กลุ่มนักวิชาการระดับโลกเสนอขยายเส้นตายบรรลุเป้าหมาย SDGs ไปถึงปี 2050 พร้อมแผนแม่บททำงานใน 6 ประเด็นสำคัญ

กลุ่มนักวิชาการด้านการพัฒนาระดับโลกเผยแพร่ข้อเขียนเสนอความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์วารสาร Nature เสนอแผนแม่บทสำหรับการขยายกรอบการดำเนินงานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปจนถึงปี 2050 โดยหวังให้เกิดการหารือและลงมติเห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกสหประชาชาติในการประชุม UN Summit of the Future 2024 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

บทความ “Extending the Sustainable Development Goals to 2050 — a road map” เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2024 จากกลุ่มนักวิชาการจากหลากหลายสาขาด้านการพัฒนา นำโดย Francesco Fuso Nerini ผู้อำนวยการ KTH Climate Action Centre ประเทศสวีเดน โดยมี Jeffrey Sachs ผู้อำนวยการสถาบัน Earth Institute มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา และประธาน UN Sustainable Development Solutions Network เป็นนักวิจัยอาวุโสในทีม ได้อภิปรายถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ส่วนใหญ่นั้นไม่มีทางสำเร็จได้ทันเส้นตายปี 2030 ที่กำหนดไว้ โดยเป็นผลจากความท้าทายต่าง ๆ ทั้งวิกฤติที่เหนือความคาดหมายที่ประชาคมโลกต้องเผชิญ อาทิ โควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมไปถึงข้อจำกัดทางด้านการเงินและการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง และการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ SDGs ของรัฐบาลที่ขาดการบูรณาการและมองภาพรวม

ด้วยความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ กลุ่มผู้เขียนยังคงยืนยันว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย ยังควรจะเป็นศูนย์กลางของวาระนโยบายระดับโลก เนื่องจากวิกฤตการณ์ระดับโลกทั้งหมดเหล่านี้เชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาแบบองค์รวมและดำเนินการในระดับโลกเท่านั้นที่จะได้ผลจริง โดยเสนอให้ขยายกรอบเวลาของ SDGs ไปจนถึงปี 2050 พร้อมปรับเป้าหมายและกำหนดเวลาใหม่ที่สามารถบรรลุได้จริงเป็นระยะสำหรับปี 2030 ปี 2040 และ ปี 2050 พร้อมเสนอแผนการดำเนินการที่มุ่งเน้นไปที่ 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. ขยายและเสริมความแข็งแรงให้กรอบการดำเนินงาน SDGs เดิม
    • กำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับปี 2050 ที่ครอบคลุมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
    • กำหนดเป้าประสงค์ (target) ทั้งหมดที่ชัดเจนและวัดผลได้จริง
    • ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI โดยอาจผนวกเข้ากับเป้าหมายเดิมหรือกำหนดเป็นเป้าหมายแยก
    • จัดการกับการส่งผ่านผลกระทบทางลบไปยังภายนอก (spillover)
  2. รักษาสุขภาวะโลก
    • อัปเดตเป้าประสงค์ของ SDGs เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ได้ภายในสองทศวรรษ อาทิ การบรรลุ net-zero ภายในปี 2040-2050
    • ใช้ทรัพยากรรูปแบบหมุนเวียน (circular model)
    • ทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงของความเสียหายต่อโลก ผ่านการกำหนดราคาคาร์บอน เป็นต้น
    • ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา
  3. ยกระดับการวางแผนและความร่วมมือ
    • เสริมความเข้มแข็งของการดำเนินการภายในประเทศ ได้แก่ ขยายแผนยุทธศาสตร์ SDGs ระดับชาติไปจนถึงปี 2050 พร้อมกำหนดเป้าหมายระยะกลาง (ปี 2030 และ 2040) ที่ชัดเจน สร้างทีมงานเฉพาะทางในรัฐบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้าน SDGs แทนการพึ่งพาที่ปรึกษาภายนอก และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
    • ในส่วนของความร่วมมือระดับภูมิภาค เน้นไปที่ความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรร่วม และการทำโครงการ Open data เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดน
  4. อุดช่องว่างการลงทุนและการเงิน
    • เพิ่มเงินลงทุนภาคสาธารณะผ่านการจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน
    • ปฏิรูปโครงสร้างการเงินโลก ด้วยวิธีต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนทางการเงินให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ระบบธนาคารพัฒนาพหุภาคี และการสร้างความร่วมมือของสถาบันการเงินในระดับภูมิภาค
    • ดึงเงินลงทุนจากเอกชนด้วยแผนการลงทุนด้าน SDGs ที่ชัดเจน
  5. ใช้แนวทางการทำงานแบบการกำหนดเป้าหมายตามภารกิจ
    • กำหนดภารกิจ (mission) พร้อมกรอบเวลาที่ชัดเจน เช่น ต้องลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลอย่างน้อย 50% ภายในปี 2030
    • สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อการบรรลุภารกิจ
    • พัฒนาวิธีวัดผลประโยชน์ที่ยืดหยุ่นขึ้น ทั้งนี้ ประโยชน์ของการทำงานรูปแบบนี้ประการหนึ่ง คือ สามารถดึงดูดการลงทุน สร้างงาน และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
  6. ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและความรับผิดรับชอบ
    • ส่งเสริมความรับผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้วในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
    • เสริมความเข้มแข็งให้กลไกความรับผิดรับชอบต่อการดำเนินงานตามเป้าหมาย SDGs ของแต่ละประเทศ
    • พัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากรร่วม

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเสนอตัวอย่างการปรับกรอบการดำเนินงานและกรอบเวลายุทธศาสตร์ความยั่งยืนระดับโลกในบางเป้าหมาย SDGs ที่สำคัญ โดยบางเป้าหมายสามารถบรรลุได้ทันภายในปี 2030 เช่น การมีมาตรการคุ้มครองทางสังคมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในสังคม ภายในปี 2030 (เป้าหมายที่ 1) ในขณะที่บางเป้าหมายต้องการกรอบเวลาเพิ่มขึ้น เช่น การบรรลุเศรษฐกิจโลกที่ตั้งรับปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ ภายในปี 2050 (เป้าหมายที่ 13)

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | สรุปประเด็นการประชุม HLPF 2023  
ปิดฉาก SDG Summit 2023 ชวนสำรวจปฏิญญาทางการเมืองฯ ที่ประเทศทั่วโลกตกลงรับเอาไปใช้เพื่อบรรลุ SDGs
ประเด็นสำคัญสำหรับขับเคลื่อน SDGs ปี 2567 เลขาธิการ UN เน้นย้ำ “สันติภาพ ความร่วมมือ และการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงิน”
SDG Updates | (EP.1/2) Sustainability Transformation: ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ พลิก “ระบบ” จากฐานรากในทศวรรษสุดท้ายแห่งการลงมือทำ 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDGs ทุกเป้าหมาย

แหล่งที่มา: Extending the Sustainable Development Goals to 2050 — a road map (Nature)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น