Policy Brief | การบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร ด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงาน โครงการย่อยที่ 2 (เป้าหมายย่อยที่ 12.4)

​​เป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ได้รับการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ “การวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษ” โดยมีที่มาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานะที่มีการพัฒนาอย่างไม่คืบหน้า เพราะหากพิจารณา SDG Index 2023 พบว่า เป้าหมายย่อยที่ 12.4 จากการประเมินตัวชี้วัดที่ใช้สถานะอยู่ในระดับท้าทายหรืออยู่ในสถานะสีส้ม จึงได้มีการดำเนินการวิจัย เพื่อที่จะสืบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอแนะนโยบายซึ่งนำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุสถานะเป้าหมายนั้น

จากงานวิจัยข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสอบทานกระบวนการเก็บข้อมูลและการรายงานสถานะปัจจุบันของเป้าหมายย่อยที่ 12.4 พร้อมให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและวิเคราะห์ปัจจัยเอื้อที่มีต่อการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จใน 7 ประเด็นและมองเห็นช่องว่างเชิงนโยบาย ได้แก่ 1) ความสอดคล้องกันของกฎกติกาและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการศึกษา 2) เครือข่ายและความร่วมมือในการผลักดันประเด็นที่ต้องการศึกษา 3) องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งวิชาการ ประสบการณ์ทำงาน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จำเป็น 4) ระบบบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อนเรื่องที่ต้องการศึกษา และผู้รับผิดชอบ/ผู้นำในการขับเคลื่อน 5) ระบบบริหารจัดการและความเป็นผู้นำในประเด็น ผู้รับผิดชอบและผู้นำในการขับเคลื่อน 6) ทรัพยากรมนุษย์และการเสริมสร้างศักยภาพ และ 7) ทรัพยากรทางการเงินสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนา

งานวิจัยข้างต้นมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ตัวชี้วัดที่ 12.4.1 จากรายงานการประเมินเป้าหมายย่อย ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) จากการคำนวณด้วยคำอธิบายชุดข้อมูล (metadata) โดยภาคีสมาชิกของข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยของเสียอันตรายและสารเคมีอื่น ๆ ที่บรรลุวัตถุประสงค์ของพันธกรณีและข้อผูกพันในการถ่ายทอดข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในแต่ละข้อตกลงที่เกี่ยวข้อง จากรายงานการประเมินเป้าหมายย่อยของประเทศไทย พบว่า
    • การประเมินผลร้อยละของคะแนนที่ส่งข้อมูลในส่วนที่หายไป เกิดจากขาดการรายงานการอนุญาตนำเข้าในช่วงระยะเวลารายงาน (ตลอด 5 ปี) หรือ แผนการดำเนินงานระดับชาติ หรือ การทบทวนแผนการดำเนินงานระดับชาติ ดังนั้น หากมีการส่งข้อมูลครบถ้วนคาดว่าระดับคะแนนจะดีขึ้นหรืออาจจะเป็นร้อยละ 100 ได้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการรายงานผลความก้าวหน้าฯ ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
  • ตัวชี้วัดที่ 12.4.2 จากรายงานการประเมินเป้าหมายย่อย ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (UN) จากการคำนวณด้วยคำอธิบายชุดข้อมูล (metadata) ปริมาณการเกิดของเสียอันตราย (รวมทั้งหมด และต่อหัวประชากร) ปริมาณการเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (รวมทั้งหมด และต่อหัวประชากร) แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนของเสียอันตรายที่ได้รับการบำบัดจำแนกตามประเภทการบำบัด ได้แก่ การรีไซเคิล/การเผา/การฝังกลบ พบว่า
    • ประเทศไทยไม่มีการรายงานข้อมูลนี้ทั้งในปริมาณและสัดส่วนของของเสียอันตรายที่ได้รับการบำบัด ซึ่งแตกต่างกับการรายงานผลความก้าวหน้าฯ ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เนื่องจากมีข้อมูลการรายงานทั้งปริมาณการเกิดของเสียอันตราย และปริมาณการเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 
    • แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนของเสียอันตรายที่ได้รับการบำบัดจำแนกตามประเภทการบำบัด ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559-2564) สามารถทำให้การติดตามสถานะของความยั่งยืนของตัวชี้วัดนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
  • การรายงานสถานะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีทั้งข้อมูลในระดับหน่วยงาน และข้อมูลเพื่อใช้ในการรายงานสำหรับ SDGs เพื่อให้ข้อมูลที่ได้รับในประเทศ/ระดับสากล ควรเป็นข้อมูลที่ผ่านการสอบทานความถูกต้องและเป็นข้อมูลเดียวกัน เช่น การรายงานข้อมูลของประเทศไทยที่ถูกต้องเพื่อใช้ในการประเมินระดับวิกฤตของประเทศไทยที่จัดทำโดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติ (SDSN) หรือ ข้อมูลที่รายงานโดยหน่วยงานสหประชาชาติ (UN) 
  • การทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน หรือแม้แต่ชุมชนเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยใช้นโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐมีอยู่แล้วเพียงแต่ต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยอาจใช้มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกำจัดขยะ
    • เร่งรัดการออกกฎระเบียบ/ข้อบังคับสำหรับการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ผลิตในการรับผิดชอบซากผลิตภัณฑ์ของตนเองควรมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการขยะ และเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้เกิดการคัดแยกขยะและเหลือเพียงสิ่งที่จัดการไม่ได้ที่จะเข้าสู่กระบวนการจัดการต่อไป
  • การส่งเสริมให้ขยะมีมูลค่าด้วยการคัดแยกขยะในแต่ละประเภท เช่น ขยะรีไซเคิล ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านผู้บริหารขององค์การบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญ และมีส่วนร่วมผลักดันให้การดำเนินงานเกิดกระบวนการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสามารถส่งเสริมให้มีการใช้มาตรการต่าง ๆ จะส่งผลให้มีข้อมูลปริมาณการเกิดของเสียอันตราย และปริมาณการเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนของเสียอันตรายที่ได้รับการบำบัดจำแนกตามประเภทการบำบัดที่สามารถทำให้ติดตามสถานะของความยั่งยืนของตัวชี้วัดนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยให้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ ดังนี้

1) มาตรการด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ

  • มาตรการการจัดการขยะที่ต้นทาง ควรมีการตรวจสอบ/แก้ไขความสอดคล้องของกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ของกรมอนามัยที่ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 เกี่ยวกับการให้สถานพยาบาลสัตว์มีการรายงานขยะติดเชื้อที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี 
  • ควรกำหนดให้มีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อเช่นเดียวกันกับที่มีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย (clusters) ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย จะส่งผลดีต่อชุมชนชนบทที่มีปริมาณขยะติดเชื้อน้อยสามารถบริหารจัดการได้เอง 
  • ควรมีแนวทางในการส่งเสริม/บังคับใช้ให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างจริงจังโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะอันตรายจากชุมชนและการเกษตรในเขตชุมชนเมือง เนื่องจากมีปริมาณขยะเกิดขึ้นมากแต่มีการคัดแยกขยะน้อย และส่วนใหญ่เน้นการทิ้งแบบเทรวม ทำให้การจัดการขยะปลายทางคือการฝังกลบ 

2) มาตรการด้านเศรษฐศาสตร์และภาษี

  • มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกำจัดขยะ ควรเร่งรัดการออกกฎระเบียบ/ข้อบังคับสำหรับการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ควรมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการขยะ เพื่อเป็นสร้างความตระหนักในการคัดแยกขยะและเหลือเพียงสิ่งที่จัดการไม่ได้ที่จะเข้าสู่กระบวนการ 
  • มาตรการทางการตลาดส่งเสริมให้ขยะมีมูลค่าด้วยการคัดแยกขยะในแต่ละประเภท เช่น ขยะรีไซเคิล ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านผู้บริหารขององค์การบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมผลักดันการดำเนินงานให้เกิดกระบวนการที่ต่อเนื่อง

3) การทำงานข้ามภาคส่วน

  • ควรมีการบูรณาการให้เป้าหมายย่อยยกระดับขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบรายงานข้อมูลทั้งข้อมูลในระดับหน่วยงาน และข้อมูลเพื่อใช้ในการรายงานสำหรับ SDGs เพื่อให้ข้อมูลที่ได้รับในประเทศ/ระดับสากลเป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องและข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลเดียวกัน
    • เช่น การรายงานข้อมูลของประเทศไทยที่ถูกต้องเพื่อใช้ในการประเมินระดับวิกฤตของประเทศไทยแก่ UN-SDSN เนื่องจากจากการสัมภาษณ์หน่วยงานรับผิดชอบพบว่า ข้อมูล C2 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และ กรมอนามัย รายงานข้อมูลมายังหน่วยงานประสานงานหลัก C1 (สผ.) ทั้งปริมาณที่เกิดและที่ได้รับกำจัดในแต่ละวิธี แต่ไม่มีการรายงานต่อไปที่ UN 
  • หน่วยงานรับผิดชอบรายงานข้อมูล SDGs ในแต่ละเป้าหมายมีการปรับเปลี่ยนโยกย้าย ส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการรายงานผลการดำเนินงาน และระดับวิกฤตการของแต่ละเป้าหมายย่อย ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้จะสามารถทำให้สถานะในแต่ละระดับมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

กล่าวโดยสรุป การจัดการขยะและของเสียต่าง ๆ ด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ จะช่วยสร้างความตระหนักให้เกิดการบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการจัดการต่อไป ผ่านการใช้นโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐมีอยู่โดยมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ เน้นย้ำถึงการปรับปรุงและติดตามข้อมูลที่ต่อเนื่องและถูกต้อง ซึ่งมีผลต่อการใช้ในการรายงานสำหรับ SDGs เพื่อให้ข้อมูลที่ได้รับในประเทศ/ระดับสากลเป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องเป็นข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลเดียวกัน 

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563

Policy Brief ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น