชาการ โดยปัจจุบันยังไม่สามารถสนับสนุนการทำงานเชิงปฏิบัติการหรือเชิงขับเคลื่อนขบวนได้ เพราะนักวิชาการสนใจเฉพาะจุด บางเรื่องมีการขอร้องให้ทำแต่คนไม่ทำเพราะบอกว่ามีคนทำเยอะ ส่วนที่ทำไปเยอะก็ไม่ไปตอบโจทย์ ส่วนปัจจัยหนุนเสริมก็มีเรื่องของบทเรียนการทำงานที่มีมายาวนาน แล้วก็มีการใช้บทเรียนต่างประเทศมาปรับใช้ในประเทศไทย มีความรู้ด้านเครื่องมือสนับสนุนการเก็บข้อมูลทำให้เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งทุนต่าง ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตามมีอุปสรรคปัญหาขวางกั้นการดำเนินการ ได้แก่ นโยบายของรัฐที่เปลี่ยนไปไม่คงที่ เช่นเรื่องการขับเคลื่อนศูนย์พักพิงคนไร้บ้านทำงานมา 3 รัฐบาล แล้วก็มาสำเร็จปี 2562 ส่วนเรื่องหนุนเสริม คือ นโยบายที่มาจากข้างล่าง หรือเจ้าของเรื่องชาวบ้านเป็นเจ้าของเรื่องเอง เขาก็ต้องผลักดัน ไม่ทิ้ง แม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปเขาก็จะไม่ทิ้ง แล้วก็ยังยืนหยัดมั่นคงในการเสนอเรื่องตัวเอง ส่วนเงื่อนไขเชิงปฏิบัติการ คือ จำนวนบุคลากรไม่มากพอ รวมถึงข้อจำกัดทั้งด้านการเงินและคน ทำให้อาจทำงานได้ไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันภารกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่ค่อยเอื้อ และการขับเคลื่อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความล่าช้า
กรณีศึกษาที่สี่ กลุ่มลูกเหรียง เป็นกลุ่มที่ทำงานเรื่องเยาวชนและเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานและมีการทำงานที่กระจายตัว ด้านหนึ่ง ลูกเหรียงก็ได้รับสนับสนุนจาก สสส. และได้รับทุนในแง่ของการระดมทุนและเงินบริจาคเป็นจำนวนมากจากภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ลูกเหรียงมีความสัมพันธ์และทำงานร่วมภาครัฐได้ดี ทำให้ค่อนข้างแตกต่างจากองค์กรอื่น ๆ
ปัจจัยหนุนเสริม ในแง่ประเด็นการทำงานของลูกเหรียงเขาทำงานกับเด็กและเยาวชน ประเด็นที่สร้างสรรค์ไม่ได้กระทบความมั่นคงหรือสร้างความขัดแย้งกับส่วนอื่น ๆ จึงสร้างความร่วมมือได้ อีกปัจจัยคือการพัฒนาจากเหยื่อไปสู่บุคคลสร้างการเปลี่ยนแปลง นับเป็นปัจจัยที่สำคัญของความสำเร็จ ขณะที่เงื่อนไขเชิงความรู้ ปัญหาที่เจอ คือ องค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ตอบสนองปัญหาเฉพาะในพื้นที่ จึงต้องใช้ต้นทุนองค์ความรู้จากการดำเนินงานของกลุ่มเอง
ส่วนประเด็นที่เป็นอุปสรรค คือความรุนแรงและการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่พิเศษ ตรงนี้กลายเป็นเหรียญสองด้าน คือ การทำงานในประเด็นที่มีช่องว่างในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ก็ทำให้เขาได้รับความสนใจจากหน่วยงาน มีความสนใจ แหล่งทุนเข้าไปจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการเพราะว่าปัญหามีเยอะและมีเรื่องภาระที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในการปรับตัวการทำงานกับรัฐ เพราะต้องทำงานกับรัฐ กอรมน. ก็ต้องปรับตัวค่อนข้างอย่างมาก
กรณีศึกษาที่ห้า สภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นองค์ประกอบของหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ที่มาทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ หรือ PM2.5 ซึ่งปีล่าสุดมีการแบ่งงานกันเพื่อควบคุมไฟป่าในฤดูร้อน โดยปัจจัยหนุนเสริมที่สำคัญคือการขับเคลื่อนนโยบายท้องถิ่นที่สอดรับกับสิ่งที่ขับเคลื่อน คือก่อนหน้านี้เชียงใหม่ได้ขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองมาก่อนก็เป็นเป็นส่วนที่ทำให้เป็นต้นทุนในการทำงาน ขณะที่ปัญหาอุปสรรค คือนโยบายที่เปลี่ยนไปเรื่อย และผู้บริหารก็เปลี่ยนแปลงบ่อยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ตรงนี้มีส่วนทำให้การทำงานมีความยากขึ้น
ส่วนเงื่อนไขเชิงปฏิบัติการที่เป็นอุปสรรค คือแต่ละฝั่งอยากแก้ปัญหาแต่มีข้อจำกัดในการดำเนินการ ส่วนที่หนุนเสริมคือมีแพลตฟอร์มกลางเช่นเวทีแลกเปลี่ยนและพื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ ทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้ แล้วก็การทำงานบนฐานคิดของ “พลังลมหายใจเดียวกัน” คำว่าลมหายใจเดียวกันกลายเป็นคำที่มีพลัง สามารถรวมคนมาทำงานร่วมกัน คือ ทุกคนมองเห็นช้างตัวเดียวกัน แล้วมองเห็นดาวดวงเดียวไปด้วยกัน ขณะที่เงื่อนไขความรู้ พบว่าความรู้ที่มีอยู่ค่อนข้างกระจายมาก แต่ว่าสภาลมหายใจเชียงใหม่เขาก็ได้ระดมเอาองค์ความรู้ คือไปทำงานกับนักวิชาการ แล้วสังเคราะห์และสร้างแนวคิดนำออกมาใช้งานพร้อมทั้งทำงานโดยให้ความสำคัญต่อเรื่องกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
ทั้งนี้แม้จะต่างพื้นที่และต่างกิจกรรม แต่กรณีศึกษาทั้ง 5 แห่ง ก็มีค้นพบร่วมกัน เช่น
- ประเด็นที่ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนได้ดี มักเป็นประเด็นการทำงานที่เป็นช่องว่าง หรือภาครัฐทำไม่ได้ด้วยตัวเอง หรือทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้มีการเปิดพื้นที่ในการทำงานร่วมกัน
- หน่วยงานทั้ง 5 แห่ง ได้รับการสนับสนุนหลักโดย สสส. แม้ว่าบางองค์กรอาจจะได้รับงบประมาณจากการระดมทุนและเงินบริจาคหรือการพยายามหารายได้ด้วยตนเองด้วย แต่ก็ได้ไม่มากนัก ดังนั้นความมั่นคงและความยั่งยืนด้านการเงินในการทำงานของภาคประชาสังคมสำหรับขับเคลื่อน SDGs จึงเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต้องมีการริเริ่มการระดมทุนรูปแบบใหม่ หรือการริเริ่มการสร้างระบบการเงินในรูปแบบใหม่เพื่อสนับสนุนให้สามารถมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้น
- 5 ประเด็น ที่องค์กรภาคประชาสังคมขับเคลื่อน เป็นประเด็นที่หน่วยงาน/กลุ่มนั้น ๆ มีความเชี่ยวชาญ ทำงานประเด็นนั้นมานานมาก และมีลักษณะรวมทั้ง 3 อย่าง ที่เรียกว่า Professionalized CSO เป็น CSO หรือ NGO ที่ทำงานแบบมืออาชีพ รู้ลึกรู้จริงในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งเป็นการยกระดับการปรับตัวขององค์กรภาคประชาสังคมในยุคใหม่ ที่ทำงานจนเป็น ‘Think Tank’ ในเรื่องนี้ได้จนมีความเชี่ยวชาญและได้รับการยอมรับจากภาครัฐเอง
- หากมองเชิงประเด็นจะเห็นการเชื่อมโยงเชิงประเด็น ของ CSO ที่มีความเข้มข้นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนที่ เรื่องกลุ่มที่พูดถึงเรื่องเอชไอวี/เอดส์ อย่างไรก็ดีมีการเชื่อมโยงของเครือข่ายในภาพรวม คือ กป.อปช. หรือคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ
- ถ้าเทียบระหว่าง SDGs Building Block จาก Top-Down จะเห็นได้ว่า ตัว I และ H เป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าส่วนที่เป็นจาก Bottom-Up ส่วนสำคัญเป็นเรื่องหุ้นส่วน องค์ความรู้ งบประมาณ การใช้ระบบข้อมูล หรือแม้กระทั่งการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ส่วนที่เป็นเงื่อนไขจำเป็นของ Bottom-Up ก็คือเรื่องหุ้นส่วนในการพัฒนา แต่ว่าเรื่องตัว I และ G คือเงื่อนไขที่จำเป็นของส่วน Top-Down ซึ่งถ้านำสองอย่างมาประกบกันแล้ว ก็จะเห็นว่ามันเป็นองค์ประกอบที่ไปกันได้ ทำให้รู้ว่าจุดเน้นควรจะเป็นตรงส่วนใด ซึ่งถ้าฝั่ง Top-Down ก็คือโครงสร้างเชิงสถาบันต้องเปิด ส่วน Bottom-Up เราต้องมีกระบวนการทำงานและทรัพยากรที่เพียงพอ
03 – ข้อเสนอแนะสู่การเปลี่ยนแปลง
ดร.สุรางค์รัตน์ ปิดท้ายการนำเสนอด้วยการกล่าวถึงข้อเสนอแนะว่าควรเปิดพื้นที่นโยบาย โดย ตัว I และ G เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วน ตัวอย่างที่เห็นทั้งประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่นมักมีการสร้าง การถกสนทนาและหารือระดับชาติ (National Dialogue and Consultation) อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งช่วยนำไปสู่ปฏิบัติการร่วม ทำให้มีพื้นที่และมีการทำงานร่วมกัน สำหรับประเทศไทยเสนอว่าอาจจะเชื่อมโยงกับกลไกที่เกี่ยวข้องก็ได้ ทุกวันมีกลไกประจำอยู่ เช่น สมัชชาสุขภาพ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมฯ หรือจะเปิดพื้นที่แบบใหม่ไปเลย เช่น สมัชชาการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เงื่อนไขคือต้องทำให้สม่ำเสมอ แล้วก็เปิดพื้นที่ที่สร้างการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วนจริง ๆ ในเชิงเนื้อหา ไม่ได้เปิดจากรูปแบบ
นอกจากนี้ยังควรสร้างการทำงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคม และตอบโจทย์ว่า ทำอย่างไรหากจะหาว่าองค์กรภาคประชาสังคมอยู่ไหนบ้าง ตอนนี้กลุ่มองค์กรภาคประสังคม NGOs ที่เป็นมูลนิธิ สมาคม ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย แต่องค์กรสาธารณประโยชน์ต้องจดทะเบียนที่กระทรวงพัฒนาความมั่นคงมนุษย์ คือถ้ามีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสององค์กรนี้ได้ เราจะเห็นเลยว่าใครทำงานอะไร อยู่ตรงไหน แล้วภาครัฐสามารถเอื้อมมือไปจับมือกันได้
ส่วนที่สำคัญอีกส่วนคือต้องมีการจัดระบบงบประมาณเพื่อสนับสนุนการทำงาน SDGs อย่างเป็นระบบด้วย คือลำพัง สสส.องค์กรเดียวก็ไม่พอ ปัจจุบัน สสส. มีกองทุนสิ่งแวดล้อม แต่ดำเนินการอาจล่าช้า จึงคิดว่าต้องมีเรื่องของการคิดกองทุนใหม่ ๆ หรือเชื่อมโยงตัวกระทำการเพื่อสนับสนุนงบประมาณ เข้ามาทำงานร่วมกัน ให้เพียงพอแก่การขยับขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs
ในเชิงยุทธศาสตร์ จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์และการสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาข้ามภาคส่วน เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs หมายความว่าการเป็นหุ้นส่วนต้องมีการสร้างยุทธศาสตร์การทำงานแบบมีส่วนร่วมเป็นตัวตั้งหลักด้วย ร่วมทั้งสนับสนุนการวางแผนการทำงาน สร้างพื้นที่ หรือแพลตฟอร์มสนับสนุนการทำงาน และการระดมทรัพยากรและงบประมาณอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการทำงานข้ามภาคส่วนร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นในการออกกฎหมายส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยมีแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่เปิดกว้าง สนับสนุนทรัพยากร รวมถึงมีการสร้างแนวการประเมินผลลัพธ์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
Section 2: การเสวนาข้ามภาคส่วน
04 – แพลตฟอร์มแบบใด สร้างการมีส่วนร่วมและเสริมพลังผลักดัน SDGs ได้ดี
การเสวนาตั้งต้นด้วยคำถามว่า “จะสร้างแพลตฟอร์มอย่างไรเพื่อเสริมพลังจากข้างล่าง แล้วสนับสนุนการทำงานข้ามภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและอนาคต”
คุณสมบูรณ์ ให้ความเห็นว่าเมื่อพูดถึงแพลตฟอร์มก็จะนึกถึง ‘พื้นที่กลาง’ ซึ่งจำเป็นต้องสำรวจในระดับพื้นที่เพราะเชื่อแต่ละแห่งมีสิ่งนี้อยู่ โดยดูว่าในพื้นที่นั้น ๆ มีกลุ่มหรือใครที่ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่บ้าง ทำเรื่องอะไร ในมิติใด เหล่านี้เป็นต้นทุนที่พื้นที่สั่งสมกันมา สิ่งที่ต้องคิดต่อคือจะพัฒนาพื้นที่กลางหรือแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้วได้อย่างไรให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยจุดที่สำคัญคือการยกระดับความร่วมมือเชิงประเด็นให้สามารถบูรณาระหว่างประเด็นผ่านการเชื่อมโยงของแพลตฟอร์มต่างหน่วยงานหรือพื้นที่ให้ได้
ด้านคุณนพพรรณ ระบุว่าต้องเริ่มจากการสร้างและยึดฐานคิดว่าทุกภาคส่วนมีสิทธิโดยชอบธรรมในการกำหนดการพัฒนา และมีส่วนรับผิดชอบ คิดค้น และสร้างการพัฒนา สร้างการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ การพัฒนาไม่ได้เป็นเรื่องของรัฐอย่างเดียว ตรงนี้จะช่วยให้ทำงานข้ามภาคส่วนได้ ต่อมาคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชน คนข้างล่าง หรือคนในระดับพื้นที่ เพราะส่วนใหญ่ความพยายามอยากแก้ปัญหามักมาจากคนกลุ่มนี้ ต้องเสริมพลังให้พวกเขามีอำนาจตัดสินใจร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ มากขึ้น จากนั้นขยับไปพูดถึงเรื่องแพลตฟอร์มได้ แพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพคือทำให้ทุกคนมีอำนาจเท่ากัน ทุกคนมาอยู่บนโต๊ะที่เท่ากัน ยอมรับกัน พูดคุยแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจ และกำหนดการพัฒนาร่วมกันได้ แน่นอนว่าในเชิงปฏิบัติมันเกิดขึ้นได้ยากแต่ก็เห็นว่าเป็นแนวทางที่เราสามารถพยายามไปให้ถึงได้
คุณเดโช ยกตัวอย่าง แพลตฟอร์มของสภาลมหายใจ โดยเท้าความว่าปัญหาความขัดแย้งของการจัดการไฟป่าเริ่มจากเสียงของคนชั้นกลางและคนในเมืองในยุคต้น ๆ ที่เรียกร้องให้รัฐเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อที่จะแก้ปัญหาภัยไฟป่าฝุ่นควันที่เกิดมลพิษ ประเด็นปัญหาคือเมื่อรัฐจะเอาจริงเอาจัง ทำให้เกิดการกดทับ เกษตรกรชาวบ้านที่อยู่ในป่า กลายเป็นมีคนที่ถูกจับดำเนินคดี ถูกประณาม สังคมชนบทกลายเป็นสาเหตุของปัญหา ที่ในยุคเริ่มต้นสภาลมหายใจจึงก่อกำเนิดขึ้นเพื่อทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่มีเสียงของเกษตรกร เสียงของคนชายขอบเป็นส่วนหนึ่งของสภาลมหายใจ ก่อนจะพัฒนาการภายใต้แนวคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนการแก้ไขปัญหา การมีส่วนร่วมของประชาชน คือกุญแจดอกสำคัญ
คุณกฤษฎา กล่าวถึงประเด็นเดียวกันว่าประวัติศาสตร์การสร้างแพลตฟอร์มระหว่างภาครัฐกับภาคสังคมมีมานาน จริง ๆ ต้องเท้าความว่าสภาพัฒน์ เคยชวน NGO จำนวนไม่น้อย บอกว่า NGO ไม่ได้มีการรวมตัวกัน เราน่าจะมีการรวมตัวและเชื่อมประสานกัน ตั้งแต่ในปี 2528 เป็นปีที่ NGO ต่าง ๆ รวมตัวกันและตั้งชื่อว่าคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อปช.) ด้วยแรงผลักดันของสภาพัฒฯ ที่อยากจะเห็นกลไกระหว่างภาครัฐที่ทำงานออกแบบการพัฒนาสังคม จะเห็นภาคประชาสังคมหรือ NGO ช่วงนั้นมาเชื่อมโยงกัน แต่แพลตฟอร์มนี้ถูกสร้างและถูกทิ้งไป หมายความว่าเราเกิด กป.อปช.ก็จริง แต่ว่าความเชื่อมโยงกับทางภาครัฐและสภาพัฒนาฯ เองก็หายไป สถาบันชุมชนด้วย ก็เข้าไปช่วยออกแบบ
หลังจากนั้นก็มีการพยายามสร้างแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น สภาองค์กรชุมชน ออกมาเป็น พ.ร.บ. สภาพลเมือง ตามมา แต่นี่ก็ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของระหว่างภาครัฐกับภาคสังคม ซึ่งมีลักษณะของความย้อนแย้งไม่ลงตัว ส่วนสำคัญก็คือในพื้นที่ที่ปราศจากเรื่องจากเรื่องการเมือง (non-politic) ก็จะเกิดความร่วมมือ เกิดการวางแผน และผลักดันให้ปฏิบัติการได้ แต่ถ้าพื้นที่ไหนที่มีความต่างรวมทั้งความขัดแย้งในเชิงวิธีคิด เชิงนโยบาย และเชิงกฎหมายต่าง ๆ ก็มักทำให้แพลตฟอร์มไม่เกิดขึ้น จึงเป็นจุดสำคัญว่าทำไมถึงมีม็อบต่าง ๆ ทำไมถึงมีการเดินขบวน เพราะไม่มีการดึงภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมแต่ต้น
ทั้งนี้ การจะสร้างแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน ประการแรก ต้องเริ่มจากการจัดการวิธีคิดก่อน ถ้ายึด SDGs เป็นตัวตั้ง ก็ต้องให้ความสำคัญกับการอยู่รอดของโลกด้วย ไม่ว่าโลกร้อน ชีวภาพ ความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามหลักของประชาธิปไตยเป็นตัวตั้งขึ้นมา อันนี้คือสิ่งที่เราต้องทำให้ความคิดตรงกัน ประการต่อมา ควรจะสร้างพื้นที่ของการพูดคุย พื้นที่ของกระบวนการทางนโยบาย ต้องมีกลไกที่ประชาสังคมสามารถเข้าไปมีส่วนรวม จึงเสนอว่ากรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งทำงานรายประเด็นอยู่แล้ว อาจจะตั้งกลไกร่วมกันในประเด็นสำคัญ อาจเป็นเรื่องประจำ หรือชุดเฉพาะกิจขึ้นมาก็ได้ แล้วดึงพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันออกแบบในการกำหนดด้วยกันจะทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนนโยบายข้างบนลงมาระดับต่อไป
ขณะที่นโยบายไม่จำเป็นต้องมีแผนระดับชาติ แต่ควรมีตัวแสดงอื่น ๆ เข้ามาทั้งร่วมมือ ทั้งแข่งขัน ทั้งแบ่งบทบาทกัน ซึ่งมันต้องสร้างกลไกการจัดสรรในลักษณะแบบนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ประการสุดท้าย ต้องมีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (just transition) เพราะทุกคนต่างรู้ว่ากำลังอยู่ในโครงสร้างที่มีปัญหาอะไร ทั้งในเชิงแนวคิด ยุทธศาสตร์การพัฒนา และความสัมพันธ์ทางอำนาจ เช่นนั้นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญคือ การกระจายอำนาจสู่แนวระนาบ แนวข้างล่าง โดยสร้างกลไกข้างล่างที่มีทั้งกฎหมาย นโยบายรองรับ ทรัพยากร และแพลตฟอร์ม มาเป็นตัวกำหนดนโยบายจริง ๆ โดยแพลตฟอร์มที่เกิดการร่วมมือเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเหล่านี้มาทำงานได้จริง ๆ ตรงนี้จะช่วยให้ก้าวพ้นจากกับดักของรัฐที่ครอบงำและมีอิทธิพล และช่วยให้ SDGs ทุกข้อจะขยับไปได้ดียิ่งขึ้น
ดร.ธัชไท ผู้ร่วมเสวนาหนึ่งเดียวจากภาครัฐ ชี้ว่าประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ คือ จะหาตัวแทนของภาคประชาสังคมได้อย่างไร หรือภาครัฐอยากพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนกับภาคประชาสังคม สามารถคุยกับใครได้บ้าง ตรงนี้เป็นปัญหามากในเชิงปฏิบัติ เพราะว่าในแต่ละองค์กรก็จะมีตัวแทนของตัวเอง จึงมีความแตกต่างจากวงความร่วมมือที่ทำกับภาคเอกชนหรือภาควิชาการ เพราะเอกชนก็จะมี คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สภา SME และวิสาหกิจชุมชนที่สามารถคุยได้ หรือถ้าเป็นภาควิชาการเราก็จะคุยกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สภาอธิการบดี และอื่น ๆ แต่พอพูดถึงภาคประชาสังคมแล้ว แพลตฟอร์มที่มีอยู่ตอนนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแพลตฟอร์มเฉพาะเรื่อง แต่พอพูดถึงในโจทย์วิจัยอันนี้ที่ทำขึ้นมาจริง ๆ จะเป็นโจทย์วิจัยที่น่าจะพูดเรื่อง SDGs การขับเคลื่อนภาพรวมมากกว่าเป็นการชี้เป้า
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเสียงที่จะไปถึงภาครัฐ ตอนนี้เป็นเบี้ยหัวแตก เป็นเสียงที่เกิดขึ้นจากการที่ต่างคนก็ต่างพูดถึงประเด็นปัญหา ซึ่งอันนี้รัฐเองก็พยายามเก็บอยู่ แต่การรวมตัวเสียงเป็นเสียงเดียวกันที่เป็นเสียงที่หนักแน่น และมาจากฝั่งตัวแทน มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้อยากที่จะเห็นจากผลการวิจัยจริง ๆ ซึ่งอาจดูจากกรณีศึกษาของต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศอันดับดีเท่านั้น แต่น่าสนใจให้ดูประเทศที่มีการพัฒนาใกล้ ๆ กับเรา หรือว่าที่มีลักษณะประเด็นการพัฒนาที่คล้าย ๆ กับเรา เพื่อสามารถเปรียบและปรับใช้ได้
อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
รับชมวิดีโอบันทึกจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะ : ที่นี่
ติดตามสรุปเสวนาในโครงการทั้ง 6 เวที : ที่นี่
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy) 6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567
Last Updated on พฤษภาคม 12, 2024