วันพรุ่งนี้ (20 มิถุนายนของทุกปี) เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศซูดาน ปาเลสไตน์ และที่อื่น ๆ ส่งผลให้จำนวนคนพลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จนถึงสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally displaced people หรือ IDPs) ทั่วโลกอยู่ที่ 75.9 ล้านคนใน 116 ประเทศ เพิ่มขึ้นกว่า 4.8 ล้านคนจากปี 2565 ถือเป็นสถิติใหม่ โดยในจำนวนนี้ 68.3 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นเหตุจากปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง และ 7.7 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบเหตุจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ฤดูมรสุม และน้ำท่วม ซึ่งสถิติแสดงให้เห็นว่าปัจจัยความขัดแย้งและภัยพิบัติยังเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดการพลัดถิ่นเพิ่มขึ้น
ตามรายงาน Global Report on Internal Displacement 2024 ได้ระบุว่าในซูดาน เพียงในประเทศเดียวมีจำนวนผู้พลัดถิ่น 9.1 ล้านคนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นจำนวนผู้พลัดถิ่นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา นับตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกในปี 2551 และในช่วงปี 2566 พบผู้พลัดถิ่นภายในประเทศถึง 6 ล้านคนในประเทศซูดานนั้น ล้วนมีสาเหตุมาจากความขัดแย้ง ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเป็นอันดับสองจากที่เคยจดบันทึกมา รองมาจากยูเครน 16.9 ล้านคนในปี 2565 ขณะที่ในฉนวนกาซา ศูนย์เฝ้าติดตามสถานการณ์การพลัดถิ่นภายในประเทศ (IDMC) รายงานว่ามีจำนวนผู้พลัดถิ่นถึง 3.4 ล้านคนในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2566 คิดเป็นร้อยละ 17 ของการพลัดถิ่นที่เกิดจากเหตุความขัดแย้งทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ที่ต้องพลัดถิ่นภายในประเทศอันมีปัจจัยมาจากความขัดแย้งและความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 22.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 49 โดยเพิ่มขึ้นสูงสุดสองครั้งคือช่วงปี 2565 และ 2566 ส่วนอีก 7.7 ล้านคนเป็นผู้พลัดถิ่นจากภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดอันดับสองนับตั้งแต่ศูนย์เฝ้าติดตามสถานการณ์การพลัดถิ่นภายในประเทศเริ่มบันทึกตัวชี้วัดนี้ในปี 2562
นอกจากนี้ในปี 2566 มีผู้ที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานถึง 46.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีปัจจัยมาจากความขัดแย้งและความรุนแรง 20.5 ล้านคน ส่วนปัจจัยจากภัยพิบัติอย่างน้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว ไฟป่า และภัยพิบัติอื่น ๆ นั้นทำให้เกิดการพลัดถิ่น 26.4 ล้านคน ซึ่งเป็นยอดรวมที่สูงที่สุด เป็นอันดับ 3 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
ภาพจาก: Global Report on Internal Displacement 2024
จากทั้งหมด 148 ประเทศและดินแดนที่ได้รายงานการพลัดถิ่นจากภัยพิบัติ รวมถึงประเทศรายได้สูง (high income country) เช่น แคนาดา และนิวซีแลนด์ พบตัวเลขการรายงานที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจาก ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เกิดจากภัยพิบัติที่บ่อยและรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น เหตุการณ์พายุไซโคลนโมคาในมหาสมุทรอินเดีย พายุเฮอร์ริเคนโอทิสในเม็กซิโก และไฟป่าในแคนาดาและกรีซเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ด้วยเหตุภัยพิบัติจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change-related disasters) เหล่านี้ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการจัดการและผลักดันการแก้ไขปัญหาการพลัดถิ่นอย่างเร่งด่วน
Alexandra Bilak ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าติดตามสถานการณ์การพลัดถิ่นภายในประเทศกล่าวว่า “ไม่มีประเทศใดที่สามารถรอดพ้นการพลัดถิ่นจากภัยพิบัติได้…แต่เราสามารถเห็นความแตกต่างได้ว่าการพลัดถิ่นส่งผลกระทบต่อผู้คนในประเทศที่เตรียมการและวางแผนและประเทศที่ไม่ได้เตรียมการนั้นต่างกันอย่างไร…”
จากรายงาน IDMC แสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศและดินแดน ต้องตระหนักถึงประเด็นการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่มีความสัมพันธ์มาจากความขัดแย้งและภัยพิบัติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ‘ผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ (Climate refugees) ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมาตรการที่ช่วยในการลดผลกระทบหรือปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
– “hope away from home” แม้อยู่ไกลบ้าน แต่ยังมีหวัง – ชวนติดตามกิจกรรมและชมภาพยนตร์ใน ‘วันผู้ลี้ภัยโลก’
– The Reprise Project เวิร์กชอปทักษะตัดเย็บให้ผู้ลี้ภัย และเปลี่ยนเสื้อผ้ามือสองให้กลายเป็นแฟชั่นผู้ชายฝรั่งเศส
– ‘ทีมผู้ลี้ภัย’ ในโตเกียวโอลิมปิก 2020 สัญลักษณ์ของความหวังและการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในเกมกีฬา
– ผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate refugees): ประเด็นใกล้ตัวที่โลกยังตระหนักถึงน้อยเกินไป
– Leave no one behind: ทำไมผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยถึงควรได้รับการฉีดวัคซีนเหมือนกัน
– SDG Recommends | ขึ้นเรือแห่งความตายไปพร้อมกับผู้ลี้ภัยสงครามชาวซีเรีย ในชุดภาพถ่าย ‘Journey in the Death Boat’
– SDG Updates | Climate Migration ไม่ว่าใครก็อาจต้อง ‘ย้ายบ้าน’ เมื่อภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไม่มีที่อยู่
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.7) อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นระเบียบ ปลอดภัย ปกติ และมีความรับผิดชอบ รวมถึงให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนลดความสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจเทียบเคียงกับGDP ของโลก ที่เกิดจากภัยพิบัติ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก โดยให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนชายขอบ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
แหล่งที่มา: 2024 Global Report on Internal Displacement (GRID) – IDMC
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย