Site icon SDG Move

SDG Vocab | 62 – climate justice – ความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ

ปัจจุบันอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเดิมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกมองว่าเป็นประเด็นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองด้วย 

‘ความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ’ หรือ climate justice  หมายถึง “การคำนึงถึงความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลักของการตัดสินใจและการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถบั่นทอนความก้าวหน้าด้านสิทธิขั้นพื้นฐานหลาย ๆ ด้านของประชาชนจำนวนมาก ทั้งสิทธิในสุขภาพ สิทธิในอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย และทรัพย์สิน รวมทั้งสิทธิที่เชื่อมโยงกับการทำมาหากินและวัฒนธรรม ก็ล้วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งสิ้น ดังนั้น การสร้างความรับผิดชอบตรวจสอบได้ต่อสิทธิมนุษยชน โดยใส่ความพยายามในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นว่า บุคคลหรือกลุ่มคนใดที่เผชิญความเสี่ยงมากที่สุด และควรทำอย่างไรจึงจะปกป้องโลกใบนี้ได้

แม้ที่ผ่านมาจะมีเป้าประสงค์การเจรจากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ปี  2535 และดำเนินต่อเนื่องผ่านเวทีการประชุมประจำปีของรัฐภาคีของกรอบอนุสัญญานี้ (Conference of the Parties :COP) ซึ่งส่วนใหญ่ การเจรจามุ่งเน้นเฉพาะบางประเด็น และผลประโยชน์บางอย่าง ทำให้การเจราจาอาจยังให้ความสำคัญไม่ครอบคลุมกับทุกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง เพราะยังพบว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด กลับเป็นกลุ่มคนที่สร้างผลกระทบนี้มากที่สุด และแม้จะมีการเยียวยาจากผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ 

เพราะประเด็นที่เป็นช่องว่างพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ‘ความเสมอภาค’ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดการแบ่งแยกอย่างชัดเจนทั้งเรื่องของทรัพยากร เส้นทางการพัฒนา และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน และระหว่างคนรวยกับคนจนภายในประเทศ 

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้นไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

คำศัพท์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
– (13.b ) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก โดยให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนชายขอบ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version