Site icon SDG Move

เปิดทางสู่ “ตลาดพลังงานรูปแบบใหม่” ที่ครอบคลุม เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตย

ดร.ศุภโชค วังมะนาวพิทักษ์

ด้วยความร่วมมือของศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung – FES) ได้ดำเนินการจัดงาน เวทีการประชุมวิชาการสาธารณะ “Vision of Thailand in Just Energy Transition” เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับความท้าทายและการหาทางออกของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม รวมทั้งการผลักดันบทบาทของประเทศไทย ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (COP28) ในปีนั้น ข้อเขียนฉบับนี้จะขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจจากวงอภิปรายช่วงบ่ายของเวทีครั้งดังกล่าว


(ซ้าย) นางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน (ขวา) Mr. Ernst Kuneman

หัวข้อหลักของการเสวนาช่วงบ่าย คือ “Inclusive and Democratized New Energy Market” หรือ “ตลาดพลังงานใหม่ที่ครอบคลุมและเป็นประชาธิปไตย” หนึ่งในผู้ร่วมอภิปราย นางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงานให้ความเห็นที่น่าสนใจมาก มีใจความว่า ระบบที่เรียกว่า Electricity Market หรือตลาดไฟฟ้าในประเทศไทย ยังไม่เกิดขึ้นอย่างที่นักวิชาการและเชี่ยวชาญทางด้านพลังงานต้องการเพื่อลดการผูกขาดจากกลุ่มทุน เนื่องจากประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถทำการซื้อ-ขายไฟฟ้าได้เหมือนสินค้าอื่นในตลาด ที่เปิดให้ซื้อหรือขออนุญาตขายได้อย่างอิสระ ไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน ยังเป็นระบบไฟฟ้า (Electricity System) ที่ถูกควบคุมด้วยรัฐบาล 

แล้วประชาชนคนไทยทำจะอย่างไรเพื่อให้มีระบบพลังงานที่ เข้าถึงได้ และ มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากจะเป็นตัวอย่างแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการผลักดันตลาดไฟฟ้าดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายพลังงานและเข้าถึงได้ ไม่ใช่ให้เรื่องพลังงานเป็นเรื่องของรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญ หรือกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งเท่านั้นในการตัดสินใจ 

นางชื่นชมกล่าวอีกว่าอุปสรรคในการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงพลังงานในมิติหนึ่งคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยทั้งทางเพศ ระดับรายได้ ชาติพันธุ์ ที่จำกัดสิทธิการเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องพลังงานในทุกระดับ ยกตัวอย่าง การขาดบุคคลากรเพศหญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน หรือการขาดโอกาสในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนของคนยากจน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคเชิงโครงสร้าง อาทิ รูปแบบการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการด้านพลังงานขนาดใหญ่ของรัฐที่ค่อนข้างรุนแรง ดังเช่นกรณีเขื่อนปากมูล แต่ในภายหลังก็มีการเปลี่ยนมาใช้รูปแบบการจัดการด้วยการตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อให้ความช่วยเหลือแทน ซึ่งเป็นวิธีลดความขัดแย้งที่อาจไม่ได้ผลเสมอไป สำหรับความขัดแย้งระหว่างเอกชนกับคนท้องถิ่นในประเด็นการกว้านซื้อที่ดินสร้างโรงไฟฟ้า นางชื่นชมเห็นว่าก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่รัฐบาลควรเข้ามาเป็นตัวกลางจัดการ รวมไปถึงเรื่องการรับฟังความคิดเห็นแบบไม่จริงใจของหน่วยงานรัฐ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ถือหุ้นบริษัทพลังงานของประชาชน สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของประเทศไทยที่ควรได้รับการแก้ไขและทำให้ชัดเจน

“ค่าไฟฟ้าแพงจากการบริหารที่ผิดพลาด การเน้นโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์ การปิดกั้นการลงทุนพลังงานหมุนเวียน สิ่งเหล่านี้เกิดจากแผนพลังงาน (PDP) ในอดีตที่ผิดพลาด ไร้การตรวจสอบและลงโทษต่อผู้รับผิดชอบ การผลักภาระต้นทุนมาให้ประชาชน ซึ่งเป็นผลกระทบจากโครงสร้างแบบผูกขาดทั้งสิ้น” นักวิชาการด้านพลังงานกล่าว

โดยนางชื่นชมได้ทิ้งท้ายข้อเสนอแนะไว้ว่าประเทศไทยควรจะดำเนินการแก้ไขปัญหาของทุนผูกขาดพลังงานและการลงทุนเกินในด้านพลังงานที่ไม่จำเป็น เช่น การเซ็นสัญญาซื้อพลังงานกับโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งที่ประเทศไทยมีกำลังไฟสำรองเกินพอแล้ว และเพื่อให้ประเทศไทยมีระบบพลังงานที่มีความครอบคลุม เข้าถึง และเป็นประชาธิปไตยได้จริง จึงเสนอกรอบการดำเนินการจากการศึกษา โดยยึดหลัก Decarbonize + Decentralize ลดการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลเพิ่มและกระจายศูนย์ไปหาพลังงานหมุนเวียน Demonopolize + Diversify แนะนำให้ กฟน. และกฟภ. มีโอกาสได้ขายไฟฟ้าไม่ได้ผูกขาดแค่ กฟผ. และสุดท้าย Democratize สร้างแรงกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนตื่นตัวในเรื่องของพลังงาน ช่วยทำหน้าที่ตรวจสอบและเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องพลังงานมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


ในช่วงต่อมาของการเสวนาจะเน้นในเรื่องทางเทคนิคเพื่อรองรับตลาดไฟฟ้าที่ควรจะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามามีบทบาทสำคัญ

Mr. Ernst Kuneman จาก Agora Energiewende ได้ให้มุมมองแนวคิดในเรื่อง “A Word on Markets for Power Sector Transitions in Southeast Asia” จากวัตถุประสงค์หลักของระบบไฟฟ้าเดิมที่ต้องการเพียงระบบที่น่าเชื่อถือ สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการและอยู่ภายใต้ราคาที่ประชาชนไม่เดือดร้อน แต่เพื่อส่งผ่านมายังระบบไฟฟ้าในอนาคตที่จะต้องลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น จำเป็นต้องคำนึงถึงระบบการจัดการไฟฟ้าที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) หรือมาตรการตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand-side Response: DSR) รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะตามมารองรับ เช่น การสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Distributed Energy Resource: DER) รวมถึงการทำให้ธุรกิจจากพลังงานหมุนเวียนประเภทที่มีความผันผวน (Variable Renewable Energy: VRE) ซึ่งได้แก่ ไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลมและแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถสร้างรายได้ได้อย่างมั่นคงและหาทางออกให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานจากฟอสซิลเดิม

Mr. Ernst ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากระบบตลาดไฟฟ้าในสหภาพยุโรปและเปรียบเทียบความแตกต่างที่ทางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญ เพื่อให้เกิดตลาดพลังงานรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน มีข้อสรุปที่สำคัญ กล่าวคือ ในช่วงแรกผู้มีอำนาจควรให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการวางแผนการผลิตในช่วงระยะสั้นก่อนเพื่อปลดล็อกการผูกขาดและเพิ่มการลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนจากทุกภาคส่วน  การปฏิรูปตลาดที่กว้างกว่า (Broader Market Reform) อาจเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเพิ่มความต้องการใช้พลังงานในตลาดในระยะยาวได้ และในท้ายที่สุดต้องหาสมดุลใหม่ระหว่างรัฐกับตลาด สำหรับประเทศในอาเซียนที่ยังคงใช้ระบบ Single Buyer System หรือมีผู้ซื้อรายเดียวและอยู่ภายใต้การดำเนินงานของรัฐมาก่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การลงทุน และการตั้งราคาให้ประชาชนสามารถจ่ายได้

รับชมบันทึกวิดีโอการเสวนาได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

เนตรธิดาร์ บุนนาค – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง –  ภาพประกอบ


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.3) เพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังานของโลกให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้ “หน่วยงานความรู้ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมของประเทศไทย” (Think Tank in Just Energy Transition) 

Authors

Exit mobile version