ยูเนสโก หรือองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เผยแพร่ผลสรุป “รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกปี 2023 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทคโนโลยีกับการศึกษา: เครื่องมือโดยเงื่อนไขของใคร? ” (Global education monitoring report 2023, Southeast Asia: technology in education: a tool on whose terms?) ได้กล่าวถึงการขยายตัวในการใช้เทคโนโลยีของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งศักยภาพในการขยายตัวนี้ส่งผลต่อการพลิกโฉมของการศึกษา เช่น การพัฒนาทักษะ ระบบการจัดการเรียนรู้ และส่งเสริมการสอน เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้เทคโนโลยีถึง 400 ล้านคนในภูมิภาคนี้ จึงเป็นความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ทางการศึกษาให้เกิดประโยชน์
รายงานฉบับนี้ จัดทำโดยคณะทำงานรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก โดยความร่วมมือกับองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) และการสนับสนุนจากเอ็ดเท็คฮับ (EdTech Hub) และครอบคลุม 11 ประเทศ ซึ่งใช้ข้อมูลจากกรณีศึกษาใน 9 ประเทศ การศึกษาแก่นสาระ (thematic studies) 5 ฉบับ และข้อมูลจากสมาชิกพันธมิตรและหุ้นส่วนของซีมีโอ
รายงานฉบับนี้ มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ เช่น
- ด้านการศึกษา เกือบทุกประเทศให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยมีกฎหมายและนโยบายปรับปรุงแก่โรงเรียนหรือผู้เรียน พร้อมทั้งมีกฎหมายในการให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง และใน 3 ประเทศ มีนโยบายให้เงินอุดหนุนหรือลดค่าใช้จ่าย
- ด้านเศรษฐกิจและสังคม มี 9 ประเทศที่ใช้เทคโนโลยีส่งเสริมทักษะความรู้ ความเข้าใจ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ผ่านนโยบาย แผนงาน และยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ขณะที่ระดับโลกพบว่าอัตราการเข้าเรียนในคอร์เซรา (Coursera) ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์แบบเปิดขนาดใหญ่ มียอดใช้สูงที่สุดอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
- ด้านการขยายโอกาสทางกาศึกษา เทคโนโลยีทำให้ผู้เรียนที่พลาดโอกาสทางการศึกษาสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ผ่านโครงการการศึกษาทางไกล เช่น ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งขาดแคลนครูในประเทศไทย ส่วนประเทศสิงคโปร์ ที่มีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ (assistive technology) ช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาทั่วไปได้ ขณะที่ ประเทศมาเลเซียมีหนังสือแบบเรียนอักษรเบรลล์รูปแบบดิจิทัลที่สนับสนุนการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่บกพร่องด้านการมองเห็น
อย่างไรก็ดี การขยายตัวในการใช้เทคโนโลยีไม่เพียงสร้างผลในเชิงบวกเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งยังมีผู้เรียนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพพของเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ เช่นในรายงานพบว่านักเรียนใน สปป.ลาว ที่มาจากครอบครัวที่ยากจนมีความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อยกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 8 เท่า นอกจากนี้ แม้ที่ผ่านมาจะมองว่าเทคโนโลยีมีศักยภาพในการช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ทางการเรียนรู้แต่ต้องคำนึงต่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้สร้างผลลัพธ์ที่ดีเพิ่มขึ้นต่อคนทุกกลุ่มจริงหรือไม่ ในการเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเข้ามามีส่วนร่วมจัดการความท้าทายเหล่านี้ เพื่อขยายให้การเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตครอบคลุมต่อทุกกลุ่มคน
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– 1 Billion Lives Challenge หุ้นส่วนความเท่าเทียมทางดิจิทัลกับการเร่งลงทุนให้ 1 พันล้านคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ในราคาถูก
– กสศ. พบเด็กร้อยละ 40 ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง เผชิญวิกฤตการศึกษา – คิดมาตรการเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหา
– UN และพันธมิตรเปิดตัวแคมเปญ #LetMeLearn ก่อนการประชุมสุดยอดด้านการศึกษา – หลังพบว่าเด็ก 260 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ
– สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอนและรวันดา ทุ่มงบประมาณพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ หวังผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้น เพิ่มการเข้าถึงแก่ทุกคน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.5) ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องจำเป็น รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (4.b) เพิ่มจำนวนทุนการศึกษาทั่วโลกที่ให้แก่ประเทศกาลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และประเทศในทวีปแอฟริกา เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา รวมถึงการฝึกอาชีพ และโปรแกรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านเทคนิค วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ ในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.c) เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและมุ่งจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย