กฎระเบียบข้อบังคับการออกแบบผลิตภัณฑ์ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (EU) มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการออกแบบและผลิตสินค้าแทบทุกประเภทที่วางขายในยุโรป โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาวงจรชีวิตของสินค้าและประสิทธิภาพด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
ระเบียบข้อบังคับ “Ecodesign for Sustainable Products Regulation” ฉบับนี้ต่อยอดมาจากข้อกำหนดการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม ซึ่งครอบคลุมเพียงแค่ผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานเท่านั้น ทำให้การออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่อจากนี้ต้องรวมการพิจารณาประเด็นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ในทุกขั้นตอนของการพัฒนา โดยความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่แค่เพียงมีประสิทธิภาพด้านพลังงานเท่านั้น ด้วยการผ่านกฎระเบียบข้อบังคับนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เรียกได้ว่ามีความยั่งยืนจะต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งประการจากรายการทั้งหมดนี้
- ใช้พลังงานน้อยลง
- อายุการใช้งานยาวนานขึ้น
- ซ่อมแซมได้ง่าย
- สามารถถอดประกอบชิ้นส่วนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างง่ายดาย
- มีสารเคมีที่เป็นปัญหาลดลง
- รีไซเคิลได้ง่าย
- มีส่วนประกอบที่มาจากการรีไซเคิลมากขึ้น
- มีผลกระทบต่อคาร์บอนและสิ่งแวดล้อมต่ำตลอดวงจรชีวิต
ผู้ผลิตต้องจัดทำ “หนังสือเดินทางดิจิทัลของผลิตภัณฑ์” ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และการจัดการสิ้นสุดอายุการใช้งาน ข้อมูลนี้จะต้องสามารถเข้าถึงได้โดยผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์สาธารณะ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ กฎระเบียบดังกล่าวยังได้แนะนำมาตรการห้ามทำลายสิ่งทอและรองเท้าที่ขายไม่หมด และเปิดทางไปสู่การขยายการห้ามกำจัดสินค้าทำนองเดียวกันนี้ไปยังภาคส่วนอื่น ๆ บริษัทต่าง ๆ จะต้องเปิดเผยข้อมูลประจำปีเกี่ยวกับจำนวนและน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ที่ถูกทิ้ง รวมถึงสาเหตุในการกำจัดทิ้งบนเว็บไซต์ของตนเองด้วย อีกทั้งยังเปิดทางให้มีเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบบังคับ เพื่อใช้จ่ายเงินทุนสาธารณะเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | จากฟอกความยั่งยืน SDG washing สู่ความยั่งยืนที่แท้จริง SDG enabling
– SDG Insights | หลักการ EPR “ปิดลูปการจัดการซากผลิตภัณฑ์ด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต”
– EU บังคับใช้ ‘สิทธิในการซ่อม’ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้ผลิตต้องมีอะไหล่สำรองให้ 10 ปี เพื่อซ่อมก่อนจะต้องซื้อใหม่
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.5) ลดการผลิตของเสียโดยการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำมาใช้ซ้ำ ภายในปี 2573
แหล่งที่มา : New law to make products on the EU market more sustainable (EU)