ภัทรวดี ดวงเพ็ญมาศ
#SDGMoveIntern2024
“อายุที่ยืนยาวสามารถเป็นได้ทั้งคำอวยพรและคำสาป อายุที่ยืนยาวจะเป็นคำอวยพรได้ถ้าเราได้ใช้ชีวิตนั้นอย่างเต็มที่ เราได้รู้สึกมีคุณค่า มีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่อายุที่ยืนยาวอาจจะเป็นเหมือนคำสาปถ้าเกิดว่าเราดำรงชีวิตโดยไม่มีเงินพอใช้ สุขภาพไม่แข็งแรง ดำรงชีวิตโดยไม่มีเป้าหมายในชีวิต”
ณิชา พิทยาพงศกร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
จากงาน TDRI Annual Public Conference 2019 ในหัวข้อ “สังคมอายุยืน: แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร?“
01 – บทนำ
จากรายงานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัย พบว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2566 โดยปัจจุบันมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2572 ประเทศไทยจะเข้าสู่สถานะสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาหลายประการที่กระทบต่อผู้สูงอายุโดยตรง เช่น รายได้ที่ไม่มั่งคงและเพียงพอ ด้วยศักยภาพของประเทศไทยเป็นประเทศที่แก่ก่อนรวย ซึ่งแสดงให้เห็นจากการที่ผู้สูงอายุมักทำงานในตำแหน่งที่ใช้ทักษะไม่เป็นที่ต้องการแล้วของตลาดแรงงานส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนรายได้ที่ต่ำ[1] ไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ยิ่งไปกว่านั้น การขาดเงินออมหลังเกษียณยังทำให้ผู้สูงอายุจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากรัฐเพื่อมาชดเชยรายได้หลักจากการทำงานที่หายไป ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุจึงเป็นความท้าทายของภาครัฐที่ต้องรับมือกับการจัดสรรงบประมาณสำหรับสวัสดิการหรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ[2] ข้อมูลจากรายงานการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่มีความท้าทายต่อระบบสวัสดิการสังคมไทยของกองพัฒนานโยบายและนวัตกรรมทางสังคม คาดการณ์ว่า งบประมาณเบี้ยผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.19 แสนล้านบาทในปี 2569[3]
รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายสำคัญเพื่อรับมือกับปัญหานี้ โดยหนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มอายุเกษียณของผู้สูงอายุวัยทำงาน ซึ่งเป็นการคงจำนวนแรงงานไม่ให้ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นโยบายนี้ช่วยเพิ่มรายได้และระยะในการออมของผู้สูงอายุวัยทำงานที่ อีกทั้งยังเป็นการขยายระยะเวลาการใช้จ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการหรือเบี้ยยังชีพออกไป[4]
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุของภาครัฐอาจไม่สามารถครอบคลุมทุกกลุ่มวัยทำงานผู้สูงอายุ ดังนั้น การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาสังคมนี้จึงมีความสำคัญ ภาคเอกชนในปัจจุบันและอนาคตไม่เพียงแต่ต้องจัดการกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นภายในองค์กรเมื่อพนักงานสูงอายุมากขึ้นเช่นกัน[5] ยังต้องปรับการดำเนินงานธุรกิจให้คำนึงถึงความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance) ตามทิศทางโลก การให้โอกาสผู้สูงอายุได้ทำงานและพัฒนาทักษะ การนอกจากจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวด้วย
SDG Updates บทความนี้ มีจุดมุ่งหมายในการชวนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สะท้อนถึงความสำคัญของปัญหาสังคมผู้สูงอายุ เพื่อจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาโมเดลธุรกิจตามกรอบ ESG ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริม การช่วยเหลือ และการแก้ปัญหาทางด้านสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ บทความนี้จะแสดงกรณีศึกษาของบริษัทที่มีนโยบายส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ โดยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้สูงอายุในการทำงานร่วมกับคนวัยหนุ่มสาวอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากมีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เหมาะสมกับกลุ่มคนทุกวัยและส่งเสริมการพัฒนาทักษะการทำงานของผู้สูงอายุ
02 – ปัญหาผู้สูงอายุในมิติแรงงาน
การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรในประเทศไทยส่งผลให้เกิดความท้าทายสำคัญ นั่นคือ การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรวัยผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกัน อัตราการเกิดของเด็กยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากประชากรวัยทำงานลดลง[6] รายงานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยว่าในปี 2566 อัตราการมีส่วนรวมในกำลังแรงงานของไทยอยู่ที่ 68.7% ซึ่งลดลงกว่าระดับ 70% ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าในปี 2564 ประชากรวัยแรงงาน 100 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุถึง 21 คน ที่เพิ่มขึ้นจาก 13 คน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขปี 2558 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ[7]
อ้างอิงจากรายงานการศึกษาเรื่อง “การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning)” เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก คาดการณ์ว่าในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานจำนวน 6.07 ล้านคน คิดเป็น 34.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด ขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่นอกกําลังแรงงาน (ผู้ที่ไม่ทํางานและไม่พร้อมทำงาน) มีจำนวน 11.49 ล้านคน (65.3%) และมีผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานรอฤดูกาล 0.02 ล้านคน (0.1%)[8]
ที่มา : รายงานการศึกษาเรื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก
จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากแรงงานในสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของแรงงานผู้สูงอายุในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สูงอายุวัยทำงานจำนวนมากประสบปัญหาผลตอบแทนรายได้ต่ำ โดยรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรพบว่า 34% ของผู้สูงอายุมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่าเส้นยากจน (Poverty line) อีกทั้งข้อมูลการศึกษาโครงสร้างของแรงงานไทย พบว่ามีแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำ เช่น แรงงานภาคการเกษตร การก่อสร้าง คิดเป็นสัดส่วนถึง 82% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับแรงงานทักษะปานกลางและสูง[9] โดยสอดคล้องกับรายงานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนแรงงานของผู้สูงอายุในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่าภาคอื่น แต่ผู้สูงอายุในภาคเกษตรกรรมได้รับผลตอบแทนต่ำที่สุด[10]
นอกจากประเด็นผลตอบแทนแล้วนั้น ผู้สูงอายุที่อยู่ในตลาดแรงงานยังมีความกังวลเกี่ยวกับความต้องการทักษะของตนในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัว การมีทักษะการทำงานที่แตกต่างกันส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมีความแตกต่างกัน โดยที่ผู้สูงอายุที่มีทักษะที่ตลาดต้องการอยู่แล้วจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงและเพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่จำเป็นต้องใช้ร่างกายในการทำงานหนัก มีสุขภาพแข็งแรง และมีเวลาพัฒนาทักษะอื่น ๆ ได้ ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีทักษะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดจำเป็นต้องใช้ร่างกายในการทำงานหนัก ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต รวมถึงไม่สามารถมีเวลาว่างเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ได้[11]
สอดคล้องกับแนวคิดของนายจ้างที่มักสะท้อนสาเหตุหลักในการปฏิเสธการจ้างงานแรงงานผู้สูงวัย เพราะลักษณะงานที่ไม่เหมาะสมกับทักษะของผู้สูงอายุ[12] ความเหลื่อมล้ำตรงนี้ส่งผลให้กลุ่มแรงงานผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันในระบบตลาดแรงงาน ดังนั้น การมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหานี้จึงมีความสำคัญ เพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุวัยทำงานที่ยังมีศักยภาพทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ
03 – กรอบแนวคิด ESG ที่อาจเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
แนวคิด ESG ประกอบด้วยสามมิติหลัก ได้แก่ Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มิติด้านสิ่งแวดล้อม: มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของธุรกิจ
- มิติด้านสังคม: มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมถึงการดูแลสวัสดิการพนักงานอย่างครอบคลุม การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีคุณภาพ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการฝึกพนักงานใหม่และเพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการ
- มิติด้านธรรมาภิบาล: มุ่งเน้นการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีความชัดเจน มีระบบของการป้องกันและการต่อต้านคอร์รัปชันภายในธุรกิจ[13]
การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG จะช่วยให้บริษัทมีผลตอบแทนที่ยั่งยืนมากกว่าการมุ่งเน้นเพียงแค่การทำกำไร อีกทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและการจัดการทรัพยากรที่ครอบคลุมความเสี่ยงในทุกช่วงเวลา การนำ ESG มาปรับใช้กลยุทธ์การดำเนินการขององค์กร เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจที่มีการวัดวิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจได้จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืนและได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น[14] ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยของ Sustainability Institute of ERM ที่พบว่านักลงทุนใช้ประเด็นความยั่งยืนเป็นปัจจัยในการตัดสินใจลงทุน[15]
ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งทำให้สัดส่วนของแรงงานสูงอายุในองค์กรต่าง ๆ เพิ่มขึ้น สิ่งนี้ส่งผลให้การจัดการแรงงานสูงอายุกลายเป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรต้องให้ความสนใจ จะทำอย่างไรให้แรงงานสูงอายุได้รับความมั่นคงในการทำงาน จากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงให้เห็นว่าองค์กรสามารถออกแบบพัฒนานโยบายที่ส่งเสริมพนักงานผู้สูงอายุได้ โดยการออกแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมและรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับทุกช่วงวัย การดำเนินการเช่นนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้แม้จะมีพนักงานสูงอายุ
การนำกรอบ ESG เข้ามาใช้ในการออกแบบโมเดลธุรกิจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และยังเป็นการแต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางสังคม (Social) การให้ความสำคัญกับแรงงานผู้สูงอายุในองค์กรสามารถสะท้อนแนวทางการดำเนินการธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม และเป็นการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ โดยมีตัวอย่างการดำเนินธุรกิจที่เน้นการรองรับผู้สูงอายุ ดังนี้
- โรงงาน BMW ในเมือง Dingolfing ประเทศเยอรมนี: ในปี 2563 โรงงานมีพนักงานที่มีอายุเกิน 55 ปีถึง 45% จึงมีการปรับการออกแบบที่ทำงานให้เหมาะสมในไลน์การผลิตผู้สูงวัย เช่น การเปลี่ยนพื้นแข็งเป็นพื้นไม้ที่มีความยืดหยุ่นกว่าในไลน์การผลิต การใช้แว่นขยายช่วยมอง การจัดห้องนอนพักระหว่างวันในที่ทำงาน พร้อมกับมีนักกายภาพบำบัดคอยแนะนำ พบว่าสามารถเพิ่มผลิตภาพได้ 7% เทียบเท่าไลน์การผลิตที่อายุน้อยกว่า และลดการขาดลางานเหลือ 2% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย[12]
- โรงงานผลิตชิ้นส่วนโลหะ KATO MFG เมือง Nakatsugawa ประเทศญี่ปุ่น: เมือง Nakatsugawa มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังสามารถทำงานได้ สุขภาพแข็งแรง ทางองค์กรจึงประกาศรับสมัครงานสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปในรูปแบบ Part-time ซึ่งดึงดูดผู้สมัครจำนวนมาก การทำงานรูปแบบนี้ช่วยลดต้นทุนของบริษัทเมื่อเทียบกับการจ้างงานเต็มเวลา นอกจากนั้นยังมีการสอนงานโดยพนักงานอายุน้อย การนำเครื่องจักรมาใช้ทุ่นแรง และการปรับสภาพพื้นที่ ลดรอยต่อการเคลื่อนไหวในส่วนต่าง ๆ ช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น สะท้อนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น[16]
- Café Amazon for Chance: โมเดลธุรกิจที่รับพนักงานผู้สูงวัยและฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการเป็นบาริสต้าของร้านคาเฟ่ อเมซอน โดยมีบาริสต้าสูงอายุกว่า 60 คน ใน 29 สาขา มาตั้งแต่ปี 2563[17]
- บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด(มหาชน) : โครงการที่ส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ ภายใต้ชื่อ “60 ยังแจ๋ว” มีการจ้างงานผู้สูงอายุปฏิบัติงานในสาขาของบริษัทแมคโคร และโลตัส ทำงานที่ไม่หนักและเป็นอันตราย เช่น การจัดเรียงสินค้า มีเป้าหมายที่จะมีผู้สูงอายุ 800 คนเข้าร่วมโครงการภายในปี 2567 โดยได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ กรมการจัดการงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับงานที่เหมาะสม และการจัดการฝึกอบรมทักษะที่สามารถนำไปประกอบอาชีพ[18]
04 – ภาครัฐสามารถเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างไร
ภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการทำงานของผู้สูงอายุ รวมถึงการออกแบบ ปรบปรุงนโยบายและแผนการปฏิบัติงานเพื่อสร้างแรงจูงใจ สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของทุกช่วงวัย เช่น มีการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในวัยผู้สูงอายุ[19]
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่พบในการส่งเสริมการเรียนรู้คือการกระจายโอกาสที่ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการอบรมมักมุ่งเน้นไปที่ผู้บริหารหรือผู้นำในองค์กรเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างและไม่ครอบคลุมกลุ่มคนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ การส่งเสริมทักษะควรเน้นไปที่การพัฒนาทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและสอดคล้องกับหลักวิชาการ โดยการตั้งศูนย์การเรียนรู้สามารถช่วยประสานงานและสร้างระบบนิเวศการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ภาคเอกชนได้รับประโยชน์จากการเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตหรือบริกา และสามารถเข้าถึงแรงงานที่มีศักยภาพสูง แม้ในสถานการณ์ที่จำนวนแรงงานลดลงจากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพิงจากภาครัฐในอนาคต และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้อย่างมีคุณภาพในทุกมิติ[20]
05 – บทสรุป
ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานผู้สูงอายุในที่ทำงาน โดยใช้หลักการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG ซึ่งเน้นการส่งเสริมความเข้าใจและลดการกีดกันกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงการออกแบบรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและกลุ่มคนทุกช่วงวัย การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อกลุ่มผู้ทำงานสูงอายุ แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อแรงงานทุกวัย
ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรมีการออกแบบนโยบายและแผนการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมการพัฒนาทักษะของผู้สูงอายุในทุกมิติ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในที่ทำงานทั้งตามช่วงวัยและตำแหน่งงาน การทำงานร่วมกันของทั้งสองภาคส่วนดังกล่าวจะส่งผลสำคัญต่อความสามารถในการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจภายในประเทศไทย เพิ่มการแข่งขันในระบบตลาดแรงงาน และก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ESG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
เนตรธิดาร์ บุนนาค – บรรณาธิการ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | ขจัดปัญหา “เเก่ก่อนรวย” หลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ประเทศไทยพร้อมเเค่ไหน ?
– สำรวจนโยบาย ‘บำนาญ’ ของแต่ละประเทศ ในวันที่โลกเผชิญสู่สังคมผู้สูงอายุ
– เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ รัฐมีนโยบายอย่างไร? เพื่อส่งเสริมรายได้และการจ้างงาน ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘ผศ. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ และคณะ’
– UN เผยแพร่ The Global Report on Ageism พบว่า ‘การเหยียดอายุ’ ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ
– Environmental, Social and Governance: ESG ตัวชี้วัดที่นำมาช่วยวัดผลการดำเนินงานของบริษัทเพื่อสรรค์สร้างอนาคตที่มีความยั่งยืน
– SDG Vocab | 61 – Environment, Social, Governance (ESG) – แนวคิดดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึง “สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล”
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องจำเป็น รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
เอกสารอ้างอิง
[1] [7] [10] [12] Prapan Leenoi. (2567). สังคมสูงวัย โจทย์ใหญ่ที่มาพร้อมกับโอกาส. สืบค้นจาก https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/silver-economy
[2] [4] [6] คลังเศรษฐกิจ คนเศรษฐศาสตร์. (2567). สังคมผู้สูงอายุ กับผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจ. สืบค้นจาก https://curadio.chula.ac.th/v2022/program/detail/?v2545454u2
[3] กองพัฒนานโยบายและนวัตกรรมทางสังคม. (2564). การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ความท้าทายต่อระบบสวัสดิการทางสังคมไทย. สืบค้นจาก https://opendata.nesdc.go.th/dataset/3d52c7fd-b4d1-4040-aeaa-903639fc854c/resource/5f575779-78dd-4b0e-b41a-f3f79c6344bb/download/5.-..pdf
[5] [11] [16] [20] สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ). (2562). สังคมอายุยืน: แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร”. TDRI Annual Public Conference 2019. สืบค้นจาก https://tdri.or.th/2019/04/tdri-annual-public-conference-2019/
[14] [13] สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO). ESG…ปัจจัยสำคัญสู่แนวทางการประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน. (18 กรกฎาคม 2567). สืบค้นจาก http://www.asco.or.th/uploads/upfiles/files/ASCO%20article_ESG_ed.pdf
[8] [19] สอวช. (2565). การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก. สืบค้นจาก https://www.nxpo.or.th/th/report/9976/
[9] ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2567). ไทยเข้าสู่สังคมวัยขั้นสุดยอด ธุรกิจที่พึ่งพิงแรงงานสัดส่วนสูงเสี่ยงขาดแคลนแรงงาน. สืบค้นจาก https://www.kasikornresearch.com/Pages/ftp-handler.aspx?token=37cf8463-c4d0-492f-9e87-79ed6a743dfc
[15] ธนาคารไทยพาณิชย์. (2566) ความยั่งยืนคืออะไร ทำไมธุรกิจต้องใส่ใจเรื่องความยั่งยืน. สืบค้นจาก https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/business-maker/esg-materiality-analysis.html
[17] ไทยโพสต์. (2565). โออาร์ลุยโมเดล Cafe Amazon for Chance ปั้น 60 สาขาสร้างอาชีพผู้ด้อยโอกาส. สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/hi-light/293792/
[18] กนกวรรณ มณีแสงสาคร. (2567). CP AXTRA หนุนสร้างงาน ‘ผู้สูงอายุ’ หลังเกษียณ ตั้งเป้าในปี 2573 สร้างอาชีพให้คนไทย 400,000 ราย สืบค้นจาก https://forbesthailand.com/news/marketing/cp-axtra-supports-jobs-for-elders-after-retirement-aiming-400-000-jobs-in-2030