Policy Brief | เร่งรัดขับเคลื่อนอนุรักษ์ทะเล ชายฝั่ง เเละความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการหนุนเสริม OECM เเละการพัฒนาระบบสารสนเทศ

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals: SDGs) โดยองค์การสหประชาชาติ (The United Nations) เป็นเป้าหมายการพัฒนาสูงสุดที่จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อทำให้มวลมนุษยชาติที่อาศัยอยู่บนโลกนี้มีวิถีชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับความยั่งยืนของโลก สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้เข้าร่วมลงนามใน SDGs ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม รายงาน Sustainable Development Report 2565 ได้ระบุข้อมูลดัชนี SDGs หรือ SDG Index โดยผลการรายงานแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 44  จาก 165 ประเทศ มีค่าดัชนีเท่ากับ 74.1 จากคะแนนเต็ม 100 โดยเป้าหมายที่ 14 (Life below water: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน) และ เป้าหมายที่ 15 (Life on Land: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ) เป็นเป้าหมายที่มีสถานะอยู่ในขั้นวิกฤติ (แดง)  หมายถึงตัวชี้วัดที่แย่ที่สุดอย่างน้อยสองตัวอยู่ในสถานะวิกฤติ  โดยเป้าหมายย่อยที่ 14.5 และ 15.5 เป็นตัวชี้วัดที่มีแนวโน้มของคะแนนหยุดนิ่งอยู่กับที่หรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 50% ของอัตราที่กำหนดภายในปี พ.ศ. 2573  

นอกจากนี้ จากรายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ซึ่งได้ทำการประเมินสถานะของเป้าหมายย่อยทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อย โดยเป้าหมายย่อยที่ 14.5 จัดอยู่ในสถานะมีค่าต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต สถานการณ์ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของค่าเป้าหมาย (สีแดง) และเป้าหมายย่อยที่ 15.5 จัดอยู่ในสถานะมีค่าต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง สถานการณ์อยู่ในช่วงร้อยละ 50-74 ของค่าเป้าหมาย (สีส้ม)

ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วง พ.ศ. 2565-2573 ได้รับการปรับปรุงและมีสถานภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.5 และ 15.5 จึงได้มีการดำเนินการวิจัยเรื่อง ‘การเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง (SDG sub-target 14.5) และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ (SDG Sub-target 15.5)’ ด้วยความหวังที่จะหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอแนะนโยบายซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบรรลุสถานะเป้าหมาย  

งานวิจัยข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบทานกระบวนการเก็บข้อมูลและการรายงานสถานะปัจจุบันและเพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่  14.5 และ 15.5   โดยกรอบการวิจัยจะดำเนินการภายใต้ SDG System Buildings เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยเอื้อที่มีต่อการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จใน 7 ประเด็นและมองเห็นช่องว่างเชิงนโยบาย ได้แก่ 1) ความสอดคล้องเชิงนโยบาย อำนาจหน้าที่หน่วยงาน กฎกติกา/กฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง 2) เครือข่ายและความร่วมมือในการผลักดันประเด็นเชิงนโยบาย 3) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จำเป็น องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องทางวิชาการ ประสบการณ์ในการทำงาน และภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมถึงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา  4) ระบบข้อมูลข่าวสารที่สนับสนุนการขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับประเด็น เช่น ฐานข้อมูล แหล่งข้อมูลสถิติ แหล่งข้อมูลความรู้ ฯลฯ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีการอัพเดตต่อเนื่อง  รวมถึงระบบการจัดเก็บและนำเสนอข้อมูล SDG Dashboard 5) ระบบบริหารจัดการและความเป็นผู้นำในประเด็น ผู้รับผิดชอบและผู้นำในการขับเคลื่อน 6) การเสริมสร้างศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์   รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทและขีดความสามารถของท้องถิ่น ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การใช้ประโยชน์  สร้างนักวิทยาศาสตร์ภาคประชาชน (Citizen Scientist) และ 7) ทรัพยากรทางการเงิน (งบประมาณ) รวมทั้งกลไกในการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนา

ข้อค้นพบที่น่าสนใจจากงานวิจัยข้างต้นต่อเป้าหมายย่อยที่ 14.5 ได้แก่

  • หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักและหน่วยงานสนับสนุนมีภารกิจโดยตรงที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายแต่เนื่องจากความเข้าใจและการตีความนิยามของ “พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง” ยังไม่ตรงกันกับความหมายของ SDG 14 จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการกำหนดพื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามเป้าหมายย่อยที่ 14.5
  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเป้าหมายที่ 14 เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ และมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558 โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ขาดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น ประกอบกับได้มีการบุกรุกหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นจํานวนมากทําให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรม ประกอบกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีความครอบคลุมเพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในบางพื้นที่ สมควรมีกฎหมายเพื่อกําหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการ การบํารุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการปลูก การบํารุงรักษา การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างสมดุลและยั่งยืน จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ 
  • การจะบรรลุเป้าหมาย SDG 14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.5 มีความเป็นไปได้มาก หากหน่วยงานหลักเข้าใจและรวบรวมพื้นที่ที่มีศักยภาพและจัดเรียงความสำคัญในการประกาศพื้นที่ทั้งด้านความเร่งด่วนกรณีพื้นที่นั้นจะเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างรุนแรง และหรือพื้นที่ที่มีศักยภาพและเข้าค่ายเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง ตามความหมายของ SDG 14 และภายใต้ข้อเสนอแนะของมติ CBD 15 (Other Effective Area-based Conservation Measure: OECM) และสมควรที่จะกำหนดแผนและเงื่อนไขของเวลาในการบรรลุเป้าหมายย่อยนี้ให้ชัดเจน

ข้อค้นพบที่น่าสนใจจากงานวิจัยข้างต้นต่อเป้าหมายย่อยที่ 15.5 ได้แก่

  • พบว่าความเข้าใจและการรายงานผลตัวชี้วัดที่ 15.5 ซึ่งใช้ไอยูซีเอ็นบัญชีแดง (IUCN Red list index) จากหน่วยงานภายในประเทศ กรมความหลากหลายทางชีวภาพ (สผ.) (ปี 2558 RLI เท่ากับ 0.82 และ 2563 RLI เท่ากับ 0.87) และ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2564) และ Dashboard SDG index ไม่ตรงกัน (ปี 2553 RLI เท่ากับ 0.81, 2563 เท่ากับ 0.776)  ทำให้การประเมินสถานภาพของประเทศไทยในเป้าหมายที่ 15 อยู่ในสถานภาพวิกฤติ
  • การใช้ดัชนีไอยูซีเอ็นบัญชีแดงเป็นตัวชี้วัดเป้าหมายย่อยที่ 15.5 อาจไม่เหมาะสมกับประเทศไทย (และภาพรวมของโลก) เนื่องจากค่าที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับสถานภาพของสิ่งมีชีวิตและจำนวนชนิดที่ได้จากการสำรวจ RLI มุ่งเน้นความสนใจในกลุ่มสิ่งมีชีวิตความเสี่ยงสูงแต่ในด้านการป้องกันและการอนุรักษ์ RLI อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดของการจัดอันดับความสำคัญสำหรับการอนุรักษ์
  • การอนุรักษ์ชนิดพันธุ์และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใดจะไม่ประสบความสำเร็จหากไม่มีการอนุรักษ์ระบบนิเวศ แหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ดังนั้น เป้าหมายย่อยที่ 15.5 จึงเชื่อมโยงโดยตรงกับเป้าหมายย่อยที่ 15.1 (สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563) และเป้าหมายย่อยที่ 14.5 
  • การจัดสถานภาพของสิ่งมีชีวิตได้ใช้มาตรฐาน IUCN ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนาบุคลากรและงบประมาณการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในประเทศมีความครบถ้วนสมบูรณ์และสามารถใช้วางแผนในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างยั่งยืน รวมถึงขยายการมีส่วนร่วมและให้ความรู้ไปสู่ระดับพื้นที่และภาคส่วนอื่น ๆ เช่น องค์กรภาคประชาสังคม เพราะว่าความหลากหลายทางชีวภาพมีผลโดยตรงกับการดำรงชีวิตของประชาชน 
  • การอนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพจะไม่ประสบความสำเร็จหากพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลายหรือลดลง ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์เป็นเรื่องเร่งด่วนแต่การจะประกาศพื้นที่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ภายใต้พระราชบัญญัติที่มีมาตรการเข้มงวดมากกับสิทธิ์การใช้ประโยชน์ของประชาชน มีความเป็นไปได้น้อยลง ดังนั้นข้อเสนอในเรื่องการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ผ่านมาตรการพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (Other Effective Area-Based Conservation Measure :OECM) จึงมีความเป็นไปได้สูงสำหรับการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทั้งทางบกและทางทะเลนอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ เพียงแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความเข้าใจตรงกันถึงความหมายคำว่า “อนุรักษ์” วัตถุประสงค์ของการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ และตัวชี้วัดในการที่จะเลือกพื้นที่ใดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ 
  • ควรจัดทำ Road map ในการดำเนินการ การติดตาม ทำความเข้าใจกับเจ้าของพื้นที่และทำความเข้าใจในการประกาศเพื่อ่ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศรับรองและส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานสากลที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้งานวิจัยข้างต้นยังระบุถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อเป้าหมายย่อยที่ 14.5  และ 15.5 ถึงสองเรื่องหลักคือการขยายพื้นที่อนุรักษ์ทางทางทะเลและบนบกเพื่อเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ  และการพัฒนาระบบสารสนเทศของกระบวนขับเคลื่อน SDGs ที่สามารถสนับสนุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ    โดยที่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องและสามารถจะขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลได้ทั้งกับเป้าหมายย่อยที่ 14.5 และเป้าหมายย่อยที่ 15.5  รวมทั้งเป้าหมายอื่น ๆ ของ SDGs  ดังนี้

  • การเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ผ่านมาตรการพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง : หน่วยงานของรัฐบาล ได้แก่ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือหน่วยงานหลักที่ควรเร่งรัดกำหนดนโยบายการดำเนินการขยายพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในทะเล ชายฝั่ง และบนบก  ผ่านมาตรการพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง เพื่อให้เกิดพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อื่น ๆ ภายนอกพื้นที่คุ้มครองเดิมอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว เช่น พื้นที่สวนป่าเพื่อการอนุรักษ์ของภาคเอกชน พื้นที่แหล่งโบราณคดีใต้น้ำ พื้นที่รอบแท่นขุดเจาะน้ำมัน  โดยมาตรการนี้ นอกจากทำให้พื้นที่อนุรักษ์ทั้งในทะเล ชายฝั่ง และบนบกเพิ่มขึ้นแล้ว  ยังเป็นการการคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ต่าง ๆ  เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์ (ตาม Red Lists ของ IUCN)  รวมถึงจัดให้มีการส่งเสริมให้เกิดบริการจากระบบนิเวศ (Ecosystem Services) ทั้งทางบกและทางน้ำ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงทางอาหารเพื่อการขจัดความหิวโหย (SDG 2)  คุณภาพน้ำที่ดี (SDG 6)  การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (SDG 15.2) ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูแผ่นดินที่เสื่อมโทรม (SDG 15.3) และการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพ (SDG 15.4)  เป็นต้น 
  • การพัฒนาระบบสารสนเทศกระบวนการขับเคลื่อน SDGs :   สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควรจะเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาระบบสารสนเทศกระบวนการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศ   โดยอาจเริ่มต้นนำร่องจาก SDG 14.5 และ SDG 15.5 ด้วยความร่วมมือจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาระบบสารสนเทศกระบวนการขับเคลื่อน SDGs  ในรูปแบบ Government Open data  ที่หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน ติดตามรายงานผล  และสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้  ใช้งานง่าย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการตรวจสอบข้อมูล การปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย และมีการนำไปใช้ประโยชน์บนชุดข้อมูลเดียวกัน เกิดความถูกต้อง ทันสมัย ไม่ซ้ำซ้อน  โดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วน คือปรับปรุง พัฒนากระบวนการเก็บข้อมูล การประเมินผล การจัดทำดัชนีชี้วัด และการรายงานผลให้มีความง่ายต่อการใช้งาน  และ การทำฐานข้อมูลการรายงานผลและติดตามสถานะของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยพัฒนาหรือประยุกต์ใช้ระบบ/ฐานข้อมูลร่วมในการจัดเก็บและติดตามสถานะความหลากหลายทางชีวภาพที่จะทำให้เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการ/นักวิจัย ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกัน 

กล่าวโดยสรุป การขยับขับเคลื่อนเพื่อยกระดับและบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.5 และ 15.5 ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานวิจัยข้างต้น จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการที่เข้มแข็งและมีนโยบายที่ชัดเจนจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งเป็นตัวแสดงหลักของการจัดการเรื่องนี้ อีกทั้งยังต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจร่วมกัน และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมจัดการเพื่ออนุรักษ์ทะเล ชายฝั่ง และระบบนิเวศบนบกได้

อติรุจ ดือเระ– ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


ติดตามสรุปเสวนา :  SDG Updates | สรุปเสวนา “การเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ” (โครงการย่อยที่ 3)

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล 
– (14.5) ภายในปี พ.ศ. 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก 
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
– (15.3) ต่อต้านการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูที่ดินและดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ภัยแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน ภายในปี พ.ศ. 2573
– (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศในการสร้างผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2573
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี พ.ศ. 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

Policy Brief ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น