FAO เรียกร้องให้เพิ่มการลงทุน ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ – พบผู้คนราว 733 ล้านคนทั่วโลกยังเผชิญกับความหิวโหย 

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) และพันธมิตรร่วมเปิดตัวรายงานสถานะความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของโลก ประจำปี 2567 (The State of Food Security and Nutrition in the World หรือ SOFI 2024) เรียกร้องให้มีการจัดหาเงินทุนและความคุ้มค่าที่เพิ่มขึ้น โดยมีการกำหนดมาตรฐานการจัดหาเงินทุนเพื่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ

รายงานฉบับนี้ จัดทำภายใต้ธีม “การจัดหาเงินทุนเพื่อขจัดความหิวโหย ความไม่มั่นคงทางอาหาร และภาวะทุพโภชนาการในทุกรูปแบบ” (Financing to End Hunger, Food Insecurity and Malnutrition in All Its Forms) ได้เน้นย้ำว่าจะรับประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้และมีราคาที่ไม่แพง จึงจำเป็นต้องใช้แนวทางแบบองค์รวม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างระบบอาหารและการเกษตร การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปรับกระบวนการด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการเพื่อขยายแหล่งเงินทุนให้กว้างขึ้น

โดยได้ระบุว่าผู้คนราว 733 ล้านคน หรือ 1 ใน 11 คนทั่วโลกประสบปัญหาความหิวโหย โดยในปี 2566 พบว่าภูมิภาคแอฟริกา มีประชากร 20.4% เผชิญความหิวโหย ขณะที่ภูมิภาคเอเชีย 8.1% เผชิญความหิวโหย ซึ่งระดับของการขาดสารอาหารเทียบได้กับระดับในปี 2551 – 2552 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการหยุดชะงักที่น่าตกใจในการขจัดปัญหาความหิวโหย

นอกจากนี้ในปี 2566 ประชากรทั่วโลกราว 2.33 พันล้านคนต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนทางอาหารในระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง นอกเหนือจากปัญหาความหิวโหยในแอฟริกา พบประชากร 58% ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารในระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง และยังพบอีกว่าในปี 2565 มีผู้คนมากกว่า 2.8 พันล้านคนไม่สามารถซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพได้ ขณะเดียวกันในประเทศที่มีรายได้น้อย (Low-income Countries: LICs) พบประชากร 71.5% ไม่สามารถซื้ออาหารเพื่อสุขภาพได้ กลับกันในประเทศรายได้สูง (High-income Countries: HIC) พบตัวเลขเพียง 6.3% เมื่อเทียบกันจึงเป็นตัวเลขที่ต่างกันอย่างน่าตกใจ

จากรายงานมีความคืบหน้าที่น่าสนใจ ดังนี้

  • อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเฉพาะในทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 37.1% ในปี 2555 เป็น 48% ในปี 2565
  • ความชุกของภาวะเตี้ยแคระแกร็น ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีทั่วโลกลดลงจาก 26.3% ในปี 2555 เป็น 22.3% ในปี 2565
  • ความชุกของภาวะผอมแห้ง (wasting) ทั่วโลกลดลงจาก 7.5% ในปี 2555 เป็น 6.8% ในปี 2565

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ทำให้ความไม่มั่นคงทางอาหารและภาวะทุพโภชนาการแย่ลง เนื่องจากสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อ เหตุความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพเนื่องจากมีราคาแพง ส่งผลให้ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเหตุเพราะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ยังคงมีอยู่ เพื่อแก้ไขช่องว่างที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในระบบอาหารให้สามาถตั้งรับปรับตัวได้มากขึ้นในอนาคต

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเน้นความต้องการโภชนาการของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2568
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573 
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

แหล่งที่มา: SOFI 2024 Calls for Increased, Cost-effective Financing to End Hunger – IISD

Last Updated on สิงหาคม 9, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น