Editor’s pick 09 | เดือนแห่งการทบทวน ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ เมื่อ SDGs อาจไม่สามารถบรรลุได้ทันเวลา – ร่วมติดตามผลจากการประชุม HLPF 2024

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เดือนกรกฎาคมนี้ มีการประชุมสำคัญซึ่งเป็นเวทีกลางของสหประชาชาติสำหรับการติดตามผลและทบทวนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับโลก อย่าง การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี พ.ศ. 2567 หรือ ‘HLPF 2024’ จะขึ้นเป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 – 18 กรกฎาคม 2567 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุม สำหรับปีนี้ ธีมหลักของานขับเน้นไปที่ “เสริมแรงวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 และขจัดความยากจนในห้วงเวลาวิกฤตซ้ำซ้อน: การส่งมอบแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน ยืดหยุ่นฟื้นคืน และสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ” นอกจากนี้ ยังมีช่วงเวลาสำคัญของการนำเสนอรายงานการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNR) จากผู้แทนจ 37 ประเทศ 

จดหมายข่าวฉบับนี้ ได้รวบรวมสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในเดือนนี้แบบกระชับ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข่าวสารหรือบทความ พร้อมอัปเดตเรื่องราวสำคัญและแนะนำสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาให้ทุกท่านรอติดตาม 

เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 3 ส่วน

  • Editor’s note: ข้อความจากบรรณาธิการ หยิบยกประเด็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs 
  • Highlight issues : อัปเดตข่าวสาร  ความเคลื่อนไหวสำคัญ แนะนำคอลัมน์คัดสรรที่อยากให้ทุกคนอ่าน
  • Our Activities : แนะนำกิจกรรมสำคัญที่ SDG Move และเครือข่ายได้ดำเนินการในรอบเดือนที่ผ่านมา


Editor’s note

เวที HLPF 2024 นี้นับเป็นการประชุม HLPF ครั้งแรกหลังจากการประชุม SDG Summit 2023 โดยจะยังคงติดตามผลต่อปฏิญญาทางการเมือง (Political Declaration) และผลลัพธ์อื่น ๆ จากการประชุมครั้งดังกล่าว เพื่อส่งเสริมวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งเตรียมการสำหรับการประชุม Summit of The Future ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยจะมีการทบทวนเจาะลึกเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งหมด 5 เป้าหมาย ได้แก่ SDG 1 (ยุติความยากจน) SDG 2 (ขจัดความหิวโหย) SDG 13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) SDG 16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง) และ SDG 17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)

นอกจากนี้ ยังมีช่วงของการนำเสนอรายงานการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNR) จะมีผู้แทนจาก 37 ประเทศ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 สำนักงานเลขาธิการสหประประชาชาติ ได้เผยแพร่บันทึก ‘E/HLPF/2024/5’ ซึ่งรวบรวมสารสำคัญ (main message) เช่น อาร์เมเนีย รายงานว่า ‘ความเหนียวแน่นคงทนของระบอบประชาธิปไตย’ (democratic resilience) ช่วยให้สามารถส่งมอบความก้าวหน้าและสร้างคืนให้ดีขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่เปราะบางอย่างยิ่ง ท่ามกลางความท้าทายด้านความมั่นคง มนุษยธรรม และการพัฒนา


ปัญหาฝุ่น..แก้ไม่ได้..ถ้ามองไม่เห็น:
เมื่อระบบสุขภาพเป็นแค่ปลายน้ำของปัญหา

‘ฝุ่น’ ยังเป็นปัญหาที่ต้องจับตามองว่ากลไกการจัดการของรัฐจะจัดการปัญหานี้อย่างไร เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่คนไทย ไม่เพียงมองว่าเป็นประเด็นร้อนยามที่เกิดฝุ่นเท่านั้น เพราะความมุ่งมั่นของรัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะหากขาดความมุ่งมั่นจากฝั่งการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม แต่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจนลืมมองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสะท้อนผ่านการทำงานแบบฉายเดี่ยวของระบบราชการไทยที่แยกการกำกับดูแลแหล่งกำเนิดฝุ่นในภาคส่วนต่าง ๆ ออกจากกัน เช่น ภาคส่วนอุตสาหกรรม คมนาคม และการเกษตร  นอกจากนี้พบว่าภาคการเมืองที่มีเสรีภาพในการเสดงออกอย่างจำกัดและขาดความรับผิดชอบต่อผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ปล่อยให้ประชาชนต้องมาต่อสู้ดิ้นรนจัดการตัวเอง แม้ประชาชนจะเข้าลงชื่อกันเพื่อร้องเรียนก็ไม่สามารถทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้ การปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์ไทยแสวงประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อนบ้าน ทำเกษตรที่ก่อให้เกิดมลภาวะย้อนกลับมาทำร้ายผู้คนในประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อวิจารณ์ของนักวิชาการและสื่อมวลชนต่อการแก้ปัญหาของรัฐไทย

นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้กว่าปีละ 6.4 ล้านคนทั่วโลก ราว 95% ของการตายจากมลภาวะทางอากาศเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา หากมองในมุมความเหลื่อมล้ำของผู้ได้รับผลกระทบ พบว่า คนจน เด็ก และคนชราที่มาจากครอบครัวที่ยากจนได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม เช่นนั้นผลกระทบแรกต่อระบบสุขภาพ นั่นคือภาระโรคที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะในอากาศเพิ่มขึ้น งบประมาณที่ต้องใช้เพิ่มขึ้น และความเครียดที่เกิดขึ้นในแง่กำลังบริการในระบบสุขภาพ 

อ่านบทความฉบับเต็ม และอินโฟกราฟิกเข้าใจง่ายได้ที่นี่

ปัญหาฝุ่น..แก้ไม่ได้..ถ้ามองไม่เห็น: เมื่อระบบสุขภาพเป็นแค่ปลายน้ำของปัญหา

เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ-ภัยพิบัติ บังคับให้ผู้คนจำนวนมหาศาลต้อง ‘โยกย้ายถิ่นฐาน’ อะไรคือแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้?

เมื่อโลกยิ่งร้อนขึ้น ยิ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน ทะเลเดือด หรือฝนตกหนัก ผู้คนในหลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาจากวิกฤตนี้ กอปรกับปัจจุบันที่ปัญหาเริ่มซับซ้อนเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นพร้อมกับเหตุปัจจัยอื่น เช่น สงครามและความขัดแย้ง ด้วยวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้เพื่อความอยู่รอดบังคับให้ผู้คนหลายล้านคนต้อง ‘ย้ายออกจากบ้าน’ ของตนเองหรือถิ่นฐานเดิม เพราะไม่อาจอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว ตามรายงาน Global Report on Internal Displacement 2024 ล่าสุดของของศูนย์เฝ้าติดตามการพลัดถิ่นภายใน (Internal Displacement Monitoring Centre หรือ IDMC) ระบุว่าในปี 2566 มีผู้พลัดถิ่นถึง 46.9 ล้านคน จำนวนดังกล่าวเป็นผู้พลัดถิ่นที่มีปัจจัยจากความขัดแย้งและความรุนแรง 20.5 ล้านคน ขณะที่อีก 26.4 ล้านคน หรือประมาณ 56% เป็นผู้พลัดถิ่นและถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานที่มีปัจจัยมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งจาก  น้ำท่วม วาตภัย แผ่นดินไหว ภัยแล้ง และภัยพิบัติต่าง ๆ แม้เหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างผลกระทบให้เกิดการพลัดถิ่นในทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้นผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ก็ยังไม่อาจได้รับการคุ้มครองดูแลตามมาตรการหรือกฎหมายอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน 

อ่านบทความฉบับเต็ม และอินโฟกราฟิกเข้าใจง่ายได้ที่นี่

SDG Updates | เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ-ภัยพิบัติ บังคับให้ผู้คนจำนวนมหาศาลต้อง ‘โยกย้ายถิ่นฐาน’ อะไรคือแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้?

Highlight issues

จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่าประเด็นมีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้

ระดับนานาชาติ

  1. รายงานฉบับใหม่ของ WHO ชี้มีผู้เสียชีวิตจากแอลกอฮอล์-ยาเสพติดทั่วโลก มากกว่า 3 ล้านรายต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของการเสียชีวิตทั้งหมดปีนั้น โดยจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดมาจากภูมิภาคยุโรปและแอฟริกา โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 20-39 ปี โดยอัตราการเสียชีวิตสูงสุดส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งประเทศที่มีรายได้น้อยรายงานว่ามีทรัพยากรไม่เพียงพอ สำหรับนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่สามารถติดตามการบริโภคเครื่องดื่มและอันตรายจากแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนานโยบายแอลกอฮอล์ฃ
  2. กลุ่มนักวิชาการระดับโลกเสนอขยายเส้นตายบรรลุเป้าหมาย SDGs ไปถึงปี 2050 พร้อมแผนแม่บททำงานใน 6 ประเด็นสำคัญ โดยได้อภิปรายถึงสถานการณ์ปัจจุบันของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ไม่มีทางสำเร็จได้ทันเส้นตายปี 2030 ที่กำหนดไว้ โดยเป็นผลจากความท้าทายต่าง ๆ ทั้งวิกฤติที่เหนือความคาดหมายที่ประชาคมโลกต้องเผชิญ อาทิ โควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมไปถึงข้อจำกัดทางด้านการเงินและการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง และการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ SDGs ของรัฐบาลที่ขาดการบูรณาการและมองภาพรวม
  3. ฟุตบอลยูโร 2024 ใช้ “แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดการแข่งขันโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของการวางแผนและดำเนินการ โดยเร่งรัดการลงทุนและมาตรการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ESG 2024 ของยุโรป (EURO 2024 Environmental, Social and Governance (ESG) strategy) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nation)
  4. รายงาน SDGs Report 2024 ของสหประชาชาติระบุว่า SDGs เพียง 17% จะบรรลุทันเวลา ซ้ำพบความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความหิวโหยเพิ่มขึ้น สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN DESA) ร่วมมือกับระบบสถิติของสหประชาชาติ (UNStats) เผยแพร่รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2567 พบว่าความก้าวหน้าของเป้าหมาย SDGs ทั่วโลกชะงักลงอย่างน่าตกใจ มีเป้าประสงค์ (target) ของ SDGs แค่ 17% เท่านั้นที่จะบรรลุได้ทันตามเป้าหมายเวลาปี 2030 ซ้ำยังพบช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ขยายกว้างขึ้น รวมไปถึงปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงและความหิวโหยทวีความรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาด้วย

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ


ประเทศไทย

  1. เครือข่ายพลังงานภาคประชาชน สะท้อนปัญหาต่อร่างแผนพลังงงาน PDP 2024 เห็นตรงกันกระบวนการมีส่วนร่วม-รับฟังความคิดเห็นมีปัญหา ระบุว่าประชาชนอยากเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ต้องเป็นแผนที่มีความเป็นธรรมให้กับคนทุกกลุ่ม แต่ในความเป็นจริงแผน PDP เป็นแผนพลังงานชาติที่มีแต่ตัวเลขและภาษาที่เข้าใจยาก ไม่เอื้อต่อความเข้าไจ ซึ่งในแผนไม่บอกเลยว่าทิศทางพลังงานของประเทศจะสร้างผลกระทบต่อชุมชน ต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรบ้าง 
  2. สช. พัฒนา ‘E-Living Will’ ระบบสร้างสุขระยะสุดท้าย หวังคนไทยเลือกบริการสาธารณสุขช่วงก่อนเสียชีวิตได้ด้วยตัวเอง เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศการบริหารจัดการหนังสือแสดงเจตนาตามมาตรา 12 แบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ‘e-Living Will’ ขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยสามารถใช้งานได้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2567 โดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคี สนับสนุนให้มีนโยบายจัดทำแผนงาน โครงการ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดูแลระยะสุดท้ายในชุมชน
  3. เครือข่ายกัญชาฯ ยื่นหนังสือคัดค้านกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จับตาทิศทางของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีการประชุม​โดยคาดว่ามีวาระสำคัญคือ การนำกัญชาเข้าสู่บัญชียาเสพติด เนื่องจากการประกาศกัญชาเข้าสู่บัญชียาเสพติดประเภท 5 จะต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าว ขณะที่สมาคมกัญชง ไม่หวั่นที่ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดให้ทั้งกัญชากัญชงกลับไปเป็นยาเสพติดนั้น ทางสมาคมฯ เห็นด้วยกับการใช้​ พ.ร.บ.กัญชา​ มาควบคุม​มากกว่าใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด​ แต่หากรัฐบาลมีนโยบายดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด​ ก็ไม่ได้คัดค้าน​ แต่ก็ขอให้เร่งออกกฎกระทรวงมารองรับว่าทำอะไร ไม่ได้บ้างเพื่อให้นักลงทุนมีทิศทางชัดเจน

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ

Our Activities

ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ร่วมกับ ผศ. ดร.ณฐพล ทองปลิว มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะนักวิจัยจาก 6 มหาวิทยาลัย นำเสนอชุดข้อมูลความรู้และจัดเสวนา ภายใต้โครงการ ‘การวิเคราะห์สถานภาพและพัฒนาข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อยกระดับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13’ ที่สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

โดยมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2567 ติดตามได้ที่นี่

Research Brief | สำรวจสถานะของ SDG 13 ว่าไทยต้องการแนวทางอะไร เพื่อรับมือกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ 

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น