SDG Vocab | 64 – Carbon Neutrality– ความเป็นกลางทางคาร์บอน

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นประเด็นที่ถกสนทนาและพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่องของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เนื่องจากก๊าซดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างต่อทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในแนวคิดของการลดคาร์บอนที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ ‘Carbon Neutrality’ หรือ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ ซึ่งหมายถึง การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์  (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ อธิบายว่า การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นอาจเป็นเป้าหมายระดับบุคคล องค์กร หรือประเทศ สามารถทำได้โดยการ “ลด” และ “ชดเชย” (lower & offset) การปล่อยคาร์บอนจนเป็นกลาง ซึ่งมาตรการ “ลด” การปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การลดหรือละกิจกรรมบางอย่างที่ไม่จำเป็น การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดขึ้น หรือการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม และหากยังมีการปล่อยคาร์บอนอยู่ ก็ชดเชยคาร์บอนที่ยังปล่อยอยู่ผ่านกิจกรรมที่ไปลดคาร์บอนที่อื่น เช่น การปลูกป่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต

ภายหลังการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 เมื่อปี 2564 ประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2593 โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ระบุว่าปัจจุบันส่วนงานที่จะเข้ามาช่วยในการดูดกลับคือภาคป่าไม้ ในการปลูกต้นไม้ ป่าชายเลน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งขณะนี้ไทยมีความสามารถในการดูดกลับอยู่ที่ 90 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในอนาคตต้องการเพิ่มปริมาณขึ้นให้ได้ 120 ล้านตันฯ เป็นอย่างน้อย ซึ่งหากเพิ่มการดูดกลับได้เป็น 120 ล้านตันฯ จะสามารถปล่อยก๊าซได้ 120 ล้านตันฯ ในปริมาณที่เท่ากัน เพื่อให้สามารถหักลบกันเป็นศูนย์ และเกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ ภายในปี 2593 

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– World Bank เผยปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ยังน่าห่วงเผชิญภาวะหยุดชะงัก – พร้อมชี้เศรษฐกิจหมุนเวียนคือหนึ่งในทางออก 
ธนาคารโลก เผยการท่องเที่ยวและการส่งออก ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปี 2567  – พร้อมได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
– รายงาน ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ จากภาคการขนส่งในเอเชีย ชี้หลักสำคัญ 6 ข้อ สู่พลังงานสะอาดในอนาคต
– สหราชอาณาจักรลงทุนขนานใหญ่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานคาร์บอนต่ำรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

คำศัพท์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

แหล่งที่มา 
– “Carbon neutrality” กับ “net zero emissions” ต่างกันอย่างไร? และมีความสำคัญอย่างไร? (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์)
 การตั้งเป้าหมายของไทยเพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางจากการประชุม COP26 (สอวช)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น