SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 1 – 2 ประจำเดือนมิถุนายน 2567

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  3 – 14 มิถุนายน 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

เลขาธิการสหประชาชาติ ประกาศเรียกร้องให้อุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ห้ามทำแคมเปญโฆษณาอย่างไร้ยางอายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศสั่งแบน เนื่องจากเป็นสาเหตุรุนแรงที่ทำโลกร้อนระยะยาว  ตามข้อมูลด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรประบุว่า การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่มีการปล่อยก๊าซเป็นเหตุทำให้โลกร้อนและสถิติอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ ดี ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ได้ทำแคมเปญโฆษณาอย่างไร้ยางอาย ถึงขั้นเรียกอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลว่า ‘เจ้าพ่อที่สร้างความโกลาหลให้กับสภาพอากาศ’ ที่อยู่มานานหลายทศวรรษ จึงได้ออกมาประณามและเรียกร้องอุตสาหกรรมที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

เข้าถึงได้ที่ : เลขาฯ UN เรียกร้องให้ทุกประเทศออกกฎห้ามอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลโฆษณา ชี้เป็นตัวการร้ายทำโลกร้อนรุนแรง –  thestandard

การประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 (77th World Health Assembly : WHA) ได้ประกาศรับมติ เรื่อง “การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” (Social Participation for UHC, Health and Well-being) ที่ประเทศไทยเสนอ ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยกว่า 30 ประเทศสมาชิกให้ความเห็นสนับสนุน เช่น บราซิล ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มประเทศเอเชียใต้-ตะวันออก 11 ประเทศ เป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทไทยในเวทีสุขภาพระดับโลก พร้อมเรียกร้องประเทศสมาชิก ให้อำนาจทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน และภาคประชาสังคม ให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพในทุกขั้นตอนของนโยบาย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเสมอภาค หลากหลาย และครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและคนชายขอบ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

เข้าถึงได้ที่ : สมัชชาอนามัยโลก ประกาศรับมติ “การมีส่วนร่วมของสังคม” ที่ไทยเสนอแล้ว! – The Active 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานการสำรวจโครงสร้างของครอบครัวที่ส่งผลต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงและผู้ชาย พบว่าผู้ใหญ่ในวัยทำงานหลัก คือผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปี เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเข้าร่วมในตลาดแรงงานมากที่สุด และเมื่อแยกตามเพศจะพบแนวโน้มที่แตกต่างกัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงช่องว่างที่มีอยู่ต่อเนื่องและมีความสำคัญระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย โดยในปี 2566 ผู้หญิงที่มีอายุ 25-54 ปี มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานเพียง 64.5% ส่วนผู้ชายอายุ 25-54 ปี มีส่วนร่วมถึง 92% ทำให้ช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงานของผู้ที่มีอายุ 25-54 ปี ทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ 27.5% ชี้ให้เห็นว่าองค์ประกอบของครัวเรือนมีอิทธิพลอย่างมากต่อช่องว่างระหว่างเพศ โดยเฉพาะเมื่อมีเด็กเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความรับผิดชอบในการดูแลเด็กมักตกเป็นภาระของผู้หญิงเนื่องจากบรรทัดฐานทางเพศที่เกิดขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.1 ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่ และเป้าหมายย่อยที่ 5.4 ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผ่านการให้บริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และ SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน 

เข้าถึงได้ที่ : สถิติระดับโลกชี้ ‘ผู้หญิงที่มีลูกเล็ก’ ถูกกีดกันใน ‘ตลาดแรงงาน’ – ประชาไท 

24 เครือข่ายประชาสังคมและภาคประชาชน ได้แถลงเปิดตัว “พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน” โดยเปิด 10 จุดอ่อน-ช่องโหว่ของร่าง พรบ.โลกร้อนฉบับรัฐบาล-พรรคการเมือง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องมีร่างภาคประชาชนฉบับนี้ มีสาระสำคัญ เช่น  ร่าง พรบ. ของรัฐบาลไม่ได้มีเจตจำนงค์ห่วงใยปกป้องโลกจากวิกฤติครั้งใหญ่ แต่มุ่งเพียงส่งเสริมธุรกิจรายใหญ่สู่เศรษฐกิจการค้าคาร์บอนตํ่าระหว่างประเทศ แต่ร่างฯ ของประชาชนกำหนดเจตนารมณ์ให้ประเทศไทยต้องปกป้องวิกฤติโลกร้อนและรักษาธรรมชาติ คุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ในฐานะผู้มีบทบาทรักษาระบบนิเวศเพื่อสร้างสมดุลทางสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสําคัญ โดยขั้นตอนต่อไป จะเปิดรณรงค์รวบรวม 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายโลกร้อนภาคประชาชนฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯเครือข่ายฯ ประกาศ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 13  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ

เข้าถึงได้ที่ : เปิดตัว “ร่าง พรบ.โลกร้อน ภาคประชาชน” พร้อม 10 ประเด็น “เหตุผลที่ต้องมี” –  greennews

โฆษกรัฐบาลเผยไทยประกาศความพร้อมทำสวนยางแบบไม่ทำลายป่า ผลักดันไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราชั้นนำของโลกที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR หวังก้าวสู่วิถีเกษตรแบบยั่งยืน เนื่องจากโครงการห่วงโซ่คุณค่าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าของ WTO เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ ในคณะกรรมการการค้าและสิ่งแวดล้อม (Committee on Trade and Environment : CTE) โดยระบุลำดับความสำคัญของประเทศ ด้านการค้าและความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการวิจัยและการปรึกษาหารือที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ รวมถึงมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้า เศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานทดแทน และห่วงโซ่มูลค่าที่ยั่งยืน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.2 ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจังและ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

เข้าถึงได้ที่ : ไทยประกาศความพร้อมทำสวนยางแบบไม่ทำลายป่า ตามกฎระเบียบ EUDR – ประชาไท 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on มิถุนายน 17, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น