Research Brief | สำรวจสถานะของ SDG 13 ว่าไทยต้องการแนวทางอะไร เพื่อรับมือกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ 

ปัจจุบัน สถานการณ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในประเทศไทยยังไม่ดีมากนัก เป็นผลให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในภาพรวมตามรายงานประเมินสถานการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังอยู่ในสถานะต่ำกว่าค่าเป้าหมาย (สีเหลือง) กล่าวคือยังไม่สำเร็จผลในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ด้วยเหตุข้างต้น นำมาสู่งานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์สถานภาพและพัฒนาข้อเสนอแนะทางนโยบาย เพื่อยกระดับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13” (Analyzing status and developing policy recommendations for achieving SDG 13) โดย ผศ. ดร.ณฐพล ทองปลิว มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะนักวิจัยจาก 6 มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาแนวทางการยกระดับสถานะของประเทศไทยในมิติสิ่งแวดล้อมสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม


ภาพสะท้อนที่มาของงานวิจัย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั้นเป็นผลโดยตรงมาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งทำให้ประชาคมโลกตกลงร่วมกันเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยการกำหนดนโยบาย มาตรการจูงใจ และโครงการลงทุนในหลายภาคส่วนทั้งภาคการผลิตและการใช้พลังงาน การขนส่ง อาคาร อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ป่าไม้ และการใช้ที่ดินอื่น ๆ และการจัดการของเสีย โดยนโยบายและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกมีความหลายหลายตั้งแต่การออกมาตรการภาคบังคับ มาตรการสร้างแรงจูงใจ มาตรการผ่านกลไกทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน และมาตรการแบบสมัครใจ (Burniaux et al., 2008; Lyon,2003; Streimikiene et al., 2020) 

สำหรับประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบและให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยประเทศภาคีได้จัดทำเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นเป้าหมาย ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดของแต่ละประเทศตามความเหมาะสม (Nationally Determined Contributions : NDCs) รวมถึงทางคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติได้อนุมัติแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 รายสาขา ได้แก่ สาขาพลังงาน สาขาคมนาคมขนส่ง สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม และสาขาการจัดการของเสียชุมชน

อย่างไรก็ดี การกำหนดนโยบายและมาตรการขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศและแต่ละภาคส่วนที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการกำหนดและนำนโยบายและมาตรการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมไปปฏิบัติสามารถดำเนินงานและก่อให้เกิดประโยชน์ร่วม (Co-benefits) ทั้งด้านการลดต้นทุนการดำเนินการ และประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Bollen et al., 2009)

แม้มีการดำเนินงานข้างต้น แต่จากการวิเคราะห์สถานภาพการดำเนินการ SDG 13 ของประเทศไทย พบว่า สถานการณ์ดำเนินงานภาพรวมอยู่ในระดับดีแต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ซึ่งต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุ SDG 13 โดยต้องให้ความสำคัญกับจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากภัยพิบัติและปริมาณก๊าซเรือนกระจก จึงต้องมีการผลักดันนโยบายและมาตรการเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุ SDGs โดยประเทศไทยต้องมีการขับเคลื่อนทางนโยบายทั้งในส่วนของการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


“ประเทศไทยควรมีแนวทางหรือมาตรการส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ SDG 13 อย่างไร”


วิธีการศึกษา

ขั้นตอนในการดำเนินการศึกษาแบ่งเป็น 3 ส่วน (ภาพที่ 1) คือ ส่วนแรก เป็นการศึกษาสถานภาพการดำเนินการ SDG 13 ของประเทศไทย ส่วนที่สอง เป็นการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมและยกระดับ SDG 13 ในบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทย และส่วนที่สาม เป็นการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย


ผลลัพธ์จากการดำเนินการ SDG 13 ของประเทศไทย

สถานภาพการดำเนินการ SDG 13

สถานภาพการดำเนินการ SDG 13 ของประเทศไทยภาพรวมอยู่ในระดับดี แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุ SDG 13 จึงต้องให้ความสำคัญกับจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากภัยพิบัติและปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยเมื่อพิจารณา SDG Global Indicator ของ UN หรือข้อมูลตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่พิจารณาทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่าประเทศไทยส่งข้อมูลและรายงานที่เกี่ยวข้องกับ SDG 13 ครบถ้วนและเป็นไปตามรอบการรายงานที่ UN กำหนดไว้ แต่เมื่อพิจารณาผลการประเมิน SDG 13 ของประเทศไทยที่คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP)  รายงานไว้พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากภัยพิบัติและก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรเป็นประเด็นที่ทำให้ผลการประเมินยังไม่บรรลุเป้าหมาย สอดคล้องกับข้อมูล SDG Index & Dashboards ของ SDSN ที่ประเมินให้ความสำคัญกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงด้านเดียว ซึ่งพบว่าผลการดำเนินงานของประเทศไทยมีความท้าทายสูงในการบรรลุ SDG 13 (การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) และแนวโน้มการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายหยุดนิ่ง โดยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการนำเข้าสินค้าเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ


ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

จากผลการสำรวจสถานภาพการดำเนินการ SDG 13 นำมาสู่การวิเคราะห์และได้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมและยกระดับ SDG 13 ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทั้งหมด 3 ด้าน โดยสรุปได้ดังนี้

ด้านการบริหารจัดการเชิงกลไก SDG 13 เพื่อยกระดับผลการประเมินและขับเคลื่อน

  • รัฐบาลควรพิจารณานำ SDG 13 เป็น Core SDG ในการขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 
  • พัฒนาระบบข้อมูลกลางที่สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสามารถจัดเก็บข้อมูลและหลักฐานได้ พร้อมประมวลและแสดงผลความก้าวหน้าของการดำเนินงาน รายละเอียดของตัวชี้วัด และข้อมูลพื้นฐานให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ได้ 
  • มีกลไกการขับเคลื่อน SDG 13 ผ่านคณะทำงานที่หน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบ ให้เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน 
  • อาศัยกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวลาเดียวกัน 
  • พัฒนาโครงการวิจัยแบบพหุศาสตร์เชิงพื้นที่ ทั้งงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ และพัฒนาระบบการให้ทุนวิจัยให้มีวิธีการประเมินผลโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
  • พัฒนาการสื่อสารที่สามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนทุกกลุ่ม 
  • สร้างสิ่งแวดล้อมและปัจจัยที่เอื้ออำนวย (enabling environment) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ  ที่สนับสนุนกลไกทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านกลไกทางการเงิน ด้านองค์ความรู้ และสร้างกระบวนการความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชน

ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก

ระยะสั้น/เร่งด่วน (ภายในปี พ.ศ. 2573)

  • กลไกและการสนับสนุนการลดและการรายงานก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและบริษัทที่เป็นมาตรฐานสากล 
  • การสนับสนุนการใช้และจัดหาพลังงานทดแทน จากแหล่งทรัพยากรที่มีศักยภาพอย่างเป็นระบบและครบวงจร
  • การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการผลิตการเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืน ตั้งแต่การเพาะปลูก การสร้างตลาด การขนส่ง จนถึงการบริโภคและการกำจัดอาหาร 
  • การเตรียมผู้ประกอบการตระหนักถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM)
  • การปรับระบบการเรียกเก็บค่าดำเนินการของเสียจากชุมชน โดยแยกตามประเภทของเสียและปริมาณที่ทิ้ง 
  • การสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมในการลดการเกิดของเสีย จากกระบวนการผลิต 
  • การเร่งตรวจสอบและดำเนินการเพื่อรับรองสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า ตามที่อยู่ในระเบียบ สินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products)

ระยะกลาง (ภายในปี พ.ศ. 2593)

  • การพัฒนาและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ SMEs 
  • การผลักดันมาตรการทางภาษี เพื่อเป็นกลไกภาคบังคับในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
  • การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต โดยการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น 
  • การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และ Internet of Things (IoT) ในภาคของเสีย 

ระยะยาว (ภายในปี พ.ศ. 2608)

  • การเร่งการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีในการกักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน (CCUS/BECCS) 

ด้านความพร้อมในการรับมือและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ระยะสั้น/เร่งด่วน (ภายในปี พ.ศ. 2573)

  • การยกระดับระบบการจัดการภัยพิบัติและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการจัดทำแผนตามบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม 
  • การสื่อสารข้อมูลในรูปแบบที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยอาศัยข้อมูลจากฐานข้อมูลที่ทันสมัยและนำไปประยุกต์ใช้ได้
  • การบูรณาการการจัดการน้ำที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับความต้องการของสาขาเกษตรแบบยั่งยืน 
  • การส่งเสริม สนับสนุน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชาญฉลาดด้านสภาพภูมิอากาศ ที่ช่วยเพิ่มผลิตผล ขยายผลสู่เกษตรกรให้สามารถปรับและใช้ประโยชน์ในระบบการเกษตรคาร์บอนต่ำและเกษตรยั่งยืน  
  • การผนวกความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวร่วมกับการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของการท่องเที่ยว
  • การสร้างความเข้มแข็งระบบการสาธารณสุขในการจัดการความเสี่ยงในกลุ่มเปราะบางและการรับสัมผัสต่อสิ่งคุกคามสุขภาพโดยการมีส่วนร่วม 
  • การผนวกแนวคิดการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions: NbS) ในนโยบายของรัฐ สำหรับการออกแบบโครงสร้างหรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เอื้อให้ท้องถิ่นหรือชุมชน ในการพัฒนาและรับมือกับปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ระยะกลาง (ภายในปี พ.ศ. 2593)

  • การจัดทำแผนการปรับตัวที่ตอบสนองเฉพาะกลุ่ม เช่น ภาคคนจนในเมือง
  • การสร้างมูลค่าเพิ่มให้การท่องเที่ยว ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวบนอัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่น
  • การพัฒนาระบบข้อมูลด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเฝ้าระวังเตือนภัยด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบ 
  • การวางแผนและกำหนดแนวทางการใช้ผลผลิตจากป่าไม้ที่ให้ชัดเจน เพื่อสร้างตลาดและผลิตภัณฑ์ป่าไม้ที่มีมูลค่า 

ระยะยาว (ภายในปี พ.ศ. 2608)

  • การกำหนดมาตรการทางการเงิน เพื่อควบคุมการใช้น้ำที่ต้นทาง
  • การสร้างความต้องการผลผลิตการเกษตรที่ผลิตโดยเกษตรคาร์บอนต่ำและเกษตรแบบยั่งยืน ผ่านการสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมอาหารและกลุ่มผู้บริโภคอาหารในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (lifestyle) ในการบริโภคของผู้บริโภค

จากสำรวจเครือข่ายนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพบแต่ละกลุ่มมีความต้องการในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางวิชาการ เพื่อการยกระดับสถานะ SDG 13 ของประเทศไทย ดังนี้ 

จากการสำรวจนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้าร่วมเป็น “เครือข่ายนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” มากกว่า 400 ราย มีการกระจายตัวทั้งจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม NGOs นักวิชาการอิสระ และภาคเอกชน 

มีนักวิจัยมากกว่าร้อยละ 40 เป็นนักวิจัยที่ไม่มีประสบการณ์ แต่มีความสนใจงานวิจัยด้าน SDG 13 แสดงให้ถึงความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและเสริมสร้างประสบการณ์ในการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องได้รับการยกระดับทั้งในเชิงความพร้อมของนักวิจัย จำนวนนักวิจัยในภูมิภาคที่ขาดแคลนนักวิจัย และสาขาการวิจัยที่ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ


สามารถติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ได้ที่นี่

บทความฉบับนี้ เป็นชุดข้อมูลภายใต้โครงการ 'การสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13' สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2567

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ

Last Updated on สิงหาคม 30, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น