“โลกร้อน – การศึกษา – ความเท่าเทียมทางเพศ” สำรวจหลากหลายประเด็นบนเวที MUT 2024 ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs

สิ้นสุดเป็นที่เรียบร้อยกับการประกวด Miss Universe Thailand 2024 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อคืนวาน (วันที่ 14 กรกฎาคม 2567) ณ เดอะมอล์ บางกะปิ กรุงเทพมหานคร หากใครนั่งเชียร์ติดขอบเวทีหรือหน้าจอโทรทัศน์คงเห็นว่าไม่ใช่เพียงความงามและความสามารถในการเดินของบรรดาผู้เข้าประกวดเท่านั้น แต่ในรอบตอบคำถามยังความน่าสนใจเพราะคำถามแต่ละข้อมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางตรงและทางอ้อม

SDG News ชวนย้อนสำรวจคำถาม-คำตอบจากรอบ 5 คนสุดท้ายกันอีกครั้งว่าเกี่ยวข้อง SDGs อย่างไรกันบ้าง

คำถามที่ 1 : คิดอย่างไรกับคำกล่าวว่า ยิ่งมีการพัฒนาเอไอให้เข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้นยิ่งทำให้ปัญหาการว่างงานมากขึ้นตามไปด้วย

ไหมไทย สุริยะยรรยง (สมุทรสงคราม) : คิดว่าเป็นเรื่องจริงที่ตอนนี้เอไอเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการใช้ชีวิตของเรา แต่คิดว่าปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ามนุษย์ทุกคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน และทุกคนมีความรู้และความสามารถพิเศษประจำตัวเอง และคิดว่าเราสามารถยืนหยัดโดยไม่ใช้เอไอได้

คำถาม/คำตอบข้อนี้เกี่ยวข้องกับ SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  4.4 เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องจำเป็น รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน SDG8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน และ SDG9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม) โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.b สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนา


คำถามที่ 2 : ความเสมอภาคทางเพศยังคงเป็นการต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุดในหลายส่วนของโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย คุณเชื่อว่าโครงการหรือมาตรการใด ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในสังคมไทย

สุริศา ซูซานน่า เรโนล (ภูเก็ต) : อันดับแรกฉันอยากจะแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม นอกจากนี้ฉันอยากเห็นความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน โดยเฉพาะสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ไม่ใช่แค่ในความสัมพันธ์แบบดั้งเดิม แต่ในความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ ด้วย เพราะครอบครัวคือรากฐานของชีวิตเรา

คำถาม/คำตอบ ข้อนี้เกี่ยวข้องกับ SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  5.4 ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง และ SDG10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  10.2 เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน


คำถามที่ 3 : คิดว่าคุณสมบัติใดในคนรุ่นคุณที่ทำให้คนรุ่นก่อนหน้า เช่น รุ่นพ่อแม่ และคนรุ่นหลังคุณที่จะเติบโตในอนาคต สามารถฝากความหวังไว้กับคน Gen Z เช่นคุณได้

สุชาตา ช่วงศรี (กรุงเทพมหานคร) : การมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันค่ะ นั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้เราสามารถก้าวไปขางหน้าด้วยกันได้ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใดก็ตาม และนั่นเป็นสิ่งที่โอปอลเชื่อว่ารุ่นใหม่และรุ่นต่อ ๆ ไปจะมี พวกเราจะเป็นกลุ่มคนที่คนรุ่นหลังสามารถที่จะฝากความหวังไว้ได้ เพราะเราจะไม่มีทางก้าวไปข้างหน้าโดยลืมรากเหง้าที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ให้เรา และเราจะนำความฝันของคนรุ่นก่อน คือการเดินหน้าค่ะ

คำถาม/คำตอบข้อนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ SDGs โดยตรง แต่มีความเชื่อมโยงที่ใกล้เคียง SDG17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) มากที่สุด


คำถามที่ 4 : เนื่องจากอุณหภูมิโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ในอีก 5 ปีข้างหน้า คุณมีข้อความอะไร ที่อยากจะบอกกับสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยปกป้องอนาคตของลูกหลานเราในสถานการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้

กานต์ฤทัย ทัศบุตร (อุบลราชธานี) : เรามักจะพูดว่ามันคือภาวะโลกร้อน แต่ตอนนี้มันลุกลามเป็นภาวะโลกเดือด และฉันคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง เพราะเราในฐานะผู้ที่อยู่ในโลกนี้ในรุ่นนี้ เราไม่เพียงเป็นพลเมืองไทยแต่เป็นพลเมืองโลก เรามีความรับผิดชอบในการจะทำให้โลกนี้เป็นสถานที่ที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไป

คำถาม/คำตอบข้อนี้ เกี่ยวข้องกับ SDG13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ และ 13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


คำถามที่ 5 : การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพยังคงเป็นปัญหาในหลายส่วน หลายพื้นที่ของประเทศไทย เราจะทำอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่า เด็กทุกคนในประเทศไทยไม่ว่าจะมีพื้นฐานเป็นอย่างไรก็สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้

บุญยิสา จันทราราชัย (มหาสารคาม) : เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนโดยเฉพาะเยาวชน เราต้องช่วยกันไม่ใช่แค่ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน เท่านั้นไม่พอ ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันทำให้เด็ก ๆ ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลง และที่สำคัญป๊อปปี้เชื่อว่า เด็กไม่ใช่แค่อนาคตของชาติ เยาวชนคือปัจจุบันของชาติเช่นเดียวกัน

คำถาม/คำตอบข้อนี้ เกี่ยวข้องกับ SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ


แหล่งที่มา : รวมคำตอบสะเทือนจักรวาล ชิงมงกุฎ Miss Universe Thailand 2024 (PPTV Online)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น