เป้าหมายย่อยที่ 14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ.2568 เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ได้รับการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ “การวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษ” โดยมีที่มาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานะที่มีการพัฒนาอย่างไม่คืบหน้า เพราะหากพิจารณา SDG Index 2023 พบว่า เป้าหมายย่อยที่ 14.1 อยู่ในสถานะต่ำกว่าเป้าหมายขั้นวิกฤต กล่าวคือสถานการณ์ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของค่าเป้าหมาย ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงดำเนินการเพื่อมุ่งเน้นหาสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้เป้าหมายย่อยที่ 14.1 นั้นสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตกลงไว้ได้
จากงานวิจัยข้างต้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานะปัจจุบันของเป้าหมายย่อยที่ 14.1 เพื่อวิเคราะห์หาช่องว่างของระบบและปัจจัยเอื้อที่สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยเพื่อมุ่งไปสู่สถานะที่ดีขึ้น โดยกรอบการวิจัยจะดำเนินการภายใต้ SDG System Buildings เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยเอื้อที่มีต่อการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จใน 7 ประเด็นและมองเห็นช่องว่างเชิงนโยบาย ได้แก่
- ความสอดคล้องเชิงนโยบาย อำนาจหน้าที่หน่วยงาน กฎกติกา/กฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง
- เครือข่ายและความร่วมมือในการผลักดันประเด็นเชิงนโยบาย
- วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จำเป็น องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง (ทางวิชาการ ประสบการณ์ในการทำงาน ภูมิปัญญาท้องถิ่น) รวมถึงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา
- ระบบข้อมูลข่าวสารที่สนับสนุนการขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับประเด็น เช่น ฐานข้อมูล แหล่งข้อมูลสถิติ แหล่งข้อมูลความรู้ ฯลฯ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีการอัปเดตต่อเนื่อง รวมถึงระบบการจัดเก็บและนำเสนอข้อมูล SDG Dashboard
- ระบบบริหารจัดการและความเป็นผู้นำในประเด็น ผู้รับผิดชอบและผู้นำในการขับเคลื่อน
- การเสริมสร้างศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทและขีดความสามารถของท้องถิ่น ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ สร้างนักวิทยาศาสตร์ภาคประชาชน (citizen scientist)
- ทรัพยากรทางการเงิน (งบประมาณ) รวมทั้งกลไกในการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนา
งานวิจัยข้างต้นมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้
เป้าหมายย่อยที่ 14.1 มีตัวชี้วัดทั้งสิ้น 2 ตัวชี้วัด คือ ตัวชี้วัดที่ 14.1.1 (a) ดัชนีการเกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่นริมชายฝั่งทะเล (Index of coastal eutrophication) และตัวชี้วัดที่ 14.1.1 (b) ความหนาแน่นของขยะพลาสติก (Plastic debris density) ซึ่งระเบียบวิธีการคำนวณของตัวชี้วัดที่ 14.1.1 (a) และ 14.1.1 (b) เพิ่งมีความชัดเจนเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลตามที่คำอธิบายชุดข้อมูล (metadata) ของทาง UN กำหนดอีกด้วย เมื่อศึกษาถึงปัจจัยที่สามารถช่วยให้การขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 14.1 บรรลุได้นั้น พบว่า
- ข้อมูลตัวชี้วัดที่เทียบเคียงได้มาจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีการเก็บข้อมูลเป็นประจำทุกปี ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง ควรมีการวางแผนการดำเนินงานจัดเก็บข้อมูล ตามข้อกำหนดของ meta data ที่ทาง UN กำหนด จะได้สามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของเป้าหมายย่อยที่ 14.1 กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงยกระดับการทำงานของประเทศไทยได้
- การรายงานผลการดำเนินงานข้อมูลตัวชี้วัด พบว่า ทาง UN ได้ทำการดึงข้อมูลจากหน่วยประสานงานกลางระดับชาติ คือสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่จากการสัมภาษณ์ พบว่าไม่ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่งผลให้การรายงานสถานะของเป้าหมายย่อยที่ 14.1 ของประเทศไทยที่รายงานโดย UN เกิดจากการใช้ค่าคาดการณ์ของหน่วยงานต่างประเทศ
- การบูรณาการทำงานร่วมกันในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้นเป็นปัญหาเชิงระบบที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวเนื่องกับหลายภาคส่วน จะเห็นได้ว่าปัญหาที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่นและขยะพลาสติกทางทะเลนั้น มีต้นกำเนิดมาจากทั้งบนแผ่นดินและจากกระแสน้ำในมหาสมุทร โดยประเทศไทยส่วนมากเกิดจากปริมาณของไนโตรเจน และฟอสฟอรัสที่ถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งจากภาคการเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม รวมถึงภาคครัวเรือน รวมถึงปัญหาด้านขยะพลาสติกในทะเลที่มีสาเหตุมาจากประสิทธิภาพในการจัดการและบำบัดขยะตั้งแต่ต้นกำเนิดบนบก
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยให้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญต่อเป้าหมายย่อยที่ 14.1 ดังนี้
1) ความสอดคล้องกันของกฎกติกาและนโยบายที่เกี่ยวข้อง (Institutional and Policy Coherence) ในการยกระดับเป้าหมายย่อยที่ 14.1 นั้นจะทำไม่ได้หากไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับ ตลอดจนนโยบายการจัดการของเสียเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากปรากฎการณ์การเกิดยูโทรฟิเคชั่นมีสาเหตุมาจากน้ำเสียทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและชุมชน รวมถึงขยะพลาสติกทางทะเลนั้นมีสาเหตุมาจากระบบจัดเก็บ และพฤติกรรมของภาคประชาชน ซึ่งพบว่าในบางส่วนมีการออกกฎระเบียบ หรือนโยบายรองรับแล้ว เช่น แผนงานการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 โดยกรมควบคุมมลพิษ แต่ทั้งกฎระเบียบและมาตรการที่ออกมานั้นยังขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อยกระดับเป้าหมายย่อยนี้
2) เครือข่ายและความร่วมมือในการผลักดัน (Network & Partnership) ในการผลักดันให้เกิดการยกระดับเป้าหมายและตัวชี้วัดนั้น เครือข่ายความร่วมมือจากทุก ๆ ภาคส่วนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของการจัดการขยะพลาสติกนั้น มีการดำเนินการร่วมกันทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันเป้าหมายให้บรรลุผล
3) องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง (Science Technology and Innovation) การแก้ปัญหาเรื่องปรากฏการณ์การเกิดยูโทรฟิเคชั่นและการจัดการขยะทะเล ต้องนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น การใช้ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล (remote sensor) ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลแบบ real time การใช้ระบบ AI ในการพยากรณ์การเกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น เป็นต้น
4) ระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (Information System) ยังขาดการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งหากแก้ปัญหาในส่วนนี้จะสามารถลดความซ้ำซ้อนในการเก็บข้อมูล รวมถึงยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่จัดเก็บไว้ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย ซึ่งควรมีการรวบรวมข้อมูลสำหรับการรายงานตัวชี้วัดให้อยู่ในระบบที่ทางหน่วยงานระดับนานาชาติสามารถดึงข้อมูลได้ และสามารถนำไปประมวลผลได้อย่างถูกต้อง
5) ระบบบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อน และผู้รับผิดชอบ/ผู้นำในการขับเคลื่อน (Governance and leadership) หน่วยงานที่มีภารกิจรายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดเก็บข้อมูล รวมถึงข้อมูลที่ได้มาเพื่อการรายงานผลต้องอาศัยข้อมูลจากหลากหลายฝ่าย ทำให้หน่วยงานส่วนที่มีภารกิจขับเคลื่อนการดำเนินการและกำหนดตัวชี้วัด ทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากต้องทำงานแบบข้ามภาค ซึ่งมีระเบียบข้อบังคับแตกต่างกัน
6) ทรัพยากรมนุษย์และการเสริมสร้างศักยภาพ (Human resource and capacity building) การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายย่อยนั้น บุคลากรจำเป็นต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เพิ่มเติม พร้อมมีการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับบุคลากร รวมถึงประชาชนทั่วไป
7) ทรัพยากรทางการเงินสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนา (Treasury: Finance for Development) ควรได้รับการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินที่เพียงพอต่อการดำเนินงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากงานประจำที่ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว เนื่องจากการวิเคราะห์ตัวอย่างหรือเก็บข้อมูลใด ๆ นั้นเป็นไปได้ยากและขาดความต่อเนื่องทั้งจากการดำเนินการจ้างบุคลากร และตรวจวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้
กล่าวโดยสรุป จากผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จะเป็นแนวทางในการจัดการปัญหาและอุปสรรค พร้อมหนุนเสริมปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้เป้าหมายย่อยที่ 14.1 นั้นสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตกลงไว้ได้ ทั้งการส่งเสริมเรื่องงบประมาณให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน การพัฒนาข้อมูลให้มีประสิทธิภาพโดยอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงทำให้การประเมินนั้นมีความถูกต้อง ชัดเจน สอดคล้องกับความเป็นจริงสะท้อนสิ่งที่ดำเนินการได้อย่างแท้จริง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Policy Brief ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy) 6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567