Site icon SDG Move

SDG Updates | ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ มายาคติความมั่นคงทางอาหารของไทย : สำรวจสถานการณ์และความท้าทายที่เกิดขึ้น

ณัฐวัศ ยงประเดิม
#SDGMoveIntern2024


สังคมไทยมีความเชื่อที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานว่าประเทศของเราเปรียบเสมือน “อู่ข้าวอู่น้ำ” อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร ทำให้หลายคนมองข้ามความเป็นจริงของปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้ภาพลวงตาเหล่านี้ว่าแท้จริงแล้วไทยยังมี ‘ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร’ เนื่องจากภาคการผลิตอาหารของไทยจะทำได้ดีในเชิงปริมาณ แต่ทว่าในเชิงคุณภาพแล้วการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีโภชนาการที่ดีนั้นยังคงเป็นคำถาม เพราะจะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดความมั่นคงทางอาหารในหลายประเด็น ทั้งความเปราะบางของภาคการเกษตรในด้านราคาผลผลิต ความสามารถในการรับมือภัยพิบัติจนรวมไปถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ยั่งยืน เช่น การจัดการน้ำหรือที่ดิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังเห็นเด่นชัดในสังคม ดังนั้นจึงต้องกลับมาทบทวนคำว่า “อู่ข้าวอู่น้ำ” นั้นกำลังบดบังปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นหรือไม่

SDG Updates ฉบับนี้ จะมาชวนคิดและทลายมายาคติเหล่านั้นเพื่อให้สังคมตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงว่าสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารทั่วโลกและไทยเป็นอย่างไร? และปัญหาใดที่เข้ามาท้าทายความเชื่อว่าไทยคือ “อู่ข้าวอู่น้ำ” พร้อมกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามถึงความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทยอย่างจริงจัง


01 – สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของทั่วโลกและไทย

ตามรายงาน Global Food Security Index (GFSI) หรือ ‘รายงานดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของโลก’ ที่จัดทำโดย Economist Impact ได้ทำการวิเคราะห์และประเมินความมั่นคงทางอาหารของ 113 ประเทศทั่วโลก โดยการพิจารณาผ่านหลักการประเมินที่ครอบคลุมทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1) ความสามารถในการซื้ออาหาร (food affordability) 2) ความมีอยู่อย่างสมบูรณ์ของอาหาร  (availability)  3) คุณภาพและความปลอดภัย (quality and safety)  และ 4)  ความยั่งยืนและการปรับตัว (sustainability and adaptation) 

จากรายงาน Global Food Security Index 2022 ได้สำรวจและสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลักและแนวโน้มทั่วโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ [2] ดังนี้

ทั้งนี้จากการสำรวจดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของโลกทั้งหมด 113 ประเทศ  พบว่าในปี 2022 ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารอยู่อันดับที่ 64 อยู่ในระดับเดียวกับประเทศโคลัมเบีย ตกลงมาถึง 13 อันดับจากเดิมในปี 2021 อยู่อันดับที่ 51 จากการจัดอันดับดังกล่าว สะท้อนว่าไทยมีคะแนนความมั่นคงทางอาหารที่โดดเด่น ในประเด็นการเข้าถึงอาหาร คะแนนอยู่ที่ 83.7 คะแนน แต่ขณะเดียวกันประเด็นคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร เป็นประเด็นที่อ่อนแอที่สุด คะแนนอยู่ที่ 45.3 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการดำเนินการที่ดีในประเด็นที่ทำให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงอาหารได้ แต่ทว่าอาหารที่เข้าถึงได้นั้นยังขาดคุณภาพ กล่าวคืออาหารยังมีความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการที่ดีไม่เพียงพอต่อการบริโภค

อย่างไรก็ดีเมื่อเจาะลึกลงมาพิจารณาตัวเลขรายละเอียดคะแนนของประเทศไทย จากการประเมินคะแนนความมั่นคงด้านอาหารทั้งหมด 4 ด้าน พบว่า ด้านที่ 1 ความสามารถในการซื้ออาหาร เป็นประเด็นที่ประเทศไทยทำได้ดีที่สุด จัดอยู่อันดับที่ 39 ในระดับโลก และ อันดับที่ 8 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยได้รับคะแนนสูงสุดในตัวชี้วัด ด้านการเปลี่ยนแปลงค่าอาหารเฉลี่ย 100 คะแนน สัดส่วนประชากรภายใต้เส้นความยากจนระดับโลก 99.7 คะแนน และโปรแกรมเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหาร 100 คะแนน ด้านที่ 2 ความมีอยู่อย่างสมบูรณ์ของอาหาร ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 77 ในระดับโลก และ อันดับที่ 21 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คะแนนในตัวชี้วัดอยู่ทั้งในเกณฑ์ที่สูงจนถึงระดับที่ต่ำ โดยการเข้าถึงและความมุ่งมั่นด้านความมั่นคงทางอาหารอยู่ 0 คะแนน การวิจัยและพัฒนาเกษตร (33 คะแนน) และคะแนนสูงในโครงสร้างพื้นฐานของฟาร์ม 84.6 คะแนน และที่แตกต่างจากสองด้านแรก พบว่าด้านที่ 3 คุณภาพและความปลอดภัย ประเทศไทยมีการดำเนินการที่ย่ำแย่ อันดับที่ 102 ทั่วโลก และ อันดับที่ 23 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้คะแนนต่ำมากในด้านความหลากหลายทางอาหาร 36 คะแนน มาตรฐานโภชนาการ 20.2 คะแนน และความพร้อมของสารอาหารรอง 39.3 คะแนน ขณะที่ สุดท้ายด้านที่  4 ความยั่งยืนและการปรับตัว จัดอยู่ในอันดับที่ 69 ทั่วโลก ได้คะแนนดีในตัวชี้วัดการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 77.4 คะแนน [3]

ภาพรวมข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีภาพจำว่าเป็นผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ทว่าจากตัวเลขดัชนีจะเห็นว่าประเทศไทยมีด้านที่ทำได้ดีและยังทำได้ไม่ดีนัก นั่นจึงนำมาสู่คำถามว่าประเทศไทยจะสร้างความมั่นคงทางอาหารได้อย่างไร ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัดไป


02 – สภาวะความ (ไม่) มั่นคงทางอาหารของไทย

ปัจจุบัน “ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญและสร้างมาตรการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น เพื่อความอยู่รอดของประชากรในประเทศและประชากรโลก แม้แต่ในประเทศไทยเอง ก็ยังพบความท้าทายด้านความมั่นงคงทางอาหารนหลายประเด็น ทั้งจากสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เกิดจากวิกฤติด้านพลังงาน การผลิตอาหารที่ลดลงทำให้ประชากรที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ [4] เหตุเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความ (ไม่) มั่นคงทางอาหารทั้งสิ้น

ที่มา : Global Food Security Index (Resource Library)

จากรายงานดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร หากวิเคราะห์จะเห็นว่าคะแนนของประเทศไทยมีความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งแม้คะแนนด้านความสามารถในการซื้ออาหารจะสูงถึง 83.7 คะแนน แต่ด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารกลับได้รับคะแนนไม่ถึงครึ่ง (45.3 คะแนน) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดการกระจายอาหารที่มีคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการที่ทั่วถึง [5]  สอดคล้องกับรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ปี 2563 ที่ระบุว่าคนไทยจำนวนมากยังคงประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร มีความเสี่ยงขาดแคลนสารอาหารที่ครบถ้วน ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 8.8% ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนผู้ขาดสารอาหารถึง 6.2 ล้านคน แม้ว่าไทยจะมีความสามารถในการผลิตอาหารอย่างมาก แต่การกระจายอาหารยังไม่เท่าเทียมทำให้ผู้คนจำนวนมากยังคงหิวโหย[6] 

นอกจากนี้ จากการศึกษาของ Economist Impact จะเห็นว่าที่มาสำคัญของความไม่มั่นคงทางอาหารของไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดนโยบายด้านมาตรฐานโภชนาการที่เข้มงวดและการตรวจสอบสถานะโภชนาการ โดยพบว่าอาหารที่คนไทยบริโภคยังขาดความหลากหลายทางโภชนาการและสารอาหารที่จำเป็น การที่ประเทศไทยมีโปรแกรมเครือข่ายความปลอดภัยทางอาหารที่แข็งแกร่งยังไม่สามารถชดเชยการขาดแคลนนี้ได้ ซึ่งการมีสารอาหารที่ครบถ้วนถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ดังนั้นแล้วแม้ภาพจำของประเทศไทย จะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ หรือเป็นประเทศเจ้าของวลี ‘ในน้ำมีปลาในนามีข้าว’ นั้น อาจเป็นมายาคติที่บดบังภาพแห่งความเป็นจริงที่ว่าประเทศกำลังประสบกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพและความปลอดภัยของอาหารที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 


03 – ไทยยังคงเจอความท้าทายด้านอาหารในอนาคต

กล่าวย้อนกลับไปต้นทางของการผลิตอาหารในภาคการเกษตร (food supply chain) นั่นพบว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ อย่างหนัก เห็นได้ว่าความยั่งยืนและการปรับตัว ของประเทศ มีคะแนนอยู่ที่ 51.6 เท่านั้น นั่นเป็นผลมาจากการจัดการทรัพยากรน้ำที่ยังขาดประสิทธิภาพและความไม่พร้อมต่อการเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น การขาดแคลนน้ำ เนื่องจากฝนไม่สามารถตกไม่ได้ตามฤดูกาล หรือน้ำท่วมหนักที่สร้างความเสียหายให้แก่สินค้าเกษตร แม้ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่แปลกใหม่เห็นได้ผ่านหน้าสื่อสังคมที่ผ่าน แต่ปัจจุบันการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เริ่มมีความถี่สูงขึ้นนั่นส่งผลกระทบให้ภาคการเกษตรและการผลิตหยุดชะงักลงได้ จะเห็นได้ว่าปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ภาคการเกษตรของไทยต้องพบกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนในการผลิตอาหาร ซึ่งความสามารถในการจัดการทรัพยากรน้ำของไทยยังคงต่ำกว่ามาตรฐานโลก นั่นหมายความว่าเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อการเกษตรและการผลิตอาหารในระยะยาวทำให้ระบบอาหารของไทยไม่สามารถสร้างมั่นใจได้เลยว่าสังคมไทยจะมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคของประชาชนได้อย่างแท้จริง [7]

เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านการผลิตอาหารในภาคการเกษตรที่ประเทศไทย ยังต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา มาเป็นบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศในหลายด้าน อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในกระบวนการเพาะปลูกและการจัดการฟาร์ม ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้นและคุณภาพดีขึ้น การลดความสูญเสียและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อทำให้มีผลผลิตอาหารเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและเหลือเพียงพอสำหรับการส่งออก พร้อมทั้งการปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร 

ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาเกษตรจึงมีผลสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย ผ่านการเพิ่มผลผลิต ลดความสูญเสีย ปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร รวมถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นทนทานต่อโรคของผลผลิตทางการเกษตร ความสามารถของเกษตรกรในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง สารอาหารของสินค้าทางการเกษตร ซึ่งการที่ประเทศไทยมีการส่งเสริมด้านนี้ต่ำก็สะท้อนผ่านปัญหาผลผลิตต่อไร้ที่ต่ำรายได้เกษตรกรน้อย คุณค่าทางโภชนการอาหารไทยไม่ที่ต่ำส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี[8] 

อย่างไรก็ดี การเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำคัญอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากฤดูกาลการปลูกพืชไม่แน่นอนและมีการเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารในประเทศ ความผันผวนในสภาพภูมิอากาศทำให้การผลิตอาหารไม่สม่ำเสมอ เกิดความเสียหายต่อผลผลิต และยากที่จะคาดการณ์ การเกิดภัยพิบัติธรรมชาติเช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยอย่างรุนแรง 

ดังนั้นเป็นโจทย์ที่ประเทศไทยต้องคิดต่อว่าจะการปรับตัวและการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ แม้ว่าจะมีความพยายามการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ดีมากขึ้นสะท้อนผ่านคะแนนด้านการจัดการภัยพิบัติแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมดและมีแนวโน้มที่จะยิ่งทวีความถี่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ความมั่นคงทางอาหารของไทยต้องคิดวิธีรับมือต่อไปในอนาคต


04 – บทสรุป

ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และสามารถผลิตอาหารได้มากมายและมีจุดเด่นด้านปริมาณอาหาร แต่ความมั่นคงทางอาหารนั้นยังหมายรวมถึงคุณภาพของอาหาร โภชนาการ การเข้าถึงได้ง่าย ความมั่นคงของแหล่งผลิตอาหาร ซึ่งระบบอาหารของไทยยังทำได้ไม่ดีนักในประเด็นเหล่านี้ ดังนั้นความเชื่อที่ฝังรากลึกว่าประเทศไทยเป็น “อู่น้ำอู่ข้าว” ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร จึงเป็นภาพลวงตาที่บดบังปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริงของประเทศ และสร้างมายาคติที่ทำให้เรามองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความเสี่ยงทำให้ขาดการตระหนักถึงความเป็นจริง

ดังนั้นการสร้างความตระหนักถึงความเป็นจริงของปัญหาความมั่นคงทางอาหารและหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในประเด็นที่ถูกต้องอย่างจริงจังและยั่งยืน จึงเป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนของประเทศไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคตของสำหรับคนรุ่นต่อไป ตามนิยามการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ Brundtland Report ที่ระบุว่า “วิถีการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง”

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – บรรณาธิการ


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเน้นความต้องการโภชนาการของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2568
– (2.4) ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.1) ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบระยะ 10 ปีของแผนงานว่าด้วยแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ทุกประเทศนำไปปฏิบัติโดยประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงการพัฒนาและขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เอกสารอ้างอิง
[1] amarintv. (2565). เปิด5 อันดับประเทศความมั่นคงทางอาหารสูงสุด และ ต่ำสุด ?ทำไมไทยอันดับลด. สืบค้นจาก https://www.amarintv.com/spotlight/sustainability/detail/33834
[2][3][5] Economist Impact. (2022). Global Food Security Index 2022: Global Report. From https://economistimpact.com/food-security-index
[4] ศิริชนก วิริยเกื้อกูล.(2558). มาตรการทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=32355&filename=index 
[6] ฐานเศรษฐกิจ. (2566). สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารไทย กับ 4 โจทย์ใหญ่ต้องเร่งทำ. สืบค้นจาก  https://www.thansettakij.com/sustainable/food-security/567454 
[7] FAO. (2024). The State of Food Security and Nutrition in the World 2024. From https://www.fao.org/publications/home/fao-flagship-publications/the-state-of-food-security-and-nutrition-in-the-world/en 
[8] กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานประจำปี 2566. สืบค้นจาก https://www.ddc.moph.go.th/uploads/files/4155620240314033823.pdf 

Author

Exit mobile version