Editor’s Pick 08 | ครึ่งปี 2567 การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs ยังท้าทาย โดยเฉพาะสุขภาพและการศึกษาของเด็กที่เสี่ยงวิกฤติหลายประเด็น พร้อมชวนสำรวจข้อค้นพบจาก SDG Report 2024

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เดินทางเข้าสู่เดือนครึ่งปี 2567 กันแล้ว การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะการพัฒนา ดูแล และปกป้องเด็กและเยาวชน ทั้งมิติด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เพราะเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ศกนี้ มีรายงานระดับโลกหลายฉบับที่เปิดเผยข้อมูลว่าเด็กกำลังเผชิญกับความเสี่ยงในการดำรงชีวิต ทั้งขาดแคลนอาหาร หิวโหย และเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา 

นอกจากนี้ ห้วงสองเดือนนี้ยังนับว่าเป็นช่วงเวลาของการเผยแพร่รายงานประจำปีสำคัญที่เกี่ยวกับ SDGs อย่างน้อย 2 ฉบับ คือ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report)” หรือ SDG Index ประจำปี 2567 และผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ “THE Impact Rankings” ประจำปี 2567

จดหมายข่าวฉบับนี้ ได้รวบรวมสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในรอบสองเดือนนี้แบบกระชับ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข่าวสารหรือบทความ พร้อมอัปเดตเรื่องราวสำคัญและแนะนำสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาให้ทุกท่านรอติดตาม 

เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 ส่วน

  • Editor’s note: ข้อความจากบรรณาธิการ หยิบยกประเด็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs 
  • Highlight issues: อัปเดตข่าวสาร ความเคลื่อนไหวสำคัญ แนะนำคอลัมน์คัดสรรที่อยากให้ทุกคนอ่าน
  • Our Activities: แนะนำกิจกรรมสำคัญที่ SDG Move และเครือข่ายได้ดำเนินการในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • Upcoming event: แนะนำกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและอยากชวนทุกคนติดตามกิจกรรมน่าสนใจในแวดวง SDGs ที่กำลังจะเกิดขึ้น


Editor’s note

ครึ่งปี 2567 SDG Move ยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อวิจัย ติดตามความเคลื่อนไหว และขับเคลื่อนการบรรลุ SDGs อย่างไรก็ตามเราค้นพบว่าไทยและโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลายประเด็น และต้องอาศัยการทำงานแบบข้ามภาคส่วนและบูรณาการศาสตร์เพื่อจัดการกับข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง โดยเฉพาะความร่วมมือด้านข้อมูล ความรู้ และงบประมาณซึ่งมีส่วนจำเป็นอย่างยิ่งในการเติมเต็มช่องว่างการดำเนินการ

สำหรับประเด็นสำคัญที่น่าติดตามอย่างยิ่งในห้วงเดือนนี้คือ SDG Index 2024 ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา หากลองสำรวจข้อมูลจะพบว่าปีนี้มีประเทศได้รับการจัดอันดับเพิ่มมาหนึ่งประเทศเป็น 167 ประเทศ จากเดิมปี 2566 มีทั้งสิ้น 166 ประเทศ โดยปีนี้ไทยยังคงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน อันดับที่ 3 ของเอเชีย ด้วยคะแนนรวม 74.7 คะแนน แต่ร่วงลงมาสองอันดับจากอันดับโลก จากที่ 43 ในปี 2566 มาเป็นอันดับที่ 45 ในปีนี้ สะท้อนว่าทิศทางการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs แม้ยังไม่มีก้าวหน้ามากแต่ก็พยายามรักษาความคงที่และความสม่ำเสมอ สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อน SDGs ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งปีนี้มหาวิทยาลัยไทยขยับมาติดอันดับ Top 100 ของโลกในการจัดอันดับ THE Impact Rankings 2024 ได้มากถึง 4 มหาวิทยาลัย สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างขันแข็งเพื่อมีส่วนร่วมกับการบรรลุ SDGs 

ชวนอ่าน Updates กระแสโลก

SDG Insights | สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) คืออะไร?
แล้วทำไมจึงสำคัญต่อความยั่งยืน

‘สุขภาพหนึ่งเดียว’ หรือ One Health เป็นแนวคิดที่อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน มองทุกชีวิตรวมเป็นสุขภาพอันหนึ่งอันเดียว เนื่องจากตระหนักได้ว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่ โดยแต่ละองค์ประกอบของระบบนิเวศล้วนมีกิจกรรม และหน้าที่แตกต่าง ดังนั้น หากหนึ่งในสามขององค์ประกอบนี้เกิดปัญหา อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพขององค์ประกอบอื่น ๆ ตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทยหนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญของการนำแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวมาใช้ในการควบคุมโรคในประเทศไทย คือการจัดการกับการระบาดของโรค ‘ไข้หวัดนก’ (avian influenza หรือ avian flu) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คน โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึง 2549 ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงในประเทศไทย โรคไข้หวัดนกมีต้นตอจากไวรัสที่แพร่กระจายจากสัตว์ปีกสู่มนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกที่มีการเลี้ยงในพื้นที่แออัด ซึ่งส่งผลให้ไวรัสแพร่กระจายได้ง่าย ความแออัดและการจัดการที่ไม่ถูกสุขลักษณะทำให้ไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว 

อ่านบทความฉบับเต็ม และอินโฟกราฟิกเข้าใจง่ายได้ที่นี่

ชวนอ่านรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report) และ SDG Index ประจำปี 2567 

วันที่ 17 มิถุนายน 2567 Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ได้เผยแพร่ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report) และ SDG Index ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นฉบับที่เก้าหลังจากเริ่มจัดทำและเผยแพร่ครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยถือได้ว่าเป็นการรายงานผลที่ให้ข้อมูลสถานการณ์ SDGs ที่เป็นปัจจุบันที่สุดอย่างต่อเนื่อง และเป็นการจัดอันดับผลการดำเนินงานด้าน SDGs ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก

ภาพรวมสถานการณ์ SDGs ระดับโลก อย่างรวบรัดที่ปรากฏในจดหมายข่าว (press release) พบว่ามีประเด็นที่สำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่ 

  • โดยเฉลี่ยทั่วโลก พบว่ามีเพียง 16% ของเป้าหมายย่อย SDGs เท่านั้นที่จะสามารถบรรลุได้ในปี 2573 ขณะที่อีก 84% พบว่ามีข้อจำกัดหรือมีการพลิกกลับของความก้าวหน้า 
  • ความก้าวหน้าของ SDGs แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญในแต่ละกลุ่มประเทศ โดยกลุ่มประเทศนอร์ดิกยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในการบรรลุ SDGs ขณะที่กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) มีความก้าวหน้าที่แข็งแกร่งชัดเจน ส่วนกลุ่มประเทศที่ยากจนและเปราะบาง พบว่ามีความล่าช้าถอยหลังอยู่มาก 
  • การพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงเป็นความท้าทายในการลงทุนระยะยาว การปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระดับโลกจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าที่ผ่านมา
  • การจัดการความท้าทายระดับโลกต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลก โดยประเทศบาร์เบโดสเป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่นสูงสุดสำหรับความร่วมมือพหุภาคีตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีความมุ่งมั่นน้อยสุด
  • เป้าหมายย่อยของ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหารและที่ดินนั้นออกนอกเส้นทางที่จะบรรลุอย่างมาก โดยรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนปีนี้ได้นำเสนอ FABLE pathway เพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบอาหารและที่ดิน

การจัดอันดับ SDG Index ระดับโลก ปีนี้มีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 167 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (2566) ที่มีเพียง 166 ประเทศ โดยประเทศที่ติด Top 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เยอรมนี และฝรั่งเศส ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับสุดท้าย ประกอบด้วย เยเมน (อันดับ 163) โซมาเลีย (อันดับ 164) ชาร์ด (อันดับ 165) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (อันดับ 166) และซูดานใต้ (อันดับ 167) 

ส่วนประเทศไทย ปีนี้ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 45 ของโลก อันดับร่วงลงมา 2 อันดับจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่อันดับ 43 อย่างไรก็ตามคะแนนรวมยังคงเท่ากับปี 2566 คือ 74.7 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ซึ่งอยู่ที่ 66.5 คะแนน

ชวนสำรวจ THE Impact Rankings 2024

วันที่ 12 มิถุนายน 2567 Times Higher Education (THE) องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก จากประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ “THE Impact Rankings” ประจำปี 2567

ภาพรวมอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก : ปีนี้มีมหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้น 2,152 แห่ง จาก 125 ประเทศ (เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีมหาวิทยาลัยร่วมจัดอันดับ 1,591  แห่ง) โดยมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 1,963 เเห่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรก ได้เเก่

อันดับที่ 1 Western Sydney University (ออสเตรเลีย)
อันดับที่ 2 University of Manchester (สหราชอาณาจักร) และ University of Tasmania (ออสเตรเลีย)
อันดับที่ 4 Aalborg University (เดนมาร์ก)
อันดับที่ 5 RMIT University (ออสเตรเลีย)

ภาพรวมอันดับมหาวิทยาลัยในไทย : ปีนี้ มหาวิทยาลัยจากประเทศไทยส่งข้อมูลและได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 77 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 65 เเห่ง เมื่อปี 2566 เเละ 51 เเห่ง เมื่อปี 2565 โดยพบว่ามีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชมงคลจากจังหวัดต่าง ๆ นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญของภาควิชาการในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อน SDGs โดยมหาวิทยาลัยที่ติด Top 100 ของโลก มีทั้งสิ้น 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่

  • มหาวิทยาลัยมหิดล (อันดับ 19 ของโลก)
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อันดับ 43 ของโลก)
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อันดับ 75 ของโลก)
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อันดับ 81 ของโลก)


Highlight Issues

จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงเดือนพฤษภาคม จนถึง มิถุนายน 2567 พบว่ามีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้

ระดับนานาชาติ

  1. สถิติใหม่ ชี้มีผู้พลัดถิ่นในประเทศสูงขึ้น เป็นประวัติการณ์ถึง 75.9 ล้านคนทั่วโลก เหตุจากความขัดแย้ง-ภัยพิบัติวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศซูดาน ปาเลสไตน์ และที่อื่น ๆ ส่งผลให้จำนวนคนพลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จนถึงสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally displaced people หรือ IDPs) ทั่วโลกอยู่ที่ 75.9 ล้านคนใน 116 ประเทศ เพิ่มขึ้นกว่า 4.8 ล้านคนจากปี 2565 ถือเป็นสถิติใหม่ โดยในจำนวนนี้ 68.3 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นเหตุจากปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง และ 7.7 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบเหตุจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ฤดูมรสุม และน้ำท่วม ซึ่งสถิติแสดงให้เห็นว่าปัจจัยความขัดแย้งและภัยพิบัติยังเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดการพลัดถิ่นเพิ่มขึ้น
  2. World Bank ชี้เอเชียตะวันออก-แปซิฟิก เผชิญอุปสรรคด้านสิ่งแวดล้อม-ภูมิรัฐศาสตร์ แต่ยังรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
    ธนาคารโลก (World Bank: WB) เผยแพร่ “รายงานอัปเดตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับเดือนเมษายน 2567” (East Asia and Pacific April 2024 Economic Update) ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก แต่ยังคงต่ำกว่าอัตราการเติบโตของช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้การค้าโลกจะฟื้นตัวและสภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย แต่การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นและความไม่แน่นอนของนโยบายยังเป็นผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเติบโตน้อย ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ จะลดลงเหลือ ร้อยละ 4.5 จากร้อยละ 5.1 ในปีที่แล้ว  แต่รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้ ได้ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกําลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ยกเว้นจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.2 เเละมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับปานกลางลดลงถึงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  3. อิสราเอลโจมตีราฟาห์ คร่าชีวิต 45 ราย ซ้ำเติมสถานการณ์สุขภาพ-มนุษยธรรม ย่ำแย่กว่าเดิม  UNRWA ชี้ “หยุดยิง” คือทางออกที่เร่งด่วน 
    วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 อิสราเอลโจมตีทางอากาศค่ายพักพิงของชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นในเขตพื้นที่ราฟาห์ (Rafah) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) ระบุว่าผู้บาดเจ็บจำนวนมากได้รับบาดเจ็บจากแผลไฟไหม้ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แต่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์กำลังขาดแคลนอย่างมากในพื้นที่นี้ สถานการณ์ด้านสุขภาพและมนุษยธรรมในพื้นที่ราฟาห์มีความน่ากังวลหลายเรื่อง เช่น การขาดแคลนน้ำมันและเชื้อเพลิง การตัดสินใจทางการแพทย์ที่ยากลำบาก เเละโรคและความหิวโหยที่เพิ่มขึ้น 
  4. แอมเนสตี้ เผยสถานการณ์โทษประหารชีวิตปี  2566 สถิติทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% สูงสุดรอบ 10 ปี โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง
    แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (amnesty international) เผยแพร่ ‘รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในปี 2566’ ระบุว่าปี 2566 เป็นปีที่มีการประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบทศวรรษ และเพิ่มขึ้นอย่างมากในตะวันออกกลาง จากข้อมูลมีการประหารชีวิตทั้งหมด 1,153 ครั้ง ไม่รวมการประหารชีวิตในจีนที่เชื่อว่าเกิดขึ้นหลายพันครั้ง โดยเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2565 จาก 883 ครั้ง ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่มีการบันทึกได้หลังจากปี 2558 ที่มีการประหารชีวิต 1,634 ครั้ง แม้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนประเทศที่มีการประหารชีวิตกลับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
  5. UN Civil Society Conference 2024 – ภาคประชาสังคมร่วมมือขับเคลื่อน SDGs หวังใช้ความรู้และเครือข่ายโน้มน้าวรัฐบาลร่วมดำเนินการ
    วันที่ 9 – 10 พฤษภาคม 2567 องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ได้จัดการประชุม ‘การประชุมภาคประชาสังคมแห่งสหประชาติ’ (The United Nations Civil Society Conference) ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่การประชุมดังกล่าวถูกจัดในทวีปแอฟริกา โดยครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมที่หลากหลาย ทั้งจากภาคประชาสังคม ผู้แทนรัฐบาลต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ เยาวชนผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ภาควิชาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ Amina Mohammed รองเลขาธิการยูเอ็น เน้นย้ำว่าผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคมนั้นมีความมุ่งมั่นอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยในการขยับขับเคลื่อนเป้าหมายของยูเอ็น พวกเขาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมโลก ยุติธรรมทางสังคม และความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (climate justice) อีกทั้งยังยืนหยัดดำเนินการเพื่อสันติภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการเคียงข้างอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับผู้เปราะบางและคนชายขอบ

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ

UN Civil Society Conference 2024 – ภาคประชาสังคมร่วมมือขับเคลื่อน SDGs หวังใช้ความรู้และเครือข่ายโน้มน้าวรัฐบาลร่วมดำเนินการ

ประเทศไทย

  1. เด็กไทยกว่า 10 ล้านคน เผชิญคลื่นความร้อนถี่ขึ้น – ยูนิเซฟ ชี้ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น และให้เด็กมีส่วนร่วมแก้ปัญหา
    วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand)  ชี้ว่าคลื่นความร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสำหรับเด็ก ๆ ในประเทศไทยและทั่วโลก เนื่องจากร่างกายของเด็กปรับอุณหภูมิได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ การเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ของเด็ก เช่น โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยทารกและเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมากที่สุด นอกจากนี้ คลื่นความร้อนและวิกฤตสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการพื้นฐานของเด็ก ๆ เช่น บริการทางสุขภาพ การศึกษา หรือการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด
  2. สำรวจ ‘10 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ’ จากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2567 พบหลายภัยเงียบใกล้ตัวสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดทำ  “รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2567 ” ซึ่งเป็นการรวบรวมประเด็นสำคัญทางสุขภาพและสังคมของปี โดยนำเสนอ 11  ตัวชี้วัดสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อสุขภาพคนไทยในมิติต่าง ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสุขภาพของประชาชน และ 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ รวมถึง 4 ผลงานดี ๆ เพื่อสุขภาพคนไทย และบทความพิเศษเรื่อง “ความเครียด ภัยเงียบของสังคมไทย” ซึ่งเป็นการรวบรวมประเด็นสำคัญทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อเป็นประโยชน์และแนวทางในการแก้ปัญหาสุขภาพได้อย่างยั่งยืนต่อไปwa
  3. รายงานพิเศษ กสศ. ชี้เด็กไทยกว่า 1.02 ล้านคน หลุดออกนอกระบบการศึกษา พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
    ‘รายงานพิเศษความจริงและความเร่งด่วน ของสถานการณ์เด็กนอกระบบในประเทศไทย’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นรายงานที่ประมวลงานวิจัย องค์ความรู้ และข้อค้นพบในพื้นที่ร่วมกับภาคีทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 – 2567 เพื่อผลักดันและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ซึ่งพบเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 3 – 18 ปี หรือเทียบเท่าระดับอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 กว่า 1.02 ล้านคน ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาหรือหลุดจากระบบการการศึกษา โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กอยู่ในครัวเรือนที่มีการอพยพแรงงานเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
  4. เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 1 ใน 10 คน กำลังเผชิญความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง ยูนิเซฟชี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยให้เด็กเข้าถึงอาหารมากขึ้น
    วันที่ 6 มิถุนายน 2567 ยูนิเซฟ เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ชื่อ “Child Food Poverty: Nutrition Deprivation in Early Childhood” ซึ่งเป็นรายงานฉบับแรกที่วิเคราะห์ผลกระทบและสาเหตุการขาดแคลนอาหารของเด็กเล็กในเกือบ 100 ประเทศทั่วโลกและในทุกกลุ่มรายได้ โดยมีเกณฑ์การจำแนกความยากจนทางอาหารของเด็กเป็น 3 ส่วน คือ 1) ความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง หมายถึง เด็กรับประทานอาหารเพียง 0-2 หมู่ต่อวัน 2) ความยากจนทางอาหารขั้นปานกลาง หมายถึง เด็กรับประทานอาหารเพียง 3-4 หมู่ต่อวัน และ 3) เด็กรับประทานอาหารอย่างน้อย 5 หมู่ต่อวัน จะไม่จัดอยู่ในความยากจนทางอาหาร โดยข้อค้นพบระดับโลกที่ปรากฏในรายงานข้างต้น เช่น 1 ใน 4 ของเด็กทั่วโลกต้องเผชิญกับความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง โดยในจำนวนดังกล่าวมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่มากถึง 181 ล้านคน และเอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีเด็กยากจนด้านอาหารขั้นรุนแรงอาศัยอยู่มากที่สุดกว่า 64 ล้านคน
  5. เปิดตัว “ร่าง พรบ.โลกร้อน ภาคประชาชน” อย่างเป็นธรรม-ยั่งยืน ปิดจุดอ่อนและช่องโหว่ของรัฐ
    24 เครือข่ายประชาสังคมและภาคประชาชน ได้แถลงเปิดตัว “พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน” โดยเปิด 10 จุดอ่อน-ช่องโหว่ของร่าง พรบ.โลกร้อนฉบับรัฐบาล-พรรคการเมือง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องมีร่างภาคประชาชนฉบับนี้ มีสาระสำคัญ เช่น  ร่าง พรบ. ของรัฐบาลไม่ได้มีเจตจำนงค์ห่วงใยปกป้องโลกจากวิกฤติครั้งใหญ่ แต่มุ่งเพียงส่งเสริมธุรกิจรายใหญ่สู่เศรษฐกิจการค้าคาร์บอนตํ่าระหว่างประเทศ แต่ร่างฯ ของประชาชนกำหนดเจตนารมณ์ให้ประเทศไทยต้องปกป้องวิกฤติโลกร้อนและรักษาธรรมชาติ คุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ในฐานะผู้มีบทบาทรักษาระบบนิเวศเพื่อสร้างสมดุลทางสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสําคัญ โดยขั้นตอนต่อไป จะเปิดรณรงค์รวบรวม 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายโลกร้อนภาคประชาชนฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯเครือข่ายฯ ประกาศ

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ


Our Activities


Upcoming event

เวทีการสัมมนาเรื่อง แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP 2024: ประเทศไทยกับทางแยกที่ต้องเลือก

ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดงาน สัมมนาเรื่อง “แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP 2024: ประเทศไทยกับทางแยกที่ต้องเลือก”

เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุย และการสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณะ ให้สามารถเข้าใจเชื่อมโยงผลกระทบของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าต่อตนเองได้ อันจะนำไปสู่การร่วมขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีมีส่วนร่วมและมีความเป็นธรรม

การสัมมนาจัดในวันที่ 4 กรกฏาคม 2567 เวลา 09.00-12.00 น.  ผ่านระบบ Zoom meeting

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://shorturl.asia/FhNyu


อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on กรกฎาคม 11, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น