หลายแห่งทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะอากาศที่ร้อนจัดและหนาวจัดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่ทันตั้งตัว นับเป็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ก่อให้คลื่นความร้อน (heat wave) ฝนตกรุนเเรงเเละน้ำท่วมหนัก (extreme rainfall and flood) ภัยเเล้งที่ยืดเยื้อ (droughts) เเละการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น (wildfires) ซึ่งภัยพิบัติเหล่านี้ล้วนกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้
สภาพการณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ หรือ extreme weather ซึ่งหมายถึง ปรากฏการณ์ทาง สภาพอากาศ (weather) ในช่วงเวลาสั้น ๆ (วัน-สัปดาห์) ที่ทำให้พื้นที่ใด ๆ บนโลก มีสภาพอากาศรุนแรงในมิติของอุณหภูมิที่ผิดเพี้ยนไปจากสภาพเดิม ๆ หรืออุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นที่ โดยแบ่งย่อยได้ 2 รูปแบบ คือ 1) สภาพอากาศร้อนสุดขั้ว เรียกเป็นชื่อเฉพาะว่า ปรากฏการณ์คลื่นความร้อน (heat wave) และ 2) สภาพอากาศหนาวสุดขั้ว หรือที่เรียกว่า โพลาร์วอร์เท็กซ์ (polar vortex)
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายถึงสาเหตุเเละตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศสุดขั้วว่า “สภาพภูมิอากาศสุดขั้วเกิดจากความแปรปรวนของโลก หลังจากที่มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสะสมกันมานานและยังคงปล่อยต่อไป กลายเป็นภัยพิบัติที่จะสร้างผลกระทบสาหัส โดยเฉพาะประเทศที่กำลังเปราะบางทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเห็นชัด ปากีสถาน ที่เจอมหาอุทกภัย จากสภาพอากาศเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงฝนตกหนัก 8 สัปดาห์รวด ปริมาณน้ำจากฟ้ามากกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเท่า ๆ ยังรวมถึงธารน้ำแข็งบนหิมาลัยที่ละลายแบบไม่เคยเกิดมาก่อน ปากีสถานเป็นประเทศที่มีธารน้ำแข็งมากที่สุดในโลก (ไม่นับแถบขั้วโลก) น้ำจากยอดเขาไหลทะลักมารวมน้ำฝน เกิดเป็นอุทกภัยทำให้ผู้เสียชีวิตนับพันคน และกว่า 33 ล้านคนเดือดร้อน แหล่งเกษตรเสียหายยับเยิน ความเสียหายที่เกิดขึ้นนับว่าเกินความสามารถประเทศที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ทางการเงินไม่ดี จะรับมือได้”
สำหรับประเทศไทย Global Climate Risk Index 2021 โดย Germanwatch จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก โดยพิจารณาจากผลกระทบที่ไทยได้รับสภาพภูมิอากาศสุดขั้วระหว่างปี 2543 – 2563
ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศสุดขั้วเป็นปัญหาท้าทายร่วมสมัยที่นานาประเทศเเละองค์การระหว่างประเทศทั่วโลกให้ความสนใจเเละร่วมกันหาเเนวทางจัดการ โดยที่ผ่านมามีความพยายามเเก้ไขที่ต้นตอของปัญหา เช่น
- การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5°C กว่าช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือช่วงกลางของศตวรรษที่ 18
- การกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) หรือให้เข้าใกล้ศูนย์ให้ได้มากที่สุด หรือกระทั่งไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย
- ความตกลงปารีส (Paris agreement) ที่มุ่งจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับได้ เเละสนับสนุนให้ประเทศที่ร่ำรวยช่วยเหลือประเทศที่ฐานะด้อยกว่าในการจัดการกับการเปลี่ยนเเปลงของสภาพภูมิอากาศผ่าน ‘เงินทุนด้านภูมิอากาศ’
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้นไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รายงาน IPCC ฉบับใหม่เผยข้อมูลผลกระทบและความเสี่ยงจาก Climate Change ต่อปัญหาสุขภาพปัจจุบัน
– เมื่อเท็กซัสกลายเป็นน้ำแข็งและไม่มีไฟฟ้าใช้ – คำเตือนว่าเรายังเตรียมพร้อมไม่พอสำหรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
– ‘ภัยพิบัติจากน้ำ’ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงมาทุกยุคสมัย และจะเกิดถี่ขึ้น – รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– ภาษาว่าด้วย COP26: 13 คีย์เวิร์ดใช้ทำความเข้าใจบทสนทนาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คำศัพท์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
แหล่งที่มา
– ภาพเมฆดำทะมึน เปลี่ยนกรุงเทพตอนเช้าให้เป็นเหมือนตอนกลางคืน (เฟซบุ๊ก: Thon Thamrongnawasawat)
– สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) : คลื่นความร้อน – โพลาร์ วอร์เท็กซ์ (มิตรเอิร์ธ)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย