วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 อิสราเอลโจมตีทางอากาศค่ายพักพิงของชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นในเขตพื้นที่ราฟาห์ (Rafah) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) ระบุว่าผู้บาดเจ็บจำนวนมากได้รับบาดเจ็บจากแผลไฟไหม้ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แต่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์กำลังขาดแคลนอย่างมากในพื้นที่นี้
Dr. Margaret Harris โฆษกของ WHO กล่าวว่า “เรากำลังเฝ้าดูผู้คนที่ไม่ควรตาย ตายจากไปต่อหน้า เพียงเพราะขาดเครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์ในการทำสิ่งที่ต้องทำหรือการรักษาผู้คน”
สถานการณ์ด้านสุขภาพและมนุษยธรรมในพื้นที่ราฟาห์มีความน่ากังวลหลายเรื่อง เช่น
- การขาดแคลนน้ำมันและเชื้อเพลิง : WHO ชี้ว่าพื้นที่ฉนวนกาซามีความต้องการใช้เชื้อเพลิงประมาณ 200,000 ลิตรต่อวัน สำหรับจ่ายไฟให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโรงพยาบาลและภาคเศรษฐกิจผลิตอาหาร แต่สามารถเข้าถึงเชื้อเพลงได้เพียง 70,000 ลิตรต่อวัน และบางวันก็ขาดแคลนจนแทบไม่มี
- การตัดสินใจทางการแพทย์ที่ยากลำบาก : พบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ตกอยู่ในภาวะบาดเจ็บและทนทุกข์ทรมานจากการตัดแขนหรือขาเพียงข้างเดียว ขณะที่แพทย์ต้องเผชิญกับภาวะกดดันจากการต้องตัดสินใจผ่าตัดแขนหรือขาออกเพื่อช่วยชีวิตผู้คน
- โรคและความหิวโหยที่เพิ่มขึ้น : การขาดแคลนน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่เลวร้ายกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ท้องเสีย และโรคตับอักเสบเอในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นนอกจากนี้พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ทางตอนเหนือของกาซาต้องทุกข์ทรมานจากภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน
- ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ : ความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพจิตใจของผู้คนในพื้นที่ ทำให้สภาพความเป็นอยู่แออัด อีกทั้งทำลายโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งพังทลาย ขณะที่การเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นไปได้ยากมากขึ้น เนื่องจากศูนย์บริการสุขภาพ 14 แห่งจาก 22 แห่งต้องหยุดดำเนินการ
อย่างไรก็ดี สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (The United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East: UNRWA) ซึ่งเป็นแนวหน้าในการช่วยเหลือด้านสุขภาพและมนุษยธรรมในพื้นที่ได้มีการเปิดศูนย์พักพิงฉุกเฉิน 155 แห่ง และส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 108 หน่วย ประสานงานการจัดส่งยาที่จำเป็น และดำเนินการเฝ้าระวังการระบาดของโรค
ขณะที่ Akihiro Seita ผู้อำนวยการด้านสุขภาพของ UNRWA กล่าวว่า “สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือการหยุดยิง เรายังคงทำสิ่งที่เราสามารถทำได้ต่อไป แต่หากไม่มีการหยุดยิง ปราศจากความสงบในพื้นที่และความสงบในใจ เราจะทนทุกข์ต่อไป และเสียใจที่ต้องบอกว่าผู้คนในฉนวนกาซาอาจต้องเผชิญกับความเลวร้ายต่อไป”
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ‘สงครามคร่าชีวิตพลเรือนเพิ่มขึ้น 17,000 ราย – เด็กตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มกว่า 35%’ ชวนสำรวจผ่าน ‘รายงาน SDG 16’ ฉบับใหม่ของ UN
– เด็กหลักล้านคนในโลกตกเป็นทาสสมัยใหม่ โดยรูปแบบหนึ่งคือการค้ามนุษย์ที่มีสถานสงเคราะห์เด็กบังหน้า
– ผู้อพยพเด็กที่เดินทางโดยลำพังอย่างน้อย 18,000 คน หายตัวไปในยุโรปตั้งแต่ปี 2018 เสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์
– เลขาธิการ UN แถลงประเด็น SDGs ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2566 พร้อมเรียกร้องทั่วโลกยุติการก่อสงครามทำลายล้างธรรมชาติ
– การลักพาตัวเด็กจากเหตุสงครามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชวนอ่าน Guidance Note on Abduction – บันทึกแนวทางป้องกันเเละยุติการลักพาตัวเด็กฉบับใหม่ของ UN
– OHCHR ระบุปี 2565 เป็นปีที่ชาวปาเลสไตน์ถูกคร่าชีวิตในเขตเวสต์แบงก์มากที่สุดในรอบ 17 ปี พร้อมประณามอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
– SDG Updates: ‘พิษ-แพร่-พัง’ หายนะจากสงครามต่อการล่มสลายของระบบสุขภาพ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (6.2) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงการสุขาภิบาลและสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
แหล่งที่มา : Gaza: Rafah camp attack heightens focus on dwindling health resources (UN)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย