Site icon SDG Move

รายงานพิเศษ กสศ. ชี้เด็กไทยกว่า 1.02 ล้านคน หลุดออกนอกระบบการศึกษา พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

SDG Recommends ฉบับนี้ ชวนอ่าน ‘รายงานพิเศษความจริงและความเร่งด่วน ของสถานการณ์เด็กนอกระบบในประเทศไทย’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นรายงานที่ประมวลงานวิจัย องค์ความรู้ และข้อค้นพบในพื้นที่ร่วมกับภาคีทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 – 2567 เพื่อผลักดันและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ซึ่งพบเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 3 – 18 ปี หรือเทียบเท่าระดับอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 กว่า 1.02 ล้านคน ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาหรือหลุดจากระบบการการศึกษา โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กอยู่ในครัวเรือนที่มีการอพยพแรงงานเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาที่ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการมาก่อน กสศ. จึงเสนอมาตรการบูรณาการและเชื่อมโยงทะเบียนนักเรียนรายบุคคลที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยจัดทำ Data Cleansing สำหรับแสดงตัวเลขที่แท้จริงตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด ท้องถิ่น ถึงระดับพื้นที่ และจากการติดตามข้อมูลดังกล่าว ทำให้พบว่ามีเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 3 – 18 ปีที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คน หรือร้อยละ 8.41 ของเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปีทั้งหมด 12,200,105 คน โดยในจำนวนนี้อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือช่วงอายุ 6 – 14 ปี เป็นจำนวนทั้งสิ้น 394,039 คน คิดเป็นร้อยละ 38.42 ของเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา

รายงานพิเศษฉบับนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น

 กสศ. ให้ข้อเสนอเเนะการแก้ปัญหาไว้ ดังนี้

  1. มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้อย่างครอบคลุม
  2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาโดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ สร้างความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะพัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม
  3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพและเหมาะสม เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง
  4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15 – 18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี 2573
– (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี 2573
– (4.5) ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา: รายงานพิเศษ ความจริงและความเร่งด่วน ของสถานการณ์เด็กนอกระบบในประเทศไทย – กสศ.

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย 

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version