รายงาน SDGs Report 2024 ของสหประชาชาติระบุว่า SDGs เพียง 17% จะบรรลุทันเวลา ซ้ำพบความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความหิวโหยเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs: UN DESA) ร่วมมือกับระบบสถิติของสหประชาชาติ (UN Statistical System: UNStats) เผยแพร่รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2567 (The Sustainable Development Goals Report 204) พบว่าความก้าวหน้าของเป้าหมาย SDGs ทั่วโลกชะงักลงอย่างน่าตกใจ มีเป้าประสงค์ (target) ของ SDGs แค่ 17% เท่านั้นที่จะบรรลุได้ทันตามเป้าหมายเวลาปี 2030 ซ้ำยังพบช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ขยายกว้างขึ้น รวมไปถึงปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงและความหิวโหยทวีความรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาด้วย

ข้อค้นพบที่สำคัญบางประการของรายงาน ได้แก่ :

  • SDG 1 – อัตราการเติบโตของ GDP ต่อหัวประชากรในประเทศกำลังพัฒนาครึ่งหนึ่งในโลกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ
  • SDG 2 – ในปีค.ศ. 2022 เกือบ 60% ของประเทศทั่วโลกเผชิญกับราคาอาหารที่สูงขึ้นในระดับปานกลางจนถึงสูงผิดปกติ
  • SDG 3 – การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นช่วยป้องกันการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ได้ 20.8 ล้านคนในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา
  • SDG 4 – ความก้าวหน้าด้านการศึกษายังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะนักเรียนที่อ่านหนังสือออกเมื่อเรียนจบประถมศึกษาแค่เพียง 58% ทั่วโลก
  • SDG 5 – ในปีค.ศ. 2022 จากข้อมูลที่รวบรวมจาก 120 ประเทศ มีสัดส่วนประเทศถึง 55% ที่ไม่มีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ต่อผู้หญิง
  • SDG 7 – ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเพิ่มขึ้น 8.1% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
  • SDG 8 – อัตราการว่างงานทั่วโลกแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5% ในปีค.ศ. 2023 และยังคงมีอุปสรรคแรงงานจะมีงานที่ดีอยู่
  • SDG 9 – ประชากรโลก 95% เข้าถึงและสามารถใช้บรอดแบนด์มือถือ (3G หรือสูงกว่า) เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 78% ในปีค.ศ. 2015
  • SDG 14 – อุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ระดับโลกเป็นครั้งที่สี่
  • SDG 17 – ระดับหนี้สินภายนอกยังคงอยู่ในระดับที่สูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมาในประเทศกำลังพัฒนา ประเทศรายได้น้อยประมาณ 60% มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาหนี้สิน หรือกำลังประสบปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว

เหลือเวลาเพียงแค่ 6 ปีเท่านั้นสำหรับการสร้างบรรลุ SDGs ข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ยังได้ระบุประเด็นเร่งด่วนสำคัญที่โลกต้องดำเนินการ ใน 3 ประเด็น ได้แก่

  1. การเงินเพื่อการพัฒนา: เนื่องจากช่องว่างการลงทุนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา สูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ประเทศกำลังพัฒนาต้องการแหล่งเงินทุนและพื้นที่ทางการคลังมากขึ้น การปฏิรูปโครงสร้างการเงินโลกมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปลดล็อกปริมาณเงินทุนที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน
  2. สันติภาพและความมั่นคง: ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024 พบว่ามีผู้พลัดถิ่นถึงเกือบ 120 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน และท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น มีจำนวนประชาชนพลเรือนที่เสียชีวิตสูงขึ้น 72% ระหว่างปีค.ศ. 2022 ถึง 2023 ยิ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการสร้างสันติภาพ และการแก้ไขความขัดแย้ง
  3. ความเข้มแข็งของการดำเนินการ: การลงทุนจำนวนมหาศาลและการสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาประเด็นการพัฒนาทั้งด้านอาหาร พลังงาน การคุ้มครองทางสังคม การเชื่อมต่อทางดิจิทัล และอื่น ๆ

รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs Report นี้ เป็นรายงานทางการฉบับเดียวขององค์การสหประชาชาติที่ติดตามความก้าวหน้าตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) นำเสนอข้อมูลล่าสุดทั้ง 17 เป้าหมายที่ได้จากหน่วยงานระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคมากกว่า 50 หน่วยงานทั่วโลก โดยอาศัยข้อมูลและการวินิจฉัยของฐานข้อมูลตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก (Global SDG Indicators Database) มีกำหนดเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี หรือในช่วงก่อนการประชุม High-Level Political Forum on Sustainable Development (HLPF)

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Index 2024 ไทยรั้งอันดับ 45 ของโลก ร่วงลงมาสองอันดับจากปีก่อน ส่วน SDG1 และ SDG4 อยู่ในสถานะบรรลุเป้าหมายแล้วคงเดิม
– Gender Gap Report 2024 เผยอีก 134 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – ส่วนไทยขยับขึ้นมาอันดับ 65 ในการประเมินดัชนี
– SDG Updates | สรุปประเด็นการประชุม HLPF 2023
– ชุดอินโฟกราฟิก รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2565 (SDGs Report 2022) ฉบับภาษาไทย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา: The Sustainable Development Goals Report  2024 – Key messages (UN Stats)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น