ดร.ศุภโชค วังมะนาวพิทักษ์
อย่างที่เราชาวโลกทราบกันดีว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) เร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะปีนี้ 2567 ยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องด้วยผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์โดยเฉพาะการผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม “การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” หรือ JET (Just Energy Transition) จึงถูกพูดถึงมากในทุกเวทีการประชุมนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน
การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมมีรากฐานที่มาจากความต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้พลังงานจากแหล่งที่มาที่มีปัญหา อาทิ ถ่านหินและน้ำมัน นโยบายการเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่สะอาด การสะสมความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ และการลดต้นทุนในการผลิตพลังงานทดแทนก็ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านนี้ นอกจากนั้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมยังเกี่ยวข้องกับการสร้างความยุติธรรมและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในการให้โอกาสแก่ทุกคนในการเข้าถึงพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานที่สามารถดำเนินต่อไปได้ในอนาคต การสร้างพื้นที่ทำงานใหม่ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้
กระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมที่น่าสนใจของประเทศไทย เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง หากยึดตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) แล้วนั้น โรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง มีแนวโน้มต้องลดกำลังการผลิตลงและจะปลดระวางอย่างสมบูรณ์ในปี 2593 ซึ่งหมายถึงเหมืองลิกไนต์ที่แม่เมาะก็จะต้องปิดตัวลงเช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ทั้งหมด 5 ตำบล 45 หมู่บ้าน รวมมีประชากรประมาณ 40,000 คนรวมไปถึงจังหวัดลำปาง ทั้งต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ประมาณ 15,000 ล้านบาท การจ้างงานในพื้นที่กว่า 9,000 คน และเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าปีละประมาณ 350 ล้านบาท ที่จะลดลงและหมดไป เป็นต้น เพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงมีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ผ่านการดำเนิน “โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่” (Mae Moh Smart City) ภายใต้แนวทาง ‘3 Smart’ ได้แก่ ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) โดยมุ่งหา Partnership ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการ นำ Innovation เข้ามาช่วยพัฒนาโครงการ และดำเนินการในรูปแบบ Ecosystem ให้แม่เมาะก้าวสู่เมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและให้ชุมชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งถือเป็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อเติบโต แข็งแรง ยั่งยืน คู่กับชุมชนไปด้วยกัน
หนึ่งในโครงการตามแนวทางด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ที่เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ คือ โครงการ “Biomass Co-Firing” คือการส่งเสริมให้ชุมชนนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ เช่น ซังข้าวโพด เศษไผ่จากการแปรรูปทำตะเกียบขาย เป็นต้น มาแปรรูปด้วยกระบวนการบดและอัดให้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด/แท่ง (Biomass Pellet) ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาด แล้วนำมาเผาไหม้ร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเพื่อผลิตไฟฟ้า นอกจากนั้น ยังมีโครงการ “ไม่เผา เราซื้อ” ที่จูงใจให้ชุมชนนำเศษชีวมวลประเภทอื่น ๆ เช่น ไม้ตัดแต่งกิ่งที่เผาทิ้งไม่มีมูลค่ามาขายให้กฟผ. ในจุดรับซื้อที่ประกาศ เพื่อนำมาอัดเม็ดเป็นเชื้อเพลิง Co-Firing ได้เช่นกัน โครงการเหล่านี้ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านการรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อันเกิดจากการกำจัดเศษวัสดุชีวมวลด้วยการเผาทิ้งในที่โล่งไปพร้อมกัน
โครงการ Biomass Co-Firing ที่ กฟผ. เป็นจุดเริ่มต้นการศึกษานี้ ยังสามารถขยายผลส่งต่อองค์ความรู้สนับสนุนให้ชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จัดตั้งโรงงานผลิต Biomass Pellet ด้วยตนเองได้ โดย กฟผ. ทำหน้าที่ช่วยผลักดันการขอใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ นอกจากนั้น กฟผ. ได้สร้าง Biomass Ecosystem ร่วมกับผู้ประกอบการเอกชนผู้เชี่ยวชาญในการผลิต Biomass Pellet เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ในการนำเศษชีวมวลทางการเกษตรประเภทเปลือกซังข้าวโพด เศษไม้ เศษไผ่ ตลอดจนส่งเสริมการปลูกไม้หรือโตเร็วในชุมชนพื้นที่แม่เมาะเพื่อนำมาใช้ผลิตอัดเม็ด Pellet เป็นเชื้อเพลิงแก่ตลาดอุตสาหกรรมภายในและส่งออกภายนอกประเทศด้วย โดยปันส่วนกำไรสุทธิจากผลประกอบการส่วนหนึ่งเข้าสู่มูลนิธิพัฒนาแม่เมาะเมืองน่าอยู่ เพื่อใช้สนับสนุน/ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ ในแม่เมาะ ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ของกฟผ. ต่อไป
กฟผ. แม่เมาะ ยังมุ่งเน้นสร้างโครงการที่ขับเคลื่อนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (S-Curve) หรือนับเป็น Big Project ที่มุ่งพัฒนาพื้นที่แม่เมาะให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดขนาดใหญ่ ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังงานหมุนเวียนจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่นำชีวมวลมาใช้เป็นเชื้อเพลิง นำไปสู่การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความพร้อมเป็นทุนเดิม จากนั้นต่อยอดไปถึงการขับเคลื่อนทั้งระดับจังหวัดและระดับภาค เหล่านี้จะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ภาคเหนือและประเทศไทยต่อไป
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ที่ www.egat.co.th/home/maemoh-pp/
เนตรธิดาร์ บุนนาค – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.3) เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คนพื้นเมือง เกษตรกรแบบ ครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร และปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาส สำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกฟาร์มอย่างปลอดภัยและเท่าเทียม ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.3) ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้ “หน่วยงานความรู้ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมของประเทศไทย” (Think Tank in Just Energy Transition)
Last Updated on มิถุนายน 11, 2024