Site icon SDG Move

Editor’s pick 10 (Special Ep.) | Mid-year Revisit – ย้อนอ่านรายงาน 16 ฉบับ ไม่พลาดทุกสถานการณ์ SDGs ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ข้อเขียนฉบับนี้จะขอสร้างความพิเศษกว่าจดหมายข่าวฉบับที่ผ่านมา ด้วยการพาผู้อ่านของ SDG Move ทุกท่านย้อนทบทวนสถานการณ์การความก้าวหน้า/ถอยหลัง อุปสรรคและความสำเร็จต่าง ๆ ของการดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และมิติด้านการพัฒนาต่าง ๆ ที่รายล้อม ผ่าน รายงาน 16 ฉบับ คัดสรรโดยบรรณาธิการ – Mid-year Revisit – เพื่อให้คุณไม่พลาดทุกเรื่อง SDGs ในตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา โดยทีมสื่อสารความรู้ของ SDG Move ได้ติดตามและรวบรวมการเผยแพร่รายงานสถานการณ์ระดับโลก ระดับภูมิภาค เอาไว้ผ่านคอลัมน์ต่าง ๆ ก่อนหน้านี้

รายงานทั้ง 16 ฉบับ จะถูกจัดหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้


Revisit Reading: 2024 Reports on the SDGs (and Related Issues)

01 – The Big Picture | ภาพรวมความก้าวหน้า SDGs

1. The Sustainable Development Goals Report 2024
จัดทำโดย สำนักงานสถิติแฟห่งสหประชาชาติ (UN Statistics Division)

รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2024 (The Sustainable Development Goals Report 2024) เป็นรายงานทางการฉบับเดียวขององค์การสหประชาชาติที่ติดตามความก้าวหน้าตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยรายงานปีนี้ชี้ภาพความกังวลเกี่ยวกับความก้าวหน้า SDGs โดยพบว่ามีเป้าหมายย่อยของ SDGs แค่ 17% เท่านั้นที่จะบรรลุได้ทันตามเป้าหมายเวลาปี 2030 ซ้ำยังพบช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ขยายกว้างขึ้น รายงานยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มการลงทุนและการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs


2. Sustainable Development Report 2024
จัดทำโดย เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN)

รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2024 (Sustainable Development Report (SDR) 2024) ทบทวนความก้าวหน้าของ SDGs ที่เกิดขึ้นทุกปี พร้อมจัดอันดับผลการดำเนินงานด้าน SDGs ของแต่ละประเทศ ด้วย SDG Index รายงาน SDR 2024 ฉบับนี้ได้เสนอแนะการปฏิรูประบบสหประชาชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายของศตวรรษที่ 21 และยังได้นำเสนอดัชนีใหม่เกี่ยวกับการสนับสนุนการทำงานแบบพหุภาคี (multilateralism) และหารือเกี่ยวกับแนวทางระยะยาวในการบรรลุระบบอาหารและที่ดินที่ยั่งยืน


3. Asia and the Pacific SDG Progress Report 2024
จัดทำโดย คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP)

รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2024 (Asia and the Pacific SDG Progress Report 2024) นำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกโดยเฉพาะ สำหรับปีนี้ รายงานเน้นย้ำเรื่องราวความสำเร็จและแนวโน้มต่าง ๆ พร้อมทั้งอุปสรรคเฉพาะที่พบในแต่ละพื้นที่ภายในภูมิภาคและความสำคัญของการพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัด SDGs รายงานฉบับปีนี้เป็นอีกฉบับที่ย้ำเตือนว่าความเป็นไปได้ของภูมิภาคนี้ที่จะไปถึงเป้าหมายปลายทางให้ทันในปี 2030 นั้นยังอยู่ไกลเกินเอื้อม


02 – Emerging Risks and Challenges | ความเสี่ยงและความท้าทายระดับโลกที่เกิดขึ้นใหม่

4. Global Risks Report 2024
จัดทำโดย สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF)

รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2024 (Global Risks Report 2024) ศึกษาและประเมินประเด็นความเสี่ยงร้ายแรงที่สุดทั้งระยะสั้น ระยะยาว ที่โลกจะต้องเผชิญ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน อุณหภูมิโลกที่เดือดขึ้น และความขัดแย้ง ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการบรรลุ SDGs


03 – Human Development and Well-being | การพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์

5. Human Development Report 2023-24
จัดทำโดย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP)

รายงานการพัฒนามนุษย์ ประจำปี 2023-24 (Human Development Report 2023-24) นำเสนอดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Idex: HDI) เป็นการวัดสรุปผลสัมฤทธิ์เฉลี่ยในมิติสำคัญของการพัฒนาประชากร ได้แก่ การมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดี การมีความรู้ และการมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของการใช้ประเด็นเรื่องการพัฒนามนุษย์เป็นเกณฑ์ในการประเมินการพัฒนาของประเทศด้วย นอกเหนือไปจากพิจารณาการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว


6. World Happiness Report 2024
จัดทำโดย เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN)

รายงานความสุขโลกประจำปี 2024 (World Happiness Report 2024สำจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกได้ใช้ข้อมูลค่าเฉลี่ยจากการสำรวจประชากรในกว่า 140 ประเทศ บนปัจจัยสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ (1) การสนับสนุนทางสังคม (2) อายุขัยคาดเฉลี่ย (3) เสรีภาพในการเลือกในชีวิต (4) ความเอื้ออาทร (5) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) และ (6) การรับรู้การทุจริต ผลการประเมินพบว่า ฟินแลนด์ ยังคงครองอันดับที่ 1 ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกต่อเนื่อง 7 ปีซ้อน


04 – Specific SDG Issues | ประเด็น SDGs เฉพาะด้าน

7. Gender Gap Report 2024
จัดทำโดย สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF)

รายงานสถานการณ์ช่องว่างระหว่างเพศระดับโลก ประจำปี 2024 (Gender Gap Report 2024) ด้วยการพิจารณาดัชนีช่องว่างระหว่างเพศโลก (Global Gender Gap Index) จาก 146 ประเทศ เปรียบเทียบช่องว่างใน 4 มิติ ได้แก่ (1) โอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (2) ความสำเร็จการศึกษา (3) สุขภาพและการมีชีวิตรอด และ (4) การเสริมอำนาจทางการเมือง โดยเป็นรายงานที่ติดตามความก้าวหน้าในการลดช่องว่างเหล่านี้ของประเทศต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งในรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า อีก 134 ปี โลกถึงจะมี ความเท่าเทียมทางเพศ


8. 2024 Global Report on Internal Displacement (GRID)
จัดทำโดย ศูนย์สังเกตการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displacement Monitoring Centre: IDMC) 

รายงานสถานการณ์การพลัดถิ่นภายในประเทศ ประจำปี 2024 (2024 Global Report on Internal Displacement) ให้ภาพรวมของสถานการณ์การพลัดถิ่นภายในประเทศที่สำคัญที่สุดในปีนั้น และเสนอบทวิเคราะห์มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวบนสาเหตุที่แตกต่างกัน ทั้งด้านมนุษยธรรม การพัฒนา การลดความเสี่ยงภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


9. Global Report on Food Crises (GRFC) 2024
จัดทำโดย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO)

รายงานภาวะวิกฤตการณ์ด้านอาหารโลก ประจำปี 2024 (Global Report on Food Crises: (GRFC) 2024) นำเสนอสถานการณ์ล่าสุดของภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารที่รุนแรง (acute food insecurity) ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ โดยรายงานนี้เป็นผลลัพธ์จากความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคี 16 แห่ง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา


10. The State of the World’s Human Rights
จัดทำโดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of High Commissioner for Human Rights: OHCHR)

ายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโลก: เมษายน 2024(The State of the World’s Human Rights: April 2024) บันทึกข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนใน 155 ประเทศทั่วโลกตลอดปี 2023 ชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นและระบบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกือบจะล่มสลาย การปราบปรามสิทธิมนุษยชนและการละเมิดหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศ และยังพบอีกว่าการแย่งชิงความเป็นใหญ่ของประเทศมหาอำนาจยิ่งทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศตกอยู่ในความรุนแรง


11. World Employment and Social Outlook: Trends 2024
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)

รายงานแนวโน้มการจ้างงานและสถานการณ์ทางสังคมโลก ประจำปี 2024 (World Employment and Social Outlook: Trends 2024) ฉบับนี้ เผยให้เห็นภาพรวมการจ้างงานทั่วโลกที่ซับซ้อน รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2024 ประเทศรายได้ต่ำมีอัตราการว่างงานและความยากจนสูงกว่า และยังระบุด้วยว่า แรงงานส่วนใหญ่ของโลกยังคงอยู่ในภาคการจ้างงานไม่เป็นทางการ


12. Global Waste Management Outlook (GWMO) 2024
จัดทำโดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) 

รายงานสถานการณ์การจัดการขยะและของเสียโลก ฉบับปี 2024 (Global Waste Management Outlook (GWMO) 2024) นำเสนอสถานการณ์วิกฤติขยะ ให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนทั่วโลก ต้นทุนของขยะ และการจัดการขยะตั้งแต่ปี 2018 ประเมินผลกระทบและต้นทุนของปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นที่จะต้องมีการจัดการ รายงานฉบับนี้เตือนว่า ภายในปี 2050 ขยะมูลฝอยชุมชนจะเพิ่มขึ้นสองในสาม และมีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า


13. Global Status Report for Buildings and Construction
จัดทำโดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) 

รายงานสถานการณ์ของอาคารและการก่อสร้างโลก (Global Status Report for Buildings and Construction: Buildings-GSR) เป็นรายงานที่แสดงภาพรวมความก้าวหน้าของภาคอาคารและการก่อสร้างทั่วโลกว่าดำเนินงานสอดคล้องกับเป้าหมายของความตกลงปารีสหรือไม่ ตามที่ระบุไว้ในรายงานฉบับนี้ ภาคอาคารและการก่อสร้างมีส่วนสำคัญต่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 21 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ในปี 2022


14. State of Global Air 2024
จัดทำโดย สถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics) 

รายงานสภาวะอากาศโลก ประจำปี 2024 (State of Global Air 2024) นำเสนอบทวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 8.1 ล้านคนทั่วโลกในปี 2021 และเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมากกว่า 700,000 คน หรือมากถึง 15% ของการตายของเด็กอายุต่ำกว่าห้าปีทั่วโลก


15. Food Waste Index Report 2024 (UN Environment Programme)
จัดทำโดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) 

รายงานดัชนีชี้วัดขยะอาหาร ประจำปี 2024 (Food Waste Index Report 2024) นำเสนอข้อมูลปริมาณขยะอาหารทั่วโลก โดยเป็นฉบับพัฒนาต่อยอดจากรายงานในปี 2021 โดยมีข้อมูลมากขึ้นจึงช่วยให้การประมาณค่าระดับโลกและระดับชาติมีความแม่นยำมากขึ้น ข้อมูลล่าสุดพบว่า ในหนึ่งวันมีอาหารเหลือทิ้งกว่าหนึ่งพันล้านมื้อและปริมาณขยะอาหารมาจากในครัวเรือนเป็นสัดส่วนสูงสุด อีกประเด็นสำคัญของงรายงานฉบับนี้คือการเสนอแนวทางการลดขยะอาหารที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน


16. State of Global Climate 2023
จัดทำโดย องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO)

รายงานสถานการณ์ภูมิอากาศโลก 2023 (State of Global Climate 2023) นำเสนอสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลก ผ่านข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าสถิติระดับก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิผิวน้ำ ความร้อนและกรดในมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำแข็งทะเลแอนตาร์กติกา และธารน้ำแข็งที่ละลาย ล้วนทำลายสถิติเดิมอย่างสิ้นเชิง รายงานฉบับนี้ยังยืนยันอีกว่า ปี 2023 เป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ พร้อมนำเสนอผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารและการอพยพของประชากร


เนตรธิดาร์​ บุนนาค – เรียบเรียง
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

Exit mobile version