เปิดตัว ‘รายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile)” ของ 15 จังหวัดนำร่องเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 สหภาพยุโรปได้ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และกระทรวงมหาดไทย เปิดตัวรายงานดังกล่าว ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเดินทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
SDG Recommends ฉบับนี้ ชวนอ่านแนวทางการดำเนินงานผ่านความร่วมมือของหลายภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนสถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม โดยงานนี้มีผู้เข้าร่วมรวมกว่า 400 คนที่เข้าร่วมรับฟังและหารือถึงความท้าทายที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของแต่ละจังหวัด ตามที่ระบุไว้ในรายงาน SDG Profile เพื่อเร่งความก้าวหน้าของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ภายในปี 2573
รายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสอดคล้องระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด โดยริเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเปิด (Open Data) ของ 15 จังหวัดนําร่อง
ผ่านการผลึกความร่วมมือฟังเสียงและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา สำหรับรวบรวมมาเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมและฉายภาพความท้าทายที่แตกต่างหลากหลายตามบริบทพื้นที่อย่างชัดเจน ด้วยการวิเคราะห์เชิงลึกจึงได้นำตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Indicators) มาเป็นกลไกมาตรฐานในการติดตามวัดผล เพื่อทำให้มั่นใจว่าทุกภาคส่วนทำงานอย่างเชื่อมโยงกัน พร้อมสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานร่วมกันในระดับท้องถิ่นส่งผลต่อการบรรลุวาระการพัฒนาระดับโลก
รายงาน SDG Profile ของ 15 จังหวัดเผยให้เห็นความท้าทายและความก้าวหน้าของแต่ละภูมิภาค เช่น จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าทุกจังหวัดมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ เนื่องจากหลายภูมิภาคยังคงเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและความแห้งแล้ง นอกจากนี้ ยังเผยให้เห็นถึงความจำเป็นในเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ และ SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อพัฒนาไปข้างหน้าอย่างครอบคลุมทั้งในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจุดเด่นของ SDG Profile อีกประการคือได้เน้นย้ำให้เห็นถึงข้อค้นพบที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละพื้นที่และให้ภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสถานะการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศอีกด้วย
ดาวน์โหลดรายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) ของ 15 จังหวัดนำร่อง: ที่นี่
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– เผยเเพร่แล้ว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ.2566” ชวนสำรวจตัวอย่างการขับเคลื่อน SDGs ระดับท้องถิ่น
– SDG Updates | ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
– Director’s Note: 16: บันทึกจากการประชุม Thailand Sustainable Development Forum 2022
– ร่วมเสนอความคิดเห็นต่อ “(ร่าง) รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565” (ผ่านช่องทางออนไลน์)
– SDG Updates | เปิดตัว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565” เจาะลึกข้อมูลสถานการณ์ SDGs ภายใต้มุมมองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของประเทศไทย
– ประมวลภาพถ่าย – เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2565 (Thailand Sustainable Development Forum 2022)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDGs ทุกเป้าหมาย
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย