โอลิมปิก ปารีส 2024 มหกรรมกีฬาที่พูดถึง ‘ความยั่งยืน’ – ตั้งเป้าลดคาร์บอน เน้นใช้ซ้ำ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2567 หรือ ‘ปารีส เกมส์ 2024’ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลายคนอาจตื่นตาตื่นใจและจับจ้องไปที่พิธีเปิดซึ่งมีความงดงามทั้งเชิงศิลปะและการแสดง แต่ทราบหรือไม่ว่ามหกรรมกีฬาระดับโลกครั้งนี้ยังจัดขึ้นโดยยึดแนวคิด ‘ความยั่งยืน’ เป็นแนวคิดหลักด้วย 

The Legacy and Sustainability Plan for the Paris 2024 Olympic and Paralympic Game’ คือแผนการดำเนินการหลักที่เจ้าภาพจัดการแข่งขันใช้เป็นแนวทางสำหรับร่วมสร้างความยั่งยืน โดยกำหนดขึ้นภายใต้กรอบคิด Olympic Agenda 2020+5 ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจาก ‘Olympic Agenda 2020’ โดยครั้งนี้ได้มีการเพิ่มอีก 15 คำแนะนำเข้าไป 

Tony Estanguet ประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิก ปารีส 2024 ระบุว่า “เราร่วมกันสร้างโมเดลใหม่ให้กับการจัดเกมแข่งขันกีฬา เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบและโลกทั้งใบ นำพาผู้คนไปด้วยกัน และคำนึงถึงความครอบคลุม ความประหยัด และความยั่งยืน”

ยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อสร้างมรดกแห่งความทรงจำและความยั่งยืนของโอลิมปิกในปีนี้ เช่น 

  • จัดให้มีกฎบัตรทางสังคมของปารีส 2567 ซึ่งลงนามโดยสหภาพแรงงานและหน่วยงานจ้างงานเมื่อปี 2560 เพื่อตกลงกันถึงการกำหนดวิธีการประเมินและเปรียบเทียบ (benchmark) ในด้านสัมพันธภาพเชิงสังคม และการติดตามการขับเคลื่อนดำเนินการ
  • การจัดการแข่งขันครั้งนี้ พยายามดำเนินการให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการลดก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่ง และชดเชยการปล่อยก๊าซดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน 
  • องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประจำประเทศฝรั่งเศส (WWF France) ทำงานร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการจัดการแข่งขัน

ส่วนเสาหลักของยุทธศาสตร์ความยั่งยืนที่สำคัญมีทั้งสิ้น 6 เสาหลัก ได้แก่

  • การจัดแข่งขันที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 
  • การจัดการแข่งขันที่มุ่งกระตุ้นการเติบโตและดึงดูดระดับภูมิภาค
  • การจัดการแข่งขันที่เปิดโอกาสสำหรับคนทุกคน
  • กีฬาเพื่อส่งเสริมสุขภาพ การศึกษา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
  • กีฬาเพื่อส่งเสริมความครอบคลุม ความเท่าเทียม และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน 
  • กีฬาเพื่อขับเคลื่อนการพลิกโฉมสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ พบว่ายังมีการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนที่น่าสนใจ เช่น การเน้นใช้สนามกีฬาหรือแลนด์มาร์กเดิมของเมืองที่อยู่มากถึง 95% ของการแข่งขัน มีการสร้างสถานที่แข่งขันใหม่เพียง 3 แห่งเท่านั้น ขณะที่สนามกีฬาทั้งหมดสามารถเดินทางไปถึงได้ด้วยรถสาธารณะ และยังอยู่ในรัศมี 10 กิโลเมตรของหมู่บ้านนักกีฬาด้วย ส่วนหลังการแข่งขันยังมีแนวคิดนำสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์ที่ใช้จัดงานส่งต่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ใช้ประโยชน์ต่อ เช่น การเปลี่ยน Athlete’s Village ให้เป็นที่พักอาศัยสำหรับคนกว่า 6,000 คน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 แนวโน้มการสร้างพื้นที่เล่นกีฬาใหม่เมื่อโลกร้อนขึ้น – โอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 ใช้ ‘หิมะเทียม’ เกือบ 100%
 ‘ทีมผู้ลี้ภัย’ ในโตเกียวโอลิมปิก 2020 สัญลักษณ์ของความหวังและการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในเกมกีฬา
 ฟุตบอลยูโร 2024 ใช้ “แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดการแข่งขันโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล 
 SDG Updates | เพราะ ‘กีฬา’ มีพลังเปลี่ยนโลกและอนาคต – มุ่งสู่ความยั่งยืนไปกับ Tokyo 2020 Games

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG7 พลังงานที่สะอาด และเข้าถึงได้ 
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา 
ASSESSING OUR IMPACT IN ORDER TO BUILD THE PARIS 2024 LEGACY (Pari 2024)
ผ่าแผนเดินเกมของปารีส​ โอลิมปิก 2024 เพื่อพิชิตเส้นชัยโอลิมปิกที่รักษ์โลกที่สุด (Urban Creature)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น