5 ภาพยนตร์น่าดู ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ในการอนุรักษ์ ‘สิ่งแวดล้อม’ 

ประเด็นด้าน ‘สิ่งแวดล้อม’ เป็นหัวข้อที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เว็บไซต์ Earth.org ได้รวบรวมภาพยนตร์และสื่อบันเทิงที่มีการตีแผ่เนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ความรู้แก่ผู้คนทั่วไป หยุดสุดสัปดาห์นี้ SDG Recommends ชวนดู 5 ภาพยนตร์ที่คัดสรรมาแล้วว่าดี ทั้งภาพยนตร์เก่าและใหม่ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด

1 – The Human Element (2018) 
กำกับโดย : Matthew Testa

The Human Element เป็นภาพยนตร์แนวสารคดีของ James Balog ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของช่างภาพสิ่งแวดล้อมชื่อดังชาวอเมริกันจากการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเตือนให้ผู้คนหันกลับมามองดูความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ โดยได้ถ่ายทอดถึงพลังแห่งธรรมชาติ ในขณะเดียวกันที่กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ส่งผลให้องค์ประกอบพื้นฐานของชีวิตไม่ว่าจะเป็นดิน  น้ำ อากาศ หรือไฟ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน ด้วยภาพประกอบอันทรงพลังที่ผสมผสานศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน 


2 – Before the Flood (2016)
กำกับโดย : Fisher Stevens

Before the Flood หรือ ‘ช่วงเวลาก่อนน้ำท่วมโลก’ เป็นภาพยนตร์แนวสารคดีเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน นำแสดงโดย Leonardo Dicaprio นักแสดงมากฝีมือ โดยได้ถ่ายทอดบริบทและปัญหาที่ทำให้เกิดโลกร้อน เนื่องจากผลกระทบของการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาถ่านหิน รวมถึงปัญหาการบริหารจัดการของรัฐ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้นทั้งในเชิงโครงสร้างและการจัดการ


3 – Eyes of the Orangutan (2021)
กำกับโดย : Chris Scarffe

Eyes of the Orangutan เป็นภาพยนตร์แนวสารคดีที่ได้บันทึกเรื่องราวของอุรังอุตังและสัตว์ป่าอื่น ๆ ที่ถูกบังคับให้เคลื่อนย้ายออกจากแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ พร้อมแสดงให้มนุษย์ได้เห็นถึงผลกระทบและพร้อมที่จะจัดการกับความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น รวมถึงตีแผ่กระบวนการลักลอบขนย้ายลิงอุรังอุตัง สะท้อนภาพที่น่าสะเทือนใจของการแสวงหาประโยชน์จากสัตว์ป่าและการท่องเที่ยว พร้อมสะท้อนว่านักท่องเที่ยวมีส่วนรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ อย่างไร 


4 – Artifishal (2019) 
กำกับโดย : Josh Murphy

Artifishal เป็นภาพยนตร์แนวสารคดีที่เผยให้เห็นถึงผลกระทบของการประมงเกินขนาด (overfishing) โดยเฉพาะปลาแซลมอน ซึ่งปัจจุบันในทวีปอเมริกาเหนือใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว พร้อมบอกเล่าถึงผลกระทบของการเลี้ยงปลาแซลมอนตามธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงในฟาร์ม ซึ่งสะท้อนการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อแสวงหาผลกำไรที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศ


5 – Chasing Coral (2017)
กำกับโดย : Jeff Orlowski

Chasing Coral เป็นภาพยนตร์แนวสารคดี บอกเล่าเรื่องราวของทีมนักดำน้ำ นักวิทยาศาสตร์ และช่างภาพทั่วโลกที่รวมตัวกัน เพื่อบันทึกเรื่องราวของแนวปะการังที่สูญหายไป เนื่องจากอุณหภูมิในมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตอย่างปะการังไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ หรือเกิดการฟอกขาวและตายไปในที่สุด ส่งผลให้ระบบนิเวศทางทะเลนั้นพังทลายลง

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ส่อง 10 ภาพยนตร์บน Netflix ที่ชวนเข้าใจและตื่นตัวเรื่อง Climate Change (EP. 1/2)
ส่อง 10 ภาพยนตร์บน Netflix ที่ชวนเข้าใจและตื่นตัวเรื่อง Climate Change (EP. 2/2)
– SDG Recommends | ดูสารคดีข่าวเรื่อง (ลด) ขยะอาหารใน 3 ตอน เก็บไว้เป็นไอเดียง่าย ๆ ให้ลองทำตาม
– SDG Recommends | ทำความเข้าใจปัญหาระดับโลก ผ่าน 5 ตอนของซีรีส์สารคดี ‘explained’
– SDG Recommends | ขึ้นเรือแห่งความตายไปพร้อมกับผู้ลี้ภัยสงครามชาวซีเรีย ในชุดภาพถ่าย ‘Journey in the Death Boat’
– เรียนรู้ SDGs ผ่านลิสต์หนัง 5 เรื่อง คัดสรรโดย University of Twente

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2563
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา: The 21 Best Environmental Films to Watch in 2024 (Earth.Org

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย 

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น