Dennis Francis ประธานสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly: UNGA) เผยแพร่กำหนดการฉบับชั่วคราวของการประชุม ‘Summit of the Future (SoF)’ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 23 กันยายน 2567 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ภายใต้ธีม ‘Multilateral Solutions for a Better Tomorrow’ หรือ ‘แนวทางหลากหลายส่วนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า”
เนื้อหาในสารฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 Dennis Francis เปิดเผยว่า ระหว่างการประชุมคณะกรรมการทั่วไป (general committee) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ประเทศสมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้แบ่งปันผลสะท้อนเกี่ยวกับหัวข้อและองค์ประกอบของการพูดคุยหารือ (interactive dialogue) ที่จะจัดในการประชุม SoF โดยมีเนื้อหาสำคัญ ได้แก่
- การพูดคุยหารือ ครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นวันที่ 22 กันยายน 2567 ภายใต้หัวข้อคือ ‘Transforming global governance and turbocharging the implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development’ หรือ ‘การพลิกโฉมธรรมาภิบาลโลกและการติดเทอร์โบหรือเพิ่มเเรงขับดันให้กับการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030’
- การพูดคุยหารือ ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นวันที่ 22 กันยายน 2567 ภายใต้หัวข้อ ‘Enhancing multilateralism for international peace and security’ หรือ ‘การยกระดับความร่วมมือพหุภาคีเพื่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ’
- การพูดคุยหารือ ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นวันที่ 23 กันยายน 2567 ภายใต้หัวข้อ ‘Towards a common digital future: Strengthening inclusive innovation and cooperation to bridge the digital divides’ หรือ ‘การขยับไปสู่อนาคตแห่งดิจิทัลร่วมกัน: เสริมสร้างนวัตกรรมและความร่วมมืออย่างครอบคลุมเพื่อเชื่อมช่องว่างดิจิทัล’
- การพูดคุยครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นวันที่ 23 กันยายน 2567 ภายใต้หัวข้อ ‘The future starts now: Enhancing the global system for current and future generations’ หรือ ‘บัดนี้ อนาคตเริ่มต้นแล้ว : ยกระดับระบบโลกเพื่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต’
ด้านสารฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ประธานสมัชชาสหประชาชาติระบุว่า ตามแนวปฏิบัติก่อนหน้าของการพูดคุยหารือที่เทียบเคียงกันได้ การพูดคุยหารือที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้จะมีประธานร่วม 2 คน ซึ่งมาจากประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งได้รับการเสนอชื่อผ่านแต่ละกลุ่มภูมิภาค โดยคำนึงถึงความสมดุลเชิงพื้นที่และความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งนี้ จะต้องเสนอชื่อภายในวันที่ 16 สิงหาคม 2567
นอกจากการพูดคุยหารือทั้ง 4 ครั้ง และกำหนดการเบื้องต้นแล้ว ยังมีการระบุถึงเอกสารผลลัพธ์ที่ชื่อว่า ‘A Pact for the Future’ ซึ่งผู้แทนรัฐบาลต่าง ๆ ได้เห็นชอบกันล่วงหน้าผ่านฉันทามติในการเจรจาระหว่างรัฐบาล โดยอาจผนวกอีกสองข้อตกลงเข้าไปด้วย ได้แก่ ‘Global Digital Compact’ และ ‘Declaration on Future Generations’ หากรัฐบาลต่าง ๆ เห็นชอบ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ปิดฉาก SDG Summit 2023 ชวนสำรวจปฏิญญาทางการเมืองฯ ที่ประเทศทั่วโลกตกลงรับเอาไปใช้เพื่อบรรลุ SDGs
– Editor’s pick 09 | เดือนแห่งการทบทวน ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ เมื่อ SDGs อาจไม่สามารถบรรลุได้ทันเวลา – ร่วมติดตามผลจากการประชุม HLPF 2024
– กลุ่มนักวิชาการระดับโลกเสนอขยายเส้นตายบรรลุเป้าหมาย SDGs ไปถึงปี 2050 พร้อมแผนแม่บททำงานใน 6 ประเด็นสำคัญ
– ประเด็นสำคัญสำหรับขับเคลื่อน SDGs ปี 2567 เลขาธิการ UN เน้นย้ำ “สันติภาพ ความร่วมมือ และการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงิน”
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีตัวแทนและเสียงของประเทศกำลังพัฒนาในการตัดสินใจในสถาบันการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เป็นสถาบันที่มีประสิทธิผลน่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบ และมีความชอบธรรมมากขึ้น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.8) ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลโลก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา : Summit of the Future Provisional Programme Out (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย