SDG Updates | สรุปเสวนา “แผนงานวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา” 

ชวนอ่านบทสรุปเวทีเสวนา ในหัวข้อ “แผนงานวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา” ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting เป็นเวทีสุดท้ายที่ฉายภาพรวมของโครงการวิจัยทั้ง 5 โครงการย่อย พร้อมขับเน้นบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ใน 6 ปีสุดท้ายของ SDGs

โดยวิทยากรทั้ง 5 ท่าน ประกอบด้วย

  • ผศ. ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และหัวหน้าแผนงานวิจัย
  • ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • คุณธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
  • ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
  • ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว Chair of SDSN Thailand Leadership Council

SDG Updates ฉบับนี้ พาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาฯ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง โดย ช่วงแรก นําเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา และ ช่วงที่สอง เป็นการเสวนาข้ามภาคส่วน ผู้ร่วมเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “บทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ใน 6 ปีสุดท้ายของ SDGs”


Section 1: การนําเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัย

01 – ที่มาของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบข้ามภาคส่วน

ผศ.ชล บุนนาค เริ่มเปิดประเด็นด้วย ส่วนแรก คือที่มาและความสำคัญของปัญหา สิ่งที่ต้องกล่าวถึงประการแรกคือ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) เป็นเป้าหมายการพัฒนาชุดที่สองขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่แสดงถึงความทะเยอทะยาน ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ประเทศไทยและประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองเอกสารที่ชื่อว่า “Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development” หรือ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” โดยเอกสารฉบับนี้ ได้มีการนำมาปฏิบัติเริ่มต้นทั่วโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 จนถึง ปี ค.ศ. 2030 ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลก เพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกันขึ้น 

ปัจจุบันการขับเคลื่อนได้ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 9 ซึ่งถือว่าเกินกว่าครึ่งทางแล้ว หากฉายภาพรวมกว้าง ๆ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย เปรียบเสมือนประเด็นใหญ่ ‘Area of interest’ โดยมองว่าเป้าหมายชุดนี้ สนใจที่ประเด็นอะไรบ้าง แต่ถ้าถามว่ารายละเอียดอยู่ส่วนใด จะพิจารณาสู่เป้าหมายย่อย (target) ซึ่งเป็นระดับที่โครงการวิจัยของเราได้ให้ความสำคัญ และหากพิจารณาในรายละเอียดของประเด็นที่ลึกลงไปถึงระดับตัวชีวัด (indicators) โดยหลายโครงการได้ทำการศึกษาลึกลงไปถึงระดับตัวชี้วัด เนื่องจากการขับเคลื่อน SDGs ที่จำเป็นต้องพิจารณาสถานะตัวชี้วัดของประเทศด้วย แต่การดำเนินงานวิจัยทุกโครงการคณะวิจัยยึดเจตนารมณ์ที่ปรากฏอยู่ในเป้าหมายย่อยเป็นสำคัญ 

ดังนั้น หากถามว่าส่วนใดสำคัญที่สุดต้องบอกว่าคือเป้าหมายย่อย เนื่องจากเป็นส่วนที่ผ่านการรับรองจากผู้นำแต่ละประเทศ ขณะที่ตัวชี้วัดอยู่ในช่วงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยบางตัวชี้วัดเพิ่งมีการอัปเดตวิธีการคำนวณเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วหากต้องยึดระดับใดเป็นสาระให้ยึดเป้าหมายย่อยเป็นหลัก และสิ่งที่อยากเน้นย้ำอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับ SDGs คือเราต้องเข้าใจตรงกันว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่อาจมองแยกเป็นข้อ ๆ ได้โดยสิ้นเชิง ไม่ใช่ว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบเรื่องใดโดยเฉพาะแล้วจะดำเนินงานเพียงแค่เรื่องนั้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นคงไม่อาจสร้างความยั่งยืนได้ และอาจทำให้กลับมาสู่กับดักของไซโลเช่นเดิม

อย่างไรก็ดี ในระดับโลก ได้กล่าวถึงการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่าง SDGs แต่ละข้อ ตัวอย่างเช่นในการศึกษาที่ครอบคลุมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย นั้นอาจมีผลกระทบในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบมีผลประโยชน์ร่วม (co-benefits) คือทำแล้วเสริมกัน หรือแบบทำแล้วขัดแย้งกัน (trade-off) ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นปัญหาหลัก เนื่องจากอาจทำแล้วขัดแย้งกันระหว่างความเป็นอยู่ของผู้คนกับธรรมชาตินั่นจึงอาจเป็นเรื่องยากในการเลือกดำเนินการ สามารถเห็นได้ในหลายประเด็น เช่น ประเด็นในการเกษตร พลังงาน เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งกันได้มากกว่าเมื่อเทียบกับประเด็นด้านการศึกษา สุขภาพ หรือความเท่าเทียบทางเพศที่แทบจะส่งเสริมทั้งหมด การขยายความนี้เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าเป้าหมายเหล่านี้ไม่สามารถแบ่งแยกกันได้

หากพิจารณาสถานการณ์ในระดับโลกจากการประชุม SDG summit 2566 จากการประเมินภาพรวมพบว่ามีเพียง 12% ของเป้าหมายย่อยที่มีแนวโน้มจะบรรลุได้ ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก ขณะเดียวกันรายงานการประเมินภาพรวมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอาเซียน ยังพบอีกว่าไม่มีภูมิภาคใดหรือเป้าหมายใดที่บรรลุได้ ซ้ำร้ายกว่าคือประเด็นการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงถดถอย อย่างไรก็ดี จากการประเมินของ ESCAP ระบุว่าหากดำเนินการเช่นนี้ต่อไปภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะสามารถบรรลุทั้ง 17 เป้าหมายนี้ได้ในปี 2605 ซึ่งช้ากว่าที่ประชาคมโลกกำหนดไว้ถึง 32 ปี 

ขณะที่ประเทศไทยมีสภาพัฒน์เป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สภาพัฒน์ได้เสนอแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap) ซึ่งเป็นแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยที่ได้เสนอไว้ทั้งหมด 6 ประเด็น ได้แก่ 1) การสร้างความตระหนักรู้ 2) การเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแผน 3 ระดับของประเทศ คือระดับยุทธศาสตร์ชาติ ระดับแผนแม่บทฯ และระดับแผนกระทรวงหรือปฏิบัติการเชิงประเด็น 3) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน 4) การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5) ภาคีการพัฒนาในการขับเคลื่อนก็ต้องมีการขับเคลื่อนกับภาคส่วนหนึ่งร่วมกัน และ 6) การติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่พัฒนาร่วมกับระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยการดำเนินการเหล่านี้ทำให้มีการขับเคลื่อนในประเทศไทย 

อย่างไรก็ดี จากการติดตามการประเมินจาก 3 แหล่งข้อมูลนี้ จึงนำมาวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อให้เข้าใจถึงรายละเอียดที่ตรงกัน จากแหล่งข้อมูลแรก คือ รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยพ.ศ.  2559 – 2563  จากการประเมินสถานะของ SDG ทั้ง 169 เป้าหมายย่อยโดยสภาพัฒน์ พบว่า 9 ประเด็นวิกฤติของไทยนั้น 3 ประเด็นอยู่ในเป้าหมายที่ 2 คือความมั่นคงทางอาหารภาวะโภชนาการและเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งขัดกับความเข้าใจของคนไทยที่คิดว่าประเทศไทยโดดเด่นเรื่องนี้ เนื่องจากข้อมูลบ่งชี้ว่าระบบอาหารเหล่านั้นไม่ยั่งยืนกระทบโรคไม่ติดต่อและสุขภาพจิตด้วย ขณะเดียวกันเป้าหมายที่ 3 คือเรื่องอุบัติเหตุทางถนน การป่วยและเสียชีวิตจากสารเคมีที่ยังคงวิกฤต ส่วนที่เป้าหมายวิกฤตที่เหลือเกี่ยวกับเรื่อง มลพิษและขยะทะเลและพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล 

ขณะที่แหล่งข้อมูลที่ 2 รายงาน SDG Index เป็นรายงานการประเมินแหล่งเดียวในโลกที่ทำการคำนวณคะแนนและจัดอันดับประเทศต่าง ๆ ที่มีการประเมินตัวชี้วัด 97 ตัวชี้วัด สำหรับการประเมินทั้ง 166 ประเทศ ซึ่งมีการนำเสนอคล้ายคลึงกับสภาพัฒน์ แต่มีวิธีการประเมินแตกต่างกันในระดับเป้าหมาย พบว่า เป้าหมายที่ 3 อยู่ระดับสี่ตัวชี้วัดเรื่องของวัณโรคและอัตราการตายบนท้องถนนเป็นต้น ขณะที่เป้าหมายที่ 2 3 14 15 16 นั้นยังคงมีความท้าทายสำคัญอยู่ หรือแม้ในเป้าหมายที่ 1 กับ 4 ที่เป็นประเด็นที่บรรลุเป้าหมายแล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าใช้ตัวชี้วัดเกณฑ์ที่ระดับสากล 

ส่วนแหล่งที่มาสุดท้ายการประเมินจาก ESCAP เป็นอีกแหล่งที่มีการประเมินทุกปีและใช้ฐานข้อมูลสากล ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทางการไทยนำไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยนำมาจากระบบสถิติของประเทศ กล่าวคือว่า SDG Data Gateway เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่สามารถใช้ในการพิจารณาสถานะ SDGs ของประไทยและภูมิภาคได้ ดังนั้นเมื่อพบว่า 3 แหล่งที่มาจากการประเมินพบประเด็นที่ถดถอยตรงกัน 

นำมาสู่การวิเคราะห์โดยการเปรียบเทียบกับ Transformation ที่มีการพูดถึงในระดับโลกในปี 2019 ที่แบ่งเป็น 6 กลุ่มประเด็นความท้าทายของไทย เมื่อนำมาวิเคราะห์พบประเด็นวิกฤต คือ 1) ระบบผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืน 2) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 3) เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนเชื่อมโยงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการทำลายสิ่งแวดล้อม 4) การตั้งรับปรับตัวกับภัยพิบัติที่เป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงกับประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5) ระบบอภิบาลและกลไกขับเคลื่อน เช่น การคอร์รัปชันและการติดสินบน การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การจัดสรรทรัพยากรและการพัฒนาการเก็บรายได้ภายในประเทศ และ 6) สุขภาวะและการพัฒนาศักยภาพ เป็นเรื่องของคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรคติดต่อโรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิต และอุบัติเหตุทางถนน 

ทั้งหมดนี้เป็น 6 ประเด็นสำคัญของไทยจากการสังเคราะห์ทั้ง 3 แหล่งการประเมินสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นำมาสู่คำถามว่า “หากพบปัญหาแล้ว สาเหตุของปัญหานั้นคืออะไร นำมาสู่การเกิดโครงการย่อยในการศึกษาวิจัย พร้อมกันนี้เชื่อมโยงสู่คำถามว่าเพื่อจัดการกับประเด็นดังกล่าว ต้องมีกลไกแบบใดในการขับเคลื่อน” 

นำมาสู่ส่วนที่สอง คือการทบทวนวรรณกรรม หากว่าด้วยเรื่องกลไกขับเคลื่อนเป้าหมายที่สำคัญ พบงานที่เชื่อมโยงหลัก ๆ 2 งาน คืองานของ Jeffrey D. Sachs และคณะในปี 2019 เรื่อง Six Transformations ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และรายงาน Global sustainable development report 2019 ที่เป็นงานทางการของขององค์กรสหประชาชาติ ซึ่งทั้งสองกล่าวถึงไปในแนวเดียวกันว่าการขับเคลื่อนมันช้าไปแล้ว จำเป็นต้องพลิกโฉมการขับเคลื่อน เราไม่สามารถทำแบบเดิมได้แล้ว 

ยุทธศาสตร์ Transformation ทั้ง 6 ด้าน ของ Sachs และคณะ (2019)

ดังนั้น เพื่อสร้างการพัฒนาที่พลิกโฉมนำมาสู่การตั้งวัตถุประสงค์ของเเผนวิจัย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) เพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อย SDGs ที่มีสถานะวิกฤติที่ได้จากการสังเคราะห์การประเมินสถานการณ์ SDGs ประเทศไทยของ SDG Index ร้ายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563 และ 2) เพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคสู่วนุนอกภาครัฐในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs โดยเน้นไปที่ประเด็นพื้นที่ทางนโยบาย (policy space) สำหรับองค์กรนอกภาครัฐ จึงเกิดเป็น 5 โครงการวิจัยสำคัญ และหากกล่าวว่าอะไรคือจุดร่วมสำคัญของโครงการทั้งหมด นั่นคือคณะวิจัยในฐานะที่เป็นภาควิชาการต้องการที่จะศึกษาเพิ่มเติมและชวนคุยกับทางภาครัฐ  ผู้รับหน้าที่หน้างานซึ่งรับรู้รับทราบถึงข้อจำกัดที่เกิดขึ้นโดยจะช่วยสะท้อนอีกแง่มุมหนึ่ง เพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน ในฐานะที่ทุกคนอยู่บนเรือลำเดียวกันจะได้เห็นภาพอนาคตนี้ไปด้วยกัน 

นอกจากการดำเนินการวิจัยดังกล่าวของคณะผู้วิจัย ในขั้นสุดท้ายยังมีการนำเสนอในวงเสวนาเพื่อพูดคุยถึงประเด็นที่ได้ร่วมกับคณะกรรมการทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคสังคมระดับจังหวัดภาคและระดับชาติให้คล้ายกับที่ภาคเอกชนมี เพื่อที่ว่าภาคประชาสังคมจะได้มีศักดิ์และสิทธิที่ใกล้เคียงกับเสียงของภาคเอกชนที่มีผลนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมากลไกเหล่านี้ภาคเอกชนมีผลต่อนโยบายรัฐบาลมากแต่ภาคประชาสังคมไม่มีกลไกแบบดังกล่าวสิ่งนี้จึงเป็นประโยชน์จากสิ่งที่ได้มากของทั้ง 5 โครงการที่ได้ค้นพบ 


02 – ผลลัพธ์และความท้าทายของงานวิจัยที่นำไปสู่การบรรลุ SDGs ภายในปี 2030 

ดำเนินมาถึงช่วงการอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ ประเด็นแรกหากลองวิเคราะห์ในเชิงความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายที่ปรากฏอยู่ในแต่ละโครงการจะพบว่ามี SDGs ที่เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่ง SDGs เสมอ ซึ่งจะมีทั้งความเชื่อมโยงทางตรงและทางอ้อมในประเด็นของทุกโครงการเสมอ ประการที่สอง คือทุก ๆ งานที่มีการดำเนินงานในโครงการค่อนข้างชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วทั้ง 5 ประเด็นที่เรากำลังกล่าวถึงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบอาหารที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพ การคอร์รัปชัน หรือการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม สุดท้ายปลายทางของการดำเนินการเหล่านี้ จะไปตกอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประมาณ 3-4 ข้อ คือเรื่องของการลดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ การรักษาระบบนิเวศ ทั้งหมดนี้คือความสอดคล้องของงานวิชาการที่อยู่ในโลกที่กล่าวว่าปลายทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคือเรื่องของการที่ไม่ทิ้งใครข้างหลัง และเพื่อให้การพัฒนาไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อย่างไรก็ดี ทั้ง 5 โครงการ ปรากฏแนวโน้มที่มีการกล่าวถึงผลกระทบเหล่านี้ในลักษณะที่ชี้ไปในทางที่ใกล้เคียงกัน ถัดมาคือทุกโครงการย่อยนั้น มีปัจจัยร่วมที่เป็นพื้นหลังในการกำหนดบริบทหรือส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนที่น่าสนใจ ดังนี้

ประเด็นแรก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญไม่ว่าจะเป็นในโครงการย่อยที่ 1 เรื่องการปรับตัวหรือ โครงการย่อยที่ 2 เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน หรือเรื่องมลพิษทางทะเลย่อมมีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแฝงอยู่เช่นกัน ซึ่งประเด็นทางด้านระบบข้อมูลสถิติที่สนับสนุนในทุกโครงการ  เป็นเครื่องสะท้อนช่องว่างที่สำคัญประการหนึ่ง ขณะที่ประเด็นสุดท้ายที่อาจปรากฏอยู่ หรือที่เรียกว่าปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์และทรพยากรบุคคล ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญหลักของการศึกษาในทุกโครงการ เนื่องจากความเข้าใจของคนในเรื่องดังกล่าวนั้นยังคงมีน้อย ทำให้การขับเคลื่อนมันค่อนข้างลำบาก และดูเหมือนเป็นปัจจัยทางอ้อมที่เบื้องหลังของการทำงาน 

ต่อมาจากการสังเคราะห์ ผ่านการวิเคราะห์ประเด็นที่เชื่อมโยงกับ Transformation themes บนกรอบแนวคิดการดำเนินงานอย่างเป็นระบบที่เรียกว่า ‘INSIGHT’ ซึ่งพบว่า

  • I – Institutional and Policy Coherence เป็นประเด็นกล่าวถึงแทบทุกโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องของความสอดคล้องทางด้านกฎหมาย เช่น โครงการย่อยที่ 4 เรื่องของคอรัปชันระหว่าง PDPA กับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะที่มีความขัดแย้งกันทางการดำเนินการ ขณะที่ความสอดคล้องเเรงจูงใจด้านเศรษฐกิจ เป็นอันดับสอง โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้เกิดความสอดคล้องในเชิงแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น อันสุดท้าย คือความสอดคล้องเชิงนโยบาย เช่น โครงการย่อยที่ 3 ประเด็นนโยบายเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ในการอธิบายกับเรื่องเศรษฐกิจนั้นมักมีความซ้อนทับทำให้สร้างข้อจำกัดในการดำเนินงานที่เกิดขึ้น 
  • N – Network and Partnership พบว่ายังคงขาดกลไกการทำงานข้ามภาคส่วน โดยเฉพาะกับภาคประชาสังคมและภาควิชาการ รวมถึงมหาลัยในระดับนโยบาย ระดับชาติ ระดับภาค และจังหวัด โดยเฉพาะระดับชาติ ที่ยังคงไม่เห็นภาพมากนัก อย่างไรก็ดีการศึกษาทำให้เห็นการทำงานร่วมกันในเชิงพื้นที่ว่าชุมชนเกษตรกร ภาคเอกชน สังค มมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการทำข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้อง หรือบางโครงการสะท้อนว่าความต้องการส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรมและได้รับการรับรองโดยกฎหมายเฉพาะ เช่น การจัดการเมืองและการรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่าทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วมรับฟังได้นำความเห็นกลับไปปรับใช้อย่าแท้จริงแก่ภาครัฐ
  • S – Science Technology and Innovation ภาพรวมจากโครงการ มีการสะท้อนเรื่องความต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีเหมาะสม กล่าวคือคำว่าเทคโนโลยี นั้นหมายถึงเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริงเช่น สามารถประยุกต์ใช้กับเกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในฝั่งของเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก โดยทุกภาคส่วนยังคงขาดประเด็นสำคัญนี้อยู่
  • I – Information System and Statistics พบว่า 1) ยังขาดข้อมูลระดับพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดลงไปในการวางแผนนโยบาย 2) การขาดกลไกที่เหนือระดับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการจัดทำตัวชี้วัดในระดับหน่วยงาน เพราะความเป็นจริงแต่ละหน่วยงานยังมีความต้องการพื้นที่กลางที่ได้พูดคุยกัน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกเป็นวิธีการในการหาข้อตกลงร่วมกันและที่สำคัญคือจะได้มีสำนักงานสื่อแห่งชาติที่มีบทบาทอย่างเป็นทางการในการทำงานข้อมูล เพราะปัจจุบันสำนักงานสื่อแห่งชาติไม่ได้มีบทบาทในฐานะที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการใดเลย ส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกของตัวกรรมการเท่านั้น ดังนั้นการทำงานของสำนักงานสื่อแห่งชาติจะค่อนข้างติดขัดในการมีกลไกเหล่านี้ จะช่วยให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันได้สะดวกมากขึ้น ปละอีกประเด็นสำคัญคือยังมีการรายงานข้อมูลระหว่างประเทศที่ไม่ตรงกับหน่วยงานไทยบางตัวชี้วัด 
  • G – Governance and Leadership ปัญหาสำคัญคือทุกประเด็นวิกฤตมีหน่วยงานเกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่หน่วยงานไม่มีอำนาจในการจัดการประเด็นเหล่านี้ได้อย่างรอบด้าน จึงต้องการกลไกการทำงานข้ามกระทรวงข้ามหน่วยงานได้ นำมาสู่คำถามว่าจะต้องอาศัยกลไกใด
  • H – Human Resource and Capacity Building ถ้ามีกลไกการระดมทรัพยากรสำหรับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อการขับเคลื่อนทำให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยจะตื่นตัวยิ่งขึ้น เพราะถ้าคาดหวังว่าพันธมิตรจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติอาจใช้เวลานานเกินไป เช่น โครงการย่อยที่ 5 ภาคประชาสังคม ได้มีพื้นที่ที่ภาคส่วนต่าง ๆ ปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ มีกลไกที่เชื่อมโยงกับกลไกที่มีอยู่เดิมเช่นสมัชชาสุขภาพหรือมีกลไกใหม่เกิดขึ้นมาแล้วเชื่อมโยงกัน การจัดทำฐานข้อมูลภาพสังคมเชื่อมโยง SDG เพื่อให้สะดวกภาครัฐในการทำงานร่วมกัน อาจมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐวิชาการและภาคสังคมระดับจังหวัดภาคระดับชาติด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน 
  • T – Treasury and Finance for Development ต้องการการระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับภาครัฐโดยเฉพาะสำหรับการจัดทำข้อมูลและการสร้างการมีส่วนร่วมต้องการกลไกการระดมทรัพยากรเอกชนและประชาสังคมเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่ข้อเสนอของของแต่ละโครงการ มีดังนี้ 

  • I – Institutional and Policy Coherence การดำเนินการการประยุกต์ใช้ Strategic Environmental Assessment (SEA) และเทคนิคอื่น ๆ เพื่อวิเคราะห์และกำกับนโยบายภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยังยืนอย่างบูรณาการ มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • N – Network and Partnership การดำเนินการผลักดันให้เกิดกลไกการทำงานข้ามภาคส่วนระหว่างภาครัฐและประชาสังคม โดยอาจอาศัยกลไกด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัย เข้ามาเป็นตัวกลางทั้งในระดับจังหวัด ภาค และ ประเทศ มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ประชุมอธิการบดี
  • S – Science Technology and Innovation การดำเนินการนโยบายวิจัยของประเทศควรให้ความสำคัญกับประเด็นความท้าทายด้าน SDGs ของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการหา solutions ในระดับพื้นที่ (ทั้งตามเขตการปกครองและภูมินิเวศ) โดยใช้การวิจัยแบบข้ามศาสตร์และประเภทความรู้ (transdisciplinary research) และการติดตามประเมินผลกระทบและหาวิธีการจัดการผลกระทบทางลบจากนโยบายต่าง ๆ วางแผน technological pathway สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายด้านความยั่งยืนของประเทศ มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU)
  • I – Information System and Statistics การดำเนินการฟื้นฟูคณะอนุกรรมการด้านข้อมูลและการติดตามประเมินผล เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการจัดทำตัวชี้วัดในระดับหน่วยงาน รวมถึงจัดระบบการสื่อสารข้อมูลตัวชี้วัดไปยัง Custodian Agencies สนับสนุนให้เกิด Citizen-generated data และการขับเคลื่อน citizen science ในการจัดทำข้อมูลระดับพื้นที่เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับต่ำกว่าจังหวัด มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และมีพันธมิตรคือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่และเครือข่ายภาคประชาสังคม
  • G – Governance and Leadership การดำเนินการการ restore และปฏิรูป กลไกข้ามกระทรวง (cross-ministerial mechanism) เพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs โดยปรับให้มีคณะทำงาน/อนุกรรมการ/ที่ขับเคลื่อนตาม transformation themes ที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย เพื่อการรับมือกับประเด็นปัญหาบูรณาการเช่น ระบบอาหารที่ไม่ยั่งยืนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน และการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะเพื่อการต่อต้านคอรัปชันเพื่อการหารือข้ามกระทรวงในประเด็นการพัฒนาที่ขัดกัน (trade-off)ผลักต้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด หรือหน่วยงานวิชาการหรือหน่วยงานนอกภาครัฐเช่น ภาคเอกชนและประชาสังคม เป็นตัวกลางในการสร้างการบูรณาการการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยที่ประชุมอธิการบดี เครือข่ายภาคประชาสังคม และสมัชชาสุขภาพ
  • H – Human Resource and Capacity Building การดำเนินการผลักดันกลไก Capacity building สำหรับหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นที่สม่ำเสมอ ทั้งในประเด็นพื้นฐานด้านความยั่งยืนและประเด็นจำเพาะกับหน่วยงานเพื่อรับมือกับปัญหา turn over ที่สูง มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่
  • T – Treasury and Finance for Development การดำเนินการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดทำข้อมูล SDGs โดยเฉพาะตัวขี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งประเด็นมลพิษทางทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ต้องมีการตรวจวัดและเก็บข้อมูลภาคสนาม และจัดระบบการสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบทั้งสำหรับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานนอกภาครัฐ มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนเชิงประเด็นต่าง ๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)และกองทุนสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สุดท้ายนี้ ผศ.ชล ตอบคำถามทิ้งทายในประเด็นที่ว่าเวลาเหลืออีก 6 ปีในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่คนไทยจำนวนมากยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับ SDGs มีแผนอย่างไรที่จะได้สร้างจิตสำนึกในส่วนนี้ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา ผศ.ชล ตอบคำถามนี้ว่าตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น มีการพูดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการดำเนินการแบบครอบคลุมอย่างมาก ไม่ใช่เพียงในโรงเรียน แต่สื่อทั้งทีวี วิทยุโทรทัศน์ หรือแผ่นป้าย ก็กล่าวถึงประเด็นพวกนี้ ซึ่งการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับนี้ กล่าวคือต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษา กระทรวงอว. ในการที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกันและพัฒนาเครื่องมือ เพื่อให้ครู อาจารย์นำไปปฏิบัติปรับใช้ในห้องเรียนได้ ซึ่งเรายังคงไม่เห็นคนช่วยออกแบบกลไกเหล่านี้มากนัก ขณะเดียวกันภาคีของสื่อ ถือเป็นเครืองมือสำคัญในการช่วยขับเคลื่อน ไม่เช่นนั้นอาจไปต่อไม่ได้ เพราะถ้าสื่อเข้ามามีส่วนร่วมก็ช่วยให้สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน สุดท้ายเป้าหมายโดยง่าย คือทำให้ทุกคนรู้จักเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเหมือนรู้จักวัดท่าไม้ กล่าวคือเราต้องมีมาตราการประมาณนี้ทั้งในและนอกห้องเรียนต้องมีการขับเคลื่อนเช่นนี้จึงจะเกิดการสื่อสารความยั่งยืนที่เป็นวงกว้าง 


Section 2: การเสวนาข้ามภาคส่วน

03 – บทบาทการมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วนของภาคนโยบาย เอกชน ประชามสังคม และวิชาการ

เริ่มต้นด้วยการชวนคิดถึงโจทย์หรือความท้าทายช่วง 6 ปีที่เหลือนี้ ซึ่งมีอะไรเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายทั้งโจทย์ในเรื่องของการขับเคลื่อนโดยเฉพาะเรื่องความรู้ เพราะโจทย์ความรู้อาจเป็นประโยชน์ต่อหลายภาคส่วน ในช่วงที่เหลือจะการทำอย่างไรต่อไปเพื่อเชื่อมการทำงานข้ามภาคส่วนหรือทำงาน เพื่อให้เกิดประเด็นขึ้นมาควรจะทำอะไรบ้าง เริ่มที่ ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ กล่าวว่าขอชื่นชมทั้ง 5 โครงการย่อย อย่างไรก็ดีตามที่ ผศ.ชล กล่าวข้างต้นว่าการเดินทางที่ผ่านมาอาจไม่ได้สวยหรูนัก เพราะเริ่มต้นจากการที่เวลาพูดถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการกล่าวถึงภาพรวมทั้งหมดจากปกติแล้วเรื่องการพัฒนาอีกเรื่องที่ควรจะลึกลงไป 

เช่นเรื่องของการเขียนโครงร่างการดำเนินการกลายเป็นว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นข้ามภาคส่วน ซึ่งทั้งหมดทุกกระทรวงควรมาเกี่ยวข้อง เพราะหนึ่งเรื่องไม่ใช่เรื่องที่หนึ่งกระทรวงจะรับผิดชอบทั้งหมดฉะนั้นจึงอาจเป็นการปูทาง เพราะอาจจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น ในสิ่งที่ผ่าน ๆ จึงเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะในภาครัฐ ภาคเอกชนหรือภาควิชาการน่าจะประสบการณ์คล้าย ๆ กัน คือการทำงานที่ไม่ต้องข้ามภาคส่วนในภาคตัวเอง แต่ข้ามหน่วยงานยังเกิดประเด็นความท้าทายจากข้างใน ถือเป็นความยากในความยากเพราะส่วนที่เป็นหน่วยเดียวกันยังคงมีความกังวลอยู่ยิ่งหากข้ามหน่วยจึงยิ่งเป็นความท้าทายในอีกระดับ ซึ่งทางผู้ปฏิบัติคงเห็นภาพมาพอสมควรอย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเราก็มีความพยายามที่จะทำให้ความยากเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่พยายามทำให้เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งประเด็นที่ภาครัฐทำงานอยู่แล้วอาจจะอยู่ในผลการวิจัยภาครัฐอาจจะเก็บงานเหล่านั้นไว้ ส่วนหนึ่งเพราะสร้างเกิดความเข้มแข็งขององค์กรส่วนหนึ่งก่อน ขณะเดียวกันเราเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามา ซึ่งทางหน่วยงานอื่นพยายามให้ความร่วมมือ แต่มีบางประเด็นที่เห็นผลการวิจัยข้างต้นขอขยายความเพิ่มเติม 

ตัวอย่างเช่นข้อมูล บางอย่างคือข้อมูลของตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มองว่าบางครั้งอาจไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทยก็ได้ เพราะจากการพูดคุยกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศ (UNRC) พบว่าบริบทบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับประเทศไทย ทำให้อาจจะไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามเป้าหมายนั้นเสมอไป ถือเป็นจุดยืนในฐานะของผู้ที่ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะบางอย่างถ้าทำข้อมูลขึ้นมาต้องใช้การลงทุน เช่น ลงทุน 10 หน่วยสมมุติว่าเป็นงบร้อยล้าน แต่ได้ข้อมูลตัวเดิมเพื่อมาตอบตัวชี้วัด ซึ่งบางอย่างแม้จะทำงานนี้อยู่จะบอกว่ารายงานต้องดูความคุ้มค่าคุ้มทุนของงบประมาณมากที่สุด ฉะนั้นจะได้ไม่ติดกับดักตัวชี้วัดเสมอไป 

ถ้า SDG Index ถามว่าควรลงทุนหรืองบประมาณ เพื่อทำให้เกิดการเก็บข้อมูลอาจต้องมีการหารือว่าข้อมูลใดที่ภาควิชาการหรือว่าภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาจช่วยสกัดว่าข้อมูลนี้คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเกิดความไม่คุ้มค่าอาจเกิดปัญหาเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินหรือว่าการบริหารงบประมาณแผ่นดินได้ เพราะแม้ตรงนี้ตอบโจทย์ตัวชี้วัดแต่ตัวชี้วัดก็สามารถเลือกตอบได้หลายทาง ขณะที่เรื่องของกลไกที่มีข้อเสนอเรื่องการรื้อฟื้นอนุกรรมการเป็นความสำคัญในการช่วยเหลือคณะกรรมการในการทำงานให้ได้ แต่ว่าการพูดถึงตัวกลไกแต่ละกลไกมันต้องมีวัตถุประสงค์ในการตั้ง เช่นถ้าเกิดกล่าวถึงอนุกรรมการข้อมูลจะเป็นคนแสตมป์หรือเปล่า ถ้าเกิดบอกว่าไม่ใช่เพราะ ข้อมูลนี้มีคณะกรรมการข้อมูลที่เป็นสถิติแห่งชาติ มีอนุกรรมการสถิติอยู่แล้วประมาณสัก 20 ชุดที่อยู่ภายใต้สถิติแห่งชาติอันนี้ข้อมูลมันจะกลับไปตรงนั้น แล้วข้อมูลที่ใช้เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ควรเป็น Open Data ที่เราจะเปิดได้ ไม่ใช่ข้อมูลที่นำเรื่องของข้อมูลความมั่นคงประเทศมาเข้าข้อมูลเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เพราะว่าอนุกรรมการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่ได้ดูกฎหมายตรงนั้น เพราะฉะนั้นย้อนกลับไปที่ในแต่ละอนุกรรมการที่การจัดตั้งจะต้องมีอำนาจหน้าที่มันชัดเจนที่สุดในการที่ทำขึ้นมา ถ้ารับข้อเสนอแล้วเมื่อมีการดำเนินการต่อไป อาจต้องพิจารณาความจำเป็นเหมาะสมที่ว่า

ดังนั้นคำถามข้างต้นที่ว่าแล้วต่อไปใครจะเป็นคนดำเนินการถึงย้อนกลับมา เพื่อดูว่าความร่วมมือกันของภาครัฐหรือภาคอื่น ๆ ในการทำงานข้ามภาคส่วนที่เราอยู่การทำงานที่นอกเหนือจากตรงนี้ไป ซึ่งเป็นโมเดลที่เราทำอยู่แล้ว ภาครัฐได้มีการถามมากขึ้นแต่คนที่ทำเป็น active partner มากที่สุด คือผู้ปฏิบัติทางภาคส่วนอื่น ๆ ด้วยกัน และจริง ๆ คือตัวกับดักตัวชี้วัดที่พยายามไม่ยึดติดกับสิ่งนั้น แต่ว่าเรื่องข้อมูลนั้นเป็นประเด็นที่พยายามจะทำขึ้นมาให้ได้มากที่สุด จึงขอสรุปคำถามข้างต้น เรื่องการทำงานข้ามภาคส่วนในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะทำได้ แต่อาจไม่ได้สวยหรูร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรายังคงมีความพยายามทำอย่างต่อเนื่องต่อไป 

การมี Thailand SDG roadmap ทุก ๆ 5 ปี ซึ่งการกล่าวถึงตัวแดชบอร์ดของ SDGs ขยายความประเด็นดังกล่าว ข้อมูล SDG ที่ภาครัฐจะมีการทำไม่ใช่ข้อมูลปิด เนื่องจากข้อมูลตอนนี้ภาครัฐเกือบทั้งหมดที่ไม่ใช่ข้อมูลด้านความมั่นคงของประเทศเป็นข้อมูลเปิดอยู่แล้วเพียงแต่ว่าการที่จะบูรณาการพวกนี้ขึ้นมาต้องมีการขอความร่วมมือกับเจ้าของข้อมูลคือหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดข้อมูลขึ้นมา ซึ่งตัวข้อมูลตรงนี้มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อมูลการรายงานสถานการณ์กับการที่มองไปข้างหน้า คือพิจารณาว่า 2573 มีเป้าหมายอะไร ส่วนสอง ทางสภาพัฒน์ในฐานะผู้ประสานงานกลางของ SDG กำลังประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่โดยที่หน่วยงานภาครัฐในการนำเสนอตัวข้อมูลตรงนั้นเพื่อเข้ามาในเว็บกลาง เพื่อนพมาประมวลเปิดเผยให้สาธารณะเข้าถึง ผ่านรูปแบบของแดชบอร์ดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เพราะว่าระบบไม่น่ามีปัญหาเพียงแต่ว่าตัวข้อมูลที่เหมาะสมกับประเทศไทย ยังเป็นสิ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องพิจารณาในการจัดส่งข้อมูลที่ตอบโจทย์ เพื่อปรับโจทย์ให้ถูกต้องที่สุด


ถัดมาเป็น คุณธันยพร กริชติทายาวุธ กล่าวถึงสถานการณ์ภาคธุรกิจเรารู้อยู่แล้วว่ามันเกิดการกระทบแน่นอนกับภาคธุรกิจ จึงไม่ค่อยใส่ใจเรื่องการทำงานด้านความยั่งยืน ธรรมาภิบาลหรือบางประเด็น เพราะต้องเลือกความอยู่รอดก่อน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนของประเทศไทย จากที่เคยวิเคราะห์ข้อมูลจากทางสภาพัฒน์ 85% ของธุรกิจในไทยเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SME) ซึ่งเจออุปสรรค กล่าวคือหากต้องแก้ปัญหาสังคมนั้นยากเกินไป จึงได้พูดคุยกับทางตลาดหลักทรัพย์ในการที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนจากแนวคิดดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึง “สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล” (Environment, Social, Governance :ESG) เป็นการพัฒนายั่งยืนมากขึ้น เช่น 

ประมาณกลางปีที่แล้วมีการประชุมหารือทางการเมืองระดับสูง พบว่าเหลือครึ่งทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่หากภาคธุรกิจบอกไม่เข้าใจ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาประเด็นปัญหาสังคมไม่ได้เป็นข้อ ๆ แต่สนใจประเด็นที่เป็นปัญหาที่จับต้องได้ ดังนั้น การพูดคุยกับภาคธุรกิจว่าคุณดำเนินงานสิ่งใดแล้วนั้น ก็จะได้คำตอบว่าได้บูรณาการตัวเองโดยนำการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าสู่แผนธุรกิจซึ่งมองว่าสิ่งนั้นคือการดำเนินการสร้างผลกระทบต่อสังคมแล้ว เพราะหากไม่ดำเนินการเช่นนี้สิ่งที่ภาคธุรกิจจับรวมกับด้านนี้จะเป็นเหมือนจับฉ่าย ที่พอทำไปทั้งหมดก็กลายเป็นเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ดังนั้นการจะทำให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง การดำเนินการต้องหยุดแจกเหมือนกับว่าหยุดทำงาน Corporate Social Responsibility (CSR) หรือ บรรษัทบริบาลบางอย่าง แต่หันกลับมาทำสิ่งที่เป็นธุรกิจแล้วกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าเขาหยุดได้เขาควรจะหยุด แต่ถ้าเขาหยุดไม่ได้ ต้องลดปริมาณการสร้างผลกระทบต่อสิ่งเหล่านั้น 

สิ่งที่ผ่านมาคุณธันยพร ได้ดำเนินการคือติดตามผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบ โดยเข้าใจว่าภาคธุรกิจส่งผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวก แต่อย่างไรก็ตามเขาก็อยากรู้ที่ต้องการทำเพื่อปิดช่องว่างการดำเนินการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าใจว่าในตัวธุรกิจเขาดำเนินการสิ่งใดแล้วสร้างผลกระทบเช่นสร้างมลภาวะอะไร ถ้าไม่ตอบโจทย์ปัญหาตรงนั้นการพัฒนากลไกการเงินไม่ตอบโจทย์ได้ ตามประโยคที่เคยกล่าวว่า “เราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ ต้องมีการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี การเงิน เพราะเรารู้ว่าภาคธุรกิจเขาไม่ได้ทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง”

ดังนั้น โครงการไม่เปลี่ยนและแบ่งงบออกมา จากการได้พูดคุยกับสหประชาชาติแม้กระทั่งถามว่าเงินอยู่ไหน ซึ่งไม่ใช่ว่ามีการทำโครงการแต่คนสามารถทำแล้วโปร่งใส ทำแล้วชุมชนได้ประโยชน์ จึงไม่ได้ให้เอกชนดำเนินการเเต่ให้ราชการเป็นผู้ดำเนินการมากกว่า เช่นการลงทุนตามข้อตกลงปารีส (Paris agreement) เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สมมติปีละแสนล้านเหรียญสหรัฐเปลี่ยนผ่านการลงทุนให้ดำเนินการได้อย่างไร สุดท้ายต้องเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐสู่รัฐแล้วจึงกระจายสู่ภาคธุรกิจให้ดำเนินการ เช่น ภาคส่วนนี้มีความเข้าใจเทคโนโลยีรัฐจึงรับเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน จะมีสองแบบคือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือช่วยเหลือคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอย่างภาคการเกษตรให้สามารถลดก๊าซมีเทน โดยการกำจัดคาร์บอน (Carbon Removal) ซึ่งดีกว่าคาร์บอนเครดิต ภาคธุรกิจก็เริ่มสนใจขึ้นมาช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา 

ดังนั้นมองว่าเราต้องสนใจ 5 – 6 ปีว่าสิ่งที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้มากกว่าครึ่งที่ยังทำดีไม่พอ ซึ่งไม่ใช่ทำไม่ดีเเต่สิ่งที่คุณทำมันยังไม่พอคุณยังเป็นผู้สร้างมลพิษและเป็นคนที่ทำให้เป้าหมายการพัฒนานั้นบรรลุผลไปได้ช้า เพราะสุดท้ายหลายหน่วยงานยังไม่ทำตามกฎ แล้วเรื่องอะไรที่ภาคธุรกิจควรจะจับตามองสิ่งที่สำคัญ คือถ้าเราต้องการทำดัชนีชี้วัด ต้องทบทวนว่าควรจะทำเรื่องอะไรให้ภาคธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะเป็นคู่แข่งคู่ค้า คุณสามารถที่จะเล่นบทบาทเดียวกันได้เป็นต้น 

ขณะที่เรื่องของการขับเคลื่อนภาคส่วน มี 5 เรื่องที่เราสนใจและประเทศไทยได้เปิดตัวโครงการปแบบไม่เป็นทางการ สำหรับพื้นที่ทั้งหมด 5 เรื่องที่ควรจะทำในภาคธุรกิจไทย ภาคส่วนของภาคธุรกิจของประเทศไทยไม่ได้อยู่เฉพาะสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand หรือ UNGCNT) ที่ทำ แต่มีผู้นำขับเคลื่อนประมาณ 15 บริษัท โดยมีคู่มือในการขับเคลื่อน เริ่มทุกทิศทางมากขึ้น ซึ่ง 5 เรื่องสำคัญดังกล่าวคือ ประเด็นที่ 1 คือความเท่าเทียมกันทางเพศ ประเด็นที่ 2 การลดก๊าซเรือนกระจกที่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย และยากที่สุด คือประเด็นที่ 3 เรื่องการสร้างความเท่าเทียมในแง่ของการได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมต่อการเลี้ยงชีพ ไม่ใช่ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ประเด็นที่ 4 คือการเงินมีกลไก Sustainable Investment Forum โดยมีเป้าหมายว่าอีก 3 ปีที่จะเกิดขึ้นคือ 2027 คาดว่าภาคธุรกิจต้องรายงานตัวเลขก่อน 2030 ซึ่งต้องรายงานว่าสุดท้ายเราทำการลงทุนเพื่อพัฒนาไปแล้วเท่าไหร่และสำเร็จหรือไม่ ประเด็นที่ 5 เรื่องของแหล่งน้ำในการทรัพยากรหาได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ คือการให้แหล่งน้ำธรรมชาติ 100 แหล่งทั่วโลกดีขึ้น สรุปว่ามันจะมี 5 เรื่องที่เราสนใจกล่าวโดยรวมว่าเป็นการขับเคลื่อนการทำงานด้าน SDG ให้เร็วขึ้น หรือเรียกว่า Forward faster ของภาคธุรกิจ


มาสู่ภาคประชาสังคมโดย ดร.กฤษฎา บุญชัย เริ่มประเด็นด้วยความหลากหลายของภาคประชาสังคม ฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำงานกับประชาสังคมโดยเฉพาะที่ทำงานด้านทรัพยากรกับชุมชนท้องถิ่น เรื่องความมั่นคงอาหารและเกษตรกรรมทางเลือกหลักที่ทำเชื่อมโยงมาสู่เรื่องงานกับในภาคแรงงาน คือกลุ่มแรงงานนอกระบบ เป็นอีกหนึ่งที่เราขับเคลื่อนแต่ว่าในภาคประชาสังคมมีการแลกเปลี่ยนกันบ่อย ถึงแม้ว่าจะคนละข่ายคนละประเด็นกัน เรามีการวิเคราะห์ทำความเข้าใจหรือมองการขับเคลื่อนว่าจะทำอะไรกันได้บ้าง 

โดยอยากทบทวนการพัฒนาที่ยั่งยืนในเชิงแนวคิดและปฏิบัติการสักนิด คือเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นจากเดิมคือจากฐานคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่การประชุม Earth Summit 1992 (Rio) ซึ่งคำถามหลักที่มีมาตลอดก็คือเราอยู่ในโลกที่ใช้ทรัพยากรมากแล้วมีผลกระทบต่อสังคม ระบบนิเวศ เศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรง ประเด็นคือการเติบโตของระบบทุนนิยมแบบนี้ถ้ามองในภาพใหญ่ยังจะเป็นคำตอบหรือไม่ ซึ่งคิดว่าในทางสหประชาชาติปรากฏออกมาหลายเรื่องไม่ว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เความหลากหลายทางชีวภาพ ประเด็นคือการเติบโตของเป้าหมายทั้งโลกเป็นคำตอบอยู่ไหมในทางเศรษฐศาสตร์ อาจจะคิดถึงการกระจายเรื่องทรัพยากรหรือการกระจายความเจริญ อาจมีบางส่วนไม่เติบโตก็ได้หรือบางส่วนอาจจะต้องต้องลดน้อยถอยลง ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศฟอสซิลอาจจะต้องค่อย ๆ หมดไปในที่สุด 

ประเด็นคือว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จินตภาพตรงกันหรือเปล่าว่ากำลังคิดถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมใหม่ที่อาจจะไม่ใช่การเติบโตแบบเดิม กล่าวคือจะทำอย่างไรให้การมองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่กลายเป็นการสร้างมาตรฐานเชิงเดี่ยวหรือตัวชี้วัดแบบเดียว แต่เราจะคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายที่ผู้คนต่าง ๆ ต้องต่อรองกับสภาพแวดล้อมของตัวเอง 

ประเด็นต่อมาอยากจะชวนคิดคือเวลาเราคิดถึงคำว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ คำนี้เริ่มใช้ได้ยากขึ้นทุกทีเพราะโลกที่ผันผวนต้องปรับตัวตลอดเวลา ดังนั้นความคิดจินตภาพที่มีต่อความยั่งยืนนั้นเป็นแบบไหน เช่นย้อนกลับไปหาอดีตเรื่องโลกร้อนก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือถ้าคิดในเรื่องของฐานทรัพยากรอื่นแล้วจะกลับไปฟื้นฟูนิเวศทรัพยากรแบบเดิมนี่คือวิธีคิดแบบหนึ่ง หากคิดแบบเดิมเราจะยืนอยู่ที่เดิม แต่เราสามารถปรับตัวให้อยู่อย่างสมดุลได้หรือไม่ หรือเราจะคิดไปข้างหน้า และกลับมาทบทวนว่าเราจะทำสิ่งใดร่วมกันต่อไป เพราะถ้าเป็นเป้าหมายแตกต่างกัน เราต้องเกิดการพูดคุย 

ขณะที่การประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ผ่านมาการดูตัวชี้วัดก่อให้เกิดการแยกส่วนและปัญหาหลายเรื่อง เช่น บางเรื่องก้าวหน้าบางเรื่องถดถอย แต่คำถามคือว่าเราสามารถจะดูอย่างไรให้เห็นความยั่งยืนที่จริงของสังคมมากกว่าแค่แตกย่อยในหลายตัวชี้วัด เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ชดเชยกันไม่ได้ ทดแทนกันไม่ได้ 

นอกจากนี้ตัวชี้วัด แม้มีเป้าหมายต่าง ๆ แต่ว่าอะไรคือโครงสร้างและยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงและกระบวนการเปลี่ยน ซึ่งสังคมไม่ค่อยเห็นตรงนี้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่ละหัวข้อที่เชื่อมโยงกันโครงสร้างของจะทำงานได้ดีในโครงสร้างอะไร จึงมีข้อเสนอว่าต้องเป็นโครงสร้างที่กระจายอำนาจที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วตัวสถานะของมันยังไม่มีผลในทางปฏิบัติในเชิงว่าถ้าทำไม่ได้มันต้องมีมาตรการหรือกลไกบางอย่างเพื่อบังคับให้เกิดการทำได้มันจึงกลายเป็นตัวชี้วัดในบางกลุ่ม              

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเครือของปัญหา ถามว่าแล้วสุดท้ายถ้าเราเจาะลงไปเห็นอะไรบ้างที่เป็นความท้าทาย  ประเด็นแรก คือโลกเรารวมไทยด้วยเรายังมุ่งหวังเราในฐานะรัฐแบบทุนนิยม ต่อให้เราเป็นเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำยังเป็นคาร์บอนต่ำที่ยังสร้างการเติบโตต่อไป อาจจะต้องมาทบทวนว่ารากฐานเดิมแนวคิดเรื่องขีดจำกัดของธรรมชาติจากจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืนยังเป็นประเด็นสำคัญอยู่มั้ย ประเด็นที่สอง คือระบบรวมศูนย์ ไม่ว่าเรื่องทรัพยากร กลไก อำนาจหรือโอกาสทางสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่รัฐหรืออยู่ในที่ระบบตลาดที่ไม่เสรี ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมสูงมาก เป็นโครงสร้างที่ทำงานยาก ประเด็นที่สาม คือความเปราะบางและอ่อนแอของชุมชนของประชาชน มีคนชายขอบและคนเปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทุกพื้นที่ทุกการผลิต เผชิญปัญหาอย่างรุนแรงมากขึ้น ความอ่อนแอที่เขาเผชิญอยู่ การปกป้องสิทธิในการดูแลเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำมันถูกขยาย 

เรื่องเหล่านี้เรามักจะคิดว่าปัญหาทั้งหมดแก้ด้วยกลไกตลาดที่มีประสิทธิภาพ แก้ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่ดีขึ้นหรือแก้ด้วยการใช้อำนาจรัฐแต่สิ่งที่หายไปจินตภาพของการแก้ปัญหาคือไม่ได้มุ่งเรื่องของการสร้างพลังสังคมขึ้นมากำกับรัฐหรือกำกับตลาด ทางออกที่กล่าวปัญหาทั้งหมดทำยังไงเราจะเปลี่ยนผ่านการพัฒนาที่ยัง่ยืนไปสู่สิ่งที่เรียกว่าการสร้างอิสรภาพของสังคมที่มีความผาสุกขึ้น เช่น อันที่หนึ่งการกำหนดเป้าหมายต้องชัดเจนว่าเปลี่ยนผ่านโครงสร้างสู่สังคมบนฐานนิเวศ ฐานของสิทธิมนุษยชน ฐานความเป็นธรรมและการกระจายอำนาจ อันที่สอง คือการจัดความสัมพันธ์ใหม่ เปลี่ยนว่าประชาชนเป็นหุ้นส่วนรูปธรรม ประชาชนจะสามารถเสนอนโยบายสามารถได้รับการจัดสรรงบประมาณ สามารถเป็นกลไกทางนโยบายในการขับเคลื่อนตามนโยบายหลักร่วมกันได้ 

อย่างไรก็ดี ต้องทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีฐานะมากกว่าแค่การทำแผนรวมหรือการตอบว่าบรรลุหรือไม่บรรลุ เเล้วใช้ในฐานะยุทธศาสตร์ เช่นต้องเจอวิกฤติภูมิอากาศอย่างหนักหน่วง เปลี่ยนผ่านลดก๊าซให้ได้ 40% ในอีก 6 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้เป็นรูปธรรมแล้วโยงกับหลักการสำคัญบนพื้นฐานของแต่ละถิ่นแต่ละที่ ไม่ใช่แค่ภาพรวมเดียวแต่ต้องมุ่งไปที่คนอ่อนแอทั้งหลายจะสวมศักยภาพสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อสร้างเป็นหลักประกันด้านสวัสดิการให้กับประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน นอกจากนี้การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมขึ้นมาของรัฐกับภาคประชาชนที่มีจุดร่วมกัน เพื่อสร้างการเรียนรู้และกำหนดนโยบายขับเคลื่อนต่อไป

เพื่อให้เกิดบรรลุเป้าหมายสิ่งที่ต้องทำใน 6 ปีข้างหน้า คือ 1) เร่งไปสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแต่ละทีหลายที่เผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจ อาหาร นิเวศ ทรัพยากร พลังงาน 2) มีบทเรียนสร้างกลไกร่วมในระดับจังหวัดเปลี่ยนให้เป็นระบบที่ยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้นแล้วเชื่อมโยงภาคีมากขึ้น ที่สำคัญคือคนรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่จะเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต เราก็มีกระบวนการที่จะเสริมสร้างศักยภาพความท้าทาย 6 ปีข้างหน้า 3) ระบบรวมศูนย์และภาวะความเหลื่อมล้ำเราจะเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าการรวมศูนย์ในภาคเศรษฐกิจสำคัญ เรื่องพลังงาน ทรัพยากร เกษตร เศรษฐกิจเราไม่มีระบบที่กระจายไปสู่ภาคสังคมทั้งทรัพยากรโอกาสแล้วเรายังไม่สามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบที่แตกต่างได้ เเต่ทำยังไงให้ผู้คนที่มีบทบาททางสังคมสามารถลุกขึ้นมามีความขับเคลื่อนมากขึ้น ผู้ที่ก่อมลภาวะทั้งหลายจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมา แล้วสุดท้ายเราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่โจทย์ที่เราตั้งไว้ในตอนแรกซึ่งย่อมแต่กต่างกันตามวัตถุประสงค์ของผู้ดำเนินการ 


ท่านสุดท้าย ศ.สุริชัย หวันแก้ว กล่าวถึงความหมายว่า คือ ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ในฐานะที่เป็นชุดของความคิดและเครื่องมือ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนอาจไม่เหมือนกัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้ตายตัวหรือสำเร็จรูปในตนเองเท่าไหร่นัก 

ที่ผ่านมามีการถกเลือกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยซึ่งดูจะไปกอดอยู่กับตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเสียมาก คือไม่ได้ทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นโจทย์ทางสติปัญญาท่ามกลางโลกที่เหลื่อมล้ำมากขึ้นหลังโควิด-19 เหลื่อมล้ำมากขึ้น เสี่ยงกับภาวะที่ว่าภาวะประชาธิปไตยในโลกที่เปิดพื้นที่ให้ถกพวกนี้บางกรณีก็น้อยลง บางกรณีไม่ค่อยเอื้อ ที่ผ่านมาเรามีนวัตกรรมท่ามกลางความลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของความเข้าใจและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มาจากภาคส่วนไหนบ้าง โจทย์ทางวิชาการนี้น่าจะยอมรับว่าเราได้เกิดนวัตกรรมหลายส่วนบางทีอยู่ในภาครัฐ บางทีอยู่ในภาคธุรกิจ แล้วหลายกรณีก็อยู่กับคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังแล้วกลายเป็นคนที่พูดขึ้นมาท่ามกลางความยากลำบากของการที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ไม่มีเสรีภาพโดยไม่ค่อยมีความพร้อม แต่จากเวทีโลกจำนวนหนึ่งค่อนข้างให้พื้นที่ผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังกลายเป็นตัวแสดงที่มีส่วนกระตุ้นระบบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่เป็นหัวใจหลักที่สุดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือมุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในโลกซึ่งมีมากขึ้นต้องเอาคนที่ถูกจัดให้อยู่ในฝ่ายเหลื่อมล้ำเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้น คือสร้างบทบาทให้แข็งแรงขึ้นได้อันนี้ก็เป็นผลดีต่อทุกภาคส่วน กล่าวคือต้องมีคุณค่าทางสาธารณะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในความหมายที่ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้จักกัน ปรับบทบาทใหม่ซึ่งภาครัฐไทยเองที่ผ่านมาบางส่วนที่ใกล้ SDGs เป็นราชการ แต่หลายส่วนของภาครัฐมีคณะกรรมการประชุมบ้างไม่ประชุมบ้าง ถ้าประเทศไทยแขวนอยู่ตรงนั้นอย่างเดียวทุกคนรู้ดีว่าอาจจะไม่พบหลายคนจึงรู้สึกสนใจสร้างโอกาสใหม่ ๆ ของการทำงานข้ามภาคส่วน เพราะมีแผน 13 บางส่วนพยายามผลักดันให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปเป็นตัวนิยาม 

เช่น ภาครัฐที่เปิดเผยโปร่งใสและเป็นภาครัฐสมัยใหม่มีประสิทธิภาพและขยายส่วนร่วมของท้องถิ่น ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเปิดพื้นที่ แต่จะปฏิบัติการข้ามภาคส่วนได้อย่างไร  ที่ผ่านมาอยากชวนให้เห็นว่าอย่าให้เพดานการคิดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ในแค่การจัดอันดับของประเภทตัวชี้วัดที่มีอยู่เท่านั้น แต่ละคนจะสนใจช่วยเปิดพื้นที่การสนทนาระหว่างข้ามภาคส่วนไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ขณะเดียวกันเราเรียนรู้น้อยมากจากนวัตกรรมของคนที่ยากลำบากท่ามกลางความเดือดร้อนต่ำสุดในการพัฒนาที่ผ่านมาซึ่งโควิด-19 มาย้ำเตือนอีกว่าเราไม่พร้อม

ส่วนที่สอง 6 ปีที่ต่อไปจะคิดยังไงให้ปราศจากการประเมินว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ผ่านมา แล้วดูที่นวัตกรรมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีผลเชื่อมโยงต่อการมีระบบส่งเสริมการนวัตกรรมในการพัฒนาทั้งทุกส่วนและรวมทั้งนวัตกรรมในภาควิชาการกันเองด้วย ซึ่งอันนี้ภาควิชาการต้องมีทบทวนตนเองอย่างขนาดใหญ่ เพื่อให้เห็นว่าเราเผชิญกับจุดที่ยุ่งยากมากของการทำความเข้าใจต่อความแยกขั้วทางสังคม แยกขั้วทางการเมือง และภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจุบันก็ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้เราสามารถสร้างความเห็นถกกันในทางที่มีวิธีมองให้เห็นว่า  สุดท้ายว่ไม่ใช่ว่าเรากำลังถกเรื่องกลุ่มเปราะบางใด เพราะเราทั้งหลายล้วนเเต่เปราะบางทั้งสิ้นสังคมทุกสังคมภายใต้ภาวะวิกฤตภูมิอากาศปัจจุบันล้วนแต่เปราะบางทั้งสิ้น ทุกประเทศก็ล้วนแต่อยู่ในสถานการณ์ซึ่งไม่สามารถจะสร้างแพลตฟอร์มไม่ให้กลายเป็นว่ามีการแยกขั้วอย่างสุดสุดขั้ว เพราะการเมืองในโลกในปัจจุบันดูเหมือนจะไม่ค่อยจะทบทวนในความหมายที่ด้วยเรื่องประชาธิปไตย คนไทยในระดับภูมิภาคที่จะคุยเรื่องนโยบายภูมิภาค ประชาธิปไตยในโลกที่ช่วยให้เรารับผิดชอบต่อโลก                                

ดังนั้นคนรุ่นต่อไปต้องแบกภาระวิกฤตภูมิอากาศวิกฤตทรัพยากรหนักขึ้นกว่ารุ่นเราอีก ความหนักเหล่านี้จะทำให้เกิดบทสนทนาข้ามความรุ่นเพื่อทบทวนพร้อมกับเร่งทำสิ่งที่ขาดแคลนต่อไปอย่างไร ผมคิดว่าการสร้างสำนึกรู้สำนึกต่อโจทย์ที่เราคาราคาซังไว้เป็นความรับผิดชอบของคนรุ่นเดิมรุ่นเก่าแล้วเป็นความรับผิดชอบทางวิชาการที่ต้องช่วยหาสะพานทางวิชาการสะพานทางวิธีวิทยา สะพานของการคิดเรื่องอนาคต ทบทวนในวิชาการผมคิดว่าวิชาการปัจจุบันก็ไม่ได้ช่วยให้เราก้าวพ้นอัมพาตทางระบบ อัมพาตทางโครงสร้างของความรู้ในปัจจุบันเท่าที่ควร 

การทบทวนเช่นนี้แปลว่าฝ่ายวิชาการเองก็ต้องหาวิธีเรียนรู้กับข้ามภาคส่วนว่าจะมีวิธีเรียนรู้ส่วนที่เขาปรับตัวกันไปด้วยขนาดหนึ่ง เปิดพื้นที่การถกเรื่องโจทย์การพัฒนาในความหมายที่เรามีใจกว้างเพียงพอที่จะคำนึงถึงการประเมินผลกระทบพัฒนาในความหมายกว้างกว่าที่เราเคยเป็น ยอมรับถึงผลกระทบการพัฒนาที่กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างที่เราไม่เคยเห็นคุณค่ามันเท่าที่ควร

ตอนนี้ก็ท่ามกลางอำนาจรวมศูนย์ของรัฐบาล ระบบราชการหลายส่วนกำลังหาวิธีทำงานอยู่เหมือนกัน การพัฒนาที่มีแผนพื้นที่มากขึ้นยอมรับบทบาทภาคส่วนทั้งระดับจังหวัด ระดับภาคประชาสังคม ต้องมีพัฒนาความรู้ร่วมกับหลายฝ่ายมากขึ้น ภาคธุรกิจด้วย ภาคส่วนรัฐหลายส่วนก็ปรับตัวไปเยอะ หลายภาคส่วนก็ยังอยู่ในแดนของของการใช้อำนาจรัฐเป็นประโยชน์ของเฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก ซึ่งอันนี้ทำให้เราเห็นปัญหาของระบบเช่นกระบวนการยุติธรรม สุดท้ายเสนอว่าบทบาทประเทศไทยในภาคส่วนวิชาการเมื่อต้องทบทวนตนเองบนความแข็งแรงความอ่อนแอบางส่วน รวมถึงศักยภาพที่พอจะมีอยู่ไม่อยากให้ภาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตกไปอยู่ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ให้การทำงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นงานของทุกส่วนรวมทั้งมหาวิทยาลัยและอื่น ๆ อาจจะช่วยให้ระบบสหประชาชาติ ที่เป็นระบบพหุภาคีน่าจะฟื้นความเชื่อมั่นต่อกันได้มากขึ้น เพราะบทบาททางวิชาการถ้าช่วยโยงกับโจทย์อนาคตแล้วมันทำให้การขัดแย้งที่มองระยะสั้นกลายเป็นจุดที่มองการปรับเปลี่ยนในระยะยาวร่วมกัน กล่าวคือแนวคิดกลายเป็นเครื่องมือของการมองว่าเราจะปรับบทบาทเสริมกันยังไงในการเรียนรู้เพราะว่าทรัพยากรใดต้องพึงพากัน บางประเทศก็มีแต่คนอายุเยอะ คนรุ่นใหม่ต้องอาศัยประชากรอพยพ ซึ่งนโยบายหลายส่วนต้องมีการประสานกันเพื่ออนาคตมากยิ่งขึ้น คนอายุจึงจะต้องก้าวพ้นความคับแคบของแนวคิดตัวชี้วัดประเทศ จะต้องเป็นเวทีกำหนดนโยบายระดับภูมิภาครวมถึงว่าประเทศไทย น่าจะมีส่วนได้ประโยชน์พอสมควรถ้าหากเราอาศัยความคุ้นเคยกับกลไกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยหลายส่วน ซึ่งภาควิชาการก็ต้องปรับตัวด้วยกัน


04 – โจทย์สำคัญสำหรับ 6 ปีที่เหลือของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสนใจที่ต้องขับเน้น

ดร.ธัชไท จากโครงการแผนงานวิจัยมี 5 โครงการย่อยว่าเราอยากให้เกิดความเป็น science based ของงานมากกว่าการที่อาจมีการตั้งวงเสวนา เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมตรงนี้เป็นเชิงของวิทยาศาสตร์หรือสังคม เพราะการพัฒนาที่จะเปลี่ยนผ่านจากความการพัฒนาแบบเก่าให้กลายเป็นการพัฒนาที่แบบยั่งยืน ต้องประกอบด้วย 4 ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่การมีเป้าหมาย นโยบาย เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมและพฤติกรรมของคนในสังคม 

ดร.กฤษฎา โจทย์สำคัญคือเราน่าจะสามารถทำยังไงให้เรากำหนดในเชิงเป้าหมายแล้วเกิดกระบวนการเปลี่ยนผันร่วมกันให้ชัดเจนขึ้น เพราะเราอาจมีภาษาร่วมกันหรือตัวชี้วัดคล้าย ๆ กัน แต่ว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายโดยรวมของการเปลี่ยนผ่านและกระบวนของการเปลี่ยนผ่าน คล้ายกับกระบวนการหารือเชิงนโยบายชวนภาคส่วนทั้งภาคเอกชน หรือภาคส่วนอื่น ๆ มาใช้กระบวนการเพื่อะเชื่อมโยงกำหนดตรงนี้ด้วยกัน น่าจะสามารถข้ามช่องว่างต่าง ๆ ที่ผ่านซึ่งเป็นความหวัง นอกจากนี้ถ้าเราสามารถสร้างรูปธรรมแบบให้ตอบโจทย์ในเชิงความรู้ว่าขยับต่อไปอย่างไรย่อมดีกว่า เพราะถ้าคิดขยับแบบในเชิงทั้งระบบอาจจะเป็นสิ่งที่เรายังขาดความรู้หรือความสามารถที่จะทำแบบนั้นได้ 

ศ.สุริชัย กล่าวถึงความเป็นรูปธรรมอย่างโจทย์การใช้ความรู้ ขอใช้คำว่าการใช้ความรู้เผื่ออนาคต คืออาจจะเรียกว่า Science based คิดว่าคงไม่ปฏิเสธว่าเราอยากเห็นอนาคตที่มาจากความรู้ร่วมกันในสังคม ที่ผ่านมาคือเราอาจคุ้นเคยกับกลุ่มที่ใช้อำนาจอื่นที่ไม่ใช่อำนาจความรู้ไม่ใช่อำนาจของนักวิทยาศาสตร์จากหลักฐาน ขอเสนอว่าความท้าทายเเรกคือภาษาการถกของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  สองคือเรื่องอนาคตที่ไม่ถูกสนทนาร่วมกันเท่าที่ควร การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เรามองโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กว้างกว่าเดิมทั้งในแง่ของประโยชน์หน่วยงาน ของภาคส่วน ประเทศ ซึ่งจะช่วยขจัดความขัดแย้งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นได้ในที่สุด

การเสวนาทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากมุมมองของผู้ทำงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม จากบทสนทนาดังกล่าวย่อมสร้างผลต่อการขับเคลื่อนในอนาคตไม่มากก็น้อย ซึ่งการร่วมถกสนทนาเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความร่วมมือและหาทางออกร่วมกันแบ่งปัญหาวิธีการจัดการอุปสรรคที่เกิดขึ้น ด้วยเครื่องมือและความเชี่ยวชาญที่มีของแต่ละฝ่าย

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


อ่านสรุปจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะได้ : ที่นี่ 
รับชมวิดีโอบันทึกจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะ :  ที่นี่

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม จนถึงมิถุนายน ปี 2567

Last Updated on มิถุนายน 7, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น