องค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) รายงานว่ามีผู้คนมากกว่าสามล้านคนต่อปี เสียชีวิตเหตุจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด จากตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตนี้ มีสาเหตุมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 2.6 ล้านคนในปี 2562 หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของการเสียชีวิตทั้งหมดปีนั้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดมาจากภูมิภาคยุโรปและแอฟริกา
รายงานฉบับใหม่ขององค์การอนามัยโลก เรื่อง “Global status report on alcohol and health and treatment of substance use disorders” ระบุว่าการเสียชีวิตเหตุจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ชาย โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 20-39 ปี โดยอัตราการเสียชีวิตสูงสุดส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย รองลงมาคือประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำในประเทศที่มีรายได้สูง โดยประเทศที่มีรายได้น้อยรายงานว่ามีทรัพยากรไม่เพียงพอ สำหรับนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่สามารถติดตามการบริโภคเครื่องดื่มและอันตรายจากแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนานโยบายแอลกอฮอล์
ขณะที่ประเด็นการใช้สารเสพติดพบว่าความครอบคลุมการรักษาความผิดปกติของการใช้สารเสพติดยังคงมีอัตราที่ต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งสัดส่วนของผู้ได้รับการบำบัดการใช้สารเสพติดน้อยกว่าร้อยละ 1 และไม่เกินร้อยละ 35 จากประเทศที่ได้รายงานข้อมูล โดยประเทศส่วนใหญ่จากทั้งหมด 145 ประเทศที่รายงานข้อมูลไม่มีงบประมาณหรือข้อมูลเกี่ยวกับรายจ่ายของรัฐในเรื่องการรักษาความผิดปกติของการใช้สารเสพติด
อย่างไรก็ดี มีผู้คนประมาณ 400 ล้านคนทั่วโลกที่ตกอยู่กับความผิดปกติจากการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด บุคคลเหล่านี้มากกว่าครึ่งหนึ่งติดแอลกอฮอล์ ซึ่งจากสำรวจผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์พบว่าจะดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยสองครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเป็นอันตรายต่อชีวิต ขณะที่ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 38 ดื่มแอลกอฮอล์ครั้งละ 4-5 แก้วหรือมากกว่านั้นในบางเดือน ซึ่งถือเป็นปริมาณการดื่มที่หนัก โดยภูมิภาคที่มีระดับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวสูงที่สุด คือภูมิภาคยุโรปและภูมิภาคอเมริกา
ส่วนประเทศไทยมีปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวประชากร 8.3 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนเท่ากับประเทศเวียดนาม และรองจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 10.4 ลิตร ต่อคนต่อปี ส่วนการดื่มสุรานอกระบบภาษี ประชากรไทยดื่มสุรานอกระบบภาษีในสัดส่วน ร้อยละ 20.56 ของปริมาณการดื่มทั้งหมดซึ่งตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 39.8 ของปริมาณการดื่มทั้งหมด เป็นตัวเลขที่ยังถือว่าน่าเป็นห่วงหากไม่มีมาตรการดูแลและควบคุมอย่างครอบคลุม
ด้วยเหตุดังกล่าว องค์การอนามัยโลก มีความกังวลเรื่องสุขภาพของประชากรทั่วโลก รายงานฉบับนี้ จึงพยายามกระตุ้นให้ทั่วโลกเห็นถึงสถานการณ์และปัญหาของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด เพื่อเร่งให้ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.5 ประเด็นการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีและเท่าเทียมกันให้ผู้คนในสังคมโลก
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– UN เรียกร้องให้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปิดศูนย์กักกันและบำบัดการใช้ยาเสพติดแบบบังคับ
– โควิด-19 เพาะเชื้อให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาใช้ยาเสพติดมากขึ้น ส่วนคนขายปรับตัว ขายออนไลน์-ส่งไปรษณีย์
– รายงานฉบับใหม่ของ UNODC ชี้ยาบ้าในอาเซียนราคาถูกลง เข้าถึงง่ายขึ้น ส่งผลให้การค้าและเสพขยายตัวสูงต่อเนื่อง
– SDG Updates | ภาพรวมสถานการณ์ยาเสพติดโลกกับผลกระทบที่มีต่อ SDGs
– SDG Insights | “Harm Reduction” การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด – มุ่งสร้างสังคมปลอดภัยและยั่งยืน แสวงหาความช่วยเหลือที่หลากหลายใช้ได้จริง
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.5) เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.8) ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันของธรรมาภิบาลระดับโลก
แหล่งที่มา:
– Over three million preventable deaths per year due to alcohol and drug use – un news
– ThaiHealth Watch 2024 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2567 – thaihealth
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย