Site icon SDG Move

ปัญหาฝุ่น..แก้ไม่ได้..ถ้ามองไม่เห็น: เมื่อระบบสุขภาพเป็นแค่ปลายน้ำของปัญหา

พ.ท.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ
(Open AQ Community Ambassador)

ปัญหาพวกนี้ถูกดีเลย์ ถูกปัดสวะไปเป็นฤดูกาล ๆ
รอรัฐมนตรีอะไรที่มีประสิทธิภาพสูงรู้ไหม?
รัฐมนตรีพระพาย กับรัฐมนตรีพระพิรุณ
ศ. นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ [1]

ช้างฝุ่นในที่ประชุมสภา ปัญหาใหญ่ที่มีอยู่..แต่ไม่อยากพูดถึง เพราะยากเกินแก้ เพราะแก้แล้วไปเจอตอใหญ่
(สร้างโดย Generative AI)

ข้อความสะท้อนความจริงที่น่าสะเทือนใจของปัญหา PM2.5 ในประเทศไทย ที่ไม่ว่านักวิชาการ ประชาชนจะส่งเสียงผ่านงานวิจัย เรื่องราวความทุกข์ทรมานเพียงใด ก็ไปไม่ถึงจุดที่กลไกการจัดการของรัฐไทยจะพาเราไปสู่จุดที่คุณภาพชีวิตดีกว่านี้ได้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธรรมชาติแต่เพียงเท่านั้น บางธุรกิจที่ปล่อยมลภาวะเสวยสุขจากกำไร แต่ปล่อยให้คนจำนวนมากต้องทนทุกข์ที่ไม่ได้ร่วมก่อ ความอยุติธรรมที่น่าเจ็บปวดนี้..จะยาวนานถึงเมื่อไร..แล้วเราจะทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ SDG Insight บทความนี้ชวนสำรวจปัญหาฝุ่นและการจัดการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของไทยกัน


สถานการณ์ฝุ่นไทย ย่ำแย่แค่ไหน?

IQAir ได้จัดอันดับคุณภาพอากาศยอดแย่ของประเทศไทยในปี 2567 ไว้ในอันดับที่ 36 จาก 134 ประเทศทั่วโลก โดยมีค่าความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าควรน้อยกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึงกว่า 4 เท่าตัว [2] อากาศจะมีคุณภาพเลวร้ายที่สุดระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ก่อนที่ฤดูฝนจะมาช่วยลดปริมาณฝุ่นลงจากอากาศ การกระจายตัวของปัญหาฝุ่นครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ โดยรุนแรงมากในภาคเหนือ สาเหตุของฝุ่นในแต่ละพื้นที่ของประเทศมีความแตกต่างกันตามกิจกรรมของมนุษย์และต่างกันไปในช่วงเวลาต่าง ๆ ของปี เช่น ในกรุงเทพมหานคร กว่า 43% มาจากยานพาหนะ 24% การเผาชีวมวล ส่วนที่เหลือมาจากภาคอุตสาหกรรม โรงงานไฟฟ้า [3]

ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือเกิดจากไฟป่า ฝุ่นข้ามพรมแดน และลักษณะภูมิประเทศแบบแอ่งกระทะ ทำให้การระบายฝุ่นเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่อากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ส่วนพื้นที่ภาคใต้ อาจพบปัญหา PM2.5 จากการเผาป่าพรุ ป่ายาง หรือฝุ่นข้ามพรมแดนจากไฟป่าในอินโดนีเซีย ระหว่างช่วงมิถุนายน ถึงกันยายน [4] จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าการปรากฏอยู่ของฝุ่นมาจากปัจจัยหลายส่วน ทั้งการกำเนิดของฝุ่นในพื้นที่ สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ รวมถึงการจัดการปัญหาของผู้นำด้วย การแก้ปัญหาในพื้นที่จึงต้องการนโยบายที่สอดคล้องกับบริบท 

การติดตาม 5 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2562 พบว่าสถานการณ์ค่าฝุ่นเฉลี่ยรายปีของไทยมีพัฒนาในทางที่ดีขึ้นเล็กน้อยอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 แต่ปี 2566 ค่าเฉลี่ยกลับสูงขึ้นกว่าปี 2565 ถึง 28% โดยเพิ่มจาก 18.1 ไปอยู่ที่ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร [5] หากมองทะลุ “ค่าเฉลี่ย” ของประเทศไป พบว่าบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ สถานการณ์ฝุ่นรุนแรงกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะเดือนมีนาคมถึงเมษายน ปี 2566 ค่าฝุ่นเฉลี่ยรายเดือนของ 24 สถานีในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 150% หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 [6]  และปี 2567 เชียงใหม่ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่อากาศแย่ที่สุดในโลกอยู่หลายครั้ง [7] โดยสรุป สถานการณ์ฝุ่นในไทยมีแนวโน้มเรื้อรัง และรุนแรงมากขึ้น แต่อาการที่ปรากฎในรูปฝุ่นนี้้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ยังรอการค้นหาและทำความเข้าใจสาเหตุที่อยู่ข้างล่าง เพื่อชัยชนะที่เด็ดขาดและยั่งยืนในการจัดการเรื่องมลภาวะทางอากาศ


ทำไมฝุ่นยังคงอยู่ ?

ขณะที่หลายประเทศที่เคยมีปัญหาเรื่อง PM2.5 อย่างหนัก เช่น จีนที่มีเขตอุตสาหกรรมหนัก เกาหลีที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและรับฝุ่นจากจีน  หรือแม้แต่เพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างสิงคโปร์ที่รับไฟป่าจากอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันประเทศเหล่านี้กำลังทำงานอย่างหนักผ่าน Air Pollution Prevention and Control Action Plan (APPCAP) ในจีน [8] Clearer Seoul 2030 ในเกาหลีใต้ [9] และ Transboundary Haze Pollution Act 2014 [10] ของสิงคโปร์ที่ข้ามไปจัดการห่วงโซ่อุปทานเกี่ยวกับการเผาป่าในต่างประเทศจนกระทบประชาชนสิงคโปร์ได้ แต่สำหรับปัญหาฝุ่นในประเทศไทยเอง ดูจะซับซ้อนด้วยทั้งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการ บทความส่วนนี้ จึงนำเสนอ 3 สาเหตุเชิงระบบด้านการรับรู้และการเมือง ที่เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย (Thailand Clean Air Network) วิเคราะห์ไว้ว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้สถานการณ์ฝุ่นยังคงยืดเยื้อเรื้อรัง

  1. ความห่างไกลกันระหว่างฝุ่นกับผลลัพธ์สุขภาพในการรับรู้ของผู้คน การศึกษาของ Stockholm Environmental Institute พบว่าการรับรู้ปัญหาฝุ่นของคนในกรุงเทพฯ สัมพันธ์กับ “ความเชื่อ” เกี่ยวกับระดับความเข้มข้นของฝุ่น มากกว่าระดับฝุ่นที่เป็นข้อมูลจริง [11] โดยระบบการศึกษาที่ไม่ได้ผนวกเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตเข้าไปทำให้คนขาดความตื่นรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามักเดือดร้อนกับปัญหาฝุ่นในช่วงฤดูฝุ่นเท่านั้น เมื่อหมดฤดูฝุ่นการสืบค้นเกี่ยวกับปัญหานี้ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลจาก Google Trends เผยให้เห็นว่า การคืบค้นคำว่า PM2.5 ในไทย เพิ่งมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ปี 2562 และปรากฏเด่นชัดระหว่างเดือนธันวาคม – เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูฝุ่นเท่านั้น และความสนใจสืบค้นก็ปรากฏในพื้นที่ที่พบปัญหาฝุ่นมากเป็นพิเศษ เช่น พื้นที่ภาคเหนือ [12]
  2. ความจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล
    คำกล่าวที่ว่า “ We cannot treat what we cannot see หรือ เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าเรามองไม่เห็นมัน” ไม่ไกลเกินจริงสำหรับปัญหา PM2.5 เพราะเป็นสิ่งที่รับรู้ได้ยากด้วยตา และไม่ได้มีข้อมูลเพียงพอสำหรับทุกคน โดยข้อมูลจาก World Air Quality Report 2023 [13] ได้เผยว่า สัดส่วนเครื่องวัดคุณภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่เป็นของเอกชนมากกว่าของรัฐ ยกเว้นบางประเทศ เช่น มาเลเซียที่ข้อมูลของภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคมรวมกันเป็นเพียง 19% ของแหล่งข้อมูลคุณภาพอากาศในประเทศ สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากครึ่งปีแรกของปี 2567 กรมควบคุมมลพิษ [14]  รายงานค่าฝุ่นจากเครื่องวัดคุณภาพอากาศจำนวน 87 เครื่องทั่วประเทศ โดยกว่า 10 จังหวัดยังไม่มีสถานีวัดคุณภาพอากาศ บางจังหวัดขนาดใหญ่ ประชากรมากแต่มีเครื่องวัดคุณภาพอากาศไม่ได้สัดส่วนพื้นที่หรือประชากร เช่น จังหวัดนครราชสีมา มีประชากรกว่า 2.5 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานครและเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างขวางที่สุดของไทย แต่กลับมีเครื่องวัดคุณภาพอากาศของหน่วยงานกลางอย่างกรมควบคุมมลพิษเพียงสถานีเดียว เรื่องนี้ดูจะเป็นตลกร้ายยิ่งกว่านั้น เมื่อการจัดอันดับ ผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศต่อสุขภาพจากการศึกษาของ University of Chicago ในปี 2565 ได้ระบุให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีภาระโรคจากมลภาวะทางอากาศมากที่สุดของไทยในปี 2563 [15] ความกลับตาลปัตรของปัญหาและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาข้อมูลจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เรายังแก้ปัญหาไม่ได้

    นอกจากการขาดความครอบคลุมเชิงพื้นที่ ยังพบปัญหาข้อมูลหายไปบางช่วงเวลาของครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งครอบคลุมฤดูฝุ่นของไทยพอดี เช่น ที่สถานีโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ พบว่าข้อมูลหายไป 49 วันจาก 181 วัน และที่อำเภอแม่เมาะ ข้อมูลหายไป 39 จาก 181 วัน [16] ส่งผลให้ประชาชนที่สนใจติดตามข้อมูลไม่ทราบข้อมูลและปรับตัวกับค่าฝุ่นได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประชาชนรับรู้ข้อมูลฝุ่น ก็อาจไม่ได้สะท้อนนัยแห่งความจริงที่ฝุ่นส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ เมื่อค่าสีเขียวของฝุ่นเมืองไทย อาจไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่เราเคยคิด จุดตัดค่าฝุ่นไทยนั้นสูงจนทำให้เราเข้าใจความเสี่ยงเรื่องฝุ่นคาดเคลื่อนได้เช่นกัน  


    ข้อเท็จจริงข้างต้นอาจพิจารณาจากกรณีของค่าฝุ่นบริเวณพื้นที่เขตพญาไท โดยปี 2565 ณ สถานีวัดอากาศที่เขตพญาไท ซึ่งเป็นเขตที่อากาศดีที่สุดเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร หากตัดตามเกณฑ์คุณภาพอากาศใหม่ของกรมควบคุมมลพิษที่เริ่มใช้เมื่อมิถุนายน 2565 ที่ตัดค่าความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายวันต่ำกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่ายอมรับได้ พื้นที่ดังกล่าวจะมีอากาศยอมรับได้ 97% ของวันที่วัดได้ (336/346) แต่หากตัดด้วยเกณฑ์องค์การอนามัยโลกที่ไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พื้นที่นี้จะมีอากาศคุณภาพรับได้เพียงแค่ 54% ของวันที่วัดได้ จะเห็นได้ว่าคำว่าดีของไทยกับมาตรฐานของโลก นั้นให้ความหมายที่ต่างกันมากถึง 43% ของวันในปีหนึ่ง ๆ เลยทีเดียว
  3. ความมุ่งมั่นของรัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา
    ไม่ว่าบริบทเชิงกายภาพจะแตกต่างอย่างไร หัวใจของการแก้ปัญหาอาจอยู่ที่ความตั้งใจในการแก้ปัญหา การขาดความมุ่งมั่นจากฝั่งการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม แต่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจนลืมมองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสะท้อนผ่านการทำงานแบบฉายเดี่ยวของระบบราชการไทยที่แยกการกำกับดูแลแหล่งกำเนิดฝุ่นในภาคส่วนต่าง ๆ ออกจากกัน เช่น ภาคส่วนอุตสาหกรรม คมนาคม และการเกษตร  นอกจากนี้พบว่าภาคการเมืองที่มีเสรีภาพในการเสดงออกอย่างจำกัดและขาดความรับผิดชอบต่อผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ปล่อยให้ประชาชนต้องมาต่อสู้ดิ้นรนจัดการตัวเอง แม้ประชาชนจะเข้าลงชื่อกันเพื่อร้องเรียนก็ไม่สามารถทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้ การปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์ไทยแสวงประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อนบ้าน ทำเกษตรที่ก่อให้เกิดมลภาวะย้อนกลับมาทำร้ายผู้คนในประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อวิจารณ์ของนักวิชาการและสื่อมวลชนต่อการแก้ปัญหาของรัฐไทย

    ตัวอย่างล่าสุดของการวิจารณ์ เช่นกรณี The Diplomat ได้วิจารณ์การแก้ปัญหาฝุ่นในเชียงใหม่ที่สะท้อน “ความเพิกเฉยทางการเมือง” ผ่านการที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ชะลอการประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อปกป้องการท่องเที่ยว ว่าเป็นการมองเห็นประโยชน์เล็กแต่ลืมคำนึงถึงภาพใหญ่ (Miss forest for trees) คือ สุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนเชียงใหม่ [17] ทั้งที่การประกาศจะทำให้การช่วยเหลือต่างๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ และการชะลอนั้นไม่สามารถปลอบประโลมนักท่องเที่ยวชาวต่างให้สบายใจได้ เพราะนักท่องเที่ยวตื่นตัวต่อสถานการณ์เช่นกัน โดยนักท่องเที่ยวจีนที่มาเชียงใหม่ได้แชร์ภาพสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่เชียงใหม่ ด้วยแฮชแท็ก “Smog season in Chiang Mai” ใน Xiaohongshu โซเชียลมีเดียของจีน รวมไปถึงเนื้อหา “ลาก่อน เชียงใหม่ จะกลับมารอบหน้าเพราะทนปัญหาฝุ่oไม่ไหว” [18]

ฝุ่นจิ๋วเป็นภัยคุกคามต่อระบบสุขภาพอย่างไร?

มลพิษทางอากาศจึงนับเป็นสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้กว่าปีละ 6.4 ล้านคนทั่วโลก ราว 95% ของการตายจากมลภาวะทางอากาศเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา [19] หากมองในมุมความเหลื่อมล้ำของผู้ได้รับผลกระทบ พบว่า คนจน เด็ก และคนชราที่มาจากครอบครัวที่ยากจนได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม เช่นนั้นผลกระทบแรกต่อระบบสุขภาพ นั่นคือภาระโรคที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะในอากาศเพิ่มขึ้น งบประมาณที่ต้องใช้เพิ่มขึ้น และความเครียดที่เกิดขึ้นในแง่กำลังบริการในระบบสุขภาพ นอกจากผลกระทบต่อระบบสุขภาพโดยตรง สถานการณ์มลภาวะทางอากาศยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ในส่วนผลกระทบต่อสุขภาพ พบว่าปี 2562 คนไทยเสียชีวิตจากมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวน 26,915 คน และนับเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 7 ที่นำไปสู่การสูญเสียปีสุขภาพดี (DALY) อีกด้วย  ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจากการไม่สวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่จักรยานยนต์เสียอีก [20]

สำหรับผู้รอดชีวิตจากการตายก่อนวัยอันควรด้วยฝุ่น คนไทยโดยเฉลี่ยจะเสียอายุขัยที่ควรได้อยู่ต่อกับคนที่รักไปอีก 1.8 ปี [21] ขณะที่การสรุปภาวะสังคมไทย ในปี 2566 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ระบุว่ามีคนไทยป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศในปีที่ผ่านมาสูงถึง 10.5 ล้านคน เป็นการป่วยหลอดลมอักเสบสูงขึ้นราว 40 % และการป่วยมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นราว 20 % [22] ในแง่ของความเสียหายเชิงเศรษฐกิจ ธนาคารโลกได้ประเมินไว้ว่า ในปี 2562 มูลค่าความเสียหายด้านสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศสูงถึง 8.1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.1% ของ GDP รวมทั้งโลก [23] ในทางกลับกัน การจัดการมลภาวะทางอากาศได้มีผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยหากสามารถลดระดับของฝุ่นได้ 20% จะช่วยเพิ่มการจ้างงานได้อีก 16% และเพิ่มผลิตภาพของแรงงานได้อีก 33% [24]

สำหรับประเทศไทย องค์การอนามัยโลกได้ประเมินว่าในปีเดียวกัน ภาระทางเศรษฐกิจของมลภาวะทางอากาศของไทยสูงถึง 2.71 ล้านล้านบาท [25] หรือราว 11% ของ GDP หรือ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งประเทศ โดยภาคส่วนท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบมากกว่าภาคส่วนอื่น ๆ ขณะที่การศึกษาของ Pinichka และคณะในปี 2560 ได้ระบุว่าหากประเทศไทยสามารถลด PM2.5 ได้ 20% จะสามารถลดการตายที่หลีกเลี่ยงได้ถึง 25% แต่หากประเทศไทยยังไม่แก้ปัญหาฝุ่นอย่างจริงจัง จะต้องมีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศอีกราว 24,000 คน/ปี ในอนาคตอันใกล้

ด้านผลกระทบต่องบประมาณ หากไม่มีการจัดการใด ๆ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอาจพุ่งสูงขึ้น 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปี 2593 หรือคิดเป็นราว 2% GDP [26]  ซึ่งเมื่อพิจารณาด้านความมั่นคงทางการเงิน (financial sustainability) ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าประเทศไทยจะยังมีเสถียรภาพด้านการเงิน ถ้าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่เกิน 5 % ของ GDP [27] จะพบว่าค่าใช้จ่ายสุขภาพเดิมที่ 3.5-4% ของ GDP รวมกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศที่จะขยายตัวขึ้น อาจผลักให้ระบบสุขภาพไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงกับวิกฤตการเงินการคลังระบบสุขภาพได้ในอนาคต


ปัญหาฝุ่นกับโลกร้อน (Climate Change) เกี่ยวกันอย่างไร?

นอกจากปัญหาฝุ่นยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ของผู้คนแล้ว ยังพบว่ามีความเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกอย่างน้อยสองทาง ด้านแรก คือสถานการณ์ฝุ่นทำให้เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านที่สอง คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปัญหาฝุ่นย่ำแย่ลง สำหรับสถานการณ์แรก อธิบายได้ว่า PM2.5 กับก๊าซเรือนกระจกมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล PM2.5 มีองค์ประกอบเป็นผงฝุ่นเขม่าดำ (black carbon) ซึ่งนับเป็นสารก่อมลภาวะทางสภาพภูมิอากาศที่อายุสั้น (Short-lived Climate Pollutants: SLCPs) เช่นเดียวกันกับ มีเทน สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน และโอโซนที่ก่อตัวใกล้ผิวโลก ถ้าเปรียบเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ สารกลุ่ม SLCPs ทำให้เกิดโลกร้อนได้มากกว่า ขณะที่การศึกษาของ Climate and Clean Air Coalition และ Stockholm Environment Institute ระบุว่าสารกลุ่มนี้ทำให้เกิดโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ถึง 80 เท่า ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา [28] ปัจจุบัน สาร SLCPs ก่อให้เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึง 45% เลยทีเดียว (Climate & Clean Air Coalition, 2024)


ในความสัมพันธ์อีกด้าน ปรากฎการณ์เอลนีโญ (El-Nino) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อสถานการณ์ฝุ่น โดยทำให้ฤดูฝนในปี 2566 มาช้ากว่าปกติ ซึ่งโดยปกติ ฝนจะช่วยลดปริมาณ PM2.5 ในบรรยากาศได้ นอกจากนี้ความแห้งแล้งที่เป็นผลจากเอลนีโญ ยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดไฟป่าที่มาซ้ำเติมสถานการณ์ฝุ่นอีกด้วย สถานการณ์นี้ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์ฝุ่นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้สถานการณ์ฝุ่นแย่มากขึ้นผ่านการทำให้เกิดไฟป่าและการปลดปล่อยละอองเกสรมากและยาวนานขึ้น (pollen-based aeroallergen) นั่นหมายความว่า ผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสร เช่น ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ป่วยจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) อาการอาจกำเริบรุนแรงขึ้นได้ในช่วงเวลาที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 สูง พร้อมกันกับฤดูละอองเกสร [29] ขณะเดียวกัน ทั้งปัญหาฝุ่นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีสาเหตุสำคัญร่วมกัน เช่น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนี้ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์คิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ทั้งโลก

ในขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุหลักของการตายที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ด้วย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลมและหยาดน้ำฟ้า เช่น ทำให้เกิดความร้อน (extreme heat event) รุนแรงและบ่อยยิ่งขึ้น ในหลายพื้นที่ เมื่อมลภาวะที่อยู่ใกล้ผิวโลกสูงมาเกิดในช่วงที่มีความร้อนสูง ทำให้การระบายฝุ่นที่ผิวโลกเกิดได้ยาก ส่งผลให้มลภาวะทางอากาศสะสมตัวหนักขึ้น และกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ โดยสรุปแล้ว ปัญหา PM2.5 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปรียบเสมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน ที่ต้องการการจัดการร่วมกัน การจัดการกับ PM2.5 ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นสารก่อมลภาวะทางสภาพภูมิอากาศที่อายุสั้น  จะช่วยลดผลกระทบภาวะโลกร้อนได้มากเช่นเดียวกัน


เราเรียนรู้จากต่างประเทศได้อย่างไรบ้าง

ประเทศไทยสามารถเรียนรู้วิธีการจัดการของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้กับบ้านเราได้ ผ่านการศึกษาตัวอย่างมาตรการการปรับตัวของระบบสุขภาพในต่างประเทศ เช่น

  1. เมื่อฝุ่นมา เตรียมชุมชนและห้องฉุกเฉิน ให้พร้อม (awareness raising and alert system)

    ในประเทศที่มีระบบติดตามและพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นได้ดีอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร [30] พบว่าเมื่อเกิดวิกฤตฝุ่นขึ้น ยอดผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินจะสูงขึ้นตาม ทำให้มีการนำเทคโนโลยีด้านอุตุนิยมวิทยามาใช้พยากรณ์จำนวนผู้ป่วยที่จะเข้ามายังห้องฉุกเฉิน เพื่อเตรียมทรัพยากรคนและสิ่งของต่าง ๆ ให้พร้อมรับมือ ซึ่งนอกจากการเตรียมการในโรงพยาบาลแล้ว การเตรียมผู้ป่วยหรือการสื่อสารความเสี่ยงของการกำเริบของโรคหอบหืด หรือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Preventive communication – AirAlert) ผ่าน sms หรือโทรศัพท์ แก่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้ที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทางไปพบแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยและญาติสามารถเตรียมยา เฝ้าระวังพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม ช่วยลดภาระในโรงพยาบาลและหลีกเลี่ยงการรักษาที่มีมูลค่าสูงได้ [31] นอกจากนี้ การผนวกเรื่องคุณภาพอากาศ สิทธิ์ในการเข้าถึงอากาศสะอาดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ให้กลุ่มเสี่ยงรู้จักการติดตามค่าฝุ่น การจัดการห้องเรียนหรือสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่น รวมถึงเข้าใจบทบาทหน้าที่ของภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะช่วยกันจัดการปัญหาดังกล่าวได้ [32]
  2. ใช้กรณีสุขภาพขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม
    ในต่างประเทศ เรามีโอกาสได้เห็นบทบาทของบุคลากรแพทย์หรือเรื่องราวสุขภาพที่ถูกนำไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสังคมเพื่อจัดการต้นน้ำของสุขภาพ หรือ ปัจจัยในสังคม เช่น การเข้าถึงอากาศสะอาด ก่อนที่ปัจจัยเหล่านั้นจะส่งผลกระทบให้ผู้คนป่วยและต้องเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล การขับเคลื่อนกลุ่มบุคลากรการแพทย์ เช่น กลุ่ม Health for Extinction Rebellion [33] Doctor for Clean Air and Climate Action [34] และกลุ่ม Air for Health ใน Bulgaria [35]

    อาจพิจารณาจากตัวอย่างเช่นกรณีเด็กหญิง Ella  อยู่ในย่านการจราจรคับคั่ง ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงผ่านเรื่องราวของสุขภาพ โดย Ella อายุเพียง 9 ขวบตอนที่เสียชีวิตจากโรคหอบหืดกำเริบในปี 2556 แม่ของเธอพิสูจน์จนทราบว่าวันที่เธอป่วยจนเสียชีวิต คือวันที่ค่ามลพิษในอากาศในย่านนั้นสูงเกินกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด เธอคือชาวอังกฤษคนแรก ที่ใบมรณบัตรระบุไว้ว่าเสียชีวิตจาก “มลพิษในอากาศ” เป็นก้าวที่กล้าของวงการแพทย์ที่ก้าวไปแตะปัญหาสิ่งแวดล้อม และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดที่จะกำหนดให้สิทธิการเข้าถึงอากาศสะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานของชาวอังกฤษ โดยตามร่างกฎหมาย ระบุว่าภายใน 5 ปี อากาศทั้งอังกฤษและเวลส์จะต้องสะอาด เป็นไปตามมาตรฐานโดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ คนอังกฤษเรียกกันว่า “Ella’s Law” เพื่อระลึกถึงเด็กน้อยผู้จุดประกายการเคลื่อนไหวให้คนอื่น ๆ ทั้งประเทศได้อากาศที่สะอาดขึ้น [36]


“ในฐานะนายกเทศมนตรีแห่งกรุงลอนดอน ผมอยากจะใช้โอกาสนี้ ในนามของหน่วยราชการและชาวเมืองลอนดอน เพื่อกล่าวคำขอโทษที่ไม่คู่ควรแก่การอภัย ที่พวกเราไม่ได้จัดการกับมลภาวะทางอากาศให้เร็วกว่านี้ จนมันทำให้เอลล่าต้องจากไป” Sadiq Khan (นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน, 2 กุมภาพันธ์ 2024)


ระบบสุขภาพของประเทศไทยทำอะไรไปบ้าง?


จากบทเรียนของการเตรียมตัวของต่างประเทศ เราได้เห็นความตระหนักและการลงมือทำอย่างเป็นระบบทั้งในระบบสุขภาพและโครงสร้างสังคมในวงกว้าง แล้วระบบสุขภาพของประเทศไทยได้ทำอะไรบ้าง โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยได้มีการปรับตัวอย่างน้อย 3 ส่วน ดังนี้

1. แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง
แผนดังกล่าวจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2562 กำหนดเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่ประสบปัญหาบ่อย การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ภายใต้แผนนี้มีเป้าหมาย 3 ข้อ ได้แก่ จำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานช่วงวิกฤตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี จำนวนจุดความร้อนภายในประเทศลดลง และจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ) ลดลง ตามลำดับ [37]

ขณะที่ด้านสาธารณสุข ได้รับมอบหมายในด้านการปรับตัว (adaptation) เข้ากับภาวะวิกฤตมากกว่าการลดสาเหตุ (mitigation) ของวิกฤต เช่น บทบาทการทำแนวทางปฏิบัติสำหรับนักเรียนในโรงเรียน การให้ความรู้สุขภาพ ตลอดจนออกประกาศ “มาตรการดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก” และการจัดตั้งคลินิกมลพิษ การจัดทำและรับรองห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานบริการสาธารณสุข บ้านเรือนและอาคารสาธารณะรวมแล้วกว่า 4,487 แห่ง รองรับประชาชนได้กว่า 940,000 คน [38] กิจกรรมเหล่านี้เป็นบทบาทของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่วนการตอบสนองต่อภาวะวิกฤต เป็นบทบาทของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลฐานข้อมูลฝุ่นและผลกระทบสุขภาพและมีกลไกระดับพื้นที่ในการเปิด “ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข” ร่วมกับหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น นอกจากนี้ ในฐานข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ยังสามารถดึงข้อมูลเรื่องการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นทั่วประเทศละเอียดถึงระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีอยู่กว่า 9,000 แห่งทั่วประเทศ

2. ระบบประกันสุขภาพ
ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประกอบไปด้วย 3 กองทุน ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้จัดเตรียมชุดสิทธิประโยชน์ในด้านการรักษาที่จำเป็นเกี่ยวเนื่องกับโรคที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะทางอากาศครอบคลุมอยู่แล้วทุกกลุ่มโรค ทั้งโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคผิวหนัง ตาอักเสบ จนถึงโรคมะเร็งปอด นอกจากการเตรียมเงินสำหรับการรักษาของบุคคล สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังเตรียมงบส่งเสริมป้องกันผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น สำหรับดูแลคนทุกสิทธิ์ในแต่ละพื้นที่สำหรับกิจกรรมสู้ฝุ่น เช่น การระบุกลุ่มเสี่ยง การคัดกรองผู้ป่วยในชุมชน การจัดหาหน้ากากอนามัย รณรงค์ให้ความรู้ และลดการเผาที่ไม่จำเป็น [39]

ในปี 2565 มีงบประมาณในส่วนนี้เหลือใช้จำนวนกว่า 2,770 ล้านบาท ณ 30 กันยายน 2565 [40] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงช่วยทำร่างโครงการสำหรับใช้งบชุมชนสู้ฝุ่นให้ชุมชนเอาไปปรับใช้ ลดขั้นตอนทางธุรการในการเบิกจ่ายเงินเพื่อสู้ฝุ่นอีกด้วย [41] นอกจากนั้น สปสช. ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพและการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเตรียมปรับการทำงานระบบหลักประกันสุขภาพให้รองรับภาวะโลกร้อนรวมถึงปัญหาฝุ่นละอองด้วย ซึ่งหลายข้อเสนอที่ผ่านเข้ามา มีทั้งเรื่องการจัดหามุ้งสู้ฝุ่น อุปกรณ์สู้ฝุ่น DIY การคัดกรองโรคที่เกี่ยวกับฝุ่นในประชากรกลุ่มเสี่ยง และมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ในชุมชน

3. การสร้างเสริมสุขภาพ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีบทบาทในการสนับสนุนภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และชุมชนในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ผ่านแผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (แผน 2) อีกทั้งแผนสร้างเสริมความเข้าใจสุขภาวะ (แผน 4) ทำงานเรื่องการจัดตั้งศูนย์วิชาการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ การรณรงค์/สื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น ตลอดจนการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม การพัฒนาพื้นที่ตัวอย่างไม่เผาในที่โล่ง จัดรับความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ การพัฒนาเครือข่ายผู้นำเยาวชนสู่นักสื่อสารสุขภาวะ การจัดทำแพลตฟอร์มพยากรณ์สุขภาพจากฝุ่น การแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นในพื้นที่เสี่ยง ตลอดจนการประชุมระดับชาติเรื่องฝุ่น [42]


โอกาสพัฒนาสำหรับอนาคต

หากทบทวน “แบบเหลียวหลัง แลหน้า” จะพบว่าไทยมีการเตรียมพร้อมในแง่การกระจายสถานพยาบาลให้เพียงพอ ใกล้ชุมชน และการมีชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมโรคที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะทางอากาศแล้ว การมีความคุ้มครองทางการเงินที่ไม่ว่ายากดีมีจนก็จะเข้าถึงบริการจำเป็นได้ภายใต้หลักประกันสุขภาพ ทั้งนี้ การมีงบประมาณสำหรับจัดการปัญหาในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ประเทศไทยทำได้ครอบคลุมในระดับหนึ่ง ส่วนที่ยังเป็นโอกาสพัฒนาก็ยังมีไม่น้อย บทความนี้ขอเสนอ 5 ประเด็น ได้แก่

  1. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข
    ขณะนี้ไทยมีการดำเนินการด้านการเฝ้าระวังผ่านกลไกงานควบคุมโรคในระดับเขต ซึ่งมีการทำงานร่วมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ มีแผนที่จะขยายความครอบคลุมสถานีวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภายในปีนี้ ขณะนี้เราสามารถระบุพื้นที่เสี่ยงสูงเป็นจังหวัดได้แล้ว สามารถระบุกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง แต่หากพิจารณาความเสี่ยงด้านการประกอบอาชีพโดยเฉพาะภาคส่วนที่ไม่อยู่ในระบบทางการ เช่น กลุ่มผู้ทำงานในโรงสี กลุ่มผู้เผาถ่าน กลุ่มสตรีที่ทำกับข้าวโดยใช้เตาถ่าน เป็นต้น อาจจะตามดูแลได้ยังไม่ครอบคลุม นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างในการพัฒนาความละเอียด (granularity of air quality data) ให้แต่ละชุมชนมีข้อมูลฝุ่นที่จำเพาะกับพื้นที่ เหมาะสมต่อการปรับตัวของประชาชน
  2. การศึกษาวิจัยและนวัตกรรม
    ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเรื่องสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 ความรุนแรง การกระจาย และแหล่งที่มาของฝุ่นในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่นเป็นทั้งปัญหาระดับพื้นที่และระดับข้ามชาติไปพร้อม ๆ กัน การมีข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา แหล่งที่มาของปัญหาที่จำเพาะต่อพื้นที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถมุ่งเป้าแก้ไขปัญหาได้แม่นยำยิ่งขึ้น การพัฒนาระบบพยากรณ์ฝุ่นที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ต่อสุขภาพ จะช่วยให้ฝั่งสาธารณสุขสามารถเตรียมระบบบริการได้อย่างเหมาะสม และควรมีการประเมินผลเครื่องมือทางนโยบายต่าง ๆ ที่ได้บังคับใช้ไปแล้วมามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมการลดปริมาณฝุ่น PM2.5 และการปรับตัวอยู่กับผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
  3. การมีโครงสร้างห้องปลอดฝุ่นหรือนวัตกรรม ‘Safe Shelter’ สำหรับกลุ่มเสี่ยงกระจายอย่างเพียงพอในชุมชนการดำเนินมาตรการด้านการลดสาเหตุของฝุ่นนับว่ายังไม่สำเร็จในประเทศไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก คนชรา หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีโรคประจำตัว เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงค่าฝุ่นวิกฤต โดยปัจจุบัน พบว่าประเทศไทยมีแนวทางการทำห้องปลอดฝุ่นและมุ้งปลอดฝุ่นที่นำโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แต่อาจยังไม่เพียงพอสำหรับทุกชุมชน การทำห้องปลอดฝุ่นโดยมีทรัพยากรไม่เพียงพอนั้น อาจทำให้เกิดผลเสียที่ไม่คาดคิดได้เช่นกัน

    ผู้เขียนมีประสบการณ์การติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศภายในและภายนอกห้องของศูนย์เด็กเล็ก 10 แห่งในกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ รศ. ดร.มณีรัตน์ องค์วรรณดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เมื่อทบทวนค่าจากเครื่องวัดพบว่า ภายใต้การจัดการโครงสร้างเพียงบางส่วน ทำให้เด็กเล็กในศูนย์ฯ เหล่านี้ ถูกมลภาวะใดมลภาวะหนึ่งรบกวนอย่างเลือกไม่ได้ ศูนย์ ฯ ที่ผนึกห้องไม่ได้และไม่มีเครื่องปรับอากาศ ฝุ่นจะรั่วเข้ามาและเด็กร้อนจนใส่หน้ากากไม่มีประสิทธิภาพ ศูนย์ฯ ที่มีเครื่องปรับอากาศ เด็กอาจจะไม่ร้อน แต่ประสบปัญหาคาร์บอนไดออกไซต์คั่งเกินกว่ากำหนด หากเปิดระบายคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะได้ฝุ่นจากภายนอกเข้ามา การจะทำห้องปลอดฝุ่นให้ได้ผลปลอดภัยจริง จึงต้องคำนึงถึงคุณภาพด้วย ได้แก่ ต้องสามารถที่จะผนึกห้องได้ (sealability) สามารถระบายอากาศ (ventilation) บำบัดหมุนเวียนอากาศภายในห้อง (recirculation) และได้อุณหภูมิที่ทำให้เกิดความสบาย (thermal comfort) จึงจะทำให้เด็ก ๆ อยู่ได้อย่างสบาย ไม่ทำร้ายพัฒนาการเด็กผ่านสิ่งแวดล้อมด้านอากาศ
  4. มองให้เห็นคุณภาพอากาศในการเลือกทำกิจกรรมสุขภาพต่างๆ
    การจัดหรือทำกิจกรรมเชิงสุขภาพ เช่น การวิ่งออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรพิจารณาปริมาณฝุ่นในขณะนั้นประกอบกับความเสี่ยงส่วนบุคคลที่ขึ้นกับอายุ โรคประจำตัว หรือการจัดงานวิ่ง ซึ่งมักจัดในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคมซึ่งเป็นฤดูฝุ่น  ควรมีการปรับแผนโดยคำนึงถึงคุณภาพอากาศที่นักวิ่งต้องใช้ การสื่อสารความเสี่ยงที่ชัดเจน และการรับมือกับการล้มป่วยจากเหตุมลภาวะทางอากาศอย่างเหมาะสมในการจัดกิจกรรม
  5. ขยายขอบเขตการแพทย์ให้เห็นความเกี่ยวโยงกับปัจจัยในสังคม
    “การแพทย์คือวิชาสังคมศาสตร์ การเมืองไม่ใช่อะไร แต่คือการแพทย์ที่เขียนให้ใหญ่ขึ้นเท่านั้น” (รูดอล์ฟ เวอร์โชว์) โดยปกติ คนทำงานสายการแพทย์มักทำงานอยู่ในพื้นที่ของตนเอง เช่น โรงพยาบาล หรือคลินิก แต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทำให้เราเห็นว่า สาเหตุของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในวงการสาธารณสุข แต่อยู่ในเรื่องการคมนาคม พลังงาน อุตสาหกรรม เกษตร หรือการเมืองที่เพิกเฉย การมุ่งรอรักษาอย่างตั้งรับในโรงพยาบาลไม่มีทางทำให้ปัญหานี้หมดไป จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรการแพทย์ หรือผู้นำของระบบสุขภาพที่เป็นพยานของผลกระทบต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ปลอดภัย/คุ้นชิน (comfort zone) เมื่อปัญหาเกิดในสังคมเราต้องเข้าไปแก้ในสังคม หรือเรียกร้องให้คนที่มีหน้าที่หันมาทำหน้าที่ที่ควรทำ

    ฉะนั้น ผู้นำในระบบสุขภาพจึงต้องสามารถขับเคลื่อนนโยบายภาพกว้าง ที่ส่งผลกระทบต่อหน้างานในวงการสาธารณสุขได้ เช่น การเรียกร้องให้มีข้อมูลฝุ่นที่กระทบต่อสุขภาพในแต่ละพื้นที่ (right to know) ทำอย่างไรให้ประเทศไทยใช้มาตรฐานค่าฝุ่นที่สัมพันธ์กับผลลัพธ์ทางสุขภาพมากกว่าค่าที่ทำให้สบายใจ

เนื้อหาที่ผ่านมา ได้พยายามฉาพภาพเพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมของสถานการณ์ฝุ่น สาเหตุ ความเชื่อมโยงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนความเชื่อมโยงอันซับซ้อนของปัญหาและปัจจัยทางการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนผลกระทบที่ระบบสุขภาพซึ่งเป็นจุดปลายน้ำต้องจัดการ และคงเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าที่ใครคนหนึ่งจะเริ่มต้น “ที่ตัวเอง” แต่ต้องการการขับเคลื่อนทุกระบบในสังคมอย่างสอดประสานกันภายใต้ภาวะผู้นำที่กล้าหาญ เพื่อร่วมกันผลักดันการแก้ปัญหานี้ ทั้งการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด กระบวนการด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสียงถึงผู้นำหรือส่งผู้นำที่จริงใจเข้าไปแก้ปัญหานี้ในรัฐสภา การศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรม หรือการดูแลผู้คนใกล้ตัวและชุมชนเท่าที่พอจะทำได้ อย่าปล่อยการแก้ปัญหานี้..ให้เป็นหน้าที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และธรรมชาติแต่เพียงฝ่ายเดียว

อติรุจ ดือเระ – บรรณาธิการ
เเพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
SDG Insights | PM 2.5 ภัยคุกคามต่อความไม่ยั่งยืนด้านสุขภาพของคนไทย | SDG Move
SDG Insights | ชำแหละนโยบายแก้ฝุ่น PM2.5 ในภาคเกษตร : อะไรคือต้นเหตุของความไม่ยั่งยืน | SDG Move
SDG Insights | ท่ามกลางวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ระบบสุขภาพไทยต้องรับมือกับอะไรบ้าง? 
SDG Updates | หายนะจาก ‘สภาพอากาศร้อนจัด’ ผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก   
รายงาน IPCC ฉบับใหม่เผยข้อมูลผลกระทบและความเสี่ยงจาก Climate Change  ต่อปัญหาสุขภาพปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลต่อสุขภาพ และการเตรียมการด้านสาธารณสุข สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
แนวทางการประเมินความเปราะบางและการปรับตัวด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้ง เตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก 
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ 
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์และการวางแผน ระดับชาติ 
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่อง การลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตือนภัยล่วงหน้า 
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

รายการอ้างอิง
[1] The Standard. (2566). ฝุ่นมรณะ เสียพื้นที่ป่า ราคาชีวิตที่คนเหนือต้องจ่าย UNCOVER: Our House is on Fire #4. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=S3HEQHEc7Qs&t=583s
[2] [5] [6] [13] [29] IQAir. (2024). World Air Quality Report 2023. Retrieved from Switzerland: https://www.iqair.com/th-en/world-air-quality-report
[3] ChooChuay, C., Pongpiachan, S., Tipmanee, D., Suttinun, O., Deelaman, W., Wang, Q., . . . Cao, J. (2020). Impacts of PM2.5 sources on variations in particulate chemical compounds in ambient air of Bangkok, Thailand. Atmospheric Pollution Research, 11(9), 1657-1667. Retrieved from https://doi.org/10.1016/j.apr.2020.06.030.
[4] กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562). แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง. (คพ. 03-129). กรุงเทพฯ: กรมควบคุมมลพิษ. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/7TgkE
[7] Hfocus. (2567). ฝุ่นเชียงใหม่ ติดอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่อง ส่งผลกระทบสุขภาพอย่างรุนแรง. สืบค้นจาก https://www.hfocus.org/content/2024/03/30004 และ ผู้จัดการออนไลน์. (2567). ฝุ่นพิษเชียงใหม่สุดเลวร้ายยึดอันดับ 1 โลกต่อเนื่อง จ่อประกาศให้ Work from Home. สืบค้นจาก https://mgronline.com/local/detail/9670000030826
[8] Zhao, Y., & Kim, B. (2022). Environmental Regulation and Chronic Conditions: Evidence from China’s Air Pollution Prevention and Control Action Plan. Int J Environ Res Public Health, 19(19). doi:10.3390/ijerph191912584
[9] Ji-eun, S. (2022). Seoul’s air cleanup will start with bans on diesel vehicles. Retrieved from https://koreajoongangdaily.joins.com/2022/09/28/national/socialAffairs/Seoul-air-air-quality/20220928185848363.html
[10] Singaporean Government. Transboundary Haze Pollution Act 2014. Retrieved from https://sso.agc.gov.sg/Act/THPA2014
[11] Nguyen, T. P. L., Winjikul, E., & Virdis, S. G. P. S. b. (2023). Air pollution in Bangkok: addressing unequal exposure and enhancing public understanding of the risks. SEI Brief. doi: https://doi.org/10.51414/sei2023.12
[12] Google Trends. (2024). Google Trends: pm2.5. Retrieved from https://trends.google.com/trends/explore?q=pm%202.5&geo=TH&date=today%205-y#TIMESERIES
[14] [16] กรมควบคุมมลพิษ. (2567). ข้อมูลย้อนหลัง (ฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พ.ศ. 2554 – 2566). สืบค้นจาก http://air4thai.pcd.go.th/webV3/#/History
[15] [21] Air Quality Life Index. (2022). Thailand Fact Sheet. Retrieved from https://aqli.epic.uchicago.edu/wp-content/uploads/2022/03/Thailand-FS.pdf
[17] Cogan, M. S. (2024). Thailand’s PM Misses the Forest for the Trees on the Country’s Pollution Problem. Retrieved from https://thediplomat.com/2024/03/thailands-pm-misses-the-forest-for-the-trees-on-the-countrys-pollution-problem/
[18] ThaiPBS World. (2024). Air pollution in Chiang Mai highlighted in Chinese life-style social media. Retrieved from  https://www.thaipbsworld.com/air-pollution-in-chiang-mai-highlighted-in-chinese-life-style-social-media/
[19] [23] [28] World Bank. (2022). What You Need to Know About Climate Change and Air Pollution. Retrieved from https://www.worldbank.org/en/news/feature/2022/09/01/what-you-need-to-know-about-climate-change-and-air-pollution
[20] IHPP. (2023). คนไทยเสียปีสุขภาพดี ในชีวิตนี้…ไปกับอะไรบ้าง. สืบค้นจาก https://results2019.bodthai.net/#dalychart
[22] ไทยรัฐ. (2567). สื่อนอกตีข่าว PM 2.5 ทำคนไทยป่วยถึง 10.5 ล้านคน ในปี 2566. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/foreign/2768579
[24] World Bank. (2023). Tackling the pollution crisis to support healthier people and planet. Retrieved from https://blogs.worldbank.org/en/voices/tackling-pollution-crisis-support-healthier-people-and-planet
[25] Kummetha, T. (2022). The cost of clean air in Thailand. Retrieved from https://www.who.int/thailand/news/detail/08-06-2022-the-cost-of-clean-air-in-thailand
[26] Kiesewetter, G., Klimont, Z., Ru, M., & Slater, J. (2023). NATIONAL ASSESSMENT OF THE COST OF INACTION OF TACKLING AIR POLLUTION IN THAILAND. Retrieved from Austria: https://pure.iiasa.ac.at/id/eprint/18826/1/Cost-of-Inaction-Thailand.pdf
[27] World Health Organization. (2012). World Health Report 2010: Health systems financing: the path to universal coverage. Retrieved from Geneva: https://www.who.int/publications/i/item/9789241564021
[30] Preux, L. d., & Rizmie, D. (2021). How is the healthcare sector dealing with climate change? Retrieved from https://www.economicsobservatory.com/how-is-the-healthcare-sector-dealing-with-climate-change
[31] Walton, H. A., Baker, T., Fuller, G. W., & Atkinson, R. W. (2013). Air Alert Evidence Development Strategy – Prediction of Possible Effectiveness and Assessment of Intervention Study Feasibility. Retrieved from London: https://www.erg.ic.ac.uk/research/home/transfer/ASPIREreportKingsfinal.pdf
[32] BBC. (2018). Schools and air pollution – BBC London News. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=IQAJCRIGT9M
[33] Health 4 XR. (2024). Health for XR. Retrieved from https://healthforxr.com/
[34] Climate Action Network South Asia (CANSA). (2024). Climate Action Network South Asia. Retrieved from  https://cansouthasia.net/doctors-for-clean-air-conclave-2022/
[35] Clean Air Fund. (2024). Clean Air Fund. Retrieved from https://www.cleanairfund.org/case-study/doctors-bulgaria/
[36] Loffhagen, E. (2024). What is Ella’s Law? Sadiq Khan apologises to family whose daughter was killed by air pollution. Retrieved from https://www.standard.co.uk/news/uk/ellas-law-toxic-air-pollution-bill-human-rights-ella-kissi-debrah-environment-b1044488.html
[37] กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562). แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง. (คพ. 03-129). กรุงเทพฯ: กรมควบคุมมลพิษ. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/7TgkE
[38] กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ก. ย. (2024). ห้องปลอดฝุ่น. สืบค้นจาก https://podfoon.anamai.moph.go.th/
[39] The Coverage. (2563). แนะ อปท.ดึง “กองทุนสุขภาพตำบล” ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นควันวิกฤตจาก PM2.5 ได้. สืบค้นจาก https://www.thecoverage.info/news/content/756
[40] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. (2565). การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565. สืบค้นจาก https://media.nhso.go.th/assets/portals/1/files/NHSO%20annual%20report%202022_compressed.pdf
[41] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. (2563). ตัวอย่างโครงการป้องกันโรค COVID-19″ กับ “โครงการป้องกัน PM 2.5 ” ด้วยงบกองทุนตำบล. สืบค้นจาก https://nkwweb.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?ContentID=NjMwMDAwMDMy&CatID=NzY=
[42] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). รายงานประจำปี 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/?p=336645 และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2566a). MOU เสริมพลัง พัฒนาระบบพยากรณ์สุขภาพจากฝุ่น PM2.5. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/?p=348474 และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2566b). การประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/?p=352814

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

Exit mobile version