อีก 134 ปีหรือห้าชั่วอายุคนกว่าโลกจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เผยแพร่รายงาน Global Gender Gap Report 2024 หรือรายงานสถานการณ์ช่องว่างระหว่างเพศระดับโลก ปี 2567 ฉบับที่ 18 ระบุว่า 2567 ปีแห่งการเลือกตั้งผู้นำทั่วโลก กำลังสร้างโอกาสความก้าวหน้าในการปิดช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลก ผ่านการส่งเสริมการเป็นตัวแทนของผู้หญิงให้เพิ่มขึ้นในแวดวงการเมือง
รายงานสถานการณ์ช่องว่างระหว่างเพศระดับโลก ประจำปี 2567 นำเสนอดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ (Global Gender Gap Index) จาก 146 ประเทศ โดยเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างเพศ 4 มิติ ได้แก่ 1. โอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (economic participation and opportunity) 2. การได้รับการศึกษา (educational attainment) 3. สุขภาพและการมีชีวิตรอด (health and survival) และ 4. อำนาจทางการเมือง (political empowerment)
รายงานข้างต้นมีประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้
- คะแนนช่องว่างระหว่างเพศระดับโลกปี 2567 จากการประเมินผล 146 ประเทศ พบมีความก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอยู่ที่ 68.5% เพิ่มขึ้น 0.1% เนื่องจากโอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แต่ยังถือว่าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
- ตั้งแต่มีการเปิดตัวดัชนีในปี 2549 และเมื่อเทียบกับอัตราความก้าวหน้าในปัจจุบัน พบว่าจะใช้เวลาถึง 134 ปี จึงจะบรรลุความเท่าเทียมทั้งหมดได้ ซึ่งช้ากว่าที่รายงานไว้ปีก่อนถึง 3 ปี และช้าเกินกว่าที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกำหนดไว้ ภายในปี 2573
- การประเมินดัชนีช่องว่างระหว่างเพศระดับโลกปี 2567 แสดงให้เห็นว่าแม้ไม่มีประเทศใดปิดช่องว่างระหว่างเพศได้สมบูรณ์ แต่ 97% ของประเทศที่ได้รับการประเมินจากรายงานชิ้นนี้ สามารถปิดช่องว่างได้มากกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีแรกของการประเมิน
- ตามดัชนีช่องว่างระหว่างเพศของโลกปี 2567 ยังไม่มีประเทศใดบรรลุความเท่าเทียมทางเพศอย่างสมบูรณ์ จากการประเมินประเทศที่ได้ 10 อันดับแรกอย่างประเทศไอซ์แลนด์ ยังคงครองอันดับ 1 โดยมีดัชนีอยู่ที่ 93.5% ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ปิดช่องว่างระหว่างเพศได้มากกว่า 90% ขณะที่อีก 8 อันดับ ได้แก่ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ สวีเดน นิการากัว เยอรมนี นามิเบีย และไอร์แลนด์ สามารถปิดช่องว่างระหว่างเพศได้มากกว่า 80% ขณะที่อันดับที่ 10 อย่างประเทศสเปน ปิดช่องว่างระหว่างเพศได้ถึง 79.7%
- ความคืบหน้าโดยรวมในปี 2567 พบว่าสามารถปิดช่องว่างระหว่างเพศด้านการได้รับการศึกษา 94.9% ได้มากที่สุด และไล่ลงมาตามลำดับ คือด้านสุขภาพและการมีชีวิตรอดได้ 96% ด้านโอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจได้ 60.5% และอำนาจทางการเมืองได้ 22.5%
- ขณะที่ ดัชนีความก้าวหน้าช่องว่างระหว่างเพศของประเทศไทยอยู่ที่ อันดับ 65 ขยับอันดับขึ้น 9 อันดับจากอันดับที่ 74 ในปี 2566 ด้วยคะแนน 0.720 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.009 คะแนน
แม้ผลของดัชนีช่องว่างระหว่างเพศปีนี้จะเพิ่มขึ้น แต่ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุความเท่าเทียมทางเพศ ภายในปี 2573 รายงานฉบับนี้จึงเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคธุรกิจต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนกรอบความคิดไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในทุกมิติ โดยเฉพาะแนวคิดทางเศรษฐกิจ เพราะความเท่าเทียมทางเพศถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเติบโตที่เท่าเทียมและยั่งยืน ซึ่งหากรัฐบาลและภาคธุรกิจร่วมกันผลักดันการปิดช่องว่างระหว่างเพศอาจบรรลุผลได้เร็วยิ่งขึ้น
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– Global Gender Gap Report 2023 ชี้อีก 131 ปี กว่าโลกจะมีความเท่าเทียมทางเพศ – ส่วนไทยติดอันดับที่ 74 ในการประเมินดัชนี
– ญี่ปุ่นพิจารณาให้บริษัทระบุข้อมูลรายได้เฉลี่ยตามเพศในรายงานประจำปี เพื่อลดช่องว่าง – สร้างความเท่าเทียม
– ILOSTAT เผยปี 2566 ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศยังคงสูง-แม้วุฒิการศึกษาเท่ากัน แต่ผู้หญิงก็ได้ค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย
– SDG Updates | อีก 135 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – สรุปรายงาน GLOBAL GENDER GAP REPORT 2021
– SDG Updates | บทบาท ‘ผู้หญิง’ ในพื้นที่ทางการเมือง ต้องเผชิญกับความท้าทายใดในเส้นทางนี้
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มบทบาทแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
แหล่งที่มา: Global Gender Gap Report 2024 – World Economic Forum
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย