Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 – 4 ประจำเดือนมิถุนายน 2567

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  18 – 29 มิถุนายน 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

รายงานสภาวะอากาศโลกฉบับที่ 5 โดย Health Effects Institute (HEI) ที่จัดทำร่วมกับยูนิเซฟ (UNICEF) ระบุว่ามลพิษทางอากาศ กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 2 ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก แซงหน้าปัจจัยเสี่ยจากบุหรี่ และเป็นรองเพียงความดันโลหิตสูงที่อยู่ในอันดับที่ 1 พบว่าในปี 2564 ประชากร 8.1 ล้านคนทั่วโลก และเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ มากกว่า 700,000 คน เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศซึ่งมีสาเหตุมาจาก PM2.5 โดยประชากรอีกหลายล้านคนต้องเผชิญกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าประชากรโลกเกือบทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะหายใจเอามลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM2.5 เข้าร่างกายได้ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ 

เข้าถึงได้ที่ : มลพิษทางอากาศ คร่าชีวิตผู้คน 8.1 ล้านคนทั่วโลก เด็กเสี่ยงเสียชีวิตแซงหน้าบุหรี่ – thestandard

การอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกที่กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เสนอของบมา 19,000 ล้านบาท หลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง แต่รัฐบาลจัดสรรให้งบแค่ 800 ล้านบาท หรือไม่ถึง 5% จึงเรียกร้องไปยังสภาให้พิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กยศ. เพราะหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข เด็กอาจเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา ขณะที่รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา “เพราะไม่สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ. ได้”

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน  SDG4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573 และ 4.5 ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : งบ 68: รัฐบาลยืนยันไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เพราะกู้เงิน กยศ. ไม่ได้ – BBC News ไทย 

เครือข่ายพลังงานภาคประชาชน จัดเวทีสะท้อนปัญหาและสรุปข้อเสนอคนภาคเหนือ “ร่างแผนพัฒนาพลังงานชาติ PDP 2024” สะท้อนปัญหาเห็นตรงกันกระบวนการมีส่วนร่วม-รับฟังความคิดเห็นมีปัญหา ระบุว่าประชาชนอยากเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP)  ต้องเป็นแผนที่มีความเป็นธรรมให้กับคนทุกกลุ่ม แต่ในความเป็นจริงแผน PDP เป็นแผนพลังงานชาติที่มีแต่ตัวเลขและภาษาที่เข้าใจยาก ไม่เอื้อต่อความเข้าไจ ซึ่งในแผนไม่บอกเลยว่าทิศทางพลังงานของประเทศจะสร้างผลกระทบต่อชุมชน ต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรบ้าง การที่แผนออกมาเป็นแบบนี้และที่ภาครัฐบอกว่าแผนพลังงานนี้จะสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ คำถามคือความมั่นคงนั้นเป็นของใครกันแน่ จึงมีความขัดแย้งและผิดพลาดจำเป็นต้องปรับกระบวนการตั้งแต่ล่างขึ้นบน มิใช่พิจารณาจากบนลงล่าง เพื่อความโปร่งใส่และชัดเจน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.1 สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573 และ SDG16  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ และ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี 

เข้าถึงได้ที่ : เสียงคนเหนือ ต่อ ร่างแผนพลังงงาน PDP 2024 – Greennews

รัฐบาลทหารพม่าสั่งแบน VPNs หรือ “เครือข่ายส่วนตัวเสมือน” บางส่วนที่ประชาชนมักจะใช้ในการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตเพราะเว็บต่าง ๆ ถูกปิดกั้นหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด ซึ่งส่งผลถึงการสื่อสารและประสานงานของฝ่ายต่อต้าน โดยเรื่องนี้เป็นการลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน แต่ขณะเดียวกันกลุ่มด้านสิทธิดิจิทัลมองว่าประชาชนหาช่องทางอื่น ๆ ได้ในการสื่อสารกัน อย่างไรก็ดี การแบน VPN ส่งผลต่อเผด็จการทหารเองด้วย ถึงแม้ว่าพวกเขาอาจจะมีช่องทางอื่น ๆ ในการสื่อสาร การแบนก็จะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและกลไกการสอดแนม ซึ่งฝ่ายเผด็จการก็ต้องเผชิญกับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นนั้นแล้วการที่ฝ่ายเผด็จการหันมาใช้วิธีการนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังสั่นคลอน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 9  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.c เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและมุ่งจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้า และ SDG16  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบในทุกระดับการตัดสินใจ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : พม่าแบน VPN ประชาชนประสบปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร – ประชาไท 

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ยื่นหนังสือคัดค้านกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติ ซึ่งจะมีการประชุม​โดยคาดว่ามีวาระสำคัญคือ การนำกัญชาเข้าสู่บัญชียาเสพติด เนื่องจากการประกาศกัญชาเข้าสู่บัญชียาเสพติดประเภท 5 จะต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าว ขณะที่สมาคมกัญชง ไม่หวั่นที่ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดให้ทั้งกัญชากัญชงกลับไปเป็นยาเสพติดนั้น ทางสมาคมฯ เห็นด้วยกับการใช้​ พ.ร.บ.กัญชา​ มาควบคุม​มากกว่าใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด​ แต่หากรัฐบาลมีนโยบายดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด​ ก็ไม่ได้คัดค้าน​ แต่ก็ขอให้เร่งออกกฎกระทรวงมารองรับว่าทำอะไร ไม่ได้บ้างเพื่อให้นักลงทุนมีทิศทางชัดเจน 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย

เข้าถึงได้ที่ : เครือข่ายกัญชาฯ จับตา วาระดึงกัญชากลับสู่ยาเสพติด 5 ก.ค.นี้ – The Active 

จากการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่าประชาชนที่ตอบแบบสอบถามร้อยละ 80 สนับสนุนการดำเนินการอย่างมีความทะเยอทะยานมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันผลการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (University of Oxford) และ GeoPoll พบว่าคนส่วนใหญ่ใน 62 ประเทศจาก 77 ประเทศที่สำรวจกล่าวว่าสนับสนุนการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด แสดงให้เห็นว่าผู้คนมีความสนใจในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้นของประชากรโลก

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เข้าถึงได้ที่ : Global survey reveals ‘truly astonishing’ consensus for stronger climate action – UN News 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version