วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) ชี้ว่าคลื่นความร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสำหรับเด็ก ๆ ในประเทศไทยและทั่วโลก เนื่องจากร่างกายของเด็กปรับอุณหภูมิได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ การเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ของเด็ก เช่น โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยทารกและเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมากที่สุด นอกจากนี้ คลื่นความร้อนและวิกฤตสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการพื้นฐานของเด็ก ๆ เช่น บริการทางสุขภาพ การศึกษา หรือการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด
ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลรายงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของยูนิเซฟ The Coldest Year of the Rest of their Lives: Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves ในปี 2565 ระบุว่า เด็ก 559 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.02 พันล้านคนภายในปี 2593 ขณะที่ประเทศไทย เฉพาะปี 2563 มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกว่าร้อยละ 75 หรือประมาณ 10.3 ล้านคน ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้น และคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 เด็กทุกคนในประเทศไทยจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นหากไม่มีการดำเนินการแก้ปัญหาใด ๆ
ประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ จากคำเตือนล่าสุดของยูนิเซฟ เช่น
- เด็ก ๆ ในประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ อากาศที่ร้อนจัด น้ำท่วม และภัยแล้ง โดยเด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส มีความเสี่ยงสูงสุด
- เงินทุนทั่วโลกด้านการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแค่เพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มุ่งตอบสนองความต้องการของเด็ก
- การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมักมองข้ามความต้องการของเด็ก ๆ เสียงของเด็กมักไม่ถูกรับฟังและพวกเขาก็มักไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง เด็กมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มเปราะบางมากกว่าจะเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพในการร่วมแก้ปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เราทุกคนกำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือด ซึ่งรัฐบาล ชุมชน และทุกคนในสังคมจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้โลกของเราเป็นที่ ๆ สามารถอยู่อาศัยได้ เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนและบริการต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กในกระบวนการออกแบบและตัดสินใจ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างอนาคตที่เด็ก ๆ จะสามารถเติบโตได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง”
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ทำความรู้จัก “Extreme Weather” สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่เปลี่ยนท้องฟ้ากรุงเทพฯ ดำมืด ปัญหาท้าทายที่โลกต้องเร่งจัดการ
– รายงาน IPCC ฉบับใหม่เผยข้อมูลผลกระทบและความเสี่ยงจาก Climate Change ต่อปัญหาสุขภาพปัจจุบัน
– รายงาน IPCC ล่าสุด เตือนว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงที่ “ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์”
– ‘Earth Warriors’ หลักสูตรทางเลือกสอนเด็กเล็กในประเทศที่ร่ำรวย ให้รู้รักความยั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ
– SDG Updates | หลักสูตรการศึกษาถึงเวลาต้องเปลี่ยน – เมื่อการต่อสู้กับ Climate Change เริ่มต้นที่ห้องเรียน
– UNICEF ย้ำ “คลื่นความร้อน” จะเป็นภัยคุกคามที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ แก่เด็กกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก ภายในปี 2593
– UN Women เผยภายในปี 2593 ‘ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง’ จะตกอยู่ในความยากจน-ไม่มั่นคงทางอาหาร เหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– รู้จัก 7 หนังสือ ที่จะช่วยส่งเสริมความรู้ ด้าน ‘Climate Change’ สำหรับทุกวัย โดยเฉพาะเด็ก Gen Alpha
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
แหล่งที่มา : ยูนิเซฟเตือนเด็กในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคนต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้น (ยูนิเซฟ ประเทศไทย)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย