SDG Localization ความยั่งยืนระดับพื้นที่ จะนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้อย่างไร

            วันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้จัดเสวนา SDGs จากระดับพื้นที่ ในหัวข้อเรื่อง “ความยั่งยืนระดับพื้นที่ ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ภายใต้การอบรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 2” ภายใต้เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) มานำเสนอภาพรวม SDG Localization ในประเทศไทยและเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา 

            นอกจากนี้ยังได้รับฟังมุมมองของ พิชชานันท์  อ่อนพวย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ผศ. ดร.พัดชา  เศรษฐากา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ในการแชร์ประสบการณ์การทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับท้องถิ่น และที่ถือเป็นไฮไลต์ของงานเสวนาครั้งนี้ คือการได้รับฟังเสียงจากคนทำงานขับเคลื่อนระดับท้องถิ่นจากทั่วประเทศ ที่มาเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ SDGs จาก 9 พื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนจากพื้นที่ในจังหวัดสระแก้ว อุดรธานี นครสวรรค์ น่าน สุโขทัย สงขลา ยะลา และกรุงเทพมหานคร


SDG Localization ภาษากลางในการสื่อสารระหว่างท้องถิ่นกับนานาชาติ

            “ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ภาษาของ SDGs เราสามารถเปลี่ยนมาใช้พลังระดับโลกผลักดันงานของเราได้

            ผศ.ชล ได้ชวนทุกคนมองว่า เราสามารถใช้ SDGs เป็นเครื่องมือในการผลักดันสิ่งที่เราทำอยู่ได้ในหลายวิธี ซึ่งในการทำงานระดับท้องถิ่น เขากล่าวว่าอยากให้มองข้ามเป้าหมาย 17 ข้อไปก่อน เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น คือความเข้าใจว่าเราจะพัฒนาพื้นที่ของเราอย่างไรให้ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาในอนาคต

            “เราทำ SDGs เพื่อทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งตัวเองได้ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผมไม่อยากให้ทุกคนมองว่าการทำ SDGs เป็นไปเพื่อการตอบโจทย์ของสภาพัฒน์ฯ หรือกระทั่งองค์การสหประชาชาติ”

            ผศ.ชล มองว่าในการขับเคลื่อน SDGs ถ้าไม่ทำในระดับพื้นที่ก็จะไม่เกิดผล เพราะในความเป็นจริงพื้นที่ใกล้ชิดกับผู้คนมากที่สุด หากพื้นที่ไม่สามารถจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ ผู้คนก็แทบไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาที่ยั่งยืน

            ต่อมา ผศ.ชล ได้อธิบายรูปแบบการทำงานของ SDG Localization ที่ได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท อันได้แก่

  1. การขับเคลื่อนแบบ Top-Down และเป็นการขับเคลื่อนแบบที่ใช้กรอบ SDGs
  2. การขับเคลื่อนแบบ Top-Down และเป็นการขับเคลื่อนแบบที่ไม่ได้ใช้กรอบ SDGs
  3. การขับเคลื่อนแบบ Bottom-up และเป็นการขับเคลื่อนแบบที่ใช้กรอบ SDGs
  4. การขับเคลื่อนแบบ Bottom-up และเป็นการขับเคลื่อนแบบที่ไม่ได้ใช้กรอบ SDGs

ซึ่งในแต่ละแบบก็จะเป็นการขับเคลื่อนแบบที่ไม่ได้ใช้กรอบ SDGs และกับแบบที่ใช้กรอบ SDGs

เพราะหลายครั้งพบว่าในการขับเคลื่อน มีทั้งการที่ภาครัฐพยายามขับเคลื่อนลงไปในท้องถิ่นผ่านกระทรวงมหาดไทยเป็นการทำงานแบบที่ใช้กรอบ SDGs หรือบางครั้งการขับเคลื่อนก็เริ่มต้นจากท้องถิ่นโดยไม่ได้ใช้กรอบ SDGs มาเป็นตัวตั้งต้นตั้งแต่แรก

            “ถ้าเราใช้ภาษา SDGs ในการทำงาน เราสามารถร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อผลักดันงานเราต่อได้ และถ้าหากพวกเขาทำงานที่ขัดกับเรื่องความยั่งยืน เราก็สามารถยืมภาษา SDGs มาเจรจาต่อรองพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน”

            ผศ.ชล ชี้ให้เห็นว่า Localization SDG ไม่จำเป็นต้องเป็นการดำเนินงานของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ท้องถิ่นสามารถช่วยขับเคลื่อนโลกให้ยั่งยืนได้ เพราะการที่นำ SDG ลงไปในชุมชนและผสานกับเรื่องวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ จะทำให้ SDGs มีชีวิตและความเป็นมนุษย์มากขึ้น

            “เวลาชุมชนมาทำ SDGs แล้วมันสนุก” ผศ.ชลกล่าวในตอนท้าย “ทีมงานเคยบอกผมว่าทำไม SDGs มีแต่คนใส่สูททำงาน ทำไมคนใส่เสื้อม่อฮ่อมจะทำ SDG ไม่ได้”


การร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ โดยภาครัฐท้องถิ่น และภาคการศึกษา       

ต่อมา พิชชานันท์  ได้นำเสนอการทำงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่ทำงานร่วมกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ภาคอีสาน ในเรื่องของที่อยู่อาศัย โดยคนในชุมชนได้ลุกขึ้นมา

ขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาด้วยตัวของพวกเขาเอง

            “ครั้งหนึ่งที่บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ได้เกิดภัยพิบัติ เราได้เข้าไปแก้ไขปัญหาร่วมกับพี่น้องในเครือข่ายเมืองโดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย มีการจัดเวทีที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งท้องถิ่น ภาคประชาชน ภาคเอกชน”

            เธอกล่าวว่าพลังเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ลงมือทำ แต่เป็นแกนนำชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง เพราะคนภายนอกจะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้เลยถ้าคนในชุมชนไม่เข้มแข็งมากพอ

            “ตอนโควิด19 ชาวบ้านมีเครือข่ายในการจัดการดูแลช่วยเหลือกัน” พิชชานันท์กล่าวถึงพื้นที่ตัวอย่างที่เมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น “เราสนับสนุนเรื่องครัวกลาง ในการที่จะขับเคลื่อนเรื่องของปากท้อง อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่เรามองว่าชุมชนจะเข้มแข็งและเกิดความยั่งยืน วันนี้เมืองชุมแพเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องที่จะพัฒนาบ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน ที่นี่มีนารวม 38 ไร่ เราชวนเครือข่ายเข้าไปสนับสนุนและพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

            ทางด้าน ผศ .ดร.พัดชา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กล่าวต่อว่า เธอได้มีโอกาสเข้าไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องของข้าวเหนียว โดยเธอมองว่าข้าวเหนียวเป็นสินทรัพย์ทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาชีพ และความมั่นคงทางอาหารของผู้คนโดยเฉพาะในภาคอีสาน

            ผศ .ดร.พัดชา ได้เข้าไปทำงานในพื้นที่บ้านนายอ จ.สกลนคร โดยเน้นถึงความต้องการที่มาจากในพื้นที่เป็นอันดับแรก และนำความต้องการนั้นมาจับคู่กับงานของตนเอง จนเกิดเป็นโครงการ BCG ข้าวเหนียวหรือเศรษฐกิจชีวภาพ คือการนำทรัพยากรชีวภาพมาผลิตให้คุ้มค่าที่สุด ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม

“เราวางแผนการทำงานโดยใช้ BCG โมเดลเป็นกลไกในการทำงาน เราคิดว่าการวางแผนที่ดี เราจะต้องวางแผนตั้งแต่ต้นและค่อย ๆ ดำเนินการตามแผนนั้น”

ผศ .ดร.พัดชา มองว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องราวของคนทุกคนที่สามารถมีส่วนร่วม โดยในมุมมองของกระบวนการผลิตในภาคเกษตร ต้องมาพิจารณาดูว่ากระบวนการผลิตจะสร้างมาตรฐานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร โดยบทบาทของสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ มีหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้นสู่ชุมชนอย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และความต้องการของชุมชน โดยทต้องคำนึงถึงโครงสร้างทางสังคม ภูมิปัญญา และรากเหง้าเดิมของคนในชุมชน ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใด ๆ เข้าไป


เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ SDGs จาก 9 พื้นที่ของประเทศไทย

         “รัฐบาลเคยเห็นพวกเราบ้างไหม ไม่เคยเห็นพวกเราเลยในการปกป้องทรัพยากรทะเลที่อยู่ตรงนี้

ทุกรัฐบาลอยากจะเอาพื้นที่จะนะเป็นนิคมอุตสาหกรรม”

            นิเนาะ จันทิมา ชัยบุตรดี ตัวแทนชาวบ้านจากเครือข่ายนักรบผ้าถุง อ.จะนะ จ.สงขลา ได้กล่าวความรู้สึกของเธอต่อการพยายามปกป้องทะเล และอาชีพประมงพื้นบ้านของชาวบ้านในพื้นที่มากว่า 30 ปี 

            เธอกล่าวว่าเป้าหมายของการพัฒนา SDG คือเป้าหมายระดับโลกที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญากับนานาชาติ แต่เธอก็ตั้งคำถามว่ารัฐบาลได้ทำตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้หรือไม่

            “เราปกป้องพื้นที่ทะเลจะนะเพื่อคนทั้งประเทศไทย จะได้ใช้ได้กินอาหารในทะเลเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของเรา สิ่งนี้ไม่ใช่เพื่อเป้าหมาย SDGs หรอกหรือ”

นิเนาะฝากถึงรัฐบาลว่า ก่อนที่จะทำอะไรรัฐบาลควรจะต้องศึกษาพื้นที่เสียก่อนเพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนควรมาจากความต้องการของคนในพื้นที่

            ทางด้านแสงเดือน ตัวแทนจากเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น ได้กล่าวต่อว่ารากฐานของความยั่งยืนต้องมาจากครอบครัวและชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญ 

“ชุมชนคือรากฐานที่เป็นแนวราบ โครงสร้างที่เป็นแนวราบสำคัญที่สุด” แสงเดือนกล่าว “เพราะในแนวดิ่งไม่ว่ารัฐจะส่งความช่วยเหลือมาอย่างไร ถ้ารากฐานแนวดิ่งไม่มั่นคง มันก็ไม่สามารถทำให้เกิดความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อได้”

         ต่อมาเชิดเกียรติ  ตัวแทนจาก จ.สระแก้ว ได้ใช้วิธีการทำงานขับเคลื่อนที่แตกต่างออกไป แทนที่จะเปิดหน้าต่อสู้กับภาครัฐ เขากล่าวว่าใช้วิธีการของการแทรกซึม

            “ผมเห็นช่องว่างที่มันเกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สิ่งที่ผมทำคือการปรับความคิดให้เขาเห็นจากสิ่งที่เขาทำ ผมจะดึงหน่วยงานรัฐระดับเจ้าหน้าที่ทำไปพร้อมกัน และก็มีเครือข่ายภาคประชาชนที่เราสร้างขึ้นมา”
            เชิดเกียรติใช้เวลา 3 ปีในการสะสมความเข้าใจกับพื้นที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่างานในชุมชนกับหน้างานของพวกเขานั้นคือเรื่องเดียวกัน มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะร่วมมือกันทำงานในพื้นที่เพื่อความยั่งยืน

            ไม่ต่างจากปัญหาที่เป็นภาพคุ้นชินในประเทศไทย มด ตัวแทนจาก จ.สุโขทัย กล่าวว่า ในพื้นที่ทุ่งหลวง จ.สุโขทัย พวกเขาเริ่มต้นการพัฒนาพื้นที่จากการโปรโมทของดีในพื้นที่ จนกระทั่งเริ่มเป็นที่รู้จักและภาครัฐก็เข้ามาสนับสนุน โดยใช้วาทกรรมคำว่าความยั่งยืน ที่มาพร้อมทั้งงบประมาณจากโครงการการท่องเที่ยวนวัตวิถี

“รัฐมองว่าอยากให้เราทำเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับความยั่งยืน รัฐต้องถามเราว่าอยากให้บ้านของเราเป็นแบบไหน ไม่ใช่การจับยัดหรือหยิบยื่นมาให้โดยที่ไม่ถามคนในพื้นที่” 

มดยกตัวอย่างว่า หน่วยงานรัฐเข้ามาสร้างศาลาริมน้ำ ในพื้นที่วัดลาย (หลวงปู่ต่วน) ที่เป็นสถานที่สำคัญของชุมชน จากนั้นก็ตั้งชื่อเอาเองว่า ‘บึงบัวแดง’ ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวไม่เคยมีบัวแดงมาก่อน

“ถ้ารัฐคิดจะสนับสนุนหรือส่งเสริม ขอให้ส่งเสริมจากความต้องการของคนในชุมชน ความยั่งยืนเกิดขึ้นแน่นอนถ้าคนในชุมชนมีความสุข” มดกล่าวทิ้งท้าย

และสุดท้ายธนดล ตัวแทนจาก จ.กรุงเทพฯ ได้เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเรื่องสภาพความเป็นอยู่ภายในแคมป์คนงานก่อสร้างต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ แต่ยังประสบกับปัญหาการบริหารจัดการและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข

“แรงงานข้ามชาติถูกกำแพงของรัฐซ้อนทับอยู่สองชั้น กำแพงแรกคือกำแพงประเทศ กำแพงที่สองคือกำแพงชีวิตที่ไม่มีสิทธิอะไรเลย ความหมายของการพัฒนาจะทำอย่างไรที่จะมีการพัฒนาที่ยั่งยืนไปควบคู่กัน”

ธนดลมองว่าในภาคเอกชนการใช้ SDGs เป็นภาษากลางในการสื่อสารยังขาดความลุ่มลึก เมื่อเทียบกับตัวชี้วัดอย่าง ESG (แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน) ที่ภาคเอกชนมักใช้เป็นตัวชี้วัดที่มีระบบการรายงานที่ชัดเจนมากกว่า

โดย ผศ.ชล ได้กล่าวสรุปว่า สุดท้ายสิ่งที่ท้องถิ่นอยากเห็นก็คือสิ่งที่โลกอยากเห็น ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าแล้วรัฐบาลอยากเห็นอะไร วันนี้ทำให้ได้เห็นทั้งด้านที่สว่างและมืดของการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เราสามารถที่จะใช้ภาษาของ SDGs มาสร้างความสัมพันธ์แนวราบ และสานพลังไปสู่การขับเคลื่อนพื้นที่ของตนเองและพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปให้ยั่งยืนได้


ก้าวต่อไปของ SDG Localization

ในตอนท้ายของงานเสวนา ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์(กิตติคุณ) สุริชัย หวันแก้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศมากล่าวสรุปและแสดงมุมมองความคิดเห็นหลังจากได้รับฟังเสียงจากท้องถิ่น

“SDGs เป็นภาษากลาง แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องของภาษา มันคือเรื่องของความเป็นธรรม”

ศาสตราจารย์(กิตติคุณ)สุริชัย กล่าว เขามองว่าการจะเดินหน้าเรื่องความยั่งยืนระหว่างรัฐและท้องถิ่นเป็นความท้าทาย เมื่อวันนี้หลายท้องถิ่นไปไกลมากกว่าภาษาของ SDGs แต่เป็นการพูดที่มาจากความรู้สึก ความทุกข์ร้อน และตั้งคำถามต่อระบบราชการแบบรวมศูนย์ที่เพิ่มภาระงานให้กับท้องถิ่น

“ระบบราชการควรทำให้ประชาชนรู้สึกร่มเย็นกว่านี้”

ศาสตราจารย์(กิตติคุณ)สุริชัยมองว่า ความหมายสำคัญของ SDGs ไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการดำรงรักษาอำนาจแบบเก่า และไม่ใช่สิ่งที่ไปตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้แย่ลงกว่า

“SDGs ไม่ใช่เครื่องมือที่จะมาตอกย้ำระบบความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ว่าควรดำรงอยู่”

ศาสตราจารย์(กิตติคุณ)สุริชัยสรุปว่า การจะประเมินผล SDGs นั้นจะต้องประเมินจากโจทย์ความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่าง ๆ ว่าสามารถแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำตอบเหล่านั้นอยู่ที่ท้องถิ่นและชุมชน  โดยใช้ภาษาของ SDGs เป็นสื่อกลางในการเปลี่ยนผ่านสู่เรื่องของความยั่งยืน

ขณะที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ ได้กล่าวโดยสรุปว่า งานในครั้งนี้เป็นการที่แต่ละท้องถิ่นพื้นที่ ได้มาเรียนรู้ร่วมกันถึงแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และสิ่งที่แต่ละท้องถิ่นทำอยู่นั้น จะสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่เรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

“โจทย์ต่อไปคือพวกเราจะทำอย่างไรกันต่อ เพราะทุกคนก็ทำประโยชน์ต่อพื้นที่แต่มันมีความซับซ้อน วันนี้ทุกคนได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองพยายามทำ รวมทั้งเห็นโอกาสในสิ่งที่กำลังจะทำต่อไปในอนาคตข้างหน้าอย่างมีคุณค่ายิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์กล่าวทิ้งท้าย

สามารถรับชมบันทึกการเสวนา “ความยั่งยืนระดับพื้นที่ ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ได้ที่ : https://fb.watch/tEghx-Ww8z/

เรียบเรียง – ณฐาภพ สังเกตุ
บรรณาธิการ – อติรุจ ดือเระ

Last Updated on สิงหาคม 2, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น