ธนภูมิ รัตนารามิก
“มนุษย์ไม่สามารถได้อะไรมาโดยไม่สูญเสียสิ่งใดไป การจะได้อะไรมาจำเป็นต้องจ่ายสิ่งที่มีค่าเท่าเทียมกันออกไป นี่คือกฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม” [1] ประโยคเปิดเรื่องของแอนิเมชันที่หลายคนให้การยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแอนิเมชันที่ดีที่สุดตลอดกาล อย่าง “Fullmetal Alchemist” หรือ “แขนกลคนแปรธาตุ” อ้างอิงจากคะแนนบนเว็บไซต์ IMDb สิ่งที่ทำให้แอนิเมชันเรื่องนี้เป็นที่จดจำอย่างมาก นอกจากองค์ประกอบที่มีคุณภาพ ทั้งเนื้อเรื่องและตัวละคร คือ การถ่ายทอด “กฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม” ที่เป็นดั่งสัจจะของโลกและหัวใจของเรื่อง ให้ผู้ชมสามารถตระหนักถึงการมีอยู่ของธรรมชาติรวมถึงผลลัพธ์ของการฝืนธรรมชาติได้อย่างถ่องแท้
แม้ว่าแอนิเมชันเรื่องนี้ออกฉายมาแล้วกว่า 14 ปี แต่หัวใจของ “แขนกลคนแปรธาตุ” ยังคงมีความเกี่ยวพันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากการพัฒนาในมิติหนึ่งมักแลกมากับความสูญเสียในอีกมิติหนึ่งเสมอ ตัวอย่างเช่น โรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในฐานะภาคการผลิต แต่ทุกกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมล้วนนำมาสู่ความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งน้ำเสียสู่แหล่งน้ำหรือควันพิษสู่ชั้นบรรยากาศ และอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงถือเป็นการสร้างปัญหาในมิติสังคมด้วยเช่นกัน กระบวนการเหล่านี้ คือ กลไกการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม ที่ทำให้โลกกำลังสูญเสียสมดุลจากกิจกรรมของมนุษย์
เพื่อให้เราได้เข้าใจกลไกการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ปัจจุบันจึงมีนวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือสำหรับการจำลองสถานการณ์ของการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมร่วมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้โดยง่าย ผ่าน “2030 SDGs Game” หนึ่งในบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในระดับสากล SDG Update ฉบับนี้ จึงขอพาผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับ 2030 SDGs Game ตั้งแต่ความเป็นมา รูปแบบการเล่น คุณค่าที่ได้รับ จนถึงผลลัพธ์และความสำเร็จของเกม
“2030 SDGs Game” คืออะไร ?
2030 SDGs Game คือ สื่อการเรียนรู้ความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบบอร์ดเกม ซึ่งเป็นการจำลองโลกแห่งความจริงไปสู่ปี ค.ศ.2030 ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายความต้องการของตนเองและสังคม เกมนี้ถูกออกแบบขึ้นในปี ค.ศ.2016 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นจากความคิดของ ทาเคโอะ อินามูระ ร่วมกับโนบุฮิเดะ ฟูกุอิ นักออกแบบเกมเพื่อใช้อบรมภายในองค์กร ที่มุ่งหวังให้ผู้เล่นได้เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของตนเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านกระบวนการเล่นเกมที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและสามารถเข้าถึงผู้เล่นได้ทุกเพศทุกวัย เมื่อได้รับเสียงตอบรับที่ดีและความสนใจอย่างท่วมท้น ในเวลาต่อมาทั้งคู่จึงร่วมกันก่อตั้งองค์กร Imacocollabo ร่วมกับทาเคชิ มุรานากะ จัดกิจกรรม 2030 SDGs Game ฝึกอบรมผู้ดำเนินกิจกรรมที่ได้รับการรับรอง (Certified Facilitator) เพื่อขยายการเผยแพร่ 2030 SDGs Game แก่ผู้เข้าร่วมที่มีความสนใจเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ดำเนินกิจกรรมที่ได้รับการรับรองมากกว่า 1,200 คนในประเทศญี่ปุ่นและอีกประมาณ 200 คนทั่วโลก อีกทั้งยังได้รับความสนใจจากสื่ออย่างกว้างขวางรวมถึงมีจำนวนผู้เข้าร่วมเล่นเกมอีกมากกว่า 400,000 คนทั่วโลก [2] [3]
ลักษณะการเล่น 2030 SDGs Game สามารถเข้าใจได้โดยง่ายเนื่องจากรูปแบบของเกมมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมในโลกแห่งความจริง อธิบายโดยสังเขปคือ ผู้เล่นต้องดำเนินโครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายความต้องการของตนเอง แต่ทุกการดำเนินโครงการย่อมส่งผลกระทบต่อโลกใน 3 มิติหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงขึ้นอยู่กับประเภทของแต่ละโครงการ โดยมีประเด็นท้าทายสำคัญ คือ เงื่อนไขของการดำเนินโครงการจำเป็นต้องสัมพันธ์กับสถานการณ์ของโลกเท่านั้น เช่น หากผู้เล่นต้องการดำเนินโครงการด้านเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์โลกในมิติสิ่งแวดล้อมไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขตามที่โครงการกำหนด โครงการดังกล่าวจึงไม่สามารถดำเนินการได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นความสนุกของเกมนี้ คือ การพยายามหาวิธีการใดก็ตามเพื่อดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมายความต้องการของตนเองไปพร้อมกับความต้องการของสังคมได้สำเร็จ
คุณค่าของ 2030 SDGs Game
2030 SDGs Game แสดงภาพสะท้อนของการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นจริง ผ่านกลไกแลกเปลี่ยนโอกาสการพัฒนาระหว่างกันใน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีโครงการใดใน 2030 SDGs Game ที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้พร้อมกัน การมีอยู่ของการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมจึงทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจเป็นเพียงความพยายามอย่างสูญเปล่าเพื่อโลกอันสมดุลที่เป็นไปไม่ได้ ทว่าคุณค่าของ 2030 SDGs Game ได้มอบคำตอบที่เป็นทั้งความหวังและแรงบันดาลใจว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงเป็นความพยายามที่เป็นไปได้เพื่อโลกอันสมดุล กรณีศึกษาจากบริษัทฮิตาชิ แคปิตอล องค์กรเอกชนในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเข้าร่วมกิจกรรม 2030 SDGs Game โดยภายหลังจากการเล่นเกม ตัวแทนกลุ่มผู้บริหารของบริษัทฮิตาชิ แคปิตอล ท่านหนึ่งระบุว่า “หนึ่งในประเด็นหลักที่เกิดขึ้นคือ ความต้องการของสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยความพยายามของบริษัทเดียว ผมเห็นแล้วว่าเราจำเป็นต้องสร้างพันธมิตรและแบ่งปันความรับผิดชอบทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น” [4] เสียงสะท้อนการเรียนรู้จากตัวแทนภาคเอกชนที่ทรงพลัง ที่แสดงถึงความเป็นไปได้ของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้กฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม กล่าวคือ หากต่างคนต่างสนใจเพียงเป้าหมายความต้องการของตนเอง กลไกการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมจะทำงานจนสถานการณ์โลกเสียสมดุลอย่างรุนแรง และด้วยสถานการณ์โลกไร้สมดุลที่ไม่สามารถตอบสนองเป้าหมายความต้องการของตนเองจะกระตุ้นให้ผู้เล่นเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้เข้าสู่ความสมดุลและยั่งยืน
กันติชา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้ช่วยนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) หนึ่งในผู้ดำเนินกิจกรรมที่ได้รับการรับรอง 2030 SDGs Game ของประเทศไทย ซึ่งมีประสบการณ์นำ 2030 SDGs Game มาเป็นเครื่องมือสำหรับอบรมองค์กรทั้งภาคเอกชน รัฐบาล และสถาบันการศึกษา ภายในประเทศไทย ระบุว่า “ภายหลังสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้เล่นบางกลุ่มเรียนรู้ที่จะเสียสละทรัพยากรของตนเองให้แก่ผู้อื่นเพื่อแลกเปลี่ยนกับโอกาสในการเข้าใกล้โลกอันสมดุล ผู้เล่นบางกลุ่มมีผู้คอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้เล่นจากกลุ่มอื่นๆ เข้าด้วยกันเพื่อหาแนวทางในการบรรลุความต้องการของสังคม หรือแม้กระทั่งผู้เล่นบางกลุ่มยังคงเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นกัน” 2030 SDGs Game จึงเป็นบอร์ดเกมที่ไม่สามารถคาดเดาตอนจบของเกมได้ ผู้เล่นบางกลุ่มอาจสมหวังกับการบรรลุเป้าหมายความต้องการของตนเองและสังคมได้สำเร็จ ขณะที่ยังผู้เล่นบางกลุ่มไม่สามารถทำได้ สิ่งเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้เงื่อนไขของการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมนั้นสามารถเป็นไปได้ หากผู้เล่นสามารถถอดรหัสการเรียนรู้ที่เป็นคุณค่าของ 2030 SDGs Game ได้อย่างถูกต้อง
ผลลัพธ์และความสำเร็จของ 2030 SDGs Game
ตลอดระยะเวลา 1-2 ชั่วโมงของการเล่นเกม ความสำเร็จของ 2030 SDGs Game เกิดขึ้นนับตั้งแต่วินาทีที่หนึ่ง ทันทีผู้ดำเนินกิจกรรมประกาศสัญญาณของการเริ่มเกม ผู้เข้าร่วมซึ่งในบางกรณีต่างคนต่างมาจากคนละองค์กรกัน เริ่มมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เกิดการพูดคุยภายในกลุ่มเพื่อวางแผนการบรรลุเป้าหมายความต้องการของตนเอง จนกระทั่งเกมสิ้นสุดลง ผู้เล่นจะได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นหลังจบเกม เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถตระหนักถึงความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ข้อเท็จจริง คือ ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นจากอิทธิพลของบอร์ดเกม อ้างอิงจาก รายงานการศึกษาเรื่อง การเรียนรู้ด้วยเกมกระดาน : การเล่นเพื่อให้มีประสิทธิภาพ โดย Elizabeth N. Treher ในปี ค.ศ.2011 ผลการศึกษาระบุว่า “เกมกระดานมีประโยชน์และคุณค่าแก่การศึกษา และจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหากเกมถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้อย่างเฉพาะเจาะจง” [5] 2030 SDGs Game จึงเป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้ความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เข้าใจง่ายและได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างสูง ประสบการณ์หลังการเล่นเกมทำให้ผู้เล่นบางกลุ่มลงมือสานต่อเจตจำนงที่ถูกก่อขึ้นจากอิทธิพลของ 2030 SDGs Game สู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในโลกแห่งความจริง
ตัวอย่างเช่น
- “กลุ่มผู้บริหารของฮิตาชิ แคปิตอล ร่วมอบรม 2030 SDGs Game ครึ่งวัน หลังจบการอบรม บริษัทได้เปิดตัวการลงทุนใหม่ด้านธุรกิจสังคมและความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน” [6]
- “เกมถูกจัดขึ้นสำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันแผนธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย หลังจากจบกิจกรรม ผู้เข้าร่วมเริ่มนำเป้าหมาย SDGs มาผสมผสานเข้ากับแผนธุรกิจของตน” [7]
ผลลัพธ์และความสำเร็จเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นจากผู้เข้าร่วมอบรมในกิจกรรม 2030 SDGs Game เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ผลลัพธ์ของการดำเนินกิจกรรม 2030 SDGSs Game ในประเทศไทย จากการสัมภาษณ์ ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ระบุว่า “มีผู้เข้าร่วมจากหลายโครงการอบรมภายในประเทศ ที่ให้ความสนใจใน 2030 SDGs Game จึงมีผู้เข้าร่วมเข้ามาพูดคุยกับผู้ดำเนินกิจกรรมหลังจบเกม เพื่อขอข้อมูลติดต่อในการนำ 2030 SDGs Game ไปอบรมแก่บุคลากรของตนเอง ในด้านผู้ประกอบการภาคเอกชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ขณะที่กลุ่มสถาบันการศึกษาได้แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาผนวกเข้ากับการเรียนการสอนของตนเองเช่นกัน” เห็นได้ชัดว่า 2030 SDGs Game สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับจิตสำนึกของผู้เข้าร่วมได้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าผู้เล่นจะอาศัยอยู่ในประเทศใดของโลกหรือมีบทบาทใดของสังคมก็ตาม การเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเรียนรู้จาก 2030 SDGs Game และนำมาสานต่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งความจริง จึงเป็นคุณค่าสูงสุดของ 2030 SDGs Game ที่นำพามาซึ่งผลลัพธ์และความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้ได้อย่างสมบูรณ์
บทสรุป
โลกที่สมดุลต้องอาศัยการพัฒนาที่ยั่งยืน และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ 2030 SDGs Game คือเครื่องมือแห่งความพยายาม ที่ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ด้วยวิธีการถ่ายทอดความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านเกมที่อาจเป็นเพียงโลกจำลอง แต่คุณค่าที่ได้มาซึ่งผลลัพธ์และความสำเร็จทั้งหมดล้วนเป็นของโลกจริง ดังนั้น ในความเป็นไปไม่ได้ความพยายามจึงเป็นความหวังที่นำไปสู่ความเป็นไปได้เสมอ
ท้ายที่สุด “มนุษย์ไม่สามารถได้อะไรมาโดยไม่สูญเสียสิ่งใดไป การจะได้อะไรมาจำเป็นต้องจ่ายสิ่งที่มีค่าเท่าเทียมกันออกไป นี่คือกฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม” แต่เราไม่ได้อาศัยอยู่เพียงลำพังบนโลกอันกว้างใหญ่ เมื่อโลกใบนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ทุกคน จึงเป็นความรับผิดชอบของมนุษย์ทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน หยิบยื่นโอกาสในการพัฒนาให้แก่กันผ่านการแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันทรัพยากรระหว่างกัน เอาชนะข้อจำกัดที่มนุษย์เพียงคนเดียวไม่สามารถทำได้ เพื่อสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้พร้อมกัน
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Move บรรยาย SDGs และเวิร์กชอปด้วย 2030 SDGs Game ในรายวิชาหลักการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– SDG Move ร่วมเป็นกระบวนกรเวิร์กชอปด้วย “2030 SDGs Game” ให้แก่นิสิตใหม่ สถาบันศศินทร์ฯ
– IHPP ร่วมกับ SDSN TH จัดการประชุมคู่ขนานเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ PMAC side meeting: The 2030 SDGs Game: An invitation to explore the world, yourself and collaboration
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– เป้าหมายย่อยที่ 4.7 สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและการไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และ
ความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ.2573
SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– เป้าหมายย่อยที่ 17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– เป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และ
ประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
อ้างอิง
[1] ปณิธาน ทาปลูก. (2555). กฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม.สืบค้นจาก https://www.gotoknow.org/posts/349608
[2] What is the 2030 SDGs Game ?. (15 July 2024). Retrieved from https://2030sdgsgame.com/2030-sdgs-game/
[3] About us : In the beginning. (15 July 2024). Retrieved from https://2030sdgsgame.com/about-us/
[4] M-Takashi. (2019). Hitachi Capital Corporation – entire management team has committed to work toward the SDGs as a “company creating social value” .Retrieved from https://2030sdgsgame.com/2019/01/01/hitachi-capital-corporation/
[5] Elizabeth N. Treher. (2011). Learning with board games : Tools for Learning and Retention. Retrieved from https://destinagames.com/pdf/Board_Games_TLKWhitePaper_May16_2011r.pdf
[6] Case studies in business : Hitachi Capital Corporation. (15 July 2024). Retrieved from https://2030sdgsgame.com/cases/
[7] Case studies in schools : Momoyama Gakuin University. (15 July 2024). Retrieved from https://2030sdgsgame.com/cases/