วันที่ 6 มิถุนายน 2567 ยูนิเซฟ เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ชื่อ “Child Food Poverty: Nutrition Deprivation in Early Childhood” ซึ่งเป็นรายงานฉบับแรกที่วิเคราะห์ผลกระทบและสาเหตุการขาดแคลนอาหารของเด็กเล็กในเกือบ 100 ประเทศทั่วโลกและในทุกกลุ่มรายได้ โดยมีเกณฑ์การจำแนกความยากจนทางอาหารของเด็กเป็น 3 ส่วน คือ 1) ความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง หมายถึง เด็กรับประทานอาหารเพียง 0-2 หมู่ต่อวัน 2) ความยากจนทางอาหารขั้นปานกลาง หมายถึง เด็กรับประทานอาหารเพียง 3-4 หมู่ต่อวัน และ 3) เด็กรับประทานอาหารอย่างน้อย 5 หมู่ต่อวัน จะไม่จัดอยู่ในความยากจนทางอาหาร
ข้อค้นพบระดับโลกที่ปรากฏในรายงานข้างต้น เช่น
- 1 ใน 4 ของเด็กทั่วโลกต้องเผชิญกับความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง โดยในจำนวนดังกล่าวมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่มากถึง 181 ล้านคน
- เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีเด็กยากจนด้านอาหารขั้นรุนแรงอาศัยอยู่มากที่สุดกว่า 64 ล้านคน รองลงมาคือภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา จำนวน 59 ล้านคน และอีก 17 ล้านคนอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยเด็กส่วนใหญ่ (4 ใน 5 คน) ได้รับประทานเพียงนมและอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ข้าวโพด หรือ ข้าวสาลี หรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
- วิกฤติด้านอาหารและโภชนาการทั่วโลก ความขัดแย้งระดับท้องถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เด็กเผชิญความยากจนด้านอาหารเพิ่มขึ้น
- ความก้าวหน้าในการยุติความยากจนด้านอาหารในเด็กดำเนินไปอย่างเชื่องช้า แต่บางภูมิภาคและบางประเทศกำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปได้และมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น
ขณะที่สถานการณ์ของไทย รายงานระบุว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีในไทยจำนวน 1 ใน 10 คน กำลังเผชิญความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง โดยเด็ก ๆ ได้รับประทานอาหารไม่เกิน 2 หมู่ต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและพัฒนาการโดยรวมในระยะยาว สอดคล้องกับข้อมูลที่น่ากังวลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ ที่ได้ชี้ว่า มีเด็กในประเทศไทยเพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก นอกจากนี้ ร้อยละ 13 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปียังมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น และร้อยละ 7 มีภาวะผอมแห้ง เนื่องจากการขาดสารอาหารอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เด็ก ๆ จำเป็นต้องรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการและได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน นั่นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิ่งจำเป็นต่อการอยู่รอด การเจริญเติบโตและการพัฒนาตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา การขาดโภชนาการที่ดีอาจส่งผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กอย่างไม่มีวันหวนกลับคืนมาได้”
นอกจากนี้ รายงานยังเรียกร้องรัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อยุติความยากจนด้านอาหารเด็ก เช่น เรียกร้องปฏิรูประบบอาหารเพื่อให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ความหลากหลาย และสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นตัวเลือกที่เข้าถึงได้ ราคาไม่แพง และเป็นที่ต้องการมากที่สุดสำหรับครอบครัวและผู้ดูแลเด็ก พร้อมให้มีการพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมผ่านการให้เงินอุดหนุน อาหาร หรือบัตรเงินสด หรือวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยสามารถจัดหาอาหารที่มีประโยชน์ให้กับลูก ๆ ได้
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รายงานวิกฤตการณ์อาหารโลกปี 2567 เผยโลกเผชิญกับ ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’ เหตุจากความขัดแย้ง – สภาพอากาศสุดขั้ว – เศรษฐกิจย่ำแย่
– ‘ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง’ ในประเทศที่เกิดวิกฤต ประสบกับภาวะทุพโภชนาการ เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25
– 5 ข้อสังเกตที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้หญิง-เด็กหญิงเป็นพิเศษ
– วิกฤตราคาอาหารพุ่งในศรีลังกา สู่ความโกรธาจากใจประชาชน
– เมื่อความหิวโหยจุดชนวนเหตุขัดแย้ง: Timeline ความล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกา
– World Economic Forum เผยเหตุการณ์ ‘สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว’ ติดอันดับหนึ่ง ความเสี่ยงโลกในทศวรรษหน้า
– วิกฤติทางการเมืองในเมียนมาทำให้ประชากรอีก 3.4 ล้านคนต้องเผชิญกับ ‘ความหิวโหย’
– การปฏิรูประบบอาหารให้เป็นการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน หัวใจที่ UN Food Systems Summit เรียกร้องให้ลงมือทำ
– SDG Updates | โลกไม่อาจยุติความหิวโหยได้ หากไม่สามารถยุติความขัดแย้ง และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเน้นความต้องการโภชนาการของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2568
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
แหล่งที่มา: ยูนิเซฟชี้เด็กเล็ก 1 ใน 10 ในประเทศไทยกำลังเผชิญความยากจนทางอาหารเด็กขั้นรุนแรง (UNICEF Thailand)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย