UN เผยแพร่สารสำคัญ VNR ปี 2567 – ออสเตรีย เสนอการพัฒนาทักษะเพื่อช่วยบรรลุ SDGs ด้านลาว เน้นบทเรียนการขับเคลื่อน SDGs ระดับท้องถิ่น 

วันที่ 14 มิถุนายน 2567 สำนักงานเลขาธิการสหประประชาชาติ ได้เผยแพร่บันทึก ‘E/HLPF/2024/5’ ซึ่งรวบรวมสารสำคัญ (main message) ของ 37 ประเทศที่จะนำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNR)  ในการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 17 กรกฎาคม 2567 

การนำเสนอ VNR จัดขึ้นเพื่อประเทศต่าง ๆ ได้แบ่งปันประสบการณ์ระดับชาติ ความสำเร็จ ความท้าทาย และบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำงานขับเคลื่อน SDGs ให้สำเร็จของแต่ละประเทศ โดยสารสำคัญเปรียบเสมือนภาพรวมโดยสังเขปของเอกสารทบทวนการดำเนินงานพัฒนาที่ครอบคลุมและครบถ้วน เพื่อรายงานความพยายามบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่าง ๆ ที่จะนำเสนอในการประชุม HLPF

ปีนี้มีประเทศที่จะเข้าร่วมนำเสนอ VNRs ทั้งสิ้น 37 ประเทศ ดังนี้ 

  • ประเทศที่เข้าร่วมนำเสนอเป็นครั้งแรกมี 2 ประเทศ ได้แก่ ซูดานใต้ และ เยเมน 
  • ประเทศที่ร่วมนำเสนอเป็นครั้งที่ 2 มี 16 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลีซ บราซิล คองโก อิเควทอเรียลกินี เอริเทรีย กินี ลิเบีย มอริเชียส มอริเตเนีย โอมาน ปาเลา หมู่เกาะโซโลมอน แอฟริกาใต้ ซีเรีย และวานูอาตู 
  • ประเทศที่นำเสนอเป็นครั้งที่ 3 มี 15 ประเทศ ได้แก่ อาร์เมเนีย ชาด คอสตาริกา เอกวาดอร์ จอร์เจีย ฮอนดูรัส เคนยา ลาว นามิเบีย เนปาล เปรู ซามัว สเปน ยูกันดา และซิมบับเว 
  • ประเทศที่นำเสนอเป็นครั้งที่ 4 มี 4 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน โคลัมเบีย เม็กซิโก และเซียร์ราลีโอน

ตัวอย่าง ‘สารสำคัญ’ ของประเทศที่จะรายงาน VNRs ปีนี้ เช่น

  • อาร์เมเนีย รายงานว่า ‘ความเหนียวแน่นคงทนของระบอบประชาธิปไตย’ (democratic resilience) ช่วยให้สามารถส่งมอบความก้าวหน้าและสร้างคืนให้ดีขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่เปราะบางอย่างยิ่ง ท่ามกลางความท้าทายด้านความมั่นคง มนุษยธรรม และการพัฒนา 
  • ออสเตรีย ปรับรายงานให้สอดรับกับคำถามที่ว่า ‘What transformations towards sustainability are needed to achieve the 2030 Agenda goals?’ หรือ ‘การพลิกโฉมด้านความยั่งยืนใดบ้างที่จำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573’ โดยสารสำคัญเน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนของประเทศในการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การพัฒนาทักษะและสมรรถนะสำหรับวาระการพัฒนาดังกล่าว และการปกป้องโลกของสิ่งมีชีวิต
  • เบลีซ นำเสนอความสำเร็จและความท้าทายภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะกลาง ปี 2565 – 2569 หรือ ‘#planBelize Medium-term Development Strategy (MTDS) 2022-2026’ ซึ่งกำหนดความต้องการอย่างทะเยอทะยานเพื่อพลิกโฉมประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ความครอบคลุม ความยั่งยืน และสังคมที่มีการตั้งรับปรับตัวซึ่งเป็นผลดีแก่ชาวเบลีซทุกคน 
  • ลาว เน้นการนำเสนอบทเรียนจากความใส่ใจในการเป็นเจ้าของและภาระหน้าที่ การเป็นหุ้นส่วน การสนับสนุนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อน SDGs การจัดวางชุมชนให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมถึงการขับเคลื่อน SDGs ระดับท้องถิ่น 

การนำเสนอ VNR นับว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่ประโยชน์แก่การเติมเต็มช่องว่างของการขับเคลื่อน SDGs เนื่องจากประเทศต่าง ๆ สามารถเรียนรู้และปรับใช้ ประสบการณ์ กรณีศึกษา รวมถึงการจัดการความท้าทายของประเทศที่นำเสนอ VNR กับประเทศตนเองได้ 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 สำนักเลขาธิการ UN รวบรวมสารสำคัญ VNR ปี 2022 นำเสนอความท้ายทายในการเร่งบรรลุ SDGs ของ 45 ประเทศ
 สหรัฐอเมริกา และ เมียนมา เป็น 2 ใน 5 ประเทศ ที่ยังไม่เคยรายงาน VNR ต่อเวทีโลก นับตั้งแต่ปี 2016
ทุกประเทศที่รายงาน VNR ปี 2021 นำเสนอสถานการณ์ของ SDG 3 และ SDG 8 รองลงมาคือ SDG 5
 SDG Updates | สรุปประเด็นการประชุม HLPF 2023  

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

แหล่งที่มา : VNR Main Messages for 37 Countries Published Ahead of HLPF 2024 (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on มิถุนายน 30, 2024

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น