SDG Updates | เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ-ภัยพิบัติ บังคับให้ผู้คนจำนวนมหาศาลต้อง ‘โยกย้ายถิ่นฐาน’ อะไรคือแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้?

แพรวพรรณ ศิริเลิศ

เมื่อโลกยิ่งร้อนขึ้น ยิ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน ทะเลเดือด หรือฝนตกหนัก ผู้คนในหลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาจากวิกฤตนี้ กอปรกับปัจจุบันที่ปัญหาเริ่มซับซ้อนเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นพร้อมกับเหตุปัจจัยอื่น เช่น สงครามและความขัดแย้ง ด้วยวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้เพื่อความอยู่รอดบังคับให้ผู้คนหลายล้านคนต้อง ‘ย้ายออกจากบ้าน’ ของตนเองหรือถิ่นฐานเดิม เพราะไม่อาจอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว

แม้เหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างผลกระทบให้เกิดการพลัดถิ่นในทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้นผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ก็ยังไม่อาจได้รับการคุ้มครองดูแลตามมาตรการหรือกฎหมายอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน ด้วยตระหนักถึงประเด็นความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่เกิดขึ้น

SDG Updates ฉบับนี้ จึงชวนผู้อ่านสำรวจสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานเหตุจาก ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ที่เกิดขึ้นในทศวรรษนี้ ว่าเป็นอย่างไร และมีแนวทางใดที่เป็นไปได้ในการเตรียมพร้อมและรับมือ หาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้ 


01 – บทนำ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ให้คำนิยามของคำว่า “ผู้ลี้ภัย (Refugee)” ไว้ในอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (the 1951 Refugee Convention) หมายถึงบุคคลที่จำเป็นต้องเดินทางทิ้งถิ่นฐานประเทศของตนเองเนื่องจากความหวาดกลัวจากการที่จะถูกประหัตประหารด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ หรือเพราะเป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมหรือความคิดเห็นทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่สามารถได้รับการคุ้มครองจากรัฐที่ตนเป็นพลเมืองได้ [1]

อย่างไรก็ดี โลกปัจจุบันเผชิญกับวิกฤตที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ย้อนกลับมาทำร้ายประชากรโลก เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งน้ำท่วม วาตภัย ภัยแล้ง และคลื่นความร้อน ซึ่งประชากรที่ต้องอพยพด้วยเหตุดังกล่าวนั้น จะกลายเป็น “ผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Refugees)” ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้ย้ายออกจากบ้านเกิด เนื่องจากได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ แม้จะกล่าวเช่นนั้นแต่การพลัดถิ่นในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภัยพิบัติ ยังถูกนิยามไว้อย่างไม่ครอบคลุมในอนุสัญญาฯว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 แต่สามารถนำมาปรับใช้ได้ เมื่อบุคคลนั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการประหัตประหารหรือความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลอันตรายต่อชีวิตและเสรีภาพ [2]

แม้ปัจจัยดังกล่าวจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงทำให้เกิดผู้ลี้ภัยหลายล้านคน แต่ถึงอย่างนั้นมาตรการหรือกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในการรองรับคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศยังคงไม่มีความชัดเจนนำมาสู่การสำรวจว่าสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานเหตุจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันเป็นอย่างไร และมีมาตรการใดในการเตรียมพร้อมและรับมือ โดยจะอธิบายรายละเอียดในหัวข้อถัดไป


02 – สถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานเหตุจาก ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ที่เกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติผลักดันให้ผู้คนทั่วโลกต้องเกิดการโยกย้ายถิ่นฐานทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร ทั้งเป็นการอพยพภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ และการย้ายถิ่นของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ตามรายงาน Global Report on Internal Displacement 2024 ล่าสุดของของศูนย์เฝ้าติดตามการพลัดถิ่นภายใน (Internal Displacement Monitoring Centre หรือ IDMC) ระบุว่าในปี 2566 มีผู้พลัดถิ่นถึง 46.9 ล้านคน จำนวนดังกล่าวเป็นผู้พลัดถิ่นที่มีปัจจัยจากความขัดแย้งและความรุนแรง 20.5 ล้านคน ขณะที่อีก 26.4 ล้านคน หรือประมาณ 56% เป็นผู้พลัดถิ่นและถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานที่มีปัจจัยมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งจาก  น้ำท่วม วาตภัย แผ่นดินไหว ภัยแล้ง และภัยพิบัติต่าง ๆ โดยจาก 1 ใน 3 ของผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในประเทศจีนและตุรกี เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายและแผ่นดินไหวที่รุนแรง [3] ด้วยสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกที่อพยพย้ายถิ่นฐาน

ภาพจาก: www.internal-displacement.org

แม้ตัวเลขดังกล่าวจะลดลงถึง 6.2 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีจำนวนการพลัดถิ่นจากภัยพิบัติถึง 32.6 ล้านคน เนื่องด้วยการสิ้นสุดลงของปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina)ที่ทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรอุ่นขึ้นบริเวณเส้นศูนย์สูตรแปซิฟิก แต่ยังถือว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดอันดับ 3 นับตั้งแต่มีการรายงานข้อมูลตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุภัยพิบัติส่วนใหญ่นั้นเกิดจากภาวะน้ำท่วมและพายุโหมกระหน่ำ

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่มีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate migration) เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุปัจจัยอื่น ๆ เช่น สงครามความขัดแย้ง หรือความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ยิ่งส่งอิทธิพลให้เกิด ‘ผู้ลี้ภัย’ ตัวอย่างเช่น กรณีแผ่นดินไหวในประเทศซีเรียและอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนจำนวนมากต้องพลัดถิ่นเพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำสร้างความยากลำบากและความอดอยากให้แก่ผู้คนที่ยังอาศัยอยู่ จนเป็นเหตุให้เกิดการอพยพเพิ่มขึ้นเพื่อเอาชีวิตรอด

| สถิติการพลัดถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงอันตรายต่อการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและทั่วโลก จากรายงานพบว่าถึง 30.7% ของการพลัดถิ่นจากสาเหตุภัยพิบัติทั้งหมดที่จดบันทึกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกระหว่างช่วงปี 2563 – 2564 เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [4]

ภาพจาก: www.internal-displacement.org

จากการจัดอันดับ 5 ประเทศและดินแดนที่มีการพลัดถิ่นเหตุภัยพิบัติมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ช่วงปี 2553 – 2564 พบว่าประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นทุกปี 5 ถึง 10 ลูก และถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพราะกว่าหนึ่งทศวรรษ ประเทศฟิลิปปินส์ได้ทำสถิติรายงานการพลัดถิ่นถึง 49.3 ล้านครั้งเหตุจากลมพายุที่รุนแรง และประเทศรองลงมาตามลำดับ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมา ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 5 หรือคิดเป็น 1.3% ของประเทศที่มีการพลัดถิ่นเหตุภัยพิบัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [5]


03 – แนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ ในการช่วยเหลือ ‘ผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ’ จากอนาคตที่ไม่แน่นอน

แม้ว่ามีคนจำนวนมหาศาลที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ถึงอย่างนั้นผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นกลุ่มคนที่ถูกมองข้ามเนื่องจากยังไม่ได้รับการกำหนด ป้องกัน หรือรับรองอย่างเป็นทางการภายใต้อนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 หรือบทบัญญัติอื่น ๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ [6]

ถึงแม้ต่อมาในปี 2561 ประชาคมระหว่างประเทศจะให้การรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration – GCM) ออกมา เพื่อสร้างความครอบคลุมสำหรับการคุ้มครองบุคคลที่ต้องพลัดถิ่นหรือลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มากขึ้น ถึงอย่างนั้นยังคงไม่เพียงพอเนื่องจากมาตรการนี้จะมุ่งเน้นการแก้ไขลักษณะการโยกย้ายข้ามประเทศเป็นหลัก แต่กลับกันความเป็นจริงนั้นการย้ายถิ่นมักจำกัดอยู่ภายในประเทศมากกว่าข้ามประเทศเนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่ไม่มากพอจะย้ายออกไปยังพื้นที่ห่างไกล เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางกฎหมายและปรับปรุงนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้ลี้ภัย จำเป็นต้องกลับมาคิดว่าแท้จริงแล้วการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาต้องเริ่มจากภายในประเทศก่อน [7] หรือไม่

ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวถึงผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้น โดยได้เสนอให้ปรับกฎหมายการลี้ภัยและออกคำสั่ง เช่น สถานะการคุ้มครองชั่วคราว เพื่อปกป้องผู้พลัดถิ่นจากสภาพภูมิอากาศให้มีการพูดคุยเพื่อเตรียมแผนการรับผู้ลี้ภัยเข้ามา ขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์ ที่พลเมืองจากคิริบาส ตูวาลู ตองกาหรือฟิจิ สามารถลงทะเบียนเพื่อขอโควตาเข้าประเทศได้ แต่ผู้ที่จะเข้ามาต้องมีงานทำที่แน่นอน และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ และผ่านกฎเกณฑ์ต่าง ๆ [8]

สำหรับแก้ไขปัญหาระยะยาว มีแนวทางที่เป็นไปได้ในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ ดังนี้

  • การออกวีซ่าด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Visa for Climate Refugees) เป็นแนวทางแก้ไขของรัฐบาลภายในประเทศ สำหรับช่วยเหลือผู้ที่หลบหนีภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรัฐบาลต้องจัดหาเส้นทางที่ปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมายสำหรับผู้ลี้ภัยเพื่อลดผลกระทบของการอพยพที่เกี่ยวข้องต่อความมั่นคงบริเวณชายแดน [9] และเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพประเทศต่าง ๆ ต้องมีข้อมูลของชุมชนกลุ่มเปราะบางที่ต้องลี้ภัย เพราะข้อมูลของชุมชนมีผลต่อการพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่ยุติธรรม เสมอภาค และยั่งยืนต่อวิกฤตการย้ายถิ่นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งวีซ่าสภาพภูมิอากาศนั้น เป็นแผนฉุกเฉินและมาตรการป้องกัน การปรับตัว และการบรรเทาผลกระทบอื่น ๆ [10]
  • Model International Mobility Convention (MIMC) หรือ ‘โมเดลอนุสัญญาการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ’ เป็นการดำเนินการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่อาจมีผลผูกพันหากรัฐสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ (United Nations: UN) นำข้อตกลงนี้มาใช้ โดยบทบัญญัติของ MIMC สามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการกับวิกฤตการย้ายถิ่นฐานเหตุจากสภาพภูมิอากาศ
  • กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศได้อย่างจำกัด เนื่องจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้จัดทำข้อตกลงที่มีผลผูกพันกับกลไกการบังคับใช้ที่จัดการกับทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องของวิกฤตการย้ายถิ่นของสภาพภูมิอากาศ ทำให้สหประชาชาติที่มีบทบาทนำในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนด ‘กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2535’ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) มีเป้าหมายคือปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการกระทำของมนุษย์ โดยปัจจุบัน สนธิสัญญานี้มีผลผูกพันมีสมาชิกให้สัตยาบันถึง 197 ประเทศในการให้ความร่วมมือ ซึ่ง UNFCCC ช่วยสะท้อนแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบร่วมกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นำมาสู่การช่วยขยายผลด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐต่อผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่ต้องมีร่วมกัน [12]
  • กฎหมายสิทธิมนุษยชน สามารถบรรเทาอันตรายบางอย่างให้แก่ผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ผ่าน“หลักการไม่ผลักดันกลับ” อันเป็นหลักการพื้นฐานได้ยืนยันสิทธิของผู้ลี้ภัยที่จะต้องไม่ถูกผลักดันกลับไปยังประเทศที่พวกเขาต้องเผชิญภัยร้ายแรงต่อชีวิตหรืออิสรภาพ แต่ถึงอย่างนั้นเหตุจากสภาพภูมิอากาศ ยังไม่ถูกรวมอยู่ในสนธิสัญญานี้เพื่อจัดการกับช่องว่างทางกฎหมายที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมุ่งแนวทางแก้ไขที่เน้นสิทธิมนุษยชนที่เป็นไปได้จากศาลระหว่างเทศ เพื่อให้ผู้ลี้ภัยได้รับการยอมรับซึ่งแสดงถึงศักยภาพในการแก้ไขปัญหาและจัดการกับข้อจำกัดของผู้ลี้ภัยให้ได้รับการยอมรับ [13]   

04 – บทสรุป

ผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ยังคงไม่ได้รับความคุ้มครองและปกป้องที่เพียงพอ ทั้งที่แท้จริงแล้ววิกฤตสภาพภูมิอากาศมีนั้นยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีปัจจัยความขัดแย้งมาซ้อนทับ ทำให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งภายในปี 2573 นี้ประชาคมโลกยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น อนาคตในปี 2593 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจบังคับให้ผู้คนกว่า 216 ล้านคน ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานภายในประเทศของตัวเอง [14]

อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วโลกจำเป็นต้องกลับมาทบทวนประเด็นการจัดการเรื่องการย้ายถิ่นฐาน เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะการเตรียมรับมือที่ดี เป็นกลยุทธ์สำคัญในการช่วยให้ผู้คนตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ด้วยพันธสัญญาที่เป็นไปได้และเกิดเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินนโยบายทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัต
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.7) อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นระเบียบ ปลอดภัย ปกติ และมีความรับผิดชอบ รวมถึงให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนลดความสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจเทียบเคียงกับGDP ของโลก ที่เกิดจากภัยพิบัติ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก โดยให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนชายขอบ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม


ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on กรกฎาคม 11, 2024

Authors

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

  • Wijanee Sendang [Graphic designer]

    นักออกแบบนิเทศศิลป์

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น