ยูเนสโก (UNESCO) อนุมัติการจัดตั้ง พื้นที่สงวนชีวมณฑล (biosphere reserve) 11 แห่ง ใน 11 ประเทศ ล่าสุด ได้แก่ เบลเยียม แกมเบีย โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน อิตาลี มองโกเลีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สโลวีเนีย และสเปน ครอบคลุมพื้นที่กว้างรวม 37,400 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับขนาดประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้ปัจจุบัน มีพื้นที่สงวนชีวมณฑล รวมทั้งหมด 759 แห่ง ใน 136 ประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและมรดกทางวัฒนธรรม
เขตพื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นพื้นที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก ภายใต้โครงการ Man and the Biosphere Program (MAB) เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการธรรมชาติที่เราได้เรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ครอบคลุมระบบนิเวศทั้งบนบก ในน้ำ และชายฝั่งทะเล มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ การอนุรักษ์ – ปกป้องระบบนิเวศและภูมิทัศน์ รวมถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม การพัฒนา – ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม และ สนับสนุนการเรียนรู้ – ส่งเสริมการศึกษาและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวิจัยและการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม
พื้นที่สงวนชีวมณฑลใหม่ทั้ง 11 แห่งนี้ ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลข้ามพรมแดนเค็มเพน-โบร๊ก (Kempen-Broek): ครอบคลุมพื้นที่ชายแดนระหว่างเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ มีลักษณะเป็นที่ราบต่ำสลับเนินทรายสวยงาม ภายในเคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำกว้างใหญ่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ยังคงหลงเหลือหนองบึง ป่าพรุ และทุ่งหญ้า ทะเลสาบ และลำธาร เป็นแหล่งอยู่อาศัยสำคัญของแมลงปอ มีหมู่บ้านและเมืองตั้งอยู่บนที่ราบสูง และเป็นแหล่งเนินทรายและพืชพรรณหายาก อุดมไปด้วยนกนานาชนิด พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเกษตรกรรมสำคัญ มีประชากรอยู่ราว 75,000 คน นับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งแรกของเบลเยียม
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลดาริเอ็น นอร์เต โชโคอาโน (Darién Norte Chocoano): ตั้งอยู่ในโคลอมเบีย เป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่อยู่ของพืชและสัตว์ระหว่างอเมริกาเหนือและใต้ มีทั้งป่าฝนเขตร้อนและพื้นที่ชายฝั่งทะเล อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตหายาก เช่น อินทรีฮาร์ปีและกบมีพิษสีสันสดใส นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญและมีชุมชนพื้นเมืองและชาวอัฟริกันโคลอมเบียอาศัยอยู่ โดยคนในพื้นที่ร่วมกันผลักดันให้พื้นที่นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชีวมณฑล และมีแผนพัฒนาชุมชนโดยเน้นการเกษตรและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลมาเดร เด ลัส อากัวส (Madre de las Aguas): ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐโดมินิกัน เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่มีความหลากหลายทางภูมิประเทศ ทั้งที่ราบสูงและน้ำตก อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะนกกว่า 88 ชนิด ซึ่ง 20 ชนิด เป็นสายพันธุ์เฉพาะถิ่นและ 17 ชนิด กำลังถูกคุกคาม คนในพื้นที่เชื่อว่าการจัดตั้งเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลจะช่วยแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลนิอูมิ (Niumi): ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแกมเบีย มีทั้งป่าชายเลน ป่าเขตร้อน และทุ่งหญ้าสะวันนา รวมถึงเกาะคุตา คินเตห์ ซึ่งเป็นมรดกโลกของยูเนสโก อุทยานแห่งนี้ยังเป็นแหล่งทำกินสำคัญของประชาชนราว 178,000 คน ที่นี่นับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งแรกของแกมเบีย
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลคอลลี ยูแกนี (Colli Euganei): ตั้งอยู่ในอิตาลี ครอบคลุมพื้นที่เนินเขาภูเขาไฟกว่า 81 ลูก รวมถึงยอดเขาโมนเตเวนดาที่โดดเด่นท่ามกลางบ่อน้ำพุร้อนและทุ่งราบเขียวขจี เต็มไปด้วยสวนมะกอกและไร่องุ่น พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยมีประวัติศาสตร์ภูเขาไฟและน้ำพุร้อนเป็นจุดเด่น ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้กำลังส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ พร้อมกับรักษาสมดุลระหว่างกิจกรรมเศรษฐกิจของมนุษย์และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลข้ามพรมแดนจูเลียน แอลป์ (Julian Alps): ครอบคลุมพื้นที่ชายแดนระหว่างอิตาลีและสโลวีเนีย เป็นพื้นที่คุ้มครองขนาดใหญ่ที่มีภูเขา น้ำตก และทะเลสาบใสสะอาดเป็นจุดเด่น พร้อมทั้งเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าหายากอย่างหมีดำ เสือดาว แมวป่า และนาก ผลสำเร็จการจัดตั้งพื้นที่สงวนนี้เกิดจากความร่วมมือของคนในพื้นที่ องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสองประเทศ
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลคาร์ อูส เลค (Khar Us Lake): ตั้งอยู่ในมองโกเลีย ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ ทั้งทะเลสาบ ทะเลทราย ภูเขาสูง และทุ่งหญ้าสเต็ปป์ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองที่ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย สอดคล้องกับธรรมชาติ พื้นที่สงวนแห่งนี้มุ่งเน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาพื้นที่และสัตว์ป่า
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลยาปายอส (yApayaos): ตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์ ประกอบด้วยภูเขาสูง ทุ่งราบ และแม่น้ำอะปายาวอันเป็นแหล่งน้ำสำคัญ มีชนพื้นเมืองหลายกลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน พื้นที่แห่งนี้เป็นบ้านของพืชและสัตว์นานาชนิด รวมทั้งนกอินทรีย์ฟิลิปปินส์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนาและปลูกข้าวโพด แต่ปัจจุบันเริ่มมีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกิดขึ้นแล้ว
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลชางเนียง (Changnyeong): ตั้งอยู่ในเกาหลีใต้ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีทั้งป่าเขา ป่าชุ่มน้ำ และพื้นที่เกษตรกรรม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำอุโป ซึ่งประสบความสำเร็จในการฟื้นฟู นกช้อนหอยหงอน (Asian crested ibis) สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ ชุมชนในพื้นที่ยังร่วมมือกันอนุรักษ์ธรรมชาติและพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กัน โดยเน้นการเกษตรแบบยั่งยืนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลวัล ดาแรน (Val d’Aran): ตั้งอยู่ในสเปน มีภูมิอากาศและพืชพันธุ์ที่โดดเด่น เนื่องจากเป็นพื้นที่แบ่งเขตระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติก นอกจากนี้ยังเป็นถิ่นฐานของชาว Occitan ที่มีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะตัว ชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หัตถกรรม และการค้า การจัดตั้งพื้นที่สงวนครั้งนี้มีการวางแผนร่วมกับชาวบ้านเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเลี้ยงสัตว์
- พื้นที่สงวนชีวมณฑลอิราติ (Irati): ตั้งอยู่ในสเปน เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะป่าสนบีชขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป ครอบคลุมพื้นที่กว่า 537 ตารางกิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 2,435 คน ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการบริหารจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 โดยมีคณะกรรมการบริหารและที่ปรึกษาจากหลากหลายกลุ่ม อาทิ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสตรี ร่วมกำหนดนโยบาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการอนุรักษ์โดยชุมชนอย่างแท้จริง
ในประเทศไทยเองนั้น จากข้อมูลถึงปี 2023 มีพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่ได้รับการับรองอยู่ 5 แห่ง ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง และพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– UNESCO รับรอง ‘โคราชจีโอพาร์ค’ เป็นอุทยานธรณีแห่งที่ 4 ของโลก
– พื้นที่ป่ามรดกโลก 257 แห่ง ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มากถึง 190 ล้านตันต่อปี
– รายงานของ UNEP ชี้ รับมือความท้าทายของโลก ต้องอาศัยการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน พร้อมเน้นย้ำบทบาทของชุมชนท้องถิ่น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.6) ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG8 งานที่มีคุณค่า และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งช่วยสร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.4) เสริมความพยายามในการปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (12.b) พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อติดตามผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี พ.ศ. 2563
– (14.5) ภายในปี พ.ศ. 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
– (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศในการสร้างผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2573
แหล่งที่มา
– UNESCO designates 11 new biosphere reserves (UNESCO)
– Biosphere Reserves – inspiring action for Agenda 2030 (GIZ)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย