Site icon SDG Move

SDG Insights | สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) คืออะไร? แล้วทำไมจึงสำคัญต่อความยั่งยืน

ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี
วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

‘สุขภาพหนึ่งเดียว’ หรือ One Health เป็นแนวคิดที่อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน มองทุกชีวิตรวมเป็นสุขภาพอันหนึ่งอันเดียว เนื่องจากตระหนักได้ว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่ โดยแต่ละองค์ประกอบของระบบนิเวศล้วนมีกิจกรรม และหน้าที่แตกต่าง ดังนั้น หากหนึ่งในสามขององค์ประกอบนี้เกิดปัญหา อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพขององค์ประกอบอื่น ๆ ตามไปด้วย 

SDG Insights ฉบับนี้ ชวนค้นหาที่มาของแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว บอกเล่าผ่านมุมมองของนักวิชาการสายสังคม พร้อมชวนตั้งคำถามว่าสุขภาพหนึ่งเดียวนั้นมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร ? และฉาพภาพในการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคม และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยชี้ให้เห็นผ่านสถานการณ์และความท้าทายที่เกิดขึ้นในการนำแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่มนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม


01 – บทนำ

นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2545 ที่เริ่มมีการระบาดของโรคซาร์ส (severe acute respiratory syndrome: SARs) หรือ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงขึ้นเป็นครั้งแรก และโรคระบาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น โรคไข้เลือดออก โรคอีโบลา รวมถึงโรคโควิด-19 ได้คร่าชีวิตและคุกคามสุขภาพของผู้คนหลายล้านคน และไม่เพียงโรคระบาดที่ได้เข้ามาคุกคามสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น เพราะแม้แต่ปัญหามลพิษทางน้ำและอันตรายจากสารเคมีเอง ก็ได้เข้ามาคุกคามชีวิตประจำวันของมนุษย์ด้วยแต่สัตว์จำนวนมากนั้นได้รับผลกระทบด้วย เช่น สัตว์น้ำได้รับเสี่ยงรับสารเคมีปนเปื้อนจากแหล่งน้ำซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย จนเกิดการสะสมสารพิษในเนื้อเยื่อและหากถูกถ่ายทอดผ่านห่วงโซ่อาหารไปยังมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ นั่นอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น การสะสมของโลหะหนักในร่างกายและการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ที่นำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคใหม่ ๆ [1] ขณะเดียวกันด้านสิ่งแวดล้อมนั้นได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากการปนเปื้อนของสารพิษที่ปนเปื้อนในน้ำ เช่น สารหนู ตะกั่ว หรือปรอท นั้นเมื่อหากสารเคมีนั้นสัมผัสลงในน้ำ ดิน หรืออากาศ อาจกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งแบบเฉียบพลันและในระยะยาว [2] จากปัญหาข้างต้น ส่งผลให้ด้านสาธารณสุขเกิดการแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาและรับมือกับโรคที่อาจสร้างผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต 

ในปัจจุบัน ทำให้มุมมองด้านสุขภาพ จึงมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง การแพทย์ที่เดิมถูกมองแยกกันอย่างเบ็ดเสร็จระหว่างมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้ถูกปรับเปลี่ยนมุมมองให้ถูกมองอย่างเป็นองค์รวม (holistic) มากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่ามุมมองแบบ ‘สุขภาพหนึ่งเดียว’ ซึ่งเป็นมุมมองด้านสุขภาพที่ประกอบด้วยองค์ประกอบด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับ มนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยความหมายของสุขภาพหนึ่งเดียวโยงถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ ของทั้งสามองค์ประกอบ ซึ่งแต่ละองค์ประกอบต่างมีผลที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันในการดำรงชีวิต 

ภาพที่ 1 : แสดงองค์ประกอบของสุขภาพหนึ่งเดียว
ที่มา:  One Health Outlook

โดยคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health High-Level Expert Panel: OHHLEP) ให้คำนิยามว่า ‘สุขภาพหนึ่งเดียว’ คือ

“an integrated, unifying approach that aims to sustainably balance and optimize the health of people, animals and ecosystems”  – แนวทางบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสมดุลและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสุขภาพของผู้คน สัตว์ และระบบนิเวศที่ยั่งยืน 

ดังนั้น เพื่อให้ผู้คนในสังคมมีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย จึงเกิดความร่วมมือระหว่างวิทยาศาสตร์หลากแขนง ร่วมหาวิธีการแก้ปัญหาสุขภาพแนวทางใหม่ที่รวมเอาแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำสู่การสร้างสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม โดยมีแนวคิดนำไปสู่การดึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้ามาเพื่อปฏิบัติงานและพัฒนางานดังกล่าวร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีของสิ่งชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้อย่างไม่อาจแยกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง ดังคำที่กล่าวว่า “สุขภาพหนึ่งเดียว” หมายถึง สุขภาพของทุกชีวิตบนโลกใบนี้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวนั่นเอง


02 –  พัฒนาการของแนวคิด ‘สุขภาพหนึ่งเดียว’ ในประเทศไทย

ประเทศไทย แนวคิดความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์และสัตว์มาก่อนการเกิดแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว แต่เดิมทีแนวคิดนี้ค่อนข้างจำกัดอยู่ภายในแวดวงคนทำงานด้านสาธารณสุข แรกเริ่มในปี พ.ศ. 2548 แนวคิดเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ ถูกถ่ายทอดลงสู่หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในระบบของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการรับสัตวแพทย์เข้าศึกษาในโครงการพัฒนานักระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiology Training Programme: FETP) ทำให้ถัดมาในปี พ.ศ 2551 โครงการดังกล่าว จึงได้ขยายออกสู่หน่วยงานภายนอกกระทรวง ซึ่งนอกจากการพัฒนาบุคลากรในระบบ ยังมีการส่งเสริมการสร้างบัณฑิตให้มีสมรรถนะในการทำงานภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อการเฝ้าระวัง ควบคุม และตอบโต้โรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่อระหว่างมนุษย์และสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (Thailand One Health University Network) ซึ่งจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2555 โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งในเครือข่ายที่มีความสำคัญ โดยมีกลไกในการรับมือและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้เป็นอย่างดี 

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังได้นำแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” มาปฏิบัติใช้อย่างจริงจังในแผนยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2556 – 2559)  ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการป้องกัน ควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ โดยได้ระบุถึงแผนยุทธศาสตร์ด้าน “สุขภาพหนึ่งเดียว” เป็นยุทธศาสตร์ลำดับที่ 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์หลักของหน่วยงาน โดยระบุถึงการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกันรักษา และควบคุมโรคภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว โดยมีเป้าหมายให้มีความร่วมมือทั้งภาคสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม และมีศักยภาพในการเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษาและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการ [3] ขณะที่ ปัจจุบันปี พ.ศ. 2567 เครือข่ายดังกล่าว มีสมาชิกทั้งหมด 87 คณะ/วิทยาลัย ใน 16 มหาวิทยาลัย ที่ร่วมกันผลักดันสุขภาพหนึ่งเดียวผ่านงานวิจัย ความร่วมมือ และการฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขและหน่วยงานสำคัญอื่น ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย 

จากประเด็นดังกล่าว เห็นได้ว่าภาครัฐและหลากหลายหน่วยงานในประเทศไทย แสดงถึงความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ตามที่ระบุในแผนยุทธศาสตร์เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติ ซึ่งต่อมาหลายหน่วยงานได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยแนวคิดนี้ต่างได้รับการยอมรับจากนักวิชาการจำนวนมาก และถูกผลักดันจนเกิดเป็นนโยบายทางด้านสาธารณสุข เกิดเป็นกิจกรรมจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก อย่างไรก็ดีแนวคิดนี้ ได้พยายามสะท้อนความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงผลกระทบของสุขภาพมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม 


03 – โรคระบาดสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน โลกมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมจึงเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนอาศัยอยู่ใกล้กันมากขึ้น มีการอพยพย้ายถิ่นฐานเกิดขึ้น ทำให้สภาพแวดล้อมเดิมเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้พื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกรุกล้ำโดยมีมนุษย์เข้าไปตั้งถิ่นฐาน ทำให้มนุษย์เกิดความเชื่อมโยงกับสัตว์มากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อความเป็นอยู่ เป็นแหล่งหาอาหาร หรือการใช้ประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วน ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระหว่างมนุษย์และสัตว์ง่ายมากขึ้น เนื่องจากพาหะที่อาจมาจากสัตว์ จนรวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ เช่น การรักษาความสะอาดที่ไม่ดีในสถานที่เลี้ยงสัตว์ ทำให้ปัญหาอื่น ๆ ตามมา 

ตัวอย่างเช่นเดียวกับโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำอีกที่มีต้นตอมาจากสัตว์ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งก่อให้เกิดโรคเอดส์ (Acquired immunodeficiency syndrome: AIDS) โดยมีต้นตอมาจากลิงป่าในประเทศแคเมอรูน เกิดการทำลายป่าและการล่าสัตว์ป่าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มนุษย์เข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าลึกทำให้ต้องสัมผัสกับลิงป่า จึงเพิ่มโอกาสให้เกิดการติดเชื้อไวรัส SIV (Simian Immunodeficiency Virus) ซึ่งพบในลิงชิมแปนซีข้ามสายพันธุ์ โดยแพร่กระจายมาสู่มนุษย์และกลายเป็น HIV หลังจากนั้น ไวรัสดังกล่าว จึงลุกลามแพร่กระจายทั่วแอฟริกาและกระจายไปสู่ทั่วโลก [4] 

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ กรณีปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (algae bloom) ซึ่งเกิดจากการรั่วไหลของไนโตรเจนจากปุ๋ยเคมีหรือฟอสฟอรัสจากผลิตภัณฑ์ซักฟอกและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดครัวเรือนที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสัตว์นานาชนิด ขณะเดียวกันก็กระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจและโรคผิวหนัง จากการสัมผัสสารปนเปื้อนในน้ำที่มีที่มาจากสารพิษในสาหร่าย นอกจากนี้ การบริโภคสัตว์น้ำหรือพืชน้ำที่มาจากแหล่งน้ำที่มีการสะพรั่งของสาหร่ายก็อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย และการเกิดอาการแพ้รุนแรง (allergic reactions) ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งยังสามารถทำให้เกิดการขาดออกซิเจนในน้ำ (hypoxia) ซึ่งส่งผลให้สัตว์น้ำจำนวนมากต้องตาย นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแล้ว ยังทำให้ทรัพยากรอาหารจากแหล่งน้ำลดลงอีกด้วย ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพของชุมชนที่พึ่งพิงทรัพยากรจากธรรมชาติเหล่านั้น

นอกจากนี้ หากศึกษาหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว อีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือวิกฤตเชื้อดื้อยา (antimicrobial resistance) ซึ่งเป็นวิกฤตที่หลากหลายประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์ [5] เชื้อดื้อยามีการแพร่กระจายจากฟาร์มไปสู่คนได้โดยช่องทางต่าง ๆ เช่น การสัมผัสโดยตรงจากคนทำงาน การปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่หยุดแค่เพียงสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม แต่ยังกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งฟาร์มอุตสาหกรรมเหล่านี้อีกด้วย [6]

อย่างไรก็ดี ผลกระทบของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนนั้น ไม่เพียงเกิดจากสัตว์เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่มีที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ก็ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อจากสัตว์สู่คนเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่อุ่นและชื้นทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออกเป็นต้น [7] และขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นต้นเหตุให้โรคระบาดในอดีตอาจกลับมาระบาดอีกครั้งได้ เพราะเมื่อโลกร้อนขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งค่อย ๆ ละลายจนอาจทำให้ปลดปล่อยไวรัสและแบคทีเรียในยุคหลายพันปีก่อนกลับมาแพร่กระจายได้ โดยมนุษย์ยุคปัจจุบันไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคร้ายที่เกิดจากไวรัสและแบคทีเรียอายุพันปีเหล่านี้ [8]  

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว จึงได้พยายามบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งจะอธิบายการทำร่วมกันในหัวข้อถัดไป


04 – กรณีศึกษาในการทำงานร่วมกัน ตามแนวคิดของ ‘สุขภาพหนึ่งเดียว’

สำหรับประเทศไทยหนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญของการนำแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวมาใช้ในการควบคุมโรคในประเทศไทย คือการจัดการกับการระบาดของโรค ‘ไข้หวัดนก’ (avian influenza หรือ avian flu) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คน โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึง 2549 ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงในประเทศไทย โรคไข้หวัดนกมีต้นตอจากไวรัสที่แพร่กระจายจากสัตว์ปีกสู่มนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกที่มีการเลี้ยงในพื้นที่แออัด ซึ่งส่งผลให้ไวรัสแพร่กระจายได้ง่าย ความแออัดและการจัดการที่ไม่ถูกสุขลักษณะทำให้ไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว 

ประเทศไทยได้ใช้แนวทางแบบสหสาขาวิชาชีพ โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ สัตวแพทย์ นักนิเวศวิทยา และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีของโรคไข้หวัดนก การทำงานร่วมกันดังกล่าวได้รวมถึงการเฝ้าระวังและการตรวจสอบ การติดตามและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคในฟาร์มสัตว์ปีก รวมถึงการตรวจสอบสัตว์ปีกที่นำเข้าสู่ตลาดและการกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ การฉีดวัคซีนในสัตว์ปีกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส และการให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการป้องกันโรค การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัส การควบคุมการค้าสัตว์ปีกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ และการให้ข้อมูลและการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงและวิธีการป้องกันโรค

การดำเนินการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และการประสานงานระหว่างสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคและปกป้องสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกันในประเทศสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ได้ใช้แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว โดยการทำงานร่วมกับแพทย์ สัตวแพทย์ นักนิเวศวิทยา และคนอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อติดตามและควบคุมภัยคุกคามด้านสาธารณสุข และเพื่อเรียนรู้ว่าโรคแพร่กระจายในหมู่คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร [9]  เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในการจัดการปัญหาสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน


05 – ความเชื่อมโยงของสุขภาพหนึ่งเดียวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกหลังปี ค.ศ. 2015 ที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2015 ครอบคลุมช่วงระยะเวลาที่ต้องบรรลุภายใน 15 ปี ได้เป็นทิศทางการพัฒนาที่ทุกประเทศต้องดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ไปจนถึงปี ค.ศ. 2030 โดย SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) ภายใต้หนึ่งเป้าหมายจะประกอบไปด้วยเป้าหมายย่อย (Targets) ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อย และตัวชี้วัด (Indicators) เพื่อติดตามและประเมินความก้าวหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพ ที่ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเมื่อพิจารณาผ่านมุมมองของสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) นั้น เป็นแนวคิดที่ช่วยให้เข้าใจและจัดการกับปัญหาสุขภาพโดยรวมได้อย่างดี เป็นมุมมองที่ครอบคลุมทั้งในมิติมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม แม้ว่าในระดับผิวเผินเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับสัตว์โดยตรง แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของเป้าหมายย่อย (Targets) จะพบว่ามีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับสุขภาพของสัตว์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ


ภาพที่ 2 : ความเกี่ยวข้องของ SDGs และสุขภาพหนึ่งเดียว
ที่มา : Original English version from: FAO, UNEP, WHO, & WOAH (2023)

สุขภาพของมนุษย์ (Human health) ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวสะท้อนให้เห็นในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เช่น เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งรวมถึงการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เพื่อให้มนุษย์มีสุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี และ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน [10] 

ขณะที่เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ สุขภาพของพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม (Health of plants, animals and the environment) สะท้อนให้เห็นใน SDGs ที่เกี่ยวข้องกับ เป้าหมายที่ 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 14  ทรัพยากรทางทะเล และ เป้าหมายที่ 15 ระบบนิเวศบนบก [11] โดยเป็นเป้าหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับสัตว์ โดยเฉพาะสุขภาพของสัตว์น้ำ ซึ่งมีความสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางน้ำ รวมถึงส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ เพราะในเป้าหมายที่ 14 เช่นการจัดการการประมงที่ยั่งยืนนั้นจะช่วยให้เกิดการรักษาประชากรสัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้น ส่วนเป้าหมายที่ 15 นั้นช่วยสร้างความยั่งยืนให้สุขภาพของสัตว์ป่า เนื่องจากการอนุรักษ์ป่าไม้และที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าช่วยป้องกันการสูญเสียถิ่นที่อยู่และลดความเสี่ยงของการเกิดโรค รวมถึงการป้องกันการล่าและค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายที่สามารถนำพาโรคมาสู่มนุษย์และปศุสัตว์

ระบบสุขภาพของสิ่งชีวิต (Health of all living systems) ขึ้นอยู่กับการบรรลุ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับการบริการและทรัพยากรที่เพียงพอ นั่นจึงรวมถึงเป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย และเป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน การจัดการสุขภาพของระบบชีวิตทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในทุกมิติ นอกจากนี้ แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ ซึ่งยังหมายรวมถึงการลดการดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในมนุษย์และสัตว์ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การสร้างชุมชนที่ยั่งยืนยังต้องอาศัยการจัดการสุขภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การลดมลพิษและการปรับปรุงระบบสุขาภิบาล เพื่อให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัย 

การดำเนินการตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (Implementation of the One Health approach) อย่างมีประสิทธิภาพยังเชื่อมโยงกับการบรรลุเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศองค์กรต่าง ๆ และชุมชนเพื่อการจัดการปัญหาสุขภาพแบบบูรณาการจะช่วยให้การบรรลุ SDGs เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ รวมถึงการสร้างนโยบายที่สนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการ การจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ และการส่งเสริมการศึกษาและการรับรู้เกี่ยวกับแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวในระดับชุมชนและระดับโลก [12] 

อย่างไรก็ดี แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวไม่เพียงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่กล่าวไปข้างต้นเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับเป้าหมายอื่น ๆ ในทางอ้อมด้วย เช่น เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ เนื่องจากการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจำเป็นต้องมีการให้การสนับสนุนทั้งในระดับโรงเรียนและระดับอุดมศึกษา และเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เช่นการสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า


06 – ความท้าทายและการมีส่วนร่วมในการดำเนินการสุขภาพหนึ่งเดียว

ทุกคนสามารถนำแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวมาประยุกต์ใช้กับชีวิตของตนเองได้โดยศึกษาความเชื่อมโยงและการพึ่งพาซึ่งกันและกันของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม และทำความเข้าใจว่าการกระทำและนโยบายของมนุษย์อาจส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์และสิ่งแวดล้อมอย่างไร เมื่อประชาชนเรียกร้องให้สร้างธรรมาภิบาลด้านสุขภาพที่ดีขึ้น หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพหนึ่งเดียวและให้ความสำคัญทางกฎหมาย

นอกจากการเพิ่มความตระหนักรู้แล้ว เราทุกคนยังสามารถสนับสนุนแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ผ่านการรายงานพฤติกรรมหรือรูปแบบที่ผิดปกติของสัตว์ให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพราะนี่อาจบ่งบอกถึงการระบาดของโรคในสัตว์ ซึ่งอาจจะส่งต่อถึงคนได้ สำหรับการดื้อยาต้านจุลชีพ เราทุกคนควรปฏิบัติตามผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในการใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาสำหรับตนเองเเละสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของแบคทีเรียที่ดื้อยา 

การปรับการใช้ชีวิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ หรือ มีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและภาวะโรคร้อนเองก็มีความสำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและระบบอื่น ๆ ของโลกจะส่งผลต่อการระบาดของโรคทั้งในคนและสัตว์อีกด้วย

|  ความท้าทายการนำแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวมาปรับใช้

การนำแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวมาใช้อาจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ซึ่งสำคัญที่สุด คือการทำงานร่วมกันระหว่างสาขาวิชาต่าง ๆ ในภาควิชาการ จริงอยู่ที่สาธารณสุขอาจจะเป็นสาขาที่สำคัญ ทว่า แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวต้องการความร่วมมือจากชีววิทยา สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ทว่าโครงสร้างทางระบบวิชาการและการเงินสนับสนุนในประเทศไทยยังไม่ค่อยเอื้ออำนวย นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งในหลายกรณีหน่วยงานเหล่านี้อาจมีแนวทางการทำงานหรือพรรคการเมืองที่สนับสนุนแตกต่างกัน ทำให้การประสานงานเป็นไปได้ยาก 

นอกจากนี้ การรับรู้และความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความพยายาม เนื่องจากหลายคนอาจยังไม่เข้าใจความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม การสื่อสารเกี่ยวกับแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ การใช้ภาษาที่ง่ายและการนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบที่น่าสนใจ จะช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจและเห็นความสำคัญของแนวคิดนี้มากขึ้น การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่เป็นกระแส เช่น การใช้สื่อสังคมออนไลน์ วิดีโอสั้น ๆ หรืออินโฟกราฟิก สามารถทำให้เนื้อหาน่าสนใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

แม้จะมีความท้าทายอย่างมาก แต่การพัฒนาและนำแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวมาใช้เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการสร้างสุขภาพที่ดีและยั่งยืนในประเทศไทย เพราะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในประเด็นด้านสุขภาพนั้นพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม


07 – บทสรุป

สุขภาพหนึ่งเดียว เป็นแนวคิดที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยมองทุกชีวิตเป็นสุขภาพเดียวกัน ไม่สามารถแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดได้ การเจ็บป่วยหนึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องและอาจเป็นสาเหตุซึ่งกันและกันระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เมื่อพิจารณาการเจ็บป่วยของมนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม เราอาจพบความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการป้องกัน รักษา ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพเพื่อไม่ให้เสียสมดุลทางสุขภาวะ การตระหนักถึงความเป็นไปได้ดังกล่าวจะช่วยให้การดูแลสุขภาพได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น ภายใต้หลักการของแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว

อย่างไรก็ดี การพัฒนาระบบบริการสุขภาพตามนโยบายสุขภาพหนึ่งเดียวนั้น ที่ผ่านมาเน้นความร่วมมือระหว่างองค์กร หน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา เพราะความร่วมมือดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สุขภาพของทุกชีวิตบนโลกใบนี้นั้นดีขึ้นต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง  –  ภาพประกอบ


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา
– (15.8) นำมาตรการเพื่อป้องกันการนำเข้าและลดผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานต่อระบบนิเวศบกและน้ำ และควบคุมหรือขจัด priority species ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

เอกสารอ้างอิง
[1] Institute for Health Metrics and Evaluation. (2020). GBD Compare Data Visualization. University of Washington. http://vizhub.healthdata.org/gbd-compare 
[2] Prüss-Ustün, A., Wolf, J., Corvalán, C., Bos, R., & Neira, M. (2018, September 13). Preventing disease through healthy environments: A global assessment of the burden of disease from environmental risks. WHO. https://iris.who.int/bitstream/handle/10665/204585/9789241565196_eng.pdf?sequence=1
[3] ธนวัฒน์ ศุภนิตยานนท์. (2557). สุขภาพหนึ่งเดียว. ธรรมศาสตร์เวชสาร. 14(2).
[4] National Institute of Allergy and Infectious Diseases. (2021). Origins of Coronaviruses. Coronaviruses. https://www.niaid.nih.gov/diseases-conditions/origins-coronaviruses  
[5] [6] โชคดี สมิทธิ์กิตติผล. (2565). สวัสดิภาพสัตว์ อีกหนึ่งต้นตอวิกฤตเชื้อดื้อยาช่องว่างในหลักการ One Health. องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย. https://www.worldanimalprotection.or.th/news-blogs-pressrelease/blogs/One-Health-Concept/
[7] Dawson, R. (2019). Is climate change our most significant health challenge? Meningitis Research Foundation. https://www.meningitis.org/blogs/climate-change-meningitis
[8] รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์. (2565). โลกร้อนขึ้น โรคร้ายขึ้น?. Greenpeace Thailand. https://www.greenpeace.org/thailand/story/11035/climate-heating-planet-increase-disease/
[9] Centers for Disease Control and Prevention. (2024). The story of the Rift Valley fever virus vaccine. https://www.cdc.gov/one-health/php/stories/rvf-virus-vaccine.html
[10] [11] [12] FAO, UNEP, WHO, & WOAH. (2023). One Health and the United Nations Sustainable Development Cooperation Framework: Guidance for United Nations country teams. Rome. https://doi.org/10.4060/cc5.
[13] One Health High Level Expert Panel. (2023, June 27). One Health High-Level Expert Panel Annual Report 2022. World Health Organization. https://cdn.who.int/media/docs/default-source/one-health/ohhlep/ohhlep-report-2022.pdf?sfvrsn=387c3b59_1&download=true
[14] Sommanustweechai, A., Patcharanarumol, W., Iamsirithaworn, S., Kalpravidh, W., Ratanakorn , P., & Tangcharoensathien, V. (2014). วิวัฒนาการของความร่วมมือภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวในประเทศไทย. Research and Development Health System Journal, 8(3).

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Authors

Exit mobile version