SDG Index 2024 ไทยรั้งอันดับ 45 ของโลก ร่วงลงมาสองอันดับจากปีก่อน ส่วน SDG1 และ SDG4 อยู่ในสถานะบรรลุเป้าหมายแล้วคงเดิม

วันนี้ (17 มิถุนายน 2567) Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ได้เผยแพร่ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report) และ SDG Index ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นฉบับที่เก้าหลังจากเริ่มจัดทำและเผยแพร่ครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยถือได้ว่าเป็นการรายงานผลที่ให้ข้อมูลสถานการณ์ SDGs ที่เป็นปัจจุบันที่สุดอย่างต่อเนื่อง และเป็นการจัดอันดับผลการดำเนินงานด้าน SDGs ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก

ในปีนี้ รายงานข้างต้นเผยแพร่ในธีม “Urgent Reform of the United Nations Can Restore Global Progress on the Sustainable Development Goal” หรือ “การปฏิรูปอย่างเร่งด่วนขององค์การสหประชาชาติสามารถฟื้นฟูความก้าวหน้าระดับโลกต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เนื้อหาประกอบด้วยข้อค้นพบจากสถานการณ์ความก้าวหน้าและความถดถอยของการดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค ไปจนถึงบทสังเคราะห์ และข้อเสนอแนะจากคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ที่เหนี่ยวรั้งความมุ่งมั่นและความพยายามของทุกภาคส่วนเพื่อการบรรลุ SDGs ให้ทันภายในปี 2573

ภาพรวมสถานการณ์ SDGs ระดับโลก อย่างรวบรัดที่ปรากฏในจดหมายข่าว (press release) พบว่ามีประเด็นที่สำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่ 

  • โดยเฉลี่ยทั่วโลก พบว่ามีเพียง 16% ของเป้าหมายย่อย SDGs เท่านั้นที่จะสามารถบรรลุได้ในปี 2573 ขณะที่อีก 84% พบว่ามีข้อจำกัดหรือมีการพลิกกลับของความก้าวหน้า 
  • ความก้าวหน้าของ SDGs แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญในแต่ละกลุ่มประเทศ โดยกลุ่มประเทศนอร์ดิกยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในการบรรลุ SDGs ขณะที่กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) มีความก้าวหน้าที่แข็งแกร่งชัดเจน ส่วนกลุ่มประเทศที่ยากจนและเปราะบาง พบว่ามีความล่าช้าถอยหลังอยู่มาก 
  • การพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงเป็นความท้าทายในการลงทุนระยะยาว การปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระดับโลกจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าที่ผ่านมา
  • การจัดการความท้าทายระดับโลกต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลก โดยประเทศบาร์เบโดสเป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่นสูงสุดสำหรับความร่วมมือพหุภาคีตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีความมุ่งมั่นน้อยสุด
  • เป้าหมายย่อยของ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหารและที่ดินนั้นออกนอกเส้นทางที่จะบรรลุอย่างมาก โดยรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนปีนี้ได้นำเสนอ FABLE pathway เพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบอาหารและที่ดิน

การจัดอันดับ SDG Index ระดับโลก ปีนี้มีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 167 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (2566) ที่มีเพียง 166 ประเทศ โดยประเทศที่ติด Top 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เยอรมนี และฝรั่งเศส ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับสุดท้าย ประกอบด้วย เยเมน (อันดับ 163) โซมาเลีย (อันดับ 164) ชาร์ด (อันดับ 165) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (อันดับ 166) และซูดานใต้ (อันดับ 167) 

ส่วนประเทศไทย ปีนี้ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 45 ของโลก อันดับร่วงลงมา 2 อันดับจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่อันดับ 43 อย่างไรก็ตามคะแนนรวมยังคงเท่ากับปี 2566 คือ 74.7 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ซึ่งอยู่ที่ 66.5 คะแนน

หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน พบว่าประเทศไทยยังครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน (2562 – 2567) ตามมาด้วย เวียดนาม (อันดับ 54) สิงคโปร์ (อันดับ 65) อินโดนีเซีย (อันดับ 78) มาเลเซีย (อันดับ 79) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 92) บรูไนดารุซซาลาม (อันดับ 96) กัมพูชา (อันดับ 104) ลาว (อันดับ 119) และเมียนมา (อันดับ 120) ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่ามีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่มีอันดับก้าวหน้าขึ้นคือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุซซาลาม และเมียนมา ขณะที่อีก 6 ประเทศมีอันดับถดถอยลง ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และลาว 

นอกจากนี้ หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ พบว่าไทยรั้งอันดับที่ 3 เป็นรองจากญี่ปุ่น (อันดับ 18) และเกาหลีใต้ (อันดับ 33) 

ทั้งนี้ หากพิจารณาสถานะรายเป้าหมายเทียบของไทยในปีนี้กับปี 2566 มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้

  • เป้าหมายที่มีสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว (สีเขียว) สามารถบรรลุเป้าหมายได้ คือ SDG1 (ยุติความยากจน) และ SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) ซึ่งยังคงอยู่ในสถานะบรรลุเป้าหมายเดิมจากปี 2566 อย่างไรก็ดีค่าสีสถานะที่ปรากฏตามรายงานฉบับนี้พิจารณาจาก 2 ตัวชี้วัดที่มี ‘สถานะแย่ที่สุด’ ในเป้าหมายนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของทุกประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงรายละเอียดข้อมูลในระดับตัวชี้วัดเพิ่มเติม
  • เป้าหมายที่มีสถานะท้าทาย (สีส้ม) มีทั้งสิ้น 10 เป้าหมายเท่ากับปี 2566 ได้แก่ SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) SDG6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) SDG7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) SDG8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) SDG9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม) SDG10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) SDG11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) SDG12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) SDG13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และ SDG17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) อย่างไรก็ดี ปีนี้ SDG9 มีแนวโน้มอยู่ในทิศทางที่จะบรรลุได้ ขณะที่ SDG6 SDG7 และ SDG11 มีแนวโน้มค่อนข้างก้าวหน้า ส่วนอีก 6 เป้าหมายที่เหลือยังคงไม่คืบหน้า
  • เป้าหมายที่มีสถานะท้าทายมาก (สีแดง) มีทั้งสิ้น 5 เป้าหมายเท่ากับปี 2566 ได้แก่ SDG2 (ขจัดความหิวโหย) SDG3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) และ SDG16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง)
  • ปีนี้ไม่มีเป้าหมายใดของไทยอยู่ในสถานะยังคงมีความท้าทายบางส่วน (สีเหลือง)

SDG Move จะนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ของประเทศไทยตาม SDG Index เร็ว ๆ นี้


อติรุจ ดือเระ เเละแพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา : Sustainable Development Report (SDSN)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย 

Last Updated on มิถุนายน 18, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น