รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ Google ยอมรับการพัฒนา AI ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเกือบ 50% ในรอบ 5 ปี

เว็บไซต์ข่าว CNN เสนอข้อมูลว่า จากรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมประจำปี 2024 (Environmental Report 2024) ของบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ‘Google’ พบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2023 เพิ่มสูงขึ้น 48% จากตัวเลขในปี 2019 โดยชี้แจงสาเหตุว่าเป็นเพราะ “การใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูล (data center) ที่เพิ่มขึ้น และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทาน” ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้งาน AI

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้ง Google และคู่แข่งด้านเทคโนโลยีต่างเร่งกำลังการพัฒนา AI ในผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ภาระที่ตามมาคือ พลังงานระดับมหาศาลที่จ่ายแก่ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (data center) ที่มีระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ระดับสูงเพื่อประมวลผลและพัฒนา AI รวมไปถึงการจัดการกับความร้อนที่คอมพิวเตอร์ทั้งหมดเหล่านั้นผลิตออกมาด้วย

องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ได้เคยประเมินการใช้พลังงานของโมเดล AI ที่สูงกว่าระบบคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมเอาไว้ ด้วยเปรียบเทียบกับการค้นหาบน Google แบบทั่วไป จะใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย 0.3 วัตต์-ชั่วโมง ในขณะที่การสนทนาผ่าน ChatGPT จะใช้พลังงานประมาณ 2.9 วัตต์-ชั่วโมง การศึกษาของ Alex de Vries นักวิจัยชาวดัตช์ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม คาดการณ์ไว้ว่า ระบบ AI ของ Google อาจใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากเท่ากับประเทศไอร์แลนด์ทั้งประเทศในแต่ละปี หากนำ AI ไปใช้อย่างเต็มรูปแบบทั้งในฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ปัจจุบัน

นอกจากพลังงานไฟฟ้าแล้ว Google ยังต้องใช้น้ำจำนวนมากในการระบายความร้อนจากการทำงานของคอมพิวเตอร์ในศูนย์ข้อมูล บริษัทตั้งเป้าหมายในการคืนน้ำจืดที่ใช้ไปกลับสู่ธรรมชาติ (replenish) ให้ได้ 120% แต่ข้อมูลของปี 2023 ยังทำได้จริงเพียงแค่ 18% เท่านั้น

Google ได้ประกาศตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emission)ให้ได้ภายในปี 2030 การเติบโตของ AI พร้อมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมา อาจเป็นอุปสรรคสำหรับความตั้งใจนี้

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ชวนแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต หวังประชาชนมีส่วนร่วมการจัดการ Climate Change
– SDG Updates | สรุปเสวนา “การวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษ” (โครงการย่อยที่ 2)
– ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 แสดงความมุ่งมั่น – ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
SDG Vocab | 64 – Carbon Neutrality– ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
 (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา: Google’s greenhouse gas emissions are soaring thanks to AI (CNN)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น