การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เนื่องจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ SDGs มีความหลากหลาย ครอบคลุมทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เช่นนั้น การมีส่วนร่วม แบ่งปันประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภาคส่วนที่มีบทบาทและความเชี่ยวชาญแตกต่างกันจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้สามารถดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อน SDGs ในไทย ยังสามารถยกระดับให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นได้กว่าที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะผู้วิจัยจึงดำเนินโครงการวิจัย “ปัจจัยสนับสนุนการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs: การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม” เพื่อสำรวจสถานการณ์การมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วนในไทย และศึกษากรณีต่างประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อน SDGs ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การนำมาปรับใช้และออกแบบแนวทางเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความร่วมมือในไทย
โครงการวิจัยข้างต้น มีข้อค้นพบที่น่าสนใจเรื่องปัจจัยในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs โดยมีจุดเน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม ทั้งกรณีศึกษาจากต่างประเทศและในไทย ด้วยการวิเคราะห์ผ่านระบบอภิบาล SDGs (SDGs Building Block) ซึ่งพบว่า หัวใจสำคัญ คือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันมากกว่าที่ผ่านมา โดยทำให้ภาพโครงสร้างใหญ่ที่สนับสนุนการทำงานและการขับเคลื่อน SDGs มีโครงสร้างเชิงสถาบันที่มั่นคงและมีกลไกการมีส่วนร่วมการทำงานภาคส่วนที่ชัดเจนและทำงานร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง มีการเปิดพื้นที่ทางนโยบายให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีโอกาสในการทำงานร่วมกันและการได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณที่เหมาะสมเพียงพอต่อการทำงาน อีกทั้งต้องหนุนเสริมให้สามารถสร้างความสัมพันธ์กับโครงสร้างสถาบันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ดังกรณี กฎหมาย NPO Law ของประเทศญี่ปุ่นที่มีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งและรองรับบทบาทของภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ขณะที่ข้อค้นพบจากกรณี ศึกษากลุ่ม 5P ที่ประสบความสำเร็จต่อการขับเคลื่อนการทำงานข้ามภาคส่วนและการบรรลุการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ประกอบด้วย People (สังคม) ศึกษากลุ่มคอมโควิด-19 (Community-led COVID-19 Support Workforce) กับบทบาทขับเคลื่อนการจัดทำ ‘Home Isolation’ และ ‘Community Isolation’ ในช่วงโควิด 19 / Planet (สิ่งแวดล้อม) ศึกษามูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนกับการขับเคลื่อนประเด็นเกษตรยั่งยืน ระบบอาหารที่ยั่งยืน/ Prosperity (เศรษฐกิจ) ศึกษามูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยกับขบวนการที่อยู่อาศัยคนจน/ Peace (สันติภาพ) ศึกษากลุ่มลูกเหรียง ในเรื่องของการสร้างสะพานเชื่อมรัฐ-ประชาคมเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนสตรีในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง และ Partnership (ความเป็นหุ้นส่วน) ศึกษาสภาลมหายใจเชียงใหม่ในเรื่องการสร้างภาคีเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาวิกฤติ PM2.5 ที่เชียงใหม่ โดยพบว่ากลุ่ม/องค์กรเหล่านี้มีจุดร่วมที่มีเหมือนกัน ได้แก่
- ประเด็นที่ขับเคลื่อนเป็นประเด็นการทำงานที่เป็นช่องว่าง หรือเป็นกรณีที่ภาครัฐไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีพื้นที่นโยบายในการทำงานร่วมกับภาครัฐ
- ทุกองค์กรได้รับการสนับสนุนหลักจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีบางองค์กรที่ได้รับงบประมาณจากการระดมทุนและเงินบริจาค และความพยายามหารายได้เอง เช่น การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม–ความมั่นคง/ยั่งยืนทางด้านการเงินของการทำงานของภาคประชาสังคม มีความริเริ่มของการระดมทุนในรูปแบบใหม่ ๆ
- 5 ประเด็นที่องค์กรภาคประชาสังคมขับเคลื่อน เป็นประเด็นที่องค์กรมีความเชี่ยวชาญ (Professionalized CSOs) และเป็นการยกระดับ/ปรับตัวขององค์กรภาคประชาสังคมในยุคใหม่
- การเชื่อมโยงของเครือข่ายภาคประชาสังคมในภาพรวมเป็นการเชื่อมโยงที่ไม่เหนียวแน่น แต่การเชื่อมโยงเชิงประเด็นมีความเข้มข้นมากกว่า
นอกจากนี้ยังพบว่าเงื่อนไขสำคัญที่จำเป็นและเอื้อต่อการขับเคลื่อน การทำงานเพื่อเสริมพลังของภาคประชาชนในฐานะ “หุ้นส่วนของการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในระยะยาว มีดังนี้
- I-กฎ กติกา นโยบาย ที่สนับสนุนให้เกิด กฎ กติกา นโยบาย และสถาบันที่รับฟังเสียง บทเรียน ความต้องการ ที่เอื้อให้ผู้คน ผู้ได้รับผลกระทบ และภาคส่วนต่าง ๆ ขับเคลื่อนการทำงานไปด้วยกัน และ นโยบายที่ลดช่องว่างของการทำงาน รวมถึงสนับสนุนการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
- G-ระบบบริหารจัดการ ที่สนับสนุนให้เกิดระบบบริหารจัดการที่เข้าใจถึงเป้าหมายร่วม “เห็นช้างตัวเดียวกัน” เห็นภาพของปัญหาหรือบริบทสถานการณ์ร่วมกัน “เห็นช้างทั้งตัว” เห็นภาพของปัญหาหรือบริบทสถานการณ์อย่างครอบคลุมรอบด้าน และ “เห็นดาวดวงเดียวกัน” เห็นภาพของเป้าหมายที่จะบรรลุร่วมกัน และทำให้เกิดระบบบริหารจัดการที่เข้าใจศักยภาพและข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย
- N-หุ้นส่วนในการพัฒนา ที่สนับสนุนให้เกิดการทำงานบนฐาน “กระบวนการเรียนรู้” ไปด้วยกัน ที่ต้องเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลา และความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการทำให้เกิดการเล็งเห็นปัญหาร่วมกัน และความเข้าใจที่ว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้
- S-องค์ความรู้/นวัตกรรม ที่สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานจำเป็นต้องอาศัยความรู้หลายลักษณะ อาทิ ประสบการณ์ ความรู้ชาวบ้าน ความรู้วิชาการ และหนุนเสริมให้มีการทำงานบนพื้นฐานความรู้และข้อมูลสนับสนุนการสร้างพื้นที่ในการถกเถียงบนหลักเหตุและผล รวมถึงการทำให้มีความรู้สนับสนุนการพัฒนาความรู้/นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ และสามารถต่อยอดขยายผลต่อไปได้ และประสบการณ์และบทเรียนของกลุ่มต่าง ๆ มีคุณค่าสูง แต่มักไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและสูญหายตามกาลเวลา
- I-ระบบข้อมูล/สถิติ ที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบข้อมูลในหลายรูปแบบอย่างมีส่วนร่วม เช่น การเก็บข้อมูลด้วยชุมชน การเชื่อมต่อระบบข้อมูล และการส่งต่อข้อมูลอย่างเป็นระบบ สามารถสนับสนุนการทำงานร่วมกันและการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ
- T-ระบบงบประมาณ ที่สนับสนุนให้เกิดมาตรการการเงินที่ชัดเจน สนับสนุนประสิทธิภาพในการทำงาน และลดช่องว่างบางลักษณะ และการที่ได้งบสนับสนุนหลายแหล่งสนับสนุนการขับเคลื่อนการทำงานที่มีความต่อเนื่อง
- H-การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ที่สนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมศักยภาพเจ้าของเรื่อง/ผู้ได้รับผลกระทบ สามารถพัฒนาตนเอง ดูแลตนเอง ขับเคลื่อนประเด็นของตนเอง และการส่งเสริมศักยภาพผู้คน ช่วยลดภาระคนทำงานที่มีจำนวนไม่มากนัก และทำให้ได้คนทำงานในประเด็นนั้น ๆ เพิ่มมากขึ้น
จากข้อค้นพบข้างต้น คณะผู้วิจัย ได้ทบทวนจนนำไปสู่การสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ 2 ส่วน ส่วนแรก ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs โดยเน้นไปที่ประเด็นพื้นที่ทางนโยบาย (policy space) และกลไกทางการเงินเพื่อการสนับสนุนองค์กรทางการเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายใน 3 ประเด็น ได้แก่
- การเปิดพื้นที่นโยบาย (policy space) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วน ทั้งในรูปแบบการหารือระดับชาติ (national dialogue) และการเสวนาโต๊ะกลม (roundtable) ที่สม่ำเสมอ ต่อเนื่องและนำไปสู่ปฏิบัติการร่วม โดยเชื่อมโยงกับกลไกที่เกี่ยวข้อง เช่น สมัชชาสุขภาพ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากร หรือเปิดพื้นที่รูปแบบใหม่ เช่น สมัชชาการพัฒนาที่ยั่งยืน
- การทำงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐ (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) เพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคมกับหน่วยงานที่มีพันธกิจในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าประสงค์ต่าง ๆ บนฐานการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วนและมุ่งเน้นการสร้างการปฏิบัติการจากข้างล่างและมีความเป็นรูปธรรม
- การจัดระบบงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs ขององค์กรภาคประชาสังคมอย่างเป็นระบบ ดังกรณีการจัดระบบงบประมาณในลักษณะกองทุนสิ่งแวดล้อม หรือการเชื่อมโยงตัวกระทำการที่สามารถสนับสนุนงบประมาณเพื่อการทำงานร่วมกันได้ ดังเช่น ภาคธุรกิจและภาคส่วนอื่น ๆ เป็นต้น
ส่วนที่สอง ข้อเสนอเชิงนโยบายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายขององค์กรภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs เกี่ยวข้องกับการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายใน 2 ประเด็น ได้แก่
- การกำหนดให้ยุทธศาสตร์การสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาข้ามภาคส่วน เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs รวมถึงสนับสนุนการวางแผนการทำงาน การสร้างพื้นที่หรือ Platform สนับสนุนการทำงาน และการระดมทรัพยากรและงบประมาณอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการทำงานข้ามภาคส่วนร่วมกัน
- การบัญญัติกฎหมายส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่เปิดกว้าง สนับสนุนทรัพยากร รวมถึงมีการสร้างแนวทางการประเมินผลลัพธ์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
อติรุจ ดือเระ– ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
ติดตามสรุปเสวนา : SDG Updates | สรุปเสวนา “ปัจจัยการสนับสนุนการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายหมาย SDGs: การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” (โครงการย่อยที่ 5)
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
Policy Brief ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy) 6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567
Last Updated on พฤษภาคม 21, 2024