แอมเนสตี้ เผยสถานการณ์โทษประหารชีวิตปี  2566 สถิติทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% สูงสุดรอบ 10 ปี โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (amnesty international) เผยแพร่ รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในปี 2566 ระบุว่าปี 2566 เป็นปีที่มีการประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบทศวรรษ และเพิ่มขึ้นอย่างมากในตะวันออกกลาง จากข้อมูลมีการประหารชีวิตทั้งหมด 1,153 ครั้ง ไม่รวมการประหารชีวิตในจีนที่เชื่อว่าเกิดขึ้นหลายพันครั้ง โดยเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2565 จาก 883 ครั้ง ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่มีการบันทึกได้หลังจากปี 2558 ที่มีการประหารชีวิต 1,634 ครั้ง แม้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนประเทศที่มีการประหารชีวิตกลับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

รายงานเผยว่าปี 2566 จำนวนการตัดสินประหารชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% รวมทั้งหมด 2,428 ครั้ง ซึ่งจากสถิติ 5 ประเทศที่มีจำนวนการประหารชีวิตสูงสุดปี 2566 ได้แก่ จีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย โซมาเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งอิหร่านเพียงประเทศเดียวคิดเป็น 74% ของการประหารชีวิตที่บันทึกได้ทั้งหมด ขณะที่ซาอุดีอาระเบียคิดเป็น 15% ซึ่งในปี 2566 โซมาเลียและสหรัฐอเมริกาต่างมีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี สถิติการประหารที่เพิ่มขึ้นในอิหร่าน เกิดจากการเพิ่มความรุนแรงในการใช้โทษประหารชีวิตเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนและพยายามรวบอำนาจไว้โดยใช้การประหารชีวิตทั่วประเทศ ทำให้ในปี 2566 มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 853 คน เพิ่มขึ้น 48% จาก 576 คน ในปี 2565 

จากการบันทึกสถิติพบการประหารชีวิตอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างน้อย 545 ครั้ง สำหรับความผิดที่ไม่ควรได้รับโทษประหารชีวิตภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การปล้นทรัพย์ และการจารกรรม โดยทางการอิหร่านแสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อชีวิตมนุษย์โดยสิ้นเชิง และการเพิ่มโทษการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด นั้นยิ่งเน้นย้ำผลกระทบในการเลือกปฏิบัติของโทษประหารชีวิตต่อชุมชนชายขอบและยากจนที่สุดของอิหร่าน

ขณะเดียวกันสถานการณ์ในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พบว่าจีนยังคงประหารชีวิตและตัดสินประหารชีวิตหลายพันคน แต่ตัวเลขยังคงเป็นความลับของรัฐทำให้ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือและเวียดนาม ขณะที่ญี่ปุ่นและเมียนมาไม่มีการบันทึกข้อมูลประหารชีวิต ส่วนมาเลเซียยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียวสำหรับความผิดทั้งหมดและลดขอบเขตของการลงโทษนี้ ขณะที่ ไทยยังคงเป็นหนึ่งในจำนวน 55 ประเทศที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมทั่วไป ซึ่งโทษประหารส่วนใหญ่มีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

ภาพ : สถิติการประหารชีวิตมากที่สุด 5 อันดับ
จาก Amnesty International Thailand

“เราไม่สามารถละเลยต่อสิทธิในการมีชีวิตที่มีมาแต่กำเนิดของปัจเจกชนโดยพลการได้ …. โทษประหารชีวิตไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้แต่อย่างใด” กล่าวโดย รามการ์ปาล ซิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกฎหมายของมาเลเซีย (ด้านการปฏิรูปกฎหมายและองค์กร) 

อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวช่วยให้เกิดการทบทวนสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมของคนทุกคน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น