SDG Updates | สรุปเสวนา “การวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษ” (โครงการย่อยที่ 2)

ชวนอ่านบทสรุปเวทีเสวนา หัวข้อ “การวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษ” (โครงการย่อยที่ 2) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting ภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา

วิทยากรร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน 4 ท่าน ประกอบด้วย

  1. คุณยุพดี เมธามนตรี กองนโยบายเเละเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรเเละเกษตรกรรมยั่งยืน 
  2. คุณชานัน ติรณะรัต ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม 
  3. คุณภูมิ ปฏิสันถาวร หัวหน้ากลุ่มงานสิ่งเเวดล้อม กองสิ่งเเวดล้อมท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 
  4. คุณสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเเละพัฒนาทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม 

SDG Updates ฉบับนี้ พาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาข้างต้นเพื่อสำรวจผลการศึกษาเเละการเเลกเปลี่ยนต่อประเด็นเกษตรกรรมที่ยั่งยืนเเละการจัดการของเสียเเละมลพิษ โดยได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก การนำเสนอผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนการเป็นหุ้นส่วน และ ช่วงที่สอง การเสวนาข้ามภาคส่วน หัวข้อ “การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืนการจัดการของเสียเเละมลพิษทางน้ำ เพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” 

Section 1: การนําเสนอผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

โครงการศึกษาวิจัยข้างต้น มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายย่อยของ SDGs ทั้งสิ้น 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายย่อยที่ 2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573 เป้าหมายย่อยที่ 6.3 ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573 เป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563 และ เป้าหมายย่อยที่ 14.1  โดยผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายแบ่งตามเป้าหมายย่อยดังกล่าว ซึ่งนำเสนอโดยคณะผู้วิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้ 

01 – เป้าหมายย่อยที่ 2.4 นำเสนอโดย คุณประกายธรรม สุขสถิต 

เกษตรกรรมแบบยั่งยืนจำเป็นต้องคำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อม โดยพบว่าปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ทางการเกษตรกรรมแบบยั่งยืนเพียง 0.64% ต่อปี ของเกษตรกรรมทั้งหมด ซึ่งแท้จริงแล้ว หากพิจารณาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  ตามค่าเป้าหมาย ไทยต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 2 ล้านไร่และพื้นที่ที่ได้รับการรับรองตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพิ่มประมาณ 2.5 ล้านไร่ เมื่อสิ้นสุดปี 2570 ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ขณะเดียวกันข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เกี่ยวกับพื้นที่เกษตรที่ทำการเกษตรแบบยั่งยืนตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564 พบว่าในปี 2564 มีพื้นที่เกษตรยั่งยืนเพียงประมาณ 1.7 ล้านไร่ 

ทั้งนี้ได้จัดการสนทนากลุ่ม (focus group) ขึ้นทั้งสิ้น 2 ครั้ง โดยมีทั้งโครงการข่าว กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกระทรวงเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้าร่วมหารือสำหรับครั้งแรกพบว่าข้อมูลปัจจัยหลักคือเรื่องข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันมีรูปแบบการทำการเกษตรหลายรูปแบบที่นำเสนอไป บางพื้นที่เป็นเกษตรอินทรีย์ และเป็นอย่างอื่นด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นเรื่องของการนับพื้นที่ของประเทศไทยมีความซ้ำซ้อน ขณะที่เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะในพื้นที่ที่อาจจะเป็นการทำการเกษตรอย่างดี กลับมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำหรือการจัดการน้ำในพื้นที่แปลงเกษตร เรื่องของการเข้าถึงน้ำเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับภาคเกษตรกรรม

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการตรวจสอบรับรองระบบตรวจสอบและรับรองการทำเกษตรแบบยั่งยืน เนื่องจากระบบค่อนข้างจะละเอียดอ่อน คือต้องมีการเลือกการเก็บข้อมูล การทวนสอบ ในกลุ่มเกษตรกรของประเทศไทยบางครั้งยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วนพอที่จะเข้าระบบการตรวจสอบรับรอง รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการตรวจสอบรับรอง จึงเป็นข้อจำกัดอีกข้อหนึ่ง ที่ทำให้ระบบเกษตรอย่างยั่งยืนในพื้นที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างยาก อีกส่วนหนึ่งเรื่องของการส่งเสริมการเกษตรและยั่งยืน เนื่องจากการทำโครงการวิจัยของภาครัฐในปัจจุบันเป็นการของบประมาณในการเข้าไปช่วยเกษตรกรในแต่ละปี บางครั้งงบประมาณหรือการส่งเสริมไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้เป้าหมายของพื้นที่เกษตรกรอาจจะมีการลดหรือเพิ่ม เนื่องจากการส่งเสริมของโครงการในภาครัฐด้วยเช่นกัน

ขณะที่การสนทนากลุ่มครั้งที่ 2 พบว่ามีปัจจัยเอื้อในการขยับขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งสิ้น 7 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยแรก กฎกติกาและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการศึกษา พบว่าประเทศไทยมีนโยบายด้านเกษตรยั่งยืนและอินทรีย์มานานกว่า 25 ปีแล้วตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 แต่ปัจจุบันการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรยั่งยืนและอินทรีย์ยังเป็นไปได้ช้า เนื่องจากมีนโยบาย แต่ไม่มีกระบวนการในการจัดทำนโยบายหรือทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่จริงจังต่อเนื่องและใช้ได้จริง 

ปัจจัยที่สอง เครือข่ายความร่วมมือในการผลักดัน แม้ว่าปัจจุบันมีการรวมกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรรมปลอดภัย แต่เป็นลักษณะที่กระจัดกระจาย โดยส่วนใหญ่มักจะริเริ่มจากโครงการศึกษาไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ภาครัฐ หรือชุมชน แต่ว่าตลาดในประเทศไทย ผู้บริโภคเองยังไม่ได้มีความตระหนัก ความอยากจะซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ จึงยังเป็นเพียงตลาดกลุ่มเล็ก ๆ  เพราะฉะนั้นหากให้ทุกกลุ่มร่วมมือกันแล้วผนวกรวมกับกลไกทางการตลาดก็อาจสามารถทำให้ขับเคลื่อนไปได้ 

ปัจจัยที่สาม องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยอันดับแรกต้องพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการวิจัยหรือวิเคราะห์ดินก่อนที่จะมีการใส่สารที่เรียกว่าปุ๋ยหรือสารให้อาหารของดิน และอาจจัดให้มีการศึกษาเรื่องการทำการเกษตรโดยลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชได้ หรือมีเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มที่เป็นรายย่อยและทำการเกษตรมานานให้สามารถนำมาสื่อสารได้อย่างเข้าใจง่าย ซึ่งจะช่วยทำให้กลุ่มตลาดเกษตรกรนำเทคโนโลยีแล้วก็สามารถปลูกเลี้ยงได้ 

ปัจจัยที่สี่ ระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พบว่าประเทศไทยมีแพลตฟอร์มและระบบรายงานข้อมูลด้านการเกษตรของแต่ละหน่วยงานค่อนข้างเยอะแต่ประเด็นคือมีความแตกต่างกันมากและไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้ นอกจากนี้ ยังมีความทับซ้อนของพื้นที่เกษตร เพราะเกษตรกรจำนวนหนึ่งจะเข้าร่วมหลายโครงการกับภาครัฐ ทำให้เกิดการนับซ้ำหรือนับพื้นที่เกษตรกรที่เข้าร่วมทั้ง 2 โครงการของภาครัฐ สุดท้ายมีความเห็นว่าอยากจะให้มีการสร้างระบบฐานข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการผลิตพืชจากกลุ่มเกษตรกรรมที่ยั่งยืน 

ปัจจัยที่ห้า การบริหารและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องพิจารณาว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่สามารถช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนได้ดีขึ้น ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีทั้งการสนับสนุนส่งเสริมตรวจสอบรับรองและการจัดทำรายงานข้อมูลเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในแต่ละหน่วยงานอยู่แล้ว แต่อยากให้มีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาควิชาการและภาคประชาสังคมเพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องมากขึ้น 

ปัจจัยที่หก บุคลากรสายสนับสนุน อยากให้มีการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันด้านการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน รวมไปถึงมีการบริหารจัดการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับเพิ่มขีดความสามารถในการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน รวมถึงเรื่องของการพัฒนาเกษตรกรรมรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Smart farmer เพื่อช่วยให้เกษตรกรที่เป็นผู้นำ  สามารถเป็นแกนนำหรือเป็นผู้ขับเคลื่อนในชุมชนหรือในแหล่งปลูกนั้น ๆ ได้ 

ปัจจัยที่เจ็ด ทรัพยากรทางการเงิน อยากให้มีเรื่องของการจัดหาตลาดรองรับสินค้าทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืน ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศรวมไปถึงภาครัฐเองควรสนับสนุนทางการเงินในการขับเคลื่อนแล้วก็ปรับเปลี่ยนไปสู่วิถีเกษตรยั่งยืนต่อเนื่องในระยะยาวได้ นอกจากนี้หากมีการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว จากสถาบันทางการเงิน ธ.ก.ส  ได้ด้วย เกษตรกรก็น่าจะสามารถวางใจเรื่องของการลงทุนในการทำเกษตรยั่งยืนได้ 

นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่คาดว่าจะสนับสนุนให้การขับเคลื่อน SDG 2.4 ขยับอยู่ในระดับที่ดีขึ้น ได้แก่ 

  1. ด้านกฎหมาย ควรจะมีแนวทางการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในระดับนโยบายให้ชัดเจน หากใช้ตามการเข้าร่วมแบบสมัครใจอาจทำให้ดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก รวมถึงปัญหาสำหรับเกษตรกรรมที่ยั่งยืน จริง ๆ แล้ว เป็นการทำเกษตรกรรมที่เราปฏิบัติกันอยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ ยังไม่ถึงระดับนโยบายดังนั้นถ้ามีมาตรการกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมที่ยั่งยืนได้ จะสามารถทำให้เกิดความร่วมมือแล้วก็พัฒนากลุ่มนี้ได้ 
  2. ด้านเศรษฐศาสตร์ อันดับแรกอาจต้องมีมาตรการเก็บภาษีสารเคมี เนื่องจากจากการประเมินผลพบว่าไทยมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชค่อนข้างสูงกว่าความเป็นจริง หากมีการเก็บภาษีจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวิเคราะห์หรือพยายามหาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเพื่อสนับสนุนในการที่จะไม่ใช้สารเคมีเกินความเป็นจริง อีกมาตรการด้านการตลาดคือการผลักดันสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรรมยั่งยืนเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ ยกเว้นการใช้กลไกการประมูลสินค้าเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งอาจจะเป็นโรงพยาบาล โรงเรียน หรืออาจนำตลาดนำร่องสินค้าเกษตรกรรมที่ยั่งยืนให้มีการสนับสนุน สำหรับการลดหย่อนภาษีเพื่อสร้างความจูงใจให้กับผู้บริโภคได้ รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากมีต้นทุนและการบริหารจัดการที่มากกว่าเกษตรกรรมทั่วไปนอกจากนี้ยังมีเรื่องผลผลิต เพราะการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืนผลผลิตในช่วงแรก ๆ  จะน้อยกว่าเกษตรกรทั่วไป ฉะนั้นหากมีการพักชำระหนี้จะเป็นแรงจูงใจที่ส่งเสริมให้มาทำเกษตรยั่งยืนเพิ่มขึ้น ส่วนมาตรการสินเชื่อสีเขียวหากมีเงินกู้สีเขียวอัตราดอกเบี้ยแบบพิเศษแก่เกษตรกร  คือเป็นเงินใช้จ่ายหมุนเวียนหรือการลงทุนแก่เกษตรกรก็อาจจะดี และสุดท้ายคือเรื่องของมาตรการทางการเงินของภาครัฐ อาจมีนโยบายสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตแบบให้เปล่าได้ไหมหรือว่าอาจจะให้แต่ให้แบบมีเงื่อนไขเพื่อขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่วิธีการทำเกษตรแบบยั่งยืนในระยะยาว 
  3. การจัดตั้งสถาบันเฉพาะทาง โดยการจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางอาจจะเห็นควรว่าหากเรามีการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์หรือสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเข้ามาดูแลบริหารจัดการหรือส่งเสริมสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืนและจัดทำรายงานเฉพาะทางด้านนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมยั่งยืนภายในประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนและพัฒนาความรู้นวัตกรรมผ่านข้อมูล จะช่วยให้สามารถให้ดำเนินการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในประเทศไทยได้ต่อเนื่องและระยะยาวด้วย 

02 – เป้าหมายย่อยที่ 6.3 นำเสนอโดย คุณฤทัยรัตน์ วิศาลสุวรรณกร

น้ำสะอาดและการสุขาภิบาลเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะ SDG 6.3 จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปี 2565  สัดส่วนของน้ำเสียครัวเรือนที่ได้รับการบำบัดอย่างปลอดภัยมีอยู่ 15% หากเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกแล้ว ในปีเดียวกันทั่วโลกอยู่ที่ 56% ซึ่งห่างกับของไทยอยู่มาก แต่หากว่าเป้าหมาย คือลดสัดส่วนน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง หมายความว่าไทยบรรลุได้เพียงแค่ 30% เท่านั้น ในส่วนของน้ำดีจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ถ้าแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำที่ดีปี 2565 อยู่ที่ 43% ถ้าเทียบกับทั่วโลกอยู่ที่ 72% หากว่าเป้าหมายยึดตามแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติ ที่ว่าเกณฑ์เหมาะสมกับประเภทการใช้ประโยชน์ร้อยละ 90 ของพื้นที่เป้าหมาย ตัวชี้วัดนี้ก็จะบรรลุเป้าหมายเกือบ 50% อยู่ที่ 47.87% 

คณะผู้วิจัยได้หารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักและหน่วยงานสนับสนุน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปถึงสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบรรลุ SDG 6.3 ทั้งสิ้น 4 ประเด็น ได้แก่

  • งบประมาณ : งบประมาณในการทำงานของหน่วยงานไม่เพียงพอ ทั้งการสร้างระบบบำบัดใหม่ ถ้าสร้างใหม่ก็ต้องซื้อที่ดินเพิ่มด้วย รวมถึงสร้างแล้วต้องบำรุงรักษา ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นแม้อยากเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย แต่พื้นที่แต่ละพื้นที่ก็มีข้อกังวลของตัวเอง นอกจากนี้งบประมาณที่จำกัดยังทำให้มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจอีกด้วย
  • กฎหมาย : บางหน่วยงานแจ้งว่าไม่ได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง หมายความว่าไม่ได้รับมอบอำนาจหน้าที่ให้ดำเนินการในเรื่องของการคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับน้ำเสียให้ชัดเจน เพราะฉะนั้นถ้าดำเนินการสิ่งใดไปมีความไม่มั่นใจว่าอาจถูกฟ้องร้องได้ จึงต้องพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตนเองเป็นหลัก
  • วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร : หากผู้บริหารในแต่ละพื้นที่แสดงให้เห็นถึงการลงมือดำเนินการ เจ้าหน้าที่ในส่วนอื่น ๆ ก็จะปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลในการรายงานข้อมูลด้วย เพราะว่าหากเป็นข้อมูลจากภาคเอกชนก็เกิดข้อกังวลว่าหากรายงานข้อมูลไปแล้ว จะมีผลกระทบเช่นเรื่องภาษีหรือกฎหมาย
  • ระบบการรายงานข้อมูล พบว่าการรายงานเป็นไปในลักษณะที่ยังไม่ได้เชื่อมโยง ไม่ได้ระบุความรับผิดชอบอย่างชัดเจน 

ขณะที่ปัจจัยเอื้อถ้าพิจารณาตามกรอบ INSIGHT ได้แก่ 1) ความสอดคล้องของกฎกติกา พบว่าส่วนใหญ่ในการบำบัดน้ำเสียยังไม่ได้มีการเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ไม่มีการกำหนดเทศบัญญัติเพิ่มเติม และไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการรายงานน้ำเสีย 2) เครือข่ายเพื่อความร่วมมือ ด้านของน้ำเสีย หน่วยงานรับผิดชอบหลักยังขาดการศึกษากับหน่วยงานสนับสนุน จึงทำให้ไม่ได้ข้อมูลมาในการรายงานค่า รวมทั้งความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ในด้านของคุณภาพน้ำ เรื่องของการส่งเสริมการตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยต้องทำให้ทุกส่วนมีความตระหนักในเรื่องนี้ 3) องค์ความรู้ พบว่าภาคอุตสาหกรรม มีองค์ความรู้ และเทคโนโลยี ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ณ ตอนนี้เริ่มมีรายงานคุณภาพน้ำเป็นแบบ BOD Online แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกโรงงานที่มีในประเทศไทย 4) ระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อมโยงโดยตรงไว้ที่ระบบใดระบบหนึ่ง รวมทั้งอาจจะยังไม่สามารถที่จะรายงานค่าตัวชี้วัดได้โดยตรงด้วย 5) ระบบบริหารจัดการ ต้องพิจารณาเรื่องชั้นความลับ 6) ทรัพยากรมนุษย์ อาจต้องให้องค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพของหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรักษาแหล่งน้ำด้วย และ 7) ทรัพยากรทางการเงิน ในทุก ๆ หน่วยงานจะกล่าวถึงเรื่องขาดงบประมาณในการดำเนินงานเป็นอันดับแรกว่าขาดงบประมาณในการดำเนินงาน 

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะต่อแนวทางในการขับเคลื่อน SDGs ในเป้าหมายย่อยที่ 6.3 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ด้านโดยแบ่งเป็นระยะสั้น กลาง และยาว ได้แก่ 1) ด้านกฎหมาย ในระยะสั้น เสนอให้ทำการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ โดยตรง ส่วนระยะกลาง ต้องปรับปรุงกฎหมายของผู้บังคับใช้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนระยะยาว เป็นเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูล การบริหารจัดการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบริหารจัดการ 2) ด้านเศรษฐศาสตร์ ในระยะสั้น พิจารณาเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียม ตามแนวคิดผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ในระยะกลาง การลงทุนบำบัดน้ำเสียมีแผนอยู่แล้ว เพียงแต่ค่อย ๆ ทยอยเกิดขึ้น รวมทั้งการนำระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มเติมด้วย และระยะยาว จะเป็นพิจารณาในส่วนของการลงทุนร่วม ลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หรือว่าภาคเอกชนในพื้นที่นั้น ๆ 3) ด้านการมีส่วนร่วม น่าจะสามารถทำได้เร็วที่สุด บางหน่วยงานมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้ส่งให้หน่วยงาน Global Point เหมือนกัน ขณะที่ระยะกลางอาจต้องให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักสื่อสารอย่างสม่ำเสมอกับหน่วยงานที่มีข้อมูล ส่วนระยะยาว ต้องสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนในการร่วมกันรณรงค์รักษาและคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย 


03 – เป้าหมายย่อยที่ 12.4 นำเสนอโดย คุณประกายธรรม สุขสถิต 

การหารือได้ข้อสรุปถึงปัจจัยเอื้อการขับเคลื่อน SDG 12.4 ดังนี้ 

  • ความสอดคล้องของกฎกติกาและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการศึกษา พบว่าความสอดคล้องของกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยและขยะติดเชื้อ ของกรมอนามัยไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสถานพยาบาล และสถานพยาบาลมีรายงานขยะติดเชื้อที่รับการกำจัดอยู่แล้วอย่างถูกวิธี เช่นนี้หากมีการหารือระหว่างหน่วยงานว่าอาจส่งข้อมูลให้กรมอนามัยได้ทราบว่าถึงกลุ่มที่เป็นคลินิกรักษาสัตว์สามารถติดตามว่ามีปริมาณจัดการแล้วเท่าไหร่ กรมอนามัยได้มีข้อมูลส่วนนี้ เพื่อนำไปสู่การหารือต่อให้ครบถ้วนและเป็นไปตามแผนได้
  • เครือข่ายและความร่วมมือ ในการผลักดันที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในส่วนนี้อยากให้มีการผลักดันเรียกคืนซาก E-waste แบบจริงจัง เริ่มตั้งแต่ต้นทาง อาจจะเป็นขยะอันตรายทางของภาคเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม อาจจะเป็นทั้งคนในชุมชนหรือว่าการเรียกคืนซากผู้ประกอบการ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้บริหารของ อปท. ต่าง ๆ ให้ความสำคัญ มีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะหรือในการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรตามแผนที่เรามีแผนบริหารจัดการขยะ 
  • ข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ทางวิชาการ ประสบการณ์ทำงาน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จำเป็น ปัจจุบันการเก็บข้อมูลของชุมชนในการรายงานข้อมูลขยะอันตราย หากเป็นชุมชนขนาดใหญ่มักมีระบบที่ครบถ้วนอยู่แล้ว แต่หากเป็นท้องถิ่นขนาดเล็กพบว่ายังเป็นการจดบันทึกด้วยมือแล้วนำไปกรอก แต่ว่ามีบางหน่วยงาน เช่น อบจ.เชียงราย เริ่มจะพัฒนาเองโดยการใช้ระบบการบันทึกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเพื่อตรวจติดตามปริมาณขยะอันตรายในแต่ละเดือน หากแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการแบบนี้ได้ ก็จะทำให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้นในการรายงานผลข้อมูล 
  • ระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ฐานข้อมูล และข้อมูลสถิติ หรือคลังความรู้ หากมีแพลตฟอร์มหรือระบบรายงานข้อมูล ทั้งข้อมูลในระดับหน่วยงาน ข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหาร SDGs ระดับประเทศหรือระดับสากล ที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องแล้วใช้เป็นข้อมูลเดียวกัน เนื่องจากข้อมูล SDGs ประกอบด้วยหลากหลายข้อมูลจากหลายหน่วยงาน หากมีหน่วยงานกลาง ที่สามารถทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้นและสามารถหาข้อมูลได้จากแหล่งเดียว ผ่านการตรวจสอบแล้วระบบบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อน ซึ่งอาจเป็นผู้รับผิดชอบหรือผู้นำในการขับเคลื่อน จากการสัมภาษณ์หลายหน่วยงานค่อนข้างเป็นจุดแข็งหากมีผู้นำหรือผู้บริหารที่มีความเข้มแข็ง  ในชุมชนหรือท้องถิ่นจะมีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นข้อมูลที่มีการจดบันทึกอย่างต่อเนื่องพร้อมกับมีการทวนสอบแล้ว หากสามารถพัฒนาผู้นำหรือผู้บริหารให้เกิดความใส่ใจในส่วนนี้ได้จะเป็นข้อดีในการทำให้ข้อมูลสามารถรายงานได้อย่างต่อเนื่อง
  • ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรทางการเงิน การพัฒนาสร้างขีดความสามารถบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและส่งเสริมสนับสนุนผลักดันเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก ปัจจุบันจึงมีการดำเนินการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมามีการอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เปลี่ยนผ่าน การอบรมอาจจะยังไม่ถึงรอบ ยกตัวอย่างบางพื้นที่ เรื่องของการทราบว่าขยะอันตรายคืออะไร ตัวใดเป็นขยะอันตราย บางองค์กรต้องอบรมด้วยความถี่มาก ๆ  เพราะผู้ที่จัดเก็บมาให้ บางครั้งก็เกิดความสับสนและเข้าใจว่าอันนี้เป็นขยะติดเชื้อน่าจะเป็นขยะอันตรายที่ต้องเอามาส่งให้กับทางอบจ. กรณีแบบนี้หากเราเห็นการพัฒนาศักยภาพบ่อย ๆ เรื่อย ๆ มีความถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะสามารถให้ทำให้การเก็บข้อมูลมีความแม่นยำและชัดเจนมากขึ้น
  • การเงิน การบริหารจัดการขยะอันตราย หรือขยะทั่วไปเป็นงบประมาณสนับสนุนจากทางภาครัฐ แล้วก็จากทางหน่วยงานเองที่ท้องถิ่นเองที่มีงบประมาณ ทั้งนี้หากมีการสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัด การกำจัดขยะในอนาคตได้ก็จะเป็นการดี เพราะปัจจุบันการจัดเก็บค่าธรรมเนียมคาดเป็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพียงเฉพาะเรื่องของการขนส่ง แต่ว่ายังไม่มีเรื่องของการจัดขยะ หากเราสามารถทำเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนทิ้งหรือว่าเป็นคนเก็บขยะไปดำเนินการต่อ จะตระหนักแล้วก็สามารถทำให้เกิดการคัดแยกขยะได้มากขึ้น องค์กรบริหารปกครองบางท้องถิ่น ยังขาดความพร้อมในการบริหารจัดการขยะอันตรายด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศไทยมีนโยบายแผนปฏิบัติค่อนข้างครบถ้วนแต่ปัญหาคือยังขาดการปฏิบัติที่ดี การส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ถ้าอยากคัดแยกขยะให้มีประสิทธิภาพ ต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันพบว่ายังขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนบางส่วนเข้าใจและรู้ว่าคัดแยกขยะเป็นอย่างไรแต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ ยิ่งผู้สูงวัยค่อนข้างมีความลำบากในการขัดแยกขยะอันตรายต่าง ๆ หรือขยะทั่วไป เพราะฉะนั้นควรมีการส่งเสริมเรื่องการสื่อสารและให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง 


04 – เป้าหมายย่อยที่ 14.1 นำเสนอโดย คุณวันวิสา ฐานังขะโน 

รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563 โดยสภาพัฒน์ ระบุว่าสถานะของเป้าหมายย่อยที่14.1 ต่ำกว่าค่าเป้าหมายในขั้นวิกฤตคือสถานการณ์ต่ำกว่า 50% ของค่าเป้าหมาย โดยปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้เป้าหมายย่อยที่ 14.1 อยู่ในขั้นสภาวะวิกฤต คือ ความชัดเจนเรื่องระเบียบวิธีการคำนวณและวิธีการวัดผล SDG 14.1 ที่เพิ่งกำหนดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมปี 2566 ที่ผ่านมาจึงทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับหลาย ๆ ประเทศที่ไม่มีการเก็บข้อมูลด้านปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (eutrophication) และขยะพลาสติกตามข้อกำหนดขององค์กรระหว่างประเทศ  (United Nations: UN) มาก่อน และแม้จะมีการเก็บข้อมูลอยู่แล้วแต่อาจไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ UN กำหนด ในอนาคตหากไทยมีการตรวจวัดข้อมูลและมีการเก็บข้อมูลที่ตรงตามคำอธิบายชุดข้อมูลที่ UN กำหนดแล้ว จึงควรเตรียมข้อมูลเหล่านั้นแก่สำนักงานสถิติแห่งชาติด้วย รวมถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้พิจารณาปัจจัยเอื้อต่อการขับเคลื่อน SDG 14.1 ผ่าน SDGs System Building Block ซึ่งมีทั้งสิ้น 7 ปัจจัย ได้แก่ 1) การบังคับใช้กฎหมาย ไทยมีกฎหมายและกฎระเบียบอยู่แล้วแต่ขาดการบังคับใช้อย่างเข้มงวด หากมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดจะสามารถทำให้การเกิดมลพิษทางน้ำหรือขยะทะเลได้รับการจัดการที่ดีขึ้น 2) เครือข่ายต่าง ๆ โดยต้องมีการสร้างเครือข่ายและความร่วมมืออยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะมีการร่วมมือกันหลายหน่วยงานอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรับหน้าที่ติดตามเรื่องขยะทะเลและสภาพน้ำที่ผิดปกติ ขณะที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมมีการรณรงค์การเก็บขยะชายหาดมาโดยตลอด 3) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกมากมาย เช่นเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลแบบปัจจุบันทันที การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับพยากรณ์การเกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง และการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการจัดการขยะหรือนำขยะกลับมาใช้ใหม่ก็จะสามารถลดการเกิดขยะในทะเลได้ 4) การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานเราจะเห็นว่าบางข้อมูลมีหน่วยงานเก็บข้อมูลสอง ถึงสามหน่วยงานด้วยกัน ถ้าลดการทำงานซ้ำซ้อนได้จะสามารถทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น 5) ระบบบริหารและผู้รับผิดชอบหรือผู้นำในการขับเคลื่อน พบว่ามีหน่วยงาน C1 ที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อน แต่ข้อมูลของที่จะได้มาอาจได้มาจากหน่วยงาน C2 ซึ่งเมื่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการรับผิดชอบระหว่างหน่วยงาน C1 กับ C2 การจะขอข้อมูลกันจะเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นการขอข้อมูลข้ามระหว่างกระทรวงหรือระหว่างหน่วยงานที่มีขั้นตอนเยอะและอาจไม่ทันกับการทำงาน 6) ทรัพยากรบุคคลและการเสริมสร้างศักยภาพ พบว่าบุคลากรในการดำเนินงานมีอย่างจำกัด ทั้งเรื่องของเวลาการทำงานที่มีภาระงานมากอยู่แล้ว อีกทั้งยังต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องด้วยจึงจะสามารถทำการตรวจวิเคราะห์และพยากรณ์การเกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งได้ รวมถึงการพยากรณ์ขยะทางทะเล และ 7) งบประมาณทางการเงิน พบว่ามีการจัดสรรที่ไม่เพียงพอในแต่ละปี

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้เสนอแนวทางการดำเนินนโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 14.1 แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการด้านกฎหมาย ควรมีการบัญญัติกฎหมาย กฎระเบียบ หรือมาตรการด้านการจัดการของเสีย การใช้ของเสียทั้งบนดินและแหล่งน้ำ รวมถึงมาตรการลงโทษหากมีการละเมิดกฎดังกล่าวรวมถึงควรจะมีการควบคุมการใช้และปล่อยของเสียผ่านมาตรการด้านภาษีสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นด้วยหากมีเกษตรกรใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็นหรือการปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำโดยที่ไม่ผ่านการบำบัด 
  • มาตรการด้านงบประมาณ ควรมีการจัดสรรงบประมาณด้านกำลังคนเพื่อดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs  อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป้าหมายย่อย 14.1 ต้องอาศัยข้อมูลเพื่อนำมาประมวลผลหากปราศจากการสนับสนุนด้านงบประมาณก็จะทำให้ยากที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้
  • การทำงานข้ามภาคส่วน เนื่องจาก 14.1 อาจจะมีความแตกต่างกันระหว่างตัวของตัวชี้วัด มีทั้งเรื่องธาตุอาหารในน้ำและขยะทางทะเลด้วย จึงควรมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ลดความซ้ำซ้อนในการทำงานแล้วให้อำนาจหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ 

Section 2 การเสวนาข้ามภาคส่วน

การเสวนาตั้งต้นด้วยคุณยุพดี เมธามนตรี กล่าวถึงการดำเนินงานด้านเกษตรยั่งยืนที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2566 พบว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนโดยรูปแบบหลัก ๆ ที่มีการส่งเสริมจะเป็นเรื่องของเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และวนเกษตร ซึ่งผลการดำเนินงานในการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 6.9 ล้านไร่ โดยมากที่สุดเป็นเรื่องของเกษตรอินทรีย์ที่มีการส่งเสริมเยอะที่สุด หลัก ๆ แล้วจะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่เรื่องของข้าวล้านไร่ทำให้มีปริมาณเรื่องของการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในปริมาณมาก ซึ่งจากผลการดำเนินงานเราจะเห็นได้ว่าในปีหลัง ๆ การเพิ่มขึ้นของการเพิ่มพื้นที่จะลดลง เนื่องจากเมื่อส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มแล้ว จะเห็นภาพในการทำงานว่าพอเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่ได้ไปเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นที่ทำให้ผลผลิตต่อพื้นที่ได้มากขึ้น ภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของการพยายามให้มีการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่เดิม การเพิ่มขึ้นของพื้นที่จึงไม่ได้สูงเหมือนในช่วงปีแรก

คุณยุพดี ยังระบุถึงปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน ว่ามีเรื่องของการรับรู้ และการทำความเข้าใจนิยามและความหมายของเกษตรกรรมยั่งยืน เนื่องจากเรื่องของเกษตรกรรมยั่งยืนต้องพิจารณาทั้งหมด 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้เกิดการผลักดันขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมและต้องใช้หลายรูปแบบในการขับเคลื่อน และแต่ละรูปแบบจะมีความคล้ายกันอยู่ในหลาย ๆ ส่วน จึงทำให้ความเข้าใจในเรื่องของเกษตรกรรมยั่งยืนอาจจะไม่ได้ชัดเจนนัก และการสื่อสารลงไปยังผู้ปฏิบัติงานหรือว่าทางเกษตรกรเองยังทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนเลยทำให้เรื่องของการส่งเสริมที่จะผลักดันอาจจะทำให้ติดขัดตรงนี้ด้วย 

อุปสรรคต่อมา คือข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน เนื่องจากการจะทำให้เกิดพื้นที่หนึ่งจำเป็นต้องอาศัยเรื่องของหลายองค์ประกอบเข้ามาประกอบกันการทำให้เกิดการพัฒนาในเชิงพื้นที่ แต่การดำเนินงานเนื่องจากไทยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่หลายส่วนและหลายหน่วยงาน จึงมีข้อมูลจากหลายหน่วยงานเข้ามา ซึ่งข้อมูลวิธีการจัดเก็บ รูปแบบ การจัดเก็บ ยังไม่สามารถตรวจสอบความซ้ำซ้อนได้ในหลายข้อมูล ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้พยายามลองจัดทำข้อมูลแล้วแต่ยังพบปัญหาอีกหลายจุดทำให้เรื่องของการตรวจสอบความซ้ำซ้อนเรื่องของการรายงานข้อมูลยังติดปัญหา

อีกปัญหา คือการขาดแรงจูงใจในการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เนื่องจากการทำเกษตรกรรมยั่งยืนให้ดี เป็นเรื่องที่ต้องใช้ใจจริง ๆ  เพราะต้องมีความปราณีตในการทำและผลที่เกิดขึ้นมันต้องใช้เวลา ทำให้เกษตรกรหลาย ๆ ท่านที่สนใจที่จะปรับเปลี่ยนหรือว่าเข้ามาทำเกษตรกรรมยั่งยืน ในช่วงแรกอาจทำให้ถอดใจไป ทำให้การขยับของเกษตรกรรมยั่งยืนยากขึ้น

อุปสรรคปัญหาประการสุดท้าย คือ การขาดการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เป็นระบบ จะเห็นว่าเมื่อส่งเสริมมักเป็นการทำงานแบบแยกส่วนหรือแม้กระทั่งตัวเกษตรกรเองเรื่องของความรู้ความเข้าใจในทางบริหารจัดการการผลิตจนถึงการตลาดในเชิงระบบ รวมถึงข้อมูลที่จะช่วยสนับสนุนในการทำแผนการบริหารจัดการยังไม่สมบูรณ์ เกษตรกรจึงทำให้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน 

นอกจากนี้คุณยุพดี ยังให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการขับเคลื่อน SDG 2.4 เช่น 1) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจลงสู่พื้นที่ในการออกแบบความต้องการในการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพราะว่าการให้ศูนย์กลางกำหนดนโยบายมันอาจไม่ได้ตรงตามความต้องการของพื้นที่ และไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาของพื้นที่ได้โดยตรง 2) การพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนยังมีไม่มากนัก เสนอแนะให้มีการจัดปรับประยุกต์ให้เป็นเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้นแล้วนำมาต่อยอดทำให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และ 3) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพราะการทำเกษตรกรรมยั่งยืนไม่สามารถทำเป็นปัจเจกได้ ที่สำคัญที่สุดต้องเป็นการทำในลักษณะเครือข่าย 

ด้าน ดร.ชานัน ติระณะรัต กล่าวถึงการดำเนินการเรื่องบำบัดน้ำเสียที่ผ่านมาว่ามีการควบคุมแหล่งกำเนิดโดยใช้กฎหมายและมาตรฐานเครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงกลไกในการจัดการมลพิษทางน้ำ ส่วนการดูแลระบบชุมชนมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการน้ำเสียชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีการดำเนินการเรื่องของการพัฒนากฎหมาย (มาตรา 32) การกำหนดมาตราฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรา 69) และการกำหนดประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องควบคุม (มาตรา 55) ได้กำหนดมาตราฐานการควบคุมการระบายน้ำเฉพาะประเภท เป็นการเข้มงวดด้านมาตรฐานมากขึ้นรวมถึงเพิ่มมาตรฐานใหม่ผ่านสถานประกอบการขนาดเล็ก เช่น โรงฆ่าสัตว์ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เป็นแหล่งมลพิษแต่จำเป็นต้องเพิ่มเข้ามาให้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และเพิ่มการวางแผนการปรับปรุงน้ำเสียเกษตรกรรมโดยเฉพาะมาตรฐานของบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำกร่อย และสัตว์น้ำชายฝั่ง รวมถึงมาตรฐานใหม่ที่จะมีการพัฒนาปรับปรุงใหม่ คือสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเนื่องจากมีการเปลี่ยนรูปแบบของปั๊มน้ำมันในปัจจุบันที่มีห้างสรรพสินค้าขนาดเล็ก ร้านซักรีดและร้านอาหารที่อยู่ร่วมด้วยซึ่งจะมีการปรับปรุงมาตรฐานต่อไป

นอกจากนี้ ดร.ชานัน ยังระบุถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำเสียและการควบคุมพิษทางน้ำ ว่าการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายและค่ามาตรฐาน ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับประเภทของแหล่งน้ำ และเรื่องการควบคุมระบายน้ำทิ้งที่กำหนดเชื่อมโยงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นเงื่อนไขในระบบอนุญาตการประกอบกิจการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและดำเนินการกำหนดมาตรฐานอัตราการระบายมลพิษทางน้ำและมาตรฐานควบคุมการระบายมลพิษในรูปอัตราการระบายควบคู่กับการประยุกต์ใช้ระบบอนุญาตการระบายมลพิษ รวมถึงการผลักดันการจัดระบบบำบัดน้ำเสียแบบรวมกลุ่มอาคาร การเสริมสร้างศักยภาพการจัดการน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทชุมชน การดำเนินการให้มีผู้ควบคุมระบบบำบัดตามมาตรา 73 ให้เป็นไปตาม งบประมาณที่กำหนดให้มีการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังสภาพน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมทันสมัย และส่งเสริมการวิจัยด้านการพัฒนา บำบัดน้ำเสียและการบำบัดคุณภาพน้ำ

คุณภูมิ ปฏิสันถาวร กล่าวถึงประเด็นของเสียในชุมชนโดยเน้นย้ำเรื่องขยะมูลฝอย ทั้งที่เป็นขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ของเสียตามชุมชน ขยะมูลฝอยติดเชื้อ ในเรื่องของการกำจัดขยะ กระทรวงมหาดไทยได้มีการดำเนินงานกำจัดขยะตั้งแต่ปี 2561 เช่น การจัดการที่ต้นทางจะมีการเน้นหนักด้านการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือนให้มีการจัดการขยะทุกประเภทตั้งแต่ระดับต้นทางเพื่อให้มีขยะไหลไปสู่กลางทางและปลายทางได้น้อย ซึ่งช่วยลดและส่งผลให้กระบวนการคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ขยะรีไซเคิลปัจจุบันกำลังเร่งรัดการดำเนินงานเรื่องธนาคารขยะซึ่งจะสามารถคัดแยกตัวปริมาณขยะรีไซเคิล ที่มีมูลค่าและนำไปเปลี่ยนเป็นสวัสดิการให้เกิดประโยชน์แก่คนในท้องถิ่น 

ส่วนโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการขยะเปียกลดโลกร้อน การดำเนินโครงการขยะเปียกลดโลกร้อนภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้ขับเคลื่อนครบทุกครัวเรือน และได้มีการขายคาร์บอนเครดิตกับทางธนาคารกสิกรไทย และในอนาคตจะมีการขายคาร์บอนเครดิตจากถังขยะเปียกลดโลกร้อนในท้องถิ่นและจะมีเงินกลับไปสู่ท้องถิ่นเพื่อการบริหารจัดการภายในท้องถิ่นที่ดีขึ้น

คุณภูมิ เน้นย้ำว่าแนวทางการแก้ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการขยะต้องเสริมสร้างความร่วมมือในระดับของชุมชนท้องถิ่นหรืออาสาสมัครต่าง ๆ เริ่มจากการคัดแยกขยะในทุกประเภทตั้งแต่ต้นทางจะสามารถนำไปส่งต่อ และกำจัดได้อย่างเหมาะสมตามแต่ละประเภทของขยะ

คุณสุมนา ขจรวัฒนากุล แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นการลดมลพิษทางทะเลว่าเฉพาะปี 2566 พบการเกิดน้ำเปลี่ยนสีถึง 80 ครั้งในบริเวณน่านน้ำไทยแต่ความถี่ที่เกิดขึ้นสูงสุดอยู่ที่แถวชลบุรี ส่วนคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนในมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากถึงปานกลาง ในส่วนของสถิติการเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีในปี 2566 มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 จาก 47 ครั้ง ขึ้นมาเป็น 80 ครั้ง ซึ่งแพลงก์ตอนที่ทำให้เกิดน้ำเปลี่ยนสีมากที่สุดคือ Notiluca และนอกนั้นจะเป็น สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (cyanobacteria) และ ไดอะตอม (diatoms)และจาก Heat map  จะเห็นได้ชัดเจนช่วงชายฝั่งชลบุรี พบได้ชัดเจนว่าเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีบ่อยครั้ง 

การแก้ปัญหาของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมีการจัดของบประมาณเพื่อวัดคุณภาพของน้ำทะเล และหากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีข้อมูลที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาระบบ แจ้งเตือนพื้นที่ที่ระดับน้ำเปลี่ยนสี และคุณภาพน้ำทะเลได้ ทั้งนี้ กิจกรรมที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมีการจัดทำ เช่น การจัดเก็บขยะชายหาด พบข้อมูลว่าส่วนใหญ่เป็นขยะจำพวกพลาสติก และการศึกษาขยะลอยน้ำบริเวณปากแม่น้ำ มีการสำรวจทุก ๆ 3 เดือน พบข้อมูลว่าแนวโน้มของขยะปากแม่น้ำมีอัตราลดลงมาโดยตลอด แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีขยะเพิ่มมากขึ้น แต่ลดลงได้ในช่วงปี 2566 

ในปัจจุบันมีวิธีการศึกษาโดยปรับตามตัวชี้วัดของ SDGs โดยมีการศึกษาพลาสติกลอยน้ำด้วยวิธี ‘manta net’ ลากบริเวณสถานีที่กำหนดไว้ ขยะที่เก็บได้จะศึกษาในขนาดที่เล็กที่สุดประมาณ 1 มิลลิเมตร ผลการศึกษาที่พบเบื้องต้นพบส่วนที่น่าเป็นห่วงคือช่วงบริเวณบางประกงมีปริมาณขยะมากถึง 3.5 ล้านชิ้นต่อตารางกิโลเมตรผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากส่วนใหญ่พบว่าเป็นการกลืนกินและการพันรัด โดยเกิดจากเชือกและพลาสติกอ่อน และพบว่ามีผลกระทบต่อเต่าทะเลมากที่สุด ส่วนปะการังจะเจอขยะในรูปแบบอุปกรณ์การประมงมากที่สุด ด้านไมโครพลาสติกในปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็ได้มีการทำวิจัยเก็บขยะในบริเวณน้ำซึ่งมีสถานีต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วทั้งสองฝั่งของประเทศ

อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


รับชมวิดีโอบันทึกจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะ : ที่นี่
ติดตามสรุปเสวนาในโครงการทั้ง 6 เวที : ที่นี่

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น