อนุกรรมาธิการฯ เสนอรายงานแก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติต่อที่ประชุมสภาฯ พร้อมข้อเสนอแนะด้านกฎหมายและการจัดการ

วันที่ 8 สิงหาคม 2567 อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขอย่างยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) โดยมีการนำเสนอรายงาน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) คำนิยามและองค์ประกอบของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบผิดปกติ 2) สถานการณ์ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในประเทศไทย 3) ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพิจารณา และ 4) ข้อเสนอและข้อสังเกตถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กัณวีร์ สืบแสง ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวถึงนิยามและความหมายของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ว่าคือการอพยพโยกย้ายโดยอยู่นอกกรอบกฎหมายของประเทศนั้น ๆ เราเห็นกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้ามาทั้งแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย และยังมีอยู่เรื่องเกี่ยวกับบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้คือการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ

ขณะที่ข้อสังเกตที่ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้มี 3 ประเด็น ได้แก่ 

  • เรื่องทัศนคติที่ยังใช้เลนส์กรอบความมั่นคงในการพูดถึงปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดปกติ การลี้ภัย และการอพยพของคนที่ไม่มีสัญชาติไทย มองว่าเป็นสิ่งที่ผิด ทำให้ไทยไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างก้าวหน้าว่าจะแก้ไขปัญหาหรือมีต้องมีนโยบายอะไรบ้าง 
  • มิติทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วยการลดลงของประชากรไทยที่ตอนนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ และในอีก 80 ปีข้างหน้าจะเหลือกำลังคนเพียง 35 ล้านคน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องพิจารณาว่าจะทำยังไงกับกำลังคนที่หายไป รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชาติ 
  • มิติด้านความมั่นคงแห่งชาติและความเป็นมนุษย์ เราต้องเปลี่ยนความคิดความมั่นคงเป็น “ความมั่นคงของมนุษย์” ต้องมองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์และมองว่าจะทำยังไงที่จะตอบสนองความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะเพื่อนร่วมโลกของเรา เราไม่ได้บอกว่าต้องช่วยเขาตลอดเวลา แต่จะเอาเขามาช่วยพัฒนาประเทศไทยได้อย่างไร

นอกจากนี้ อนุกรรมาธิการฯ ยังได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น 

  • ข้อเสนอแนะด้านการแก้ไขกฎหมาย เช่น ให้พิจารณาการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ลี้ภัย สำหรับคนที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง อันเนื่องมาจากภัยประหัตประหารได้ ทดแทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร และไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง พ.ศ. 2562 หรือ National Screening Mechanism (NSM)
  • ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขกลไกโครงสร้างบริหารจัดการ เช่น กระทรวงแรงงาน ควรดำเนินการให้คณะกรรมการการจัดการบริหารการทำงานของคนต่างด้าว ได้ดำเนินการให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เพื่อรองรับสถานการณ์ความรุนแรง และมาตรการการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทหารเมียนมา
  • ข้อเสนอแนะเรื่องการเข้าไม่ถึงการลงทะเบียนและเอกสารแสดงตน เช่น กระทรวงมหาดไทยควรพิจารณาปรับปรุงนโยบายระดับชาติว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด และการจดทะเบียนต้องเป็นไปโดยถ้วนหน้า ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสัญชาติ 
  • ข้อเสนอแนะการยกระดับการเข้าถึงสวัสดิการและบริการขั้นพื้นฐาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณากำหนดนโยบายที่ส่งเสริมและจัดการศึกษา และทำแผนบริหารจัดทำแบบกระจายทรัพยากรการศึกษาให้กับเด็กติดตามแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ในส่วนนี้รวมถึงกำหนดคำนิยามผู้ทรงสิทธิ์เพิ่มเติมให้กับกรณีของการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
Snapshot การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในช่วงโควิด-19 กับแนวทาง 3 ข้อให้การเคลื่อนย้ายปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ
ผู้อพยพเด็กที่เดินทางโดยลำพังอย่างน้อย 18,000 คน หายตัวไปในยุโรปตั้งแต่ปี 2018 เสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์
SDG Updates | เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ-ภัยพิบัติ บังคับให้ผู้คนจำนวนมหาศาลต้อง ‘โยกย้ายถิ่นฐาน’ อะไรคือแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้?
สถิติใหม่ ชี้มีผู้พลัดถิ่นในประเทศสูงขึ้น เป็นประวัติการณ์ถึง 75.9 ล้านคนทั่วโลก เหตุจากความขัดแย้ง-ภัยพิบัติ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.7) อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นระเบียบ ปลอดภัย ปกติ และมีความรับผิดชอบ รวมถึงให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม


แหล่งที่มา : ที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบรายงานแก้ไขปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานผิดปกติกว่า 4 ล้านคน (ประชาไท)

Last Updated on สิงหาคม 13, 2024

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น