ชวนอ่านบทสรุปเวทีเสวนา การประชุมสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 1 หัวข้อ ‘สถานภาพนโยบาย SDG 13 ของประเทศไทย: ช่องว่างและโอกาส’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting ภายใต้โครงการการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
วิทยากรร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน 4 ท่าน ประกอบด้วย
- ดร.พรรณวีร์ เมฆวิชัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- ผศ.ดร.ณฐพล ทองปลิว คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move)
- คุณวนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch
และดำเนินรายการโดย ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
SDG Updates ฉบับนี้ พาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาข้างต้น เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13 โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก นำเสนอการดำเนินงานวิจัย และ ช่วงที่สอง แลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายนักวิจัย
Section 1: นำเสนอการดำเนินงานวิจัย
01 – ฉายภาพรวมและผลสรุปการดำเนินการวิจัย ‘สถานภาพและพัฒนาข้อเสนอแนะทางนโยบาย SDG 13’
ผศ. ดร.ณฐพล ทองปลิว กล่าวถึงการสรุปผลการวิจัยในโครงการวิเคราะห์สถานภาพและพัฒนาข้อเสนอแนะทางนโยบาย เพื่อยกระดับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13 เริ่มต้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่จะพัฒนาตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น คณะวิจัยจึงมุ่งโฟกัสเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอยู่ 5 เป้าหมายหลัก ได้แก่ SDG11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) SDG12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) SDG13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) และ SDG15 (ระบบนิเวศบนบก)
อย่างไรก็ดี คณะวิจัยเล็งเห็นว่า SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นสำคัญของประเทศ จากผลการประเมิน SDG Index ปี 2023 ชี้ว่า SDG13 ของประเทศไทยอยู่ในระดับแนวโน้มที่นิ่ง แสดงถึงความท้าทายที่ต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ SDG Index ให้ความสำคัญในส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ ซึ่งเป็นตัวหลักทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ค่อนข้างสูงสำหรับประเทศไทย
นำมาสู่คำถามของโครงการวิจัยว่า ‘ประเทศควรมีมาตรการหรือแนวทางการส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ SDG 13 อย่างไร’ ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้ 1.เพื่อวิเคราะห์สถานภาพการดำเนินการของไทยตาม SDG 13 2. เพื่อเสนอแนะแนวนโยบายหรือมาตรการในการส่งเสริมและยกระดับเป้าหมายการพัฒนา SDG 13 ของประเทศไทย และ 3. เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางวิชาการในการยกระดับสถานะของประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม
สำหรับการวิเคราะห์สถานภาพโดยภาพรวม SDG13 ของประเทศไทยอยู่ในระดับดีแต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย จึงต้องมีการขับเคลื่อนเพิ่มเติม ถ้าอิงตามตัวชี้วัดของทางสหประชาชาติ (United Nations: UN) ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญคือจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายจากภัยพิบัติ และปริมาณก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นต้องมีนโยบายต่อการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติม ซึ่งการรายงานตัวชี้วัดให้กับทางสหประชาชาติข้อมูลที่รายงานยังขาดความครบถ้วนตามกรอบตัวชี้วัดที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ดี แผนยุทธศาสตร์ประเทศจะมีการจัดการกับความเสี่ยงภัยพิบัติซึ่งดำเนินงานโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในระดับท้องถิ่นหรือระดับพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยง พร้อมทำหน้าที่ประสานงานกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อให้มีการร่างแผนและปรับปรุงแผน ในส่วนของตัวชี้วัดที่ 13.2 ยุทธศาสตร์การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและนำส่งทางสหประชาชาติอย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ด้านปริมาณก๊าซเรือนกระจก มีการรายงานเป็นประจำผ่านระบบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Thailand Greenhouse Gas Emissions Inventory System: TGEIS) เป็นการรายงานประจำปี ขณะที่ตัวชี้วัดที่ 13.3 เป็นการศึกษาเรื่องพลเมืองโลกและความยั่งยืน ถ้าองค์ประกอบภาพรวม ระบบการศึกษาของประเทศไทย มีข้อมูลในส่วนของการเป็นพลเมืองโลกและความยั่งยืนค่อนข้างครบถ้วน แต่ตามรายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) มีการประเมินการดำเนินงาน SDG 13 ของประเทศไทย โดยผลการประเมินอยู่ในสถานะสีเหลือง เนื่องจากจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ซึ่งทาง UNESCAP ใช้ตัวชี้วัดแบบเดียวกันกับของ UN
ขณะที่ตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index & Dashboard) เป็นการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานทางวิชาการ ซึ่งใช้เกณฑ์การประเมินที่แตกต่างจากทาง UN เป็นการประเมินที่เน้นในส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอย่างเดียว โดยผลจากการประเมินของ SDG Index แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีสถานะ SDG 13 อยู่ในสถานะสีส้ม ถือว่ามีความท้าทายที่สูงที่เราจะบรรลุเป้าหมายเนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและการนำเข้าสินค้า
อย่างไรก็ดีจากการศึกษาได้มาซึ่งข้อเสนอแนะในการลดและการปรับตัวที่มีความเชื่อมโยงกันซึ่งสามารถดำเนินงานร่วมกันได้ในลักษณะของผลประโยชน์ร่วม (Co-benefits) เพราะหากสังเกตนโยบายของภาคเกษตรหรือสาขาการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในลักษณะที่พร้อมกันในหนึ่งชุดนโยบาย ดังนั้นการดำเนินงานเชิงนโยบายในอนาคตของประเทศไทยควรเน้นลักษณะของ co-benefits เพื่อประโยชน์และประหยัดทรัพยากรทางการเงินและบุคคลที่มีอยู่อย่างจำกัด
ประเด็นสุดท้าย การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางวิชาการที่ดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการรวบรวมฐานนักวิจัยจากทาง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สถาบันและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศผลการสำรวจพบว่านักวิจัยที่ดำเนินงานส่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ในส่วนของสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการอิสระ และภาคเอกชน จากตอบแบบสอบถาม พบนักวิจัยร้อยละ 40 มีความสนใจในการศึกษาหรือดำเนินงานวิจัย SDG13 แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าต้องมีการพัฒนาศักยภาพ หรือรวมกลุ่มนักวิจัย เพื่อพัฒนาและดึงศักยภาพของนักวิจัย
ขณะที่ด้านประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ พบว่านักวิจัยมีการดำเนินงานวิจัยในส่วนของการศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืน รองลงมาคือการดำเนินงานวิจัยในสาขาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งพบว่านักวิจัยมีประสบการณ์สูง ขณะเดียวกันความสนใจของนักวิจัยด้านการศึกษา พบไม่ค่อยมีความสนใจมากนัก ดังนั้นสิ่งที่นักวิจัยต้องการในการสร้างเสริมศักยภาพของนักวิจัยทั้งเรื่องของเงินทุน รวมถึงซอฟต์แวร์ต่าง ๆ และทีมวิจัยที่จะมาร่วมดำเนินงาน เพื่อให้งานวิจัยประสบความสำเร็จ
02 – สถานการณ์การขับเคลื่อนของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยเฉพาะ SDG 13
ผศ.ชล บุนนาค ตั้งต้นด้วยประเด็นสำคัญว่า ‘นักวิจัยจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างไร’ สำหรับเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องย้ำว่าการใช้ประโยชน์จำเป็นต้องพิจารณาถึงในระดับเป้าหมายย่อย (Target) 169 เป้าหมาย ไม่อย่างนั้นเวลาเห็นแค่ชื่อของ 17 เป้าหมาย อาจเข้าใจผิดกันไปได้ว่าแต่ละข้อมีขอบเขตถึงเรื่องใด ซึ่งเป้าหมายย่อย เป็นเนื้อหาสาระสำคัญที่เมื่อคลี่ออกมาจะเริ่มเห็นว่าประเด็น เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้อยู่เพียงใน SDG13 อย่างเดียวเท่านั้นจึงอยากย้ำว่าถ้าใช้แค่ 17 เป้าหมาย นั้นไม่พอและต้องเข้าใจตรงกันว่าเป้าหมายย่อยของแต่ละเป้าหมาย ไม่ได้แยกออกจากกันและมีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบที่ซับซ้อน
ดังนั้นในฐานะนักวิชาการ เราควรกระโดดลงไปในเป้าหมายย่อยและลองดูความเชื่อมโยงกัน โดยอีกประเด็นคือไม่อยากให้เราเล่นเกมตัวชี้วัดกันมากเกินไป เพราะทำให้เราหลงทางโดยเสียหลักการเรื่องความยั่งยืน เราต้องเข้าใจตรงกันว่าเราขับเคลื่อน SDG เพื่อให้คนทุกคนบนโลกสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และโลกของเราก็ไม่ถูกทำลายไป
ผศ.ชล จากรายงาน SDG Index 2024 สถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พบว่าสถานการณ์นั้นไม่ได้เปลี่ยนไปมากเท่าไหร่นัก มีเพียงลำดับที่ตกลงมาจากอันดับ 43 เป็น 45 ขณะเดียวกันสถานการณ์ของตัวชี้วัด 13 ยังอยู่ในสถานะสีส้มกับสีเหลือง ดังนั้นจุดที่น่าสนใจคือเรื่องตัวชี้วัดทางการที่นำเสนอใน UNESCAP ซึ่งในปีที่ผ่านมาตัวข้อมูลสะท้อนว่าประเทศไทยมีเป้าหมายที่บรรลุ ตามที่ควรจะเป็นในปี 2566 คือ เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน กลับกันเป้าหมายที่ถดถอยมีตั้งแต่เป้าหมายที่ 2 ซึ่งพบปัญหาเรื่องเกษตรกรรมไม่ยั่งยืนและความไม่มั่นคงทางอาหาร ขณะที่เป้าหมายที่ 13 ถดถอยน้อยลงในประเด็นของจำนวนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่อประชากร 1 แสนคน แต่ถึงอย่างนั้นการปรับตัวต่อภัยพิบัติถือว่าค่อนข้างทำได้ดี ซึ่งจากข้อมูลปี 2564 พบปัญหาก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มแย่ลง อย่างไรก็ดี จากการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดหลังปี 2565 ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติม
ดังนั้นสถานการณ์ของ SDG13 ในมุมมองของการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติอย่างเรื่องของการปรับตัวนั้นนั้นนั้น มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายย่อย 11.5 เรื่องเมือง ความยั่งยืน ทรัพยากรน้ำ ที่ดินและการกลายเป็นทะเลทรายในฐานะที่เราทำงานวิชาการเรื่องเหล่านี้กัน จึงเปิดประเด็นไว้ว่าเรื่องของ SDG13 นั้นมีความเกี่ยวพันกับเป้าหมายอื่น ๆ ตามที่การนำเสนอขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายในปี ค.ศ. 2023 เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDC) ร้อยละ 40 ที่ประเทศไทยได้ลงนานในพันธะสัญญาระหว่างประเทศว่าไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งมีการทำงานอย่างเต็มที่และผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า
อย่างไรก็ดีพบข้อจำกัดคือการดำเนินงานอย่างบูรณาการข้ามภาคส่วน เช่นประเด็นการผลิตพลังงาน การศึกษาเพื่อความยั่งยืน เกษตรกรรมยั่งยืน และการบริหารจัดการน้ำ ปัญหาเหล่านี้เผชิญกับความขัดแย้งกัน (trade-off) หลายประการ ซึ่งเป็นความท้าทาในการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จำเป็นต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และหลสยครั้งสิ่งที่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องความไม่ยั่งยืนมีพลังมากกว่า ตัวอย่างเช่น การพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนกับการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจต้องแลกมากับรายได้ของเกษตรกรหรือไม่
ดังนั้นการมีเครือข่ายนักวิชาการจะช่วยหาวิธีการแก้ไขปัญหา พร้อมช่วยสื่อสารความรู้และสร้างความตระหนักรู้ นำไปสู่การขยายผลและกระจายข้อมูลที่มีอยู่เดิมไปยังทุกพื้นที่และทุกกลุ่มคน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน การให้ความสำคัญกับการสื่อสารความรู้ในระดับมหาวิทยาลัยและระดับระบบวิจัยยังมีค่อนข้างน้อย จึงต้องอาศัยการทำงานข้ามภาคส่วนในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร ระดับท้องถิ่น และพฤติกรรม
สุดท้ายคือหลาย ๆ ภาคส่วนต้องทำงานด้วยกันเพราะในมุมมองหนึ่งการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดในภาควิชาการที่ต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่น ๆ มากขึ้น เช่น วงเสวนา การประชุม หรือภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อสร้างความไว้ใจระหว่างนักวิชาการกับคนที่ทำงานและติดตามปัญหา พร้อมเข้าใจความต้องการที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และสื่อสารความรู้สู่สาธารณชนซึ่งยังมีน้อยมากในสังคม สุดท้ายนี้จำเป็นต้องมีแพลตฟอร์ม (Platform) และกลไกที่สนับสนุนการปฏิสัมพันธ์ข้ามศาสตร์
03 – จากนโยบายสู่ปฏิบัติการเชิงพื้นที่: การดำเนินงานเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการปรับตัวต่อ ‘climate change’
คุณวนัน เพิ่มพิบูลย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ประเทศไทยมีความสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมาก เราจึงต้องอยู่ให้ได้ภายใต้โลกที่ร้อนขึ้น นั่นแปลว่า เราต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการปรับตัว ความสุ่มเสี่ยงและความเปราะบางของประเทศไทย ยังขึ้นอยู่กับการลดการปล่อยของทั่วโลกด้วย ตามเป้าหมายการลดการปล่อยภายใต้ NDCs หรือ ‘Nationally Determined Contributions’ ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกคาดว่าจะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงถึง 3 องศาเซลเซียส ผลกระทบก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น เราก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
ดังนั้นการเพิ่มความเข้มข้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2025 เพื่อให้มีโอกาสที่จะช่วยรักษาอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกินไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ผลกระทบจะยิ่งรุนแรงขึ้น และระบบต่าง ๆ ในโลกจะไม่สามารถฟื้นกลับคืนได้ กลุ่มคน วิถีชีวิต ที่ต้องพึ่งพิงกับระบบสภาพภูมิอากาศ จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น เกิดความสูญเสียและความเสียหายมากขึ้น และนั่นคือ การที่เราจะต้องรับมือและปรับตัวและจัดการกับความสูญเสียและความเสียหายให้ได้ภายใต้อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น
คุณวนัน เน้นย้ำว่าการที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบและความสูญเสียและความเสียหายในขณะนี้ ต้องยกเครดิตให้กับภาคประชาสังคม เนื่องจากที่ผ่านมาภาคประชาสังคมพยายามผลักดันให้เกิดกองทุนเพื่อการสูญเสียและความเสียหายขึ้นมาเป็นเงินให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยกล่าวว่า ‘นี่เป็นเรื่องการเงินที่เป็นความชอบธรรม เป็นสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องเรียกร้องให้ประเทศพัฒนารับผิดชอบต่อการทำให้เกิดโลกร้อนที่ส่งผลให้เราเป็นได้รับผลกระทบจากโลกร้อนนี้ กองทุนนี้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ เราต้องติดตามดูว่าเราจะเข้าถึงกองทุนนี้ได้อย่างไร และประเด็นเรื่อง co-benefits ที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้จะเป็นอย่างไรได้บ้าง’
ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลดการปล่อย โดยมีนโยบาย แนวทาง รวมทั้งผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน มีทั้งการมีส่วนร่วมของประเทศในการจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยความสมัครใจ (Nationally Determined Contribution: NDC) มี Road Map มียุทธศาสตร์ระยะยาว ที่ล้วนมุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีทั้งหน่วยงานหลักของประเทศที่ทำหน้าที่ชัดเจนเรื่องการลดการปล่อย ในขณะที่เรื่องการปรับตัว และ การจัดการกับความสูญเสียและความเสียหาย ยังไม่ได้รับความสำคัญเมื่อเทียบกับการที่ประเทศเรามีความเปราะบางและความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก
คุณวนัน ชี้ว่าบนพื้นฐานใครเป็นผู้ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง ต้องกลับมาพิจารณาว่าจะมุ่งเรื่องใดเป็นหลักที่เป็นความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนของคนประเทศ ทำไมทิศทางของประเทศจึงเน้นเรื่องการลดการปล่อย ใครที่อยู่เบื้องหลังและใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเดินหน้าการลดการปล่อยตามมาตรการและแนวทางที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ คุณวนัน กล่าวว่า ‘แม้เราจะพูดถึง co-benefits เราก็กลับยังพูดถึงการลดการปล่อยเป็นหลักแต่พ่วงเรื่องการปรับตัวไปเท่านั้น เช่น เวลากล่าวถึง co-benefits ในภาคเกษตร ส่วนของเกษตรรายเล็กก็จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน ผ่านแนวทางโดยการให้เงินกู้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีส่วนทำให้สินค้าทางการเกษตรนั้นขายได้ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แต่ในทางกลับกันก็สร้างหนี้สินระยะยาวให้แก่เกษตรกรด้วย ดังนั้นนี่จะเป็น co-benefits ได้อย่างไร เพราะเมื่อเราพูดถึงภาคการเกษตรกลับไม่พูดถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่กำลังเติบโต’
ดังนั้นต้องกลับมาทบทวนว่าเราถูกชักจูงโดยวาทกรรม co-benefits แบบใด สะท้อนปัญหาและความต้องการเร่งด่วนของคนในประเทศ และปัญหาเชิงระบบได้หรือไม่ ต้นตอที่แท้จริงคืออะไร และประโยชน์ของ co-benefits ที่จะเกิดขึ้น แบ่งปันกันได้อย่างเป็นธรรมหรือไม่
ประการถัดมาคือเรื่องคำนิยามที่ต้องชัดเจน จำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่าการดำเนินการต่าง ๆ นิยามสิ่งที่ทำได้ชัดเจนหรือไม่ เช่น การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าภาคอุตสาหกรรมจะปรับจากการใช้ถ่านหินไปเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียน การดำเนินการเช่นนี้ควรเรียกว่า การปรับตัวหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแท้จริงแล้วเรียกว่าเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากภาคอุตสาหกรรมไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากที่ต้นตอ แต่กลับใช้วิธีการคำนวณการปล่อยหักลบกับการดูดซับ เช่นในภาคป่าไม้ แล้วสรุปว่าเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) วิธีเช่นนี้เป็นธรรมหรือไม่ หากไม่ลดการปล่อยที่ต้นตอ แล้วเราควรจะเริ่มจะมองหา co-benefits ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร
เมื่อมาพิจารณาถึงกิจกรรมหรือโครงการที่มีการพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ร่วม (co-benefits) คุณวนัน ยกตัวอย่างโครงการ 6 กรณี การเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิ (Climate Smart Agriculture : CSA) ที่ระบุว่าทำเรื่องของ co-benefits แต่แท้จริงแล้วโครงการนี้กำลังสร้างหนี้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวเพื่อลดมีเทน พี่น้องเกษตรกรสามารถยืมเงินธนาคารเพื่อมาลงทุนในเทคโนโลยีลดการปล่อย ซึ่งเกษตรกรเรามีประสบการเรื่องนี้ 30 กว่าปีมาแล้ว จากนโยบายแบบนี้ ผลพวงที่เกิดขึ้นคือพี่น้องเกษตรกรยังคงเป็นหนี้อยู่ทุกวันนี้ โครงการการปรับปรุงลำคลองตามลุ่มน้ำยม-น่านโดยใช้แนวทางที่คำนึงถึงระบบนิเวศ (Nature-based Solutions: NbS) ที่จะสร้างผลกระทบกับพื้นที่นอกลำคลองที่มีการปรับปรุง ทำให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้น ระยะเวลานานขึ้น มีความเสี่ยงในการสูญเสียพันธุ์ปลาพื้นถิ่น เป็นต้น
และโครงการเปลี่ยนรถเมล์ในกทมเป็นรถเมล์ไฟฟ้า (e-Vehicle buses) ที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่กลับไม่มีแนวทางในการดูแลแรงงานและ supply chain ที่เคยอยู่เครื่องยนต์ดีเซล แรงงานเหล่านี้ จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ทั้ง 3 ตัวอย่าง มีการพูดถึง co-benefits แต่เรากลับไม่เห็น co-benefits ที่เกิดขึ้นและเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม
โครงการการสร้างแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นและกระแสน้ำทะเลในอ่าวไทย ที่บริเวณสมุทรสาคร สามารถชะลอคลื่นและกระแสน้ำ และสร้างพื้นที่ป่าชายเลนให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งยังช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย โครงการการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อให้เกษตรกรมีข้าวไว้บริโภคอย่างยั่งยืน และเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้องใช้สารเคมี เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย และโครงการการดูแลรักษาป่าชุมชนโดยชุมชนเอง นอกจากจะดูแลป่าเพื่อให้เป็นแห่งอาหารแล้ว ป่ายังเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย เหล่านี้เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยชุมชน ไม่มีการเขียนเอกสารใดเพื่อยืนยันถึง co-benefits แต่เรากลับมองเห็นถึง ‘co-benefits’ ได้อย่างชัดเจน เราเห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น และใครเป็นผู้ได้ประโยชน์นั้น
การพูดเรื่อง co-benefits ในการจัดการเรื่องโลกร้อน จึงต้องสะท้อนถึงความสำคัญและความจำเป็นความเร่งด่วนของคนประเทศ มากกว่าจะดูเพียงเรื่องการลดการปล่อยเป็นหลัก เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ การส่งเสริมการปรับตัว การรับมือกับความสูญเสียและความเสียหาย การสร้างระบบและเศรษฐกิจที่ชุมชนต่างๆได้รับประโยชน์ การให้ความสำคัญกับแนวทางหรือการริเริ่มที่ทำโด และการยชุมชนกลุ่มต่างๆ มากกว่าการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่ไม่ได้มุ่งการลดการปล่อยที่ต้นตอ
Section 2 : แลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายนักวิจัย
04 – การแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นจาก ‘เครือข่ายนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’
เริ่มบทสนทนาของการแลกเปลี่ยน ผ่านการดำเนินรายการโดย ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี เปิดประเด็นด้วยคำถามจากผู้เข้าร่วมด้วยงานวิจัยเทคโนโลยี ‘Roadmap for Adaptation’ โดยทาง รศ. ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่าเทคโนโลยี Road Map เป็นการมองเทคโนโลยีให้ครอบคลุมทั้งซอฟต์แวร์และองค์กรและการจัดการด้วย ซึ่งต้องมองทั้งในระยะกลางและยาว ซึ่งอิงตาม “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” (National Action Plan on Business and Human Rights) พิจารณามีเทคโนโลยีอะไรอยู่ในมือบ้างและควรผลักดันอย่างไร ส่วนกระบวนการมีการทำการปรึกษาหารือและพิจารณาอยู่บ้างเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเข้ามาให้ความเห็น
ถัดมาที่ คุณมัจฉา พรอินทร์ จากองค์กรที่ทำงานเรื่องชนเผ่าพื้นเมือง ได้เข้ามาให้ความเห็นว่า ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการเรื่องของผลกระทบจากการเข้าไม่ถึงทรัพยากรธรรมชาติของผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองในสามจังหวัดคือเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และอำเภอ ท่าสองยาง จังหวัดตาก มันมีข้อค้นพบว่าชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศที่บริสุทธิ์
อันเนื่องมาจากเหตุ 3 อย่างด้วยกันเป็นอย่างน้อย ประการแรก คือกฎหมายและนโยบายของภาครัฐ พระราชบัญญัติอุทยานหรือที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินป่าไม้ทั้งหมด มีส่วนทำให้พื้นที่ทำกินของชนเผ่าพื้นเมืองและวิถีชีวิตเปลี่ยนไป นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการทำเกษตรกรรมมีการเผามากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อทางสุขภาพของผู้บริโภค ผู้ผลิต รวมถึงตกค้างอยู่ในดินและในน้ำ ประการที่สอง ขณะเดียวกันมีผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าไม่ถึงทรัพยากรธรรมชาติ คือเรื่องของภาคธุรกิจและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐด้วยที่จะมีส่วนทำให้ชุมชน เข้าไม่ถึงดิน น้ำ อากาศที่สะอาดต่อไป ประการสุดท้าย คือ รื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผลโดยตรง ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าไม่ถึงทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ อาหาร และพอเราจะมาพูดถึงทางออกของปัญหา
คุณมัจฉา เพิ่มเติมว่าปัจจุบันกำลังทำวิจัยการแก้ไขปัญหาโดยผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศใน 3 ชุมชน เพราะในสภาวะเช่นนี้ ผู้หญิงเป็นคนที่แบกรับภาระมากที่สุด แต่ว่าในกระบวนการตัดสินใจ แทบจะไม่มีการวิเคราะห์ทางเพศหรือว่าการมีส่วนร่วมของผู้หญิงโดยเฉพาะเผ่าพื้นเมือง เข้าไปทำและตัดสินใจในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพื่อจะเข้าใจปัญหาความซับซ้อนที่ผู้หญิงเผชิญ
ถัดมา ดร.ปรีดารี ศิริรัตน์ สาขาวิชาการโรงแรม ภัตตาคาร และอีเว้นท์ วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมแลกเปลี่ยนงานวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ได้ใช้ทฤษฎีทางสิ่งแวดล้อมศึกษาทางสังคมศาสตร์ และทฤษฎีการท่องเที่ยว มาพัฒนาต่อยอดงาน เช่น การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อที่จะมาพัฒนาคนเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม จะมีแนวทางต่อยอดหรือปฏิบัติอย่างไร เพราะถ้าวัดหรือประเมินทางสังคมศาสตร์ในเรื่อง climate change ทางสังคมจะมีเครื่องมือที่วัดยาก โดยมีผู้เข้าเสวนาท่านอื่นร่วมแลกเปลี่ยนว่า “เวลาบอกคนให้ปฏิบัติอย่างไร เหมือนเป็นการศึกษาที่จะต้องเชื่อมโยงความต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำ จนมาถึงพฤติกรรมการรับรู้ จิตวิทยาในการสื่อสาร ซึ่งถ้าเป็นด้านการท่องเที่ยวแบบการท่องเที่ยวชุมชนในประเทศไทยจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนมากกว่า ไม่เน้นในเรื่อง climate change มากนัก ถ้าเป็นเรื่องการท่องเที่ยวกับ climate change จะเน้นไปที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เพราะจะเห็น impact ชัดกว่า เช่น สายการบิน โรงแรมขนาดใหญ่ แต่ถ้าเป็นการท่องเที่ยวชุมชนยังมีเครื่องมือที่วัดยาก เน้นการถ่ายทอดอัตลักษณ์มากกว่า”
ลำดับสุดท้าย ดร.พรรณวีร์ เมฆวิชัย ชวนจุดประเด็นทิ้งท้ายว่า เราควรขับเน้นขบวนการและประสิทธิภาพของ co-benefits ในการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งไม่เพียงมองไปแค่ข้างหน้า แต่ควรคำนึงถึงทุกภาคส่วนของชุมชนด้วย
05 – บทสรุป
จากการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นกันของเครือข่ายนักวิจัยและภาคส่วนต่าง ๆ นับว่าเรื่องของสถานภาพการดำเนินการของ SDG13 ของประเทศไทย แม้ในภาพรวมจะยังอยู่ในระดับที่ดี แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายขับเคลื่อน จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญและผลักดันอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมในทุกมิติ ต้องอาศัยการบูรณาการในหลายเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการอาศัยความเชื่อมโยงจากทุกภาคส่วนหรือว่าเป็นการข้ามส่วน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนในทุกมิติ ทั้งทางด้านวิชาการ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี หรือทั้งในส่วนภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนให้ SDG13 ของประเทศไทยบรรลุเป้าหมายได้ต่อไป
รับชมวิดีโอบันทึกจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะ : ที่นี่
อ่านบทความเกี่ยวข้องกับโครงการ : ที่นี่
บทความฉบับนี้ เป็นชุดข้อมูลภายใต้โครงการ 'การสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13' สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2567
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
Last Updated on สิงหาคม 30, 2024