Policy Brief | ลดมลพิษจาก ‘ขยะพลาสติก’ ทางทะเล โดยเติมเต็มช่องว่างของข้อมูลและเสริมปัจจัยเอื้อที่ช่วยในการขับเคลื่อน โครงการย่อยที่ 2 (เป้าหมายย่อยที่ 14.1)

เป้าหมายย่อยที่ 14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ.2568 เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ได้รับการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ “การวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษ” โดยมีที่มาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานะที่มีการพัฒนาอย่างไม่คืบหน้า เพราะหากพิจารณา SDG Index 2023 พบว่า เป้าหมายย่อยที่ 14.1 อยู่ในสถานะต่ำกว่าเป้าหมายขั้นวิกฤต กล่าวคือสถานการณ์ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของค่าเป้าหมาย ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงดำเนินการเพื่อมุ่งเน้นหาสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้เป้าหมายย่อยที่ 14.1 นั้นสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตกลงไว้ได้


จากงานวิจัยข้างต้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานะปัจจุบันของเป้าหมายย่อยที่ 14.1 เพื่อวิเคราะห์หาช่องว่างของระบบและปัจจัยเอื้อที่สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยเพื่อมุ่งไปสู่สถานะที่ดีขึ้น โดยกรอบการวิจัยจะดำเนินการภายใต้ SDG System Buildings เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยเอื้อที่มีต่อการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จใน 7 ประเด็นและมองเห็นช่องว่างเชิงนโยบาย ได้แก่

  1. ความสอดคล้องเชิงนโยบาย อำนาจหน้าที่หน่วยงาน กฎกติกา/กฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง
  2. เครือข่ายและความร่วมมือในการผลักดันประเด็นเชิงนโยบาย
  3. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จำเป็น องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง (ทางวิชาการ ประสบการณ์ในการทำงาน ภูมิปัญญาท้องถิ่น) รวมถึงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา
  4. ระบบข้อมูลข่าวสารที่สนับสนุนการขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับประเด็น เช่น ฐานข้อมูล แหล่งข้อมูลสถิติ แหล่งข้อมูลความรู้ ฯลฯ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีการอัปเดตต่อเนื่อง รวมถึงระบบการจัดเก็บและนำเสนอข้อมูล SDG Dashboard
  5. ระบบบริหารจัดการและความเป็นผู้นำในประเด็น ผู้รับผิดชอบและผู้นำในการขับเคลื่อน
  6. การเสริมสร้างศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทและขีดความสามารถของท้องถิ่น ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ สร้างนักวิทยาศาสตร์ภาคประชาชน (citizen scientist)
  7. ทรัพยากรทางการเงิน (งบประมาณ) รวมทั้งกลไกในการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนา

งานวิจัยข้างต้นมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้

เป้าหมายย่อยที่ 14.1 มีตัวชี้วัดทั้งสิ้น 2 ตัวชี้วัด คือ ตัวชี้วัดที่ 14.1.1 (a) ดัชนีการเกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่นริมชายฝั่งทะเล (Index of coastal eutrophication) และตัวชี้วัดที่ 14.1.1 (b) ความหนาแน่นของขยะพลาสติก (Plastic debris density) ซึ่งระเบียบวิธีการคำนวณของตัวชี้วัดที่ 14.1.1 (a) และ 14.1.1 (b) เพิ่งมีความชัดเจนเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลตามที่คำอธิบายชุดข้อมูล (metadata) ของทาง UN กำหนดอีกด้วย เมื่อศึกษาถึงปัจจัยที่สามารถช่วยให้การขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 14.1 บรรลุได้นั้น พบว่า 

  • ข้อมูลตัวชี้วัดที่เทียบเคียงได้มาจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีการเก็บข้อมูลเป็นประจำทุกปี ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง ควรมีการวางแผนการดำเนินงานจัดเก็บข้อมูล ตามข้อกำหนดของ meta data ที่ทาง UN กำหนด จะได้สามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของเป้าหมายย่อยที่ 14.1 กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงยกระดับการทำงานของประเทศไทยได้
  • การรายงานผลการดำเนินงานข้อมูลตัวชี้วัด พบว่า ทาง UN ได้ทำการดึงข้อมูลจากหน่วยประสานงานกลางระดับชาติ คือสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่จากการสัมภาษณ์ พบว่าไม่ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่งผลให้การรายงานสถานะของเป้าหมายย่อยที่ 14.1 ของประเทศไทยที่รายงานโดย UN เกิดจากการใช้ค่าคาดการณ์ของหน่วยงานต่างประเทศ
  • การบูรณาการทำงานร่วมกันในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้นเป็นปัญหาเชิงระบบที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวเนื่องกับหลายภาคส่วน จะเห็นได้ว่าปัญหาที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่นและขยะพลาสติกทางทะเลนั้น มีต้นกำเนิดมาจากทั้งบนแผ่นดินและจากกระแสน้ำในมหาสมุทร โดยประเทศไทยส่วนมากเกิดจากปริมาณของไนโตรเจน และฟอสฟอรัสที่ถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งจากภาคการเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม รวมถึงภาคครัวเรือน รวมถึงปัญหาด้านขยะพลาสติกในทะเลที่มีสาเหตุมาจากประสิทธิภาพในการจัดการและบำบัดขยะตั้งแต่ต้นกำเนิดบนบก

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยให้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญต่อเป้าหมายย่อยที่ 14.1 ดังนี้

1) ความสอดคล้องกันของกฎกติกาและนโยบายที่เกี่ยวข้อง (Institutional and Policy Coherence) ในการยกระดับเป้าหมายย่อยที่ 14.1 นั้นจะทำไม่ได้หากไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับ ตลอดจนนโยบายการจัดการของเสียเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากปรากฎการณ์การเกิดยูโทรฟิเคชั่นมีสาเหตุมาจากน้ำเสียทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและชุมชน รวมถึงขยะพลาสติกทางทะเลนั้นมีสาเหตุมาจากระบบจัดเก็บ และพฤติกรรมของภาคประชาชน ซึ่งพบว่าในบางส่วนมีการออกกฎระเบียบ หรือนโยบายรองรับแล้ว เช่น แผนงานการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 โดยกรมควบคุมมลพิษ แต่ทั้งกฎระเบียบและมาตรการที่ออกมานั้นยังขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อยกระดับเป้าหมายย่อยนี้

2) เครือข่ายและความร่วมมือในการผลักดัน (Network & Partnership) ในการผลักดันให้เกิดการยกระดับเป้าหมายและตัวชี้วัดนั้น เครือข่ายความร่วมมือจากทุก ๆ ภาคส่วนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของการจัดการขยะพลาสติกนั้น มีการดำเนินการร่วมกันทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันเป้าหมายให้บรรลุผล

3) องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง (Science Technology and Innovation) การแก้ปัญหาเรื่องปรากฏการณ์การเกิดยูโทรฟิเคชั่นและการจัดการขยะทะเล ต้องนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น การใช้ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล (remote sensor) ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลแบบ real time การใช้ระบบ AI ในการพยากรณ์การเกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น เป็นต้น

4) ระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (Information System) ยังขาดการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งหากแก้ปัญหาในส่วนนี้จะสามารถลดความซ้ำซ้อนในการเก็บข้อมูล รวมถึงยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่จัดเก็บไว้ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย ซึ่งควรมีการรวบรวมข้อมูลสำหรับการรายงานตัวชี้วัดให้อยู่ในระบบที่ทางหน่วยงานระดับนานาชาติสามารถดึงข้อมูลได้ และสามารถนำไปประมวลผลได้อย่างถูกต้อง

5) ระบบบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อน และผู้รับผิดชอบ/ผู้นำในการขับเคลื่อน (Governance and leadership) หน่วยงานที่มีภารกิจรายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว  ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดเก็บข้อมูล รวมถึงข้อมูลที่ได้มาเพื่อการรายงานผลต้องอาศัยข้อมูลจากหลากหลายฝ่าย ทำให้หน่วยงานส่วนที่มีภารกิจขับเคลื่อนการดำเนินการและกำหนดตัวชี้วัด ทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากต้องทำงานแบบข้ามภาค ซึ่งมีระเบียบข้อบังคับแตกต่างกัน

6) ทรัพยากรมนุษย์และการเสริมสร้างศักยภาพ (Human resource and capacity building) การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายย่อยนั้น บุคลากรจำเป็นต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เพิ่มเติม พร้อมมีการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับบุคลากร รวมถึงประชาชนทั่วไป

7) ทรัพยากรทางการเงินสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนา (Treasury: Finance for Development) ควรได้รับการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินที่เพียงพอต่อการดำเนินงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากงานประจำที่ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว เนื่องจากการวิเคราะห์ตัวอย่างหรือเก็บข้อมูลใด ๆ นั้นเป็นไปได้ยากและขาดความต่อเนื่องทั้งจากการดำเนินการจ้างบุคลากร และตรวจวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้

กล่าวโดยสรุป จากผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จะเป็นแนวทางในการจัดการปัญหาและอุปสรรค พร้อมหนุนเสริมปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้เป้าหมายย่อยที่ 14.1 นั้นสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตกลงไว้ได้ ทั้งการส่งเสริมเรื่องงบประมาณให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน การพัฒนาข้อมูลให้มีประสิทธิภาพโดยอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงทำให้การประเมินนั้นมีความถูกต้อง ชัดเจน สอดคล้องกับความเป็นจริงสะท้อนสิ่งที่ดำเนินการได้อย่างแท้จริง

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Policy Brief ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น